Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๒

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporพระพุทธเจ้าท่านสอน “สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือสมถะ และวิปัสสนา”
ท่านไม่ได้สอนว่า สิ่งที่ควรเจริญ คือสมถะ และวิปัสสนานะ
ท่านสอนว่า “สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือสมถะ และวิปัสสนา” ต้องมีปัญญาประกอบ

ทำสมถะไม่มีปัญญาประกอบนะ ก็เป็นสมถะเซื่องซึมไป สมถะทื่อๆ สมถะแข็งๆ
ซึมบ้าง แข็งบ้าง หรือสมถะออกนอก ใจฟุ้งออกไปรู้โน่นรู้นี่ภายนอก
นั่นไม่มีสติ ไม่มีปัญญากำกับ ไม่ดี

เจริญวิปัสสนาก็ต้องเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
อย่างบางคนไปดูรูปดูนาม ดูเวทนา อย่างนั่งสมาธิมีความปวดเมื่อยเกิดขึ้น
ก็นั่งว่าทำอย่างไรจะเอาชนะเวทนาได้
นั่งทนได้ตลอดคืน เวทนาไม่สามารถทำให้เราเปลี่ยนอิริยาบทได้
อันนี้ไม่ได้ทำวิปัสสนาด้วยปัญญาอันยิ่ง
เห็นเวทนาจริงนะ แต่เกลียดมันอยากละมัน

เวทนานั้นอยู่ในขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ ส่วนใหญ่อยู่ในกองทุกข์
ยกเว้นตัวตัณหาตัวโลภะอะไรพวกนี้ มีสองหมวก
หมวกหนึ่งอยู่ในกองทุกข์ หมวกหนึ่งอยู่ในกองสมุทัย
สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นต้องรู้ รู้ตามความเป็นจริง
เรียกว่ารู้ทุกข์หรือเรียกว่าการปฏิบัติด้วยปัญญาอันยิ่ง
งั้นอย่างนั่งสมาธิปวดเมื่อยขึ้นมาจะนั่งทนเอาชนะเวทนาเนี่ย
อันนี้ทำผิดละ ไม่ได้ทำด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ทำด้วยโลภะมันหนุนหลังอยู่
ถ้าทำสำเร็จนะ นั่งสำเร็จนะไม่กระดุกกระดิกได้จนมันหายเมื่อยไป มันก็กูเก่งขึ้นมาอีก

งั้นที่ท่านสอนนะ แต่ละคำๆ ของท่านมีความหมาย เวลาทรงจำก็อย่าให้แหว่งไป
สิ่งที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือสมถะ และวิปัสสนา
เมื่อมีสองอย่าง แสดงว่าสองอย่างนี้ก็ไม่เหมือนกัน
สมถะก็อย่างหนึ่ง วิปัสสนาก็อย่างหนึ่ง ต้องแยกให้ออก

สมถะนั้น เป็นอุบาย เป็นวิธีการที่จะทำให้จิตใจสงบอันหนึ่ง
ทำให้จิตใจสงบและตั้งมั่นอีกอันหนึ่ง
สมถะมีสองชนิด สมาธิมีสองชนิด ชนิดที่หนึ่งชื่อ อารัมณูปนิชฌาน
อารัมณูปนิชฌานนี้จิตเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตสงบ
อย่างหัดภาวนากัน หัดพุทโธๆนะ จิตสงบนิ่งอยู่ อันนี้เป็นอารัมณูปนิชฌาน
รู้ลมหายใจไป จิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ลมก็ตื้นขึ้นๆ สั้นขึ้นๆ
ทำไมสั้นขึ้น
? สั้นขึ้นมาอยู่ตรงนี้ เห็นไหมคำแต่ละคำมีความหมาย
ไม่ใช่สั้นลงๆนะ สั้นขึ้นๆลมมันขึ้นๆสั้นเหลือนิดเดียวที่จมูก กลายเป็นแสงสว่าง
จิตไปรู้แสงสว่างนั้นแทนลมที่เคลื่อนไปมา จิตจะเข้าฌาน
อันนี้ก็เป็นการทำสมถะเพื่อให้จิตสงบ จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว
มีแค่อยู่กับลมหายใจ ต่อมามาอยู่กับแสงสว่าง
หัดพุทโธๆ จิตอยู่กับพุทโธไม่หนีไปไหน ก็อยู่ในอารมณ์อันเดียว
การน้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั่นแหละเรียกว่า อารัมณูปนิชฌาน
เพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนี้เอาไว้พักผ่อน มีประโยชน์ไหม
? มีประโยชน์
สมาธิอย่างนั้นสมาธิพักผ่อน ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา

มันมีสมาธิอีกชนิดหนึ่งซึ่งอาภัพที่สุดเลย ไม่ค่อยมีคนรู้จัก
แต่เมื่อสามสิบปีก่อนนะไปเรียนจากครูบาอาจารย์ที่ไหนท่านมุ่งมาสอนสมาธิตัวนี้เยอะเลย
เข้าวัดไหนๆท่านพูดแต่คำว่า “จิตผู้รู้” เข้าที่ไหนท่านพูดประโยคเดียวกัน “ผู้รู้” มีผู้รู้ไว้
การที่มาฝึกจนกระทั่งจิตเป็นผู้รู้เนี่ย จิตมีสมาธิชนิดที่ตั้งมั่น
สมาธิตั้งมั่นนี่แหละเอาไว้เดินปัญญา
ไม่ใช่สมาธิสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวจะทำให้เกิดปัญญานะ
ไม่ทำให้เกิดปัญญามันเป็นที่นอนพักทำให้มีแรงสดชื่น
พอสดชื่นแล้วเดินปัญญาไม่เป็นนะ จิตถอยออกมาจิตจะฟุ้งซ่านมากกว่าคนปกติอีก
เพราะว่ามันนิ่งมานานแล้ว จะดิ้นแล้วคราวนี้

งั้นครูบาอาจารย์ท่านก็เลยออกอุบาย ว่าไหนๆมันอยากดิ้นนะ
แทนที่ให้มันดิ้นสะเปะสะปะไปคิดตามใจกิเลส ให้พามันคิดพิจารณาร่างกาย
เพราะงั้นถ้าทำสมาธิชนิดสงบมาแล้วนะ อยู่ในอารมณ์อันเดียวนะ
ออกมาแล้วต้องมาคิดพิจารณา การคิดพิจารณายังไม่ใช่วิปัสสนา
หลวงพ่อพุธสอนชัดเลย “สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด”
หลวงปู่ดูลย์สอนเลย “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ หยุดคิดถึงรู้ แต่อาศัยคิด”
อาศัยคิด คืออย่างเราคิดไปนะ จิตก็เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลนะ
อาศัยเป็นตัวตั้งเพื่อกระตุ้นให้จิตทำงาน

งั้นต้องแยกให้ออกนะ บางทีเที่ยวสอนกันแล้วตื้นเกินไปสอนหยาบๆ
สอนพุทโธ หายใจ พอสงบแล้วออกมาพิจารณากายบอกว่าเป็นวิปัสสนา
ยังไม่เป็น คนละเรื่องกันเลย อันนั้นเป็นอุบายเพื่อไม่ให้จิตติดนิ่งจิตเฉย หรือจิตฟุ้งไปคิดเรื่องอื่นซะ
แต่ว่าก็มีประโยชน์ มันเป็นการนำร่องให้จิตหัดมองความเป็นไตรลักษณ์ของธาตุของขันธ์ เป็นอุบาย
ถ้าสามารถก้าวขึ้นมาสู่การรู้ความจริงของธาตุของขันธ์ได้ แยกธาตุแยกขันธ์ได้ถึงจะเดินปัญญาจริง

อาจารย์มหาบัวสอนเลยบอกว่า “ถ้าไม่พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์นะ อย่ามาคุยอวดว่าเจริญปัญญา”
ขันธ์ไม่แยก อย่ามาอวดว่ามีปัญญา ไม่มีจริงหรอก
ถ้าทำแต่ความสงบนิ่งๆไปจะมีปัญญาได้อย่างไร
งั้นถ้าทำสมาธินะ จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว
พักผ่อนพอสมควรแล้วออกจากสมาธิมา ให้คิดพิจารณา
อันนี้ยังไม่ขึ้นวิปัสสนาแต่เป็นอุบายแก้จิตจะไปฟุ้งไปในเรื่องของกิเลส
แทนที่จะให้มันฟุ้งไปตามกิเลสก็พามันคิดพิจารณากายพิจารณาจิต อะไรก็พิจารณาไป
ให้ใจมันเคล้าอยู่ในธรรมะ มันยังพอจะเจริญต่อไปได้

แต่ถ้าพวกเราฝึกให้ได้ตัวผู้รู้ขึ้นมา ฝึกสมาธิชนิดที่สองให้ได้
สมาธิชนิดแรกมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ใครๆเค้าก็ทำ
ฤาษีชีไพรเค้าก็ทำได้ ไม่ได้ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
ไม่งั้นฤาษีบรรลุไปก่อนพระพุทธเจ้าแล้ว
อาฬารดาบส อุทกดาบส ทำสมาธิเก่งทั้งนั้นทำไมไม่บรรลุ
?
เพราะไปทำสมาธิชนิดจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว

ตอนเจ้าชายสิทธัตถะยังเด็กๆนะ มีงานแรกนา
ท่านก็ไปดูแรกนา แต่ปรากฏว่าพี่เลี้ยงเอาท่านไปไว้ใต้ต้นไม้
ตัวพี่เลี้ยงนะหนีไปดูพระเจ้าสุทโธทนะไถนา ทิ้งท่านไว้คนเดียวใต้ต้นไม้
ท่านก็ลุกขึ้นนั่งสมาธิ อาศัยของเดิม บารมีท่านสร้างมามาก
ท่านลุกขึ้นนั่งหายใจ ท่านหายใจแล้วท่านได้ตัวรู้ขึ้นมา รู้สึกตัวขึ้นมา
ไม่ได้เดินไปทางฌาน แต่มีความรู้สึกขึ้นมา เสร็จแล้วท่านลืม อันนี้เป็นปกติของทุกคนนะ
ขนาดพระโพธิสัตว์บารมีขนาดนั้น จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในชาตินั้นแล้ว
ของเก่าเคยทำนะ จิตตื่นขึ้นมาแล้วนะก็ยังลืมไป

จนอายุ ๒๙ ออกไปบวช ก็ไปหาฤาษีก่อนเลย
ก็เหมือนที่พวกเราคิดน่ะเวลาทันทีที่คิดเรื่องปฏิบัติธรรมนะ
สิ่งแรกที่จะทำก็คือนั่งสมาธิ คิดเหมือนกันเจ้าชายสิทธัตถะก็คิดอย่างนั้นแหละ
ออกจากวังมานะสิ่งแรกที่ทำก็คือไปหาฤาษี อาฬารดาบส อุทกดาบส ไปเรียนนั่งสมาธิ
นี้ปัญญาท่านแก่กล้า ท่านเรียนอยู่ไม่กี่วันนะ ท่านก็จบหลักสูตรของอาจารย์
ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วท่านก็พบว่าไม่พ้นทุกข์หรอก
สติปัญญาท่านแก่กล้า ท่านรู้เลยสมาธิสุดขีดถึงฌานที่ ๘ นะยังไม่พ้นทุกข์เลย

แต่ทุกวันนี้มาสอนแต่นั่งสมาธินะ นั่งไปเรื่อยแล้ววันหนึ่งจะพ้นทุกข์
ฌานที่ ๘ ไม่ถึงหรอก หาคนถึงฌานที่ ๘ หายาก
ขนาดฌานที่ ๘ ยังไม่พ้นทุกข์เลย เจ้าชายสิทธัตถะท่านรู้มาตั้ง ๒
,๖๐๐ ปีแล้ว
ทุกวันนี้ก็พาแต่นั่งสมาธิลูกเดียวแล้ววันหนึ่งจะพ้นทุกข์ พ้นได้ยังไง
เจ้าชายสิทธัตถะท่านพบว่านั่งสมาธิไม่พ้นทุกข์นะ
ท่านก็เลยหันมาทรมานตัวเอง ฝึกจิตไม่สำเร็จแล้วมาฝึกกายก็แล้วกัน
มันอยากกินไม่กิน มันอยากนอนไม่นอน ทรมานมันเพื่อจะได้ทรมานกิเลสตัณหา
เนี่ยทรมานกายก็เพื่อจะทรมานใจ ทรมานกิเลสตัณหา คิดอย่างนี้
ความจริงลัทธิทรมานนี้นะก็มีมาตลอด พอๆกับลัทธิเข้าฌานนั่นแหละ แล้วมันก็ไม่ใช่ทาง

วันที่ท่านจะบรรลุพระอรหันต์ ท่านก็นึกถึงตอนวัยเด็กได้
สมาธิชนิดนี้เราลืมไปตั้งนานแล้ว ทำไมลืมไปตั้ง ๖ ปี หลงไปตั้ง ๖ ปี
ความจริงลืมมาตั้งแต่เด็กนั่นแหละ ตอนออกบวชอายุ ๒๙ ไปเดินผิดอยู่อีก ๖ ปี
อันนี้เป็นบุพกรรมของท่าน ท่านเคยดูถูกพระพุทธเจ้าหรือพระปัจจเจกอยู่องค์หนึ่ง
ตอนนั้นท่านเป็นโพธิสัตว์นะ งั้นพวกเราอย่าตื่นโพธิสัตว์มาก
โพธิสัตว์ตกนรกเยอะแยะไป โพธิสัตว์ก็ยังมีกิเลสอยู่
ท่านไปดูถูกพระพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกองค์หนึ่ง
ว่า “ไปได้ธรรมมาเพราะไปอดข้าวอยู่ในป่าใช่ไหมล่ะ” ไปกระแนะกระแหน
กรรมอันนี้นะส่งผลให้ท่านทรมานอยู่ ๖ ปี ไปล่วงเกินท่านผู้มีศีลมีธรรมเข้า ต้องระวังนะ
งั้นเราไม่ล่วงเกินใครดีที่สุดเลย เราไม่รู้หรอกว่าใครดีหรือไม่ดี

๖ ปีผ่านไปเนี่ยท่านถึงจะนึกได้
ว่ามันมีสมาธิอีกชนิดหนึ่งที่เคยทำตอนเด็กๆแล้วลืมไป งั้นท่านมาหายใจใหม่
หายใจคราวนี้ไม่ได้หายใจแล้วมุ่งไปหาแสงสว่าง มุ่งตามแสงสว่างเข้าอรูปอย่างที่เดิมเคยทำแล้ว
หายใจด้วยความรู้สึกตัวนะ จนกระทั่งจิตเข้าฌานที่ ๑ ๒ ๓ ๔ ก็ยังทรงความรู้สึกตัวอยู่
ไม่ใช่หายใจแล้วเคลิ้มเลยขาดสติ ถ้าทำชำนิชำนาญในสมาธิพอนะ กระทั่งจิตเข้าอรูปยังไม่เคลิ้มเลย
ทรงตัวเด่น เหลือแต่ความรู้สึกอันเดียวนะ โลกธาตุนี้ดับ ร่างกายไม่มีนะ แต่ความรู้สึกตัวไม่ขาด
เนี่ยท่านมีความรู้สึกเหลืออยู่นะ พอออกจากสมาธิเนี่ยท่านน้อมจิตไปพิจารณาเลย
ว่าอะไรมีอยู่หนอ ความทุกข์มันถึงมีอยู่
?
ความเกิดมีอยู่ ความทุกข์ก็มีอยู่ ความเกิดคืออะไร
? ความเกิดคือความได้มาซึ่งตาหูจมูกลิ้นกายใจ

ความได้มาซึ่งตาหูจมูกลิ้นกายใจ เราได้มาสองที
อันหนึ่งเราได้ด้วยการเกิด เกิดมาในชาตินี้มาเป็นคน ได้ตาหูจมูกลิ้นกายใจมา
อีกอันหนึ่งเราได้มาเพราะจิตไปหยิบฉวย ตาหูจมูกลิ้นกายใจ มาทีละขณะ
ในชีวิตยาวๆเนี่ย บางทีเราก็ไม่ได้ไปสนใจ บางทีก็ไปหยิบฉวยเอามาว่านี่ตัวเรานี่ตัวเรา
งั้นมีสองอันนะ ชาติโดยการเกิด กับชาติที่เป็นขณะจิตที่เข้าไปยึดตาหูจมูกลิ้นกายใจขึ้นมา
ทำไมมีชาติ
? มีชาติเพราะมีภพ ภพคืออะไร? ภพคือความปรุงแต่ง ถ้าจะเป็นชาติที่เกิดมาในโลกนี้
ความปรุงแต่งมี ๓ ชนิดที่นำให้เกิดในโลกนี้ได้ หรือในพรหมโลก ในเทวโลก ในอบาย
พาไปเกิด เรียกว่า อุปัตติภพ ภพโดยการเกิดนะ

ส่วนภพที่เป็นขณะๆ แต่ละขณะนั้นเรียกว่ากรรมภพ จิตทำกรรม
อุปัตติภพนั้นมาจากอะไร
? มาจากจิตกระทำกรรม ทำ ๓ แบบ
๑ ทำกรรมชั่ว ข้อ ๒ ทำกรรมดี อันที่ ๓ ทำความว่าง
งั้นต้องระวังนะ ชอบทำความว่าง สอนกันให้ทำความว่าง น้อมจิตไปสู่ความว่าง
อันนั้นน่ะคือ อาเนญชาภิสังขาร ก็จะไปเกิดในภพที่ว่างๆ
ทำความชั่วไปเกิดในภพที่ชั่ว ทำความดีก็ส่งผลให้ไปเกิดในภพที่ดี
ตัวนี้ท่านเรียกว่าสังขาร การทำงานของจิต เรียกว่าสังขาร
แต่ถ้าเป็นในแต่ละขณะจิตๆนะ จิตที่ทำงานขึ้นมาเรียกว่าภพ
มันก็คือสังขารอันเดียวกันแหละ แต่ว่ามันเกิดคนละที
ถ้าเกิดโดยการเกิดนะ เรียกว่าสังขารเกิดมา สังขารทำให้เราเกิดมาตรงนี้
พอเราเกิดมาแล้วนะจิตเราทำกรรม นี่คือสังขารที่ปรุงขึ้นมาเป็นขณะ
นี่แหละทำให้เราเกิดเป็นขณะๆ อย่างตอนนี้เราเกิดโดยอุปัตติภพ พวกเราเป็นมนุษย์
โดยกรรมภพ พวกเราบางทีก็เป็นเปตร เวลาเราโลภขึ้นมาเราเป็นเปตร
โดยกรรมภพ บางทีพวกเราก็เป็นสัตว์นรก เราโมโหขึ้นมา
บางทีเราก็เจ้าความคิดเจ้าความเห็น อันนี้เราเป็นอสุรกาย
บางทีเราก็ใจลอยหลงฟุ้งซ่านไป หลงซึมไป เราเป็นสัตว์เดรัจฉาน
บางทีเรามีศีลมีธรรม เราก็เป็นมนุษย์
บางทีเราเสวยความสุขจากบุญจากกุศลของเรา เราก็เป็นเทวดา
บางทีจิตเราทรงฌาน สงบนิ่ง ในขณะนั้นเรามีกรรมภพ ทำภพของพรหมขึ้นมา
งั้นภพมี ๒ ภพนะ ภพโดยการเกิด อันนี้มาจากสังขารมันปรุง
เคยสะสมความดีไว้เยอะก็มาเกิดในภพดี
สะสมความชั่วไว้ก็มาเกิดในภพชั่ว สะสมความว่างๆก็ไปเกิดภพว่างๆ ยังเกิดอีก
ส่วนความปรุงในขณะจิตนี้ เห็นไหมเดี๋ยวก็ปรุงดีปรุงชั่ว แบบเดียวกันนั่นแหละ
งั้นตัวภพ กับตัวสังขารในปฏิจจสมุปบาทนะอันเดียวกัน แต่เกิดคนละที
ตัวสังขารนะส่วนที่อดีตส่งผลให้ตรงนี้ ตัวภพเนี่ยเราทำตรงนี้ส่งผลไปสู่ความทุกข์ในอนาคต

เนี่ยท่านดูไปพิจารณาไปนะ พบว่ามันเป็นกระบวนการเชื่อมโยงกันของรูปธรรมนามธรรม
ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีเราไม่มีเขา นี่ท่านเห็นอย่างนี้ ท่านก็บรรลุพระโสดาบัน
ดูต่อไปอีก บรรลุพระสกทาคามี บรรลุพระอนาคามี บรรลุพระอรหันต์ รวดไปเลย
เพราะงั้นจะเดินตรงนี้ได้เห็นไหม ต้องเตรียมจิตให้พร้อมก่อน จิตต้องตั้งมั่น
ท่านหายใจแล้วรู้สึก หายใจแล้วรู้สึก ไม่ใช่หายใจเอาเคลิ้ม
หายใจแล้วรู้สึก จนจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาแล้วเนี่ย ท่านพิจารณา
พิจารณาไม่ใช่คิดเอา พิจารณาเนี่ยต้องดูของจริงประกอบ มีของจริงให้ดูต่อหน้าต่อตานะ
ท่านมีรูปมีนามของท่านให้ดูต่อหน้าต่อตานั่นเอง ก็เลยรู้เลยว่า
โอ้ รูปนามมันทำงานสืบเนื่องกันโดยหลักของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง นี่ท่านเห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาท

สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔