Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๓๘

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporเวลาคนไปฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะขั้นปฏิบัติทั้งนั้นแหละ
ท่านไม่ได้สอนปริยัติเล่นๆหรอก เป็นเรื่องการปฏิบัติล้วนๆเลย
ทุกคนที่มาฟังท่านเทศน์นะ ก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่าท่านเทศน์เฉพาะเจาะจงให้เราฟัง
เนี่ยเป็นความรู้สึกอย่างนี้ทุกคน
ในความเป็นจริงแล้วแต่ละคนนั้นมีความรู้ความเข้าใจไม่เท่ากันเลย
บางคนฟังแล้วก็ได้ขั้นต้นๆ บางคนฟังก็ได้ธรรมะที่สูงขึ้นๆเป็นลำดับๆ
ประโยคที่ท่านพูดประโยคเดียวกันนั้นเอง
แต่พอถ่ายทอดเข้าสู่ใจของเราแล้ว เข้ามาไม่เท่ากัน
เข้ามาตามคุณภาพของจิตใจผู้ฟัง
แต่ผู้ฟังทุกคนจะมีความรู้สึกเหมือนว่าท่านเทศน์เฉพาะเจาะจงให้เราฟัง
เนี่ยความอัศจรรย์ของธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้

ถ้าใจของเรามีความสงบ รู้ตื่นเบิกบาน รอรับธรรมะที่ประณีตได้
ธรรมะประโยคเดียวกันนะเราก็รับได้เยอะ
เคยฟังซีดีหลวงพ่อแผ่นเดียวหลายๆครั้งไหม
ความเข้าใจไม่เหมือนกันรู้สึกไหม เพราะจิตของเรามีคุณภาพที่แตกต่างกัน
งั้นเวลาจะฟังธรรมะนะ บางทีเมื่อก่อนไปอยู่ตามวัดป่า ครูบาอาจารย์ให้ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิไปก่อน
พอใจรู้ตื่นเบิกบานแล้วท่านก็เทศน์ให้ฟัง เราก็จะได้แง่ได้มุมที่เรานึกไม่ถึง
บางมุมนะเราก็เคยฟัง ประโยคนี้เคยฟังมานานแล้ว
แต่พอใจเรามีคุณภาพนะความเข้าใจมันเปลี่ยนไป

งั้นความเข้าใจในธรรมะมันจะเปลี่ยนเป็นลำดับๆไปนะ ทุกขั้นทุกตอนเลย
ธรรมะที่ยากที่สุดคืออริยสัจ เป็นธรรมะที่ยากที่สุด ลึกซึ้งที่สุด
มีเฉพาะในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีที่อื่นเลยในเรื่องอริยสัจ
ความเข้าใจอริยสัจเวลาที่เราเรียนทีแรกนะ
เราภาวนาไปเรื่อยๆ ความเข้าใจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
อย่างที่แรกเราได้ยินว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์
เราจะคิดว่า คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นทุกข์
พอเราภาวนาประณีตขึ้นไปนะเราก็จะรู้สึกว่า
อ๋อไม่ใช่ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นทุกข์หรอก
ขันธ์ทั้งหลายเนี่ยถ้าเราเข้าไปยึดมันแล้วจะเป็นทุกข์ รู้สึกอย่างนี้

ได้ยินคำว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์
งั้นถ้ามีอุปาทานในขันธ์ ๕ ก็จะเป็นทุกข์ มีขันธ์ ๕ เฉยๆไม่ทุกข์
จะเข้าใจอย่างนี้ แต่ไม่ใช่คนแล้ว ไม่ใช่คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้ว
ขันธ์ของเราเกิด ขันธ์ของเราแก่ ขันธ์ของเราเจ็บ ขันธ์ของเราตาย ถึงจะทุกข์ เนี่ยความเข้าใจก็เปลี่ยน

ภาวนาต่อไปอีกก็จะเห็นว่า ขันธ์นั่นแหละตัวทุกข์
จิตจะมีความอยาก จิตจะมีความยึดหรือไม่ก็ตาม ขันธ์นั่นแหละเป็นตัวทุกข์
เนี่ยท่านถึงว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์
คำว่า อุปาทานขันธ์ ไม่ได้แปลว่าขันธ์ที่ถูกยึดมั่น
แต่มันเป็นขันธ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นได้ คือขันธ์ที่พวกเราทั้งหลายมีกันอยู่นี่แหละ

ขันธ์บางอย่างไม่จัดเป็นอุปาทานขันธ์
เช่นโลกุตรจิตทั้งหลาย ไม่จัดเป็นอุปาทานขันธ์ เอามาทำวิปัสสนาไม่ได้ ไม่ใช่ตัวทุกข์
ขันธ์ทั้งหมดไม่ใช่ตัวทุกข์นะ เฉพาะขันธ์ที่เรียกว่าอุปาทานขันธ์
คือขันธ์ซึ่งสามารถเอาไปยึดมั่นได้ เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นได้
ไม่ใช่ว่าขันธ์ทั้งหมดไม่ทุกข์ ต่อเมื่อยึดมั่นแล้วขันธ์กลายเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่
ในความเป็นจริงขันธ์ทั้งหมดเป็นตัวทุกข์อยู่แล้ว จะยึดหรือไม่ยึดนะ
ถ้ามันเป็นชนิดที่เรียกว่าอุปาทานขันธ์ มันทุกข์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว

เนี่ยความเข้าใจจากการปฏิบัตินะมันประณีตมากเลย
อ่านๆเอานะ นึกว่าเข้าใจ เข้าใจไปคนละเรื่องเลย
อย่างเบื้องต้นเข้าใจว่ามีคน คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นทุกข์
ทั้งๆที่ท่านสอนว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์
ท่านไม่ได้ว่าคน มันไม่มีคน แต่ใจของเรามันมีคนอยู่
เราฟังธรรมะที่ไม่มีคนนะ เราก็ตีความให้มันเป็นธรรมะที่มีคนไปหมดเลย เนี่ยคลาดเคลื่อน

ใจเราเองมีความยึดมั่นในขันธ์ทั้งหลายอยู่
พอเราฟังเรื่องอุปาทานขันธ์นะเราก็เลยนึกเอา
ว่าถ้าไม่มีความยึดมั่นก็ไม่ทุกข์ ขันธ์ทั้งหลายเนี่ย
อันนี้ไม่นับพวกโลกุตรจิตที่ว่านะ
อันนั้นมันพ้นจากกองทุกข์ไป คนส่วนใหญ่เรียนไปไม่ถึงหรอก
ขันธ์ที่พวกเรามีนั่นแหละ ตัวอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย

ตอนภาวนานะ ทีแรกก็ยังคิดว่าถ้าเราเข้าไปยึดแล้วขันธ์จึงจะเป็นตัวทุกข์
ถ้าเราไม่ยึดขันธ์ไม่เป็นตัวทุกข์ เนี่ยเข้าใจอย่างนี้
ภาวนาจนเข้าใจจริงๆแล้วถึงรู้ว่า ขันธ์นั่นแหละเป็นตัวทุกข์
จะยึดหรือไม่ยึด ขันธ์นั่นแหละเป็นตัวทุกข์
ถ้าความรู้ความเข้าใจมันแค่ว่า ถ้ามีความอยากมีความยึด แล้วก็เลยมีความทุกข์ขึ้นมา
ไปยึดขันธ์แล้วทุกข์นะ เราจะมุ่งมาในจุดที่ว่า ทำอย่างไรจะไม่ไปยึดขันธ์ จะหาทางไม่ไปยึดขันธ์
คนศาสนาอื่นเค้าก็มี หาทางที่จะไม่ให้ยึด อย่างพวกที่ทรมานร่างกาย
มันรักร่างกายเหรอ ทรมานมันไปเลยจะได้ไม่รักมัน
อยากกินเหรอ ใจมันอยากกิน ทรมานไม่กินมัน หาเรื่องทรมาน ไม่ตามใจกิเลส
พยายามจะเข้าไปจัดการกับจิตใจซึ่งมันจะเข้าไปอยากเข้าไปยึดในรูปในนามทั้งหลาย
เนี่ยเพราะว่าความเข้าใจในอริยสัจไม่แจ่มแจ้งนะ ลงท้ายวิธีปฏิบัติมันก็คลาดเคลื่อน
นึกออกไหม พอเราคิดว่าถ้าอยากถ้ายึดแล้วทุกข์ ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงจะหายอยาก
อยากกิน กูไม่กินนะ แกล้งมันซะ ต่อไปจะได้ไม่มีความอยาก มุ่งไปจัดการที่ตัวความอยาก

แต่ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้านะ จะรู้เลยว่าขันธ์นั่นแหละตัวทุกข์
ไม่ใช่ขันธ์เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง ขันธ์นี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ความอยากให้ขันธ์เป็นสุขไม่เกิดขึ้น ความอยากให้ขันธ์พ้นทุกข์ไม่เกิดขึ้น
อยากให้มีสุขไปทำไม
? อยากให้โง่เหรอ มันไม่มีทางมีความสุขได้เพราะมันเป็นตัวทุกข์
อยากให้มันพ้นทุกข์เหรอ
? อยากให้โง่น่ะสิ เพราะยังไงมันก็ทุกข์ ไม่มีทางพ้นเลย

ถ้าปัญญาแก่รอบจริง มันจะเห็นขันธ์นั่นแหละตัวทุกข์
พอเห็นแจ้งอย่างนี้ ความอยากให้ขันธ์เป็นสุขก็ไม่เกิด
ความอยากให้ขันธ์พ้นทุกข์ก็ไม่เกิด
ความอยากทั้งหลายแหล่มันก็มีอยู่แค่นี้เองนะ
ความอยากที่ว่ากิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดอะไรนั้น
จริงๆก็อยากให้ขันธ์เป็นสุข อยากให้ขันธ์พ้นทุกข์นั่นแหละ
ย่อๆลงมา รักสุข เกลียดทุกข์นั่นแหละ

ถ้าปัญญาแจ้งนะ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ อยากไปก็เท่านั้นแหละ
อยากให้สุขเหรอ โง่แท้ๆ จะสุขได้ยังไง มันเป็นตัวทุกข์
เหมือนอยากให้ไฟไม่ร้อนนะก็โง่เปล่าๆ อยากให้พระอาทิตย์ไม่ร้อนนะก็โง่เปล่าๆ
อยากให้มันมีความสุขเหรอ มันมีไม่ได้ เพราะมันเป็นตัวทุกข์
เนี่ยใจเข้าใจขันธ์เท่านั้นแหละ ความอยากดับเองเลย
ไม่ต้องไปทรมานกายทรมานใจเพื่อจะดับตัณหาเลย

ขอให้รู้ทุกข์แจ่มแจ้งนะ ตัณหาจะดับอัตโนมัติเลย
ถ้าเราเข้าใจตัวนี้นะ ความเข้าใจมันจะประณีตมากนะ จิตมันจะสลัดคืนขันธ์ให้โลกไปเลย
พอจิตมันเห็นแล้วว่าขันธ์ไม่ใช่ของดีของวิเศษ ขันธ์นี้เป็นทุกข์ล้วนๆ
กระทั่งตัวจิตก็เป็นทุกข์ล้วนๆ จิตมันก็อยู่ในขันธ์นั่นเอง อยู่ในวิญญาณขันธ์
พอมันปล่อยขันธ์ทิ้งไป ไม่มีอะไรให้ยึดอีก มันก็พ้นจากอุปาทานขันธ์
อุปาทานขันธ์ก็กองอยู่อย่างนั้นแหละ กองอยู่กับโลกนั่นเอง ไม่ใช่ต้องไปทำลายล้างมัน
มันมีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้ แต่ใจไม่เข้าไปยึดถือมันแล้ว
ที่ใจไม่เข้าไปยึดถือมันเพราะว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ว่าขันธ์ทั้งหลายทั้งปวงนี้แหละเป็นตัวทุกข์

สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔