Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๑

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporเราภาวนามากเข้าๆ ไม่ใช่เห็นแค่ทุกข์ในร่างกายนะ
เราเห็นเลยทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกายในใจนี้เป็นของชั่วคราวไปหมดเลย
มีขึ้นมาแล้วก็หายไป เช่นนั่งอยู่แล้วรูปนั่งนี้ทนอยู่ได้ไม่นาน
รูปนั่งมันถูกทุกขเวทนาบีบคั้นนะแล้วมันมีทุกขลักษณะ
คือมันไม่สามารถทนอยู่ได้นานในรูปนั่ง ต้องเปลี่ยนเป็นรูปนอน นอนก็อยู่ได้ไม่นาน ต้องเปลี่ยน
ความสุขเกิดขึ้นก็อยู่ไม่นานก็ต้องเปลี่ยน เพราะงั้นความสุขก็มีทุกขลักษณะ

ทุกขลักษณะหมายถึงมันทนอยู่ไม่ได้
ความสุขเป็นของทนอยู่ไม่ได้ใช่ไหม เพราะงั้นความสุขก็มีทุกขลักษณะ
ความสุข ไม่ใช่ทุกขเวทนา แต่เป็นทุกขลักษณะ
เนี่ยสติปัญญาของเราเริ่มแก่กล้าขึ้นเป็นลำดับๆนะ
ทีแรกอาจจะเห็นแค่ทุกขเวทนา พอสติปัญญาแก่กล้าขึ้นมา เห็นกระทั่งสุขก็เป็นตัวทุกข์
มันทุกข์ยังไงมันทุกข์เพราะมันทนอยู่ไม่ได้ นี่เรียกว่าทุกขลักษณะนะ นี่พัฒนาขึ้นมาแล้ว

ตรงขั้นที่เห็นทุกขเวทนานี้ใครๆก็เห็น นี่เรื่องธรรมดาหรอก เป็นเรื่องโลกๆ
ตรงขั้นที่เห็นทุกขลักษณะเนี่ยขึ้นวิปัสสนากรรมฐานแล้ว
ขึ้นวิปัสสนาจะเห็นไตรลักษณ์ ถ้ายังไม่เห็นไตรลักษณ์ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา
งั้นอย่างถ้าเราเห็นร่างกายเดี๋ยวก็มีความทุกข์ขึ้นมา จิตใจเดี๋ยวก็ทุกข์ขึ้นมา
เราก็บำบัดไปเรื่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ แก้เป็นคราวๆไป ไม่ใช่วิปัสสนา
นั่งอยู่ปวดเมื่อยนะหาทางแก้ ไม่ใช่วิปัสสนา
นั่นเป็นเรื่องการแก้ทุกข์ทางกายทางใจธรรมดาของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง
หิวขึ้นมาก็ไปกิน ง่วงก็ไปนอน ไม่ใช่วิปัสสนานะ
บางคนพูดมักง่าย การปฏิบัติไม่มีอะไรหรอก หิวก็กิน ง่วงก็นอน
ทำเหมือนหมาเลยมันบรรลุได้ที่ไหนล่ะ
งั้นต้องเห็นไตรลักษณ์ในกายในใจนี้นะถึงจะเป็นวิปัสสนาแท้

เนี่ยเราค่อยๆเขยิบนะ เราเรียนรู้ทุกข์มาเป็นลำดับๆนะ
จากทุกขเวทนา ก็เลื่อนมาเห็นทุกขลักษณะ ขนาดความสุขก็ตกอยู่ใต้ทุกขลักษณะ
คือความสุขก็ทนอยู่ไม่ได้จริงทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้น ไม่มีอะไรทนอยู่ได้สักอันเดียว
พอเราเห็นไปเรื่อยๆนะ ต่อไปการเห็นทุกข์มันจะประณีตขึ้นเรื่อยๆ
ตรงที่เห็นทุกขลักษณ์นี่สามารถบรรลุได้แล้ว
โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี สามารถบรรลุได้ เห็นมันทุกข์
ตรงถึงพระอนาคามีนี่จะเห็นเลย กายนี่ทุกข์ล้วนๆ พวกเรายังไม่เห็น
พวกเรายังเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง จิตใจนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง

พระอนาคามีนี่ท่านเห็นกายนี่เป็นทุกข์ล้วนๆ เพราะงั้นท่านไม่ติดอกติดใจในกาย
อะไรที่เรียกว่ากาย
? ตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เรียกว่ากาย
ไม่ติดใจในตา ในหู ในจมูก ในลิ้น ในกาย
กระทั่งตายังไม่ติดใจ ก็ไม่ติดใจในรูป ไม่ติดใจในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฐฐัพพะ สิ่งที่มากระทบ
ไม่ติดอกติดใจในรูป ก็ไม่มีความยินดียินร้ายในรูป กามและปฏิฆะก็ไม่มี
ไม่ติดใจในเสียง ก็ไม่ยินดียินร้ายในเสียง กามและปฏิฆะในเสียงก็ไม่มี เนี่ยไม่มี
ภาวนาไปเรื่อยนะ พระอนาคามีนี่จิตใจจะเด่นดวงขึ้นมาเลย
ได้อารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจที่สุดแล้ว คือได้อารมณ์ของสมาธิ
พระอนาคามีนี่ได้อารมณ์ของสมาธิเต็มภูมิแล้วเพราะสมาธิบริบูรณ์แล้ว
จะอิ่มอยู่ที่ใจนะ ใจมันจะอิ่มไม่หิวโหย ไม่เหมือนพวกเรา ใจเราจะหิวอยู่ตลอดเวลา

เนี่ยภาวนาไปเรื่อยนะ เห็นทุกข์ไปเรื่อยนะ เห็นทุกข์ไปเรื่อย
สุดท้ายใจมันเต็มอิ่มขึ้นมา มันไม่หิวโหยอารมณ์ภายนอก
อารมณ์ภายนอกเอามันทำไมมันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ใจไม่หิวไปหาอารมณ์ภายนอก
ไม่แส่ส่ายไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์ภายนอกเพราะมันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย
พอใจไม่แส่ส่าย ใจสงบ ใจตั้งมั่น ใจเด่นดวงเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานอยู่ ใจมีแต่ความสุข

พระอนาคามีจะเห็นกายเป็นทุกข์ล้วนๆนะ ไม่ยึดถือกายนะ แต่ยึดถือจิต
เห็นมาตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันแล้วว่าจิตไม่ใช่ตัวเรา
รู้ว่าเป็นของยืมโลกมาใช้ แต่ว่ามันนำความสุขมาให้ ติดอกติดใจไม่ยอมคืนโลก
คืนไม่ได้เลย แล้วไม่เห็นช่องทางที่จะคืนเลย
เนี่ยมาถึงตรงนี้นะ มันคือการปฏิบัติในขั้นแตกหัก ทำอย่างไรจะปล่อยวางตัวจิตนี้ได้

ปล่อยวางจิตไม่ใช่เรื่องง่าย เราได้ยินคำว่าปล่อยวางจิตเรายังนึกไม่ถึงเลย
อีกอย่างเราก็จะพูดถึงแต่ว่างๆนะ อันโน้นโน่นก็ว่าง อันนี้ก็ว่างๆ อยู่ๆน้อมจิตไปให้ว่าง
น้อมจิตไปให้ว่างโดยยังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษของธาตุของขันธ์ของกายของใจนี้ เป็นไปไม่ได้
มันน้อมไปได้มันก็ไปติดใจ ความว่างๆก็เป็นนามธรรมอันหนึ่ง ไม่ใช่พ้นจากรูปจากนาม
เพราะงั้นเวลาภาวนานะ บางคนจะสอนกัน ให้เอาความว่าง
ต้องรู้นะความว่างเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง
ความว่าง จะอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ
อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็เป็นนามทั้งสิ้นเลย
ยังมีรูปมีนามก็มีภพมีชาติอยู่ ยังเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิกหรอก
เพราะงั้นอยู่ๆจะไปเอาความว่างไม่ได้ เราจะต้องมาเรียนรู้ความจริงของรูปของนามให้มากนะ
ถ้ารู้ความจริงของรูปของนามแจ่มแจ้งนะ
เห็นเลยรูปนามนี้ว่างจากความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขานะ
หมดความยึดถือ คืนรูปคืนนามให้โลก คราวนี้ใจว่าง ว่างเพราะปัญญาแก่รอบ

จะพ้นขั้นสุดท้ายนี้ได้ ก็ต้องเห็นว่ากระทั่งตัวจิตก็ยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
ตัวจิตก็ยังตกอยู่ใต้ความทุกข์ ทุกขลักษณะ ตัวผู้รู้ยังตกอยู่ใต้ทุกขลักษณ์
ทีนี้บางคนภาวนาไม่ถึงจุดนะ ก็ไปคิดว่าตัวผู้รู้เที่ยง
สอนกันนะว่าจิตเที่ยงจิตเที่ยง นั่นมิจฉาทิฏฐิตัวจริงเลย
จิตไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าว่าจิตไม่เที่ยงมันก็ต้องไม่เที่ยงแหละ
เพราะจริงๆมันก็ไม่เที่ยง ถ้าดูเป็นมันจะเห็นมันเกิดดับตลอดเวลา

.ถ้าเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตผู้รู้นะ
ถึงจะเข้าใจความจริงว่าจิตเองก็ตกอยู่ใต้ความทุกข์ ตกอยู่ใต้สภาวะที่เป็นตัวทุกข์
การที่เราเห็นอย่างแจ่มแจ้งนะว่ากายนี้เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง
จิตนี้เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง อันนี้เรียกว่ารู้แจ้งในทุกขสัจ

หลวงพ่อวันนี้พูดเรื่องทุกขเวทนาใช่ไหม
ความทุกข์ในกายในใจ เราก็เปลี่ยนอารมณ์ไป เปลี่ยนอิริยาบทแก้ทุกข์ได้
ทุกข์ต่อมาคือทุกขลักษณะ ทุกสิ่งทุกอย่างทนอยู่ไม่ได้จริง
ตรงที่เห็นทุกขลักษณะนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว ถ้าเห็นมากเข้าๆนะ กายนี้ทุกข์จริงๆเลย ดูได้ง่าย
เห็นกายเป็นทุกข์นี่เห็นได้ง่ายกว่าเห็นจิตเป็นทุกข์
เพราะจิตมันเด่นดวง มันสบาย มีความสุข มันทรงสมาธิอยู่ แต่กายนี่มันทุกข์ต่อหน้าต่อตา
นั่งอยู่ก็ทุกข์ ยืนอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์นะ
หายใจออกหายใจเข้าก็ทุกข์ กินก็ทุกข์ ขับถ่ายก็ทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้นเลย
มันหมดความยึดถือกายไป แล้วมายึดถือจิต

วันใดเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์ นั่นแหละเรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว
รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไหร่นะก็จะปล่อยวางจิต ไม่ยึดถือจิตนั่นแหละทำลายตัวผู้รู้แล้ว
จิตถัดจากนั้นไม่เรียกว่าจิตผู้รู้อีกต่อไปแล้วนะ ไม่มีผู้รู้อีกต่อไปแล้ว
มีแต่สภาวะธรรม มีแต่ธาตุรู้ ไม่ใช่ตัวผู้รู้อีกต่อไปแล้ว
มันเป็นธาตุรู้ เป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุธรรม
อันนั้นมันต้องภาวนาจนกระทั่งปล่อยวางจิตได้จึงจะเห็นธาตุตัวนี้ ธาตุรู้ตัวนี้

ครูบาอาจารย์ท่านเรียกชื่อต่างๆกัน
หลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตหนึ่ง ท่านพุทธทาสท่านเรียกจิตเดิมแท้
สมเด็จพระญาณสังวรณ์ฯ ท่านเรียกวิญญาณธาตุ
หลวงปู่เทสก์ท่านเรียกว่าใจ หลวงปู่บุดดาท่านเรียกว่าจิตเดียว
เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรารู้อริยสัจแจ่มแจ้ง
รู้ทุกข์แจ่มแจ้งนั่นแหละ จะรู้อริยสัจแจ่มแจ้ง

ทุกขสัจนี่เป็นสิ่งที่รู้ยากที่สุด
กว่าจะตะล่อมๆเข้ามานะ แหวกความโง่เข้ามาจนเห็นว่าตัวจิตผู้รู้เป็นทุกข์ไม่ใช่ง่ายเลย
พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องทุกขสัจไว้ อะไรเป็นทุกขสัจ
?
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
ว่าโดยสรุป (อุปทาน)ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์
ขันธ์ทั้ง ๕ ย่อลงมาคือรูปกับนาม
เราต้องเห็นรูปกับนามเป็นตัวทุกข์นะเราถึงจะปล่อยรูปนามได้ ถ้าปล่อยวางได้ก็พ้นทุกข์ได้
พอเราปล่อยวางความยึดถือในกายไปเราก็ไม่ทุกข์เพราะกายอีกต่อไปแล้ว
ปล่อยวางความยึดถือในจิตก็ไม่ทุกข์เพราะจิต
แล้วก็จะไม่ยึดถือสิ่งใดในโลกอีกแล้วเพราะไม่มีอะไรที่เรายึดถือเหนียวแน่นเท่ากับจิต

งั้นเราภาวนานะจนจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง
เห็นไหมประโยคของหลวงปู่ดูลย์ไม่กระจอกนะ
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง คืออะไร
? ท่านบอกว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง คือมรรค
อันนี้ท่านพูดแบบออมๆไว้หน่อย เดี๋ยวคนจะมาโจนอาบัติท่าน
ถ้าพูดให้เต็มยศนะต้องบอกว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง คืออรหัตมรรค
ถ้าวันใดเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ว่าตัวจิตเอง ตัวผู้รู้เองนั้น ตกอยู่ใต้ทุกขสัจ
คือเป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง ไม่ใช่ทุกขเวทนาที่มาเป็นคราวๆ ไม่ใช่ว่าทนอยู่ไม่ได้นะ
แต่มันเป็นทุกข์โดยตัวของมัน เป็นทุกข์อยู่ในเนื้อของมันเอง ทุกข์ล้วนๆเลย
ถ้าเห็นถึงขนาดจิตเป็นทุกข์ล้วนๆ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป นี่แหละถึงจะปล่อยวางจิต
พอไม่ยึดถือจิต ปล่อยวางจิตไปแล้วนะ ความอยากให้จิตเป็นสุขก็จะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
เพราะรู้แล้วว่ามันเป็นตัวทุกข์ ไม่เห็นต้องอยากให้มันสุขเลย อยากให้โง่สิมันเป็นไปไม่ได้
ความอยากที่จะให้จิตพ้นทุกข์ก็จะไม่มี เพราะรู้ว่าจิตเป็นตัวทุกข์ ยังไงก็ต้องทุกข์ จะให้มันพ้นๆไม่ได้
ไม่มีความอยากให้เป็นสุข ไม่มีความอยากหนีทุกข์เกิดขึ้น ไม่มีความอยากใดๆเกิดขึ้นเลย
รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไหร่ก็เป็นอันละความอยาก คือละสมุทัยเด็ดขาดเมื่อนั้น

เวลารู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ จะละสมุทัยอัตโนมัติเลย
รู้ทุกข์เมื่อไหร่ละสมุทัยคือละตัณหาเมื่อนั้นเลย ไม่มีความอยากเกิดขึ้นแล้ว
เพราะรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ยังไงมันก็ไม่สุข
ไม่มีความอยากให้เกิดความสุข ไม่มีความอยากให้พ้นจากความทุกข์
รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละสมุทัย ละสมุทัยได้เมื่อไหร่ใจปราศจากความอยากเมื่อไหร่ใจจะเห็นพระนิพพาน
เพราะนิพพานคือสภาวะที่พ้นจากความอยาก ที่สิ้นจากความอยาก หมดจดจากความอยาก
ถ้าใจของเราพ้นความอยาก หมดจดจากความอยากเมื่อไหร่ พระนิพพานจะปรากฏขึ้นต่อหน้าต่อตา
พระนิพพานมีอยู่แล้ว แต่จิตซึ่งไม่มีคุณภาพ จิตซึ่งยังมีความอยากอยู่นี่ไม่มีคุณภาพพอที่จะเห็นพระนิพพานซึ่งมีอยู่แล้วต่อหน้าต่อตาเรา

นิพพานไม่ใช่ความว่างๆไร้สาระอย่างที่นึกกันนะ
อยู่ๆก็น้อมจิตให้ว่างแล้วบอกพระนิพพาน อันนั้นเป็นนามธรรมอันหนึ่ง
เป็นกลุ่มของนามธรรมที่ว่าตั้งแต่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ
อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
งั้นอยู่ๆจะไปน้อมหาความว่างไม่ได้มันจะเข้าไปอรูปฌานนะ

ต้องมาเรียนรู้ทุกข์นะ มาเรียนรู้ทุกข์ให้แจ้ง เริ่มแต่ดูทุกข์ในกายในใจนี้แหละ
ทุกขเวทนาดูไป ต่อไปก็เห็นเลยทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นของชั่วคราวไปหมดเลย
เห็นทุกอย่างมันเป็นของชั่วคราวมันทนอยู่ไม่ได้ นี่เราเห็นแจ้งในทุกขลักษณะนะ
ต่อไปมันเห็นทุกขลักษณะแจ่มแจ้งนะ มันจะไม่ยึดถือ
มันจะแจ้งในทุกขลักษณะของกายก่อน แล้วหมดความยึดถือกาย
ต่อมาแจ้งในทุกขลักษณะของจิต หมดความยึดถือจิต

จิตที่หมดความยึดถือจิต จิตสลัดคืนจิตให้โลกนะ จะเป็นภาวะซึ่งประหลาด
เป็นธาตุรู้ซึ่งบริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นธาตุรู้อันเดียวกับธรรมะ เป็นธาตุรู้อันเดียวกับพระพุทธเจ้า
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นความบริสุทธิ์อันเดียวกัน เสมอกันไปหมดทั้ง ๓ โลกธาตุนี้
จิตดวงนี้ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีจุด ไม่มีดวง ไม่มีขอบ ไม่มีเขต เป็นเนื้อเดียวกับความว่างของจักรวาลนะ
นี่เวลาจะนิพพานก็นิพพานอย่างนี้นะ จะเห็นพระนิพพานเต็มโลกเต็มจักรวาลบริบูรณ์อยู่แล้วไม่มีบกพร่องตรงไหนเลย

จิตที่ไปสัมผัสพระนิพพานตรงนี้ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าจิตหนึ่ง จิตคือพุทธะอันนั้นแหละ
งั้นเวลาเราอ่านหนังสือหลวงปู่ดูลย์ต้องระวังนะ
อ่านว่าจิตคือพุทธะ แล้วเอาไปปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้นะเรื่องจิตคือพุทธะ
จิตคือพุทธะเป็นปลายทางแล้ว เป็นผลของการปฏิบัติแล้ว จิตเข้าถึงความเป็นพุทธะแล้ว
ส่วนของพวกเรามันจิตพวกมาร จิตพวกกิเลส พวกกิเลสมารยังครองจิตอยู่
งั้นไม่ใช่มีจิตคือพุทธะนะ อยู่ๆจะบอกว่าจิตบริสุทธิ์อยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรเลยแล้วดีเอง
นี่โง่ที่สุดเลยนะ เป็นคำสอนที่ผิดร้ายกาจที่สุดเลย

ต้องรู้ทุกข์ รู้ทุกข์เมื่อไหร่ก็เห็นธรรมเมื่อนั้น เห็นพระนิพพานเมื่อนั้น
แจ้งทุกข์ก็แจ้งพระนิพพาน ถ้าไม่รู้ทุกข์ไม่เห็นนิพพานหรอก
ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรมะ รู้ทุกข์ก็รู้ธรรม เห็นทุกข์ก็เห็นธรรม
ปล่อยวางทุกข์ได้ก็ปล่อยวางธรรมด้วยนะ ไม่ใช่ครอบครองธรรมะนะ
ก็ปล่อยวางธรรมทั้งหมดเลย กระทั่งพระนิพพานก็ไม่ยึดถือ เป็นอิสระอย่างแท้จริง
ถ้าเรายึดถือสิ่งใด เรายังไม่เป็นอิสระเพราะสิ่งนั้นแหละ
ถ้าไม่ยึดถือแล้ว ก็เป็นอิสระที่แท้จริง
ที่ว่าจิตหลุดพ้น จิตหลุดพ้น วิมุตตินะไม่ยึดถืออะไร
แต่ว่าเต็มอิ่มอยู่ในตัวเองนะ จิตใจเต็มอิ่มอยู่
ไม่ใช่ไปเข้าสมาธิลึกๆซึมๆอยู่แล้วบอกนิพพาน
นิพพานเหลวไหล นิพพานมีเข้ามีออก

นิพพานพรหมหรอก มีเข้ามีออก
นิพพานแท้ ไม่มีเข้ามีออกนะ

สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔