Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๔๐

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporเรียนรู้รูปนาม ให้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม เรียนรู้ไปเรื่อย
จะเรียนรู้รูปนามได้จิตต้องตั้งมั่น เนี่ยสมาธิสำคัญ
แต่สมาธิไม่ใช่สมาธิอย่างที่ชาวโลกเขาทำกัน
สมาธิอย่างชาวโลกเค้าทำ มันสมาธิเคลิบเคลิ้ม สมาธิสงบสบายเพลิดเพลิน
สมาธิอย่างนั้นเอาไว้พักผ่อน ทำสมถะเอาไว้พักผ่อนให้จิตใจมีเรี่ยวมีแรง
แต่พักผ่อนไปเรื่อยปัญญาไม่เกิดหรอก

ต้องรู้จักสมาธิอีกชนิดหนึ่ง สมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา
ในความเป็นจริงคำว่าสมาธินั้นแปลว่าความตั้งมั่น
แต่เรามักง่าย เราชอบแปลว่าความสงบ คนละเรื่องกันนะ

สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต
เราต้องมาฝึกให้ได้สมาธิชนิดที่เป็นความตั้งมั่นของจิตเราถึงจะเดินปัญญาได้
ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วคนไหนถนัดดูกายก็ดูรูปมันทำงาน
มีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดู ก็จะเห็นว่ารูปนี้ไม่ใช่ตัวเรา
แล้วจิตนั้นก็บังคับมันไม่ได้ด้วย บางทีก็รู้รูป บางทีก็ไม่ยอมรู้ อะไรอย่างนี้
คนไหนถนัดดูนามธรรมก็ดูจิตใจ มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู
ก็จะเห็นว่าเวทนานั้นไม่ใช่จิต เวทนาแยกออกไปจากจิต
เป็นสิ่งที่จิตปรุงขึ้นมา แล้วก็เลือกไม่ได้ว่าจะเกิดเวทนาชนิดไหน
สั่งให้เกิดสุขก็ไม่ได้ ห้ามไม่ให้เกิดทุกข์ก็ไม่ได้
สุขหายไปแล้วจะรักษาไว้ก็ไม่ได้ ถึงเวลาก็หาย
ความทุกข์ไล่มันยังไงก็ไม่ไป ถึงเวลามันก็ไป
เนี่ยล้วนแต่สอนไตรลักษณ์ทั้งนั้นเลย

ดูสังขารก็จะเห็นเลย
ไม่ได้เจตนาจะโกรธ ไม่ได้เจตนาจะโลภ ไม่ได้เจตนาจะหลง มันหลงของมันได้เอง
มันโกรธ มันโลภ ออกมาได้เอง เนี่ยบังคับไม่ได้
มันโกรธขึ้นมามันก็อยู่ชั่วคราว
มันโลภขึ้นมามันก็อยู่ชั่วคราว มีแล้วก็หายไปอันนี้เรียกว่าอนิจจัง

งั้นการเรียนน่ะ ถ้าจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้วเราจะเห็นเลย
ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเราเป็นของถูกรู้ถูกดู เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เวทนาก็ไม่ใช่ตัวเรา เป็นของที่ถูกรู้ถูกดู ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
สังขารทั้งหลาย เป็นของถูกรู้ถูกดู เช่นกุศลอกุศล โลภโกรธหลง
ความโกรธอย่างนี้ เป็นของถูกรู้ถูกดู ไม่ใช่ตัวเรา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ทีนี้จิตเอง เห็นไหม
จิตจะขึ้นวิถีหรือไม่ขึ้นวิถีก็ห้ามไม่ได้
จะขึ้นวิถีแบบไหนก็สั่งไม่ได้
ขึ้นวิถีก็มีหลายแบบ สั่งไม่ได้
ถ้าวิถีเต็มรูปแบบ มันก็ขึ้นมาจากภวังค์นะ
แล้วก็มารับอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซะก่อน
ถ้าอารมณ์นั้นมีกำลังแรง มีคุณค่าพอ มีความน่าสนใจพอ ก็จะส่งสัญญาณมาที่จิต
ถ้าอารมณ์นั้นไม่มีคุณค่าพอนะ ก็ไม่ส่งสัญญาณมาที่จิต

อย่างเวลาเรานั่งรถไปตามถนนนะ เราเห็นคนเยอะแยะริมถนน
เห็นไหม เราไม่ได้สนใจ เห็นแล้วใจไม่เอาเลย
เนี่ยมันจบลงที่ตามองเห็นแล้ว แค่เห็นๆแล้วก็แค่นั้น วิถีนี้จบแค่นี้เอง ไม่เต็มรูปหรอก

แต่ถ้ามันเป็นคนที่เรารัก คนที่เราเกลียด คนที่เรารู้จัก
มันจะเริ่มทำงานต่อ ส่งสัญญาณมาที่ใจ ทำงานต่อ
งั้นมันจะส่งสัญญาณมา หรือไม่ส่งสัญญาณมา สั่งมันไม่ได้หรอก
เห็นเลยเป็นของบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้
ส่งสัญญาณมาที่ใจแล้ว มันจะเกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศลเกิดอกุศล
สั่งไม่ได้ทั้งสิ้นเลย มีแต่อนัตตาทั้งสิ้นเลย

งั้นถ้าเห็นวิถีของจิตนะ ก็จะรู้จักความเป็นอนัตตาของจิต
ถ้าเห็นปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นเลยว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น สัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่
มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้
มีเหตุก็เกิดนะ หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ บังคับไม่ได้เป็นอนัตตา

อะไรที่มีเหตุแล้วเกิด
?
“รูปนาม” มีเหตุแล้วเกิด นี่แหละคือตัวทุกข์
หมดเหตุก็ดับ อะไรเป็นเหตุ
? ตัว “ตัณหา” เป็นเหตุ
งั้นถ้าตัณหาดับ ทุกข์ก็ดับ

เห็นไหมประโยคที่หลวงพ่อพูด “มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ”
ครอบคลุมถึงตัวทุกข์ตัวสมุหทัยไว้แล้ว
ถ้าเรารู้เราเห็นตัวทุกข์ตัวสมุหทัยนี่แหละเจริญมรรคอยู่
ถ้าตรงที่เหตุมันดับ นิโรธคือนิพพานก็แจ้ง
เนี่ยเพราะงั้นประโยคที่หลวงพ่อพูดเรื่อย
“มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ” มันครอบคลุมอริยสัจ ๔ อยู่แล้ว
สิ่งใดมีเหตุก็เกิด สิ่งที่มีเหตุแล้วเกิดมาก็คือรูปกับนาม
หมดเหตุแล้วดับ ตัวอะไรเป็นตัวเหตุ
? ตัวตัณหา
ถ้าตัณหาดับนะ ตัวทุกข์ก็ดับ ตัวรูปนามนั่นแหละตัวทุกข์
ทันทีที่ตัวตัณหาดับ นิโรธก็แจ้งในขณะนั้นแล้ว

งั้นการที่เรารู้ทุกข์นะ จนละสมุหทัยได้ แจ้งนิโรธได้ ตัวนั้นล่ะตัวมรรค

ธรรมะเป็นของประณีตนะ ลึกซึ้ง
ค่อยๆเรียน ค่อยๆรู้ไป เป็นลำดับๆ เราจะพบว่าอัศจรรย์เหลือเกิน
พระพุทธเจ้านี้อัศจรรย์ พระธรรมนี้อัศจรรย์ พระสงฆ์นี้อัศจรรย์
เป็นของนึกไม่ถึงนะ ขนาดท่านสอนแล้วนะเราเดินตามยังยากเลย
แต่ถ้าขั้นต้นๆไม่ยากนะ โสดาบัน สกทาคามี อะไรอย่างนี้ ฆราวาสก็ทำได้
ในขั้นอนาคามี ฆราวาสยากแล้ว ยากมาก
เพราะฆราวาสเนี่ยเคล้าอยู่กับกาม หมกมุ่นอยู่กับกาม
หาความสุขความเพลิดเพลินในรูปในเสียงในกลิ่นในรส
ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นโทษของกาม
ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม

เมื่อวานมีพระมาส่งการบ้าน มาเล่า ฝึกกสิณ ใจมันว่างไปหมดเลย
บอกหลงแล้ว ฝึกกสิณนะไม่ทำให้เกิดปัญญา
เจ้าคุณนรฯ ท่านถึงบอกว่ากสิณเป็นกรรมฐานของคนโง่
ไปทำกสิณสงบไปเฉยๆ ไม่ย้อนมาดูกายดูใจ
ไม่ดูกายดูใจก็คือไม่เรียนรู้ทุกข์นั่นเอง
ตัวกายตัวใจเรานี่แหละตัวทุกข์ ไม่เรียนรู้ทุกข์ไม่ได้ธรรมะหรอก

งั้นต้องย้อนมาเรียนรู้ทุกข์นะ มาดูกายดูใจของเรา
มีจิตตั้งมั่นขึ้นมาก่อน จิตต้องหลุดออกมาจากโลกของความคิดให้ได้ก่อน
แล้วดูกายทำงานดูใจทำงาน ดูใจทำงานก็จะเห็นตั้งแต่เวทนานุปัสสนา
จิตตานุปัสสนา ธรรมานุปัสสนาก็จะเห็น ถ้าดูกายก็เป็นกายานุปัสสนาไป
แต่ลงท้ายมันจะเข้ามาที่เดียวกันนะ เข้ามาที่ธรรมานุปัสสนาเหมือนกันหมดแหละ
ไม่ว่าจะเริ่มจากอะไร ถ้าลงท้ายก็ต้องมาแจ้งอริยสัจ แจ้งปฏิจจสมุปบาททุกๆองค์ที่จะบรรลุพระอรหันต์
บรรลุพระอรหันต์ได้ไม่ใช่เพราะรู้อะไรหรอก แต่ว่าเพราะรู้อริยสัจ
อาศัยการรู้รูปนามทำให้แจ้งอริยสัจ

งั้นไปทำสมาธิให้จิตว่าง จิตเฉย จิตสบายอยู่เฉยๆ
ไม่ยอมรู้กายรู้ใจ ไม่ยอมรู้ทุกข์เรียกว่าไม่ได้เจริญกิจในอริยสัจเลย
ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นธรรม
รู้แจ้งในกองทุกข์นั้นว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้
ไม่ใช่เกลียดมัน ถ้าเกลียดมันก็ไม่เห็นธรรมอีก

รู้ทุกข์ไปเรื่อย รู้กายรู้ใจไปเรื่อย จนกระทั่งรู้เลยไม่ใช่ของดีของวิเศษ แต่ไม่เกลียด
อย่างไปพิจารณาร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะนะ พิจารณาแล้วเกลียด ไม่ใช่ทางบรรลุหรอก
เห็นกายเห็นใจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
รู้เลยไม่ใช่ของดีของวิเศษ แต่ไม่เกลียด
ไม่รักไม่เกลียดนะ ไม่ยึดถือ รักก็ยึดถือนะ เกลียดก็ยึดถือ

ถ้าเห็นความจริงของรูปนามนะ ความจริงก็คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้
ใจเป็นคนดูนะแล้วก็ถึงจะเห็น ใจที่เป็นคนดูเนี่ยเราฝึกมา ต้องฝึก
วิธีฝึกให้มีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูนะ ทำกรรมฐานสักอันหนึ่งก่อน
พุทโธก็ได้ หายใจก็ได้ อะไรก็ได้ แล้วค่อยๆสังเกตุไป
ถ้าจิตหนีไปคิดค่อยรู้ทัน ดูท้องพองยุบก็ได้ ดูท้องพองยุบแล้วจิตหนีไปคิดเรารู้ทัน
จิตหนีไปคิดเรารู้ทัน จิตไหลไปเพ่งเรารู้ทัน รู้ทันจิตที่เคลื่อนไป
อาศัยการรู้ทันจิตที่เคลื่อนบ่อยๆนะ พอมันเคลื่อนปุ๊บรู้ทันปั๊บ
จิตมันจะตั้งมั่นไม่เคลื่อน จิตที่ตั้งมั่นคือจิตไม่เคลื่อนไป ไม่ฟุ้งซ่านนั่นเอง
จิตจะหลุดออกจากโลกของความคิด

พอหลุดออกจากโลกของความคิดแล้วก็มาดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมเรื่อยไป
จะเห็นแต่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะเห็นแจ่มแจ้งนะ
ไม่รักไม่เกลียดในรูปในนามนี้ ยังรักอยู่ ยังเกลียดอยู่ ไม่วาง
งั้นใจต้องตั้งมั่นเป็นคนดูขึ้นมา ไม่ใช่เป็นผู้คิดผู้นึกผู้ปรุงผู้แต่ง
แต่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา แล้วดูรูปนามทำงาน
ใจจะไม่รักไม่เกลียดนะ แต่เห็นเลยไม่ใช่ของมีสาระ แล้วก็ไม่เกลียดด้วย

ตรงนี้ใจมันจะยอมวาง
ตรงที่ใจวาง ความพ้นทุกข์ก็อยู่ตรงนั้นเอง
เพราะว่าตัวรูปตัวนาม ตัวกายตัวใจ นั่นแหละตัวทุกข์
ไม่ยึดถือในรูปในนาม ในกายในใจ ก็พ้นทุกข์ตรงนั้นเอง
นี้ทางเดินที่พระพุทธเจ้าท่านให้ไว้นะ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔