Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๓๗

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangpor

ต้องแยกให้ออกนะเวลาภาวนา อะไรเป็นสมถะอะไรเป็นวิปัสสนา ตัวนี้สำคัญมากเลย
นั่งสมาธิเดินจงกรม ตัวลอยตัวเบาน้ำตาไหลปีติซู่ซ่าอะไรอย่างนี้ นั่นสมถะทั้งหมดเลย
หรือจิตไปนิ่งไปว่าง น้อมจิตให้นิ่งให้ว่าง หรือดับความรู้สึกลงไป
บางทีก็เหลือความรู้สึกอยู่นิดนึง ดับโลกธาตุ ร่างกายหายไป โลกหายไป
บางทีโลกธาตุไม่ดับนะแต่จิตดับ มีแต่ร่างกายไม่มีจิต
สิ่งเหล่านี้เป็นสมถะทั้งหมดเลย

ถ้าเราแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา
การภาวนาของเรามันจะตกไปสู่สมถะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยพลิกมาเป็นวิปัสนนาง่ายๆหรอก
เพราะในสังสารวัฏที่ยาวนานนี้ นานๆจะมีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นสักองค์หนึ่ง
ต่อเมื่อมีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมา คำสอนเรื่องวิปัสสนากรรมฐานจึงจะเกิดขึ้น
ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นมา มีแต่เรื่องสมถะกรรมฐาน
สมถะกรรมฐานนี้ไม่เคยหายไปไหนเลย มีอยู่ตลอด
แต่วิปัสสนากรรมฐานนี้นานๆเกิดทีหนึ่ง แล้วมักจะเกิดไม่นานด้วย

..ต้องเรียนให้ดีนะ ต้องฟังให้ดี จับหลักให้แม่น
ลักษณะของสมถะกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานนั้นแตกต่างกัน ผลได้ก็ต่างกัน
สมถะนั้นทำไปเพื่อให้จิตมีความสุขมีความสงบมีคุณงามความดี
ทำไปแล้วก็ไปสู่ภพภูมิที่ดี เวียนว่ายตายเกิดไปในภูมิที่ดีมีความสุข
หรือยังไม่ตายนะ ก็อยู่ในโลกมุนษย์นี้ เป็นมนุษย์ที่มีความสุข
วิปัสสนากรรมฐานนะ ทำเพื่อให้เห็นความจริง
ความจริงของธาตุของขันธ์ คือความเป็นไตรลักษณ์ของธาตุของขันธ์

เห็นไหมสโคปมันต่างกันนะ ขอบเขตเป้าหมายต่างกัน วิธีปฏิบัติก็ต่างกัน
อันหนึ่งทำไปให้จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีความสุข มีความสงบ มีคุณงามความดี
อย่างจิตมีราคะมาก ไปพิจารณาปฏิกูล พิจารณาสุภะ
ข่มราคะสำเร็จจิตก็ไม่มีราคะ นี่เป็นจิตของคนดี จิตไม่มีราคะก็ไม่ฟุ้งซ่านเพราะราคะ
สงบ สงบจากราคะ ไม่ฟุ้งซ่านเพราะราคะ เป็นคนดี มีความสุข จิตสงบแล้วมีความสุข
มีโทสะมากนะ ไปเจริญเมตตา แผ่เมตตาไป บางทีก็แผ่ได้แคบๆ
โกรธคนนี้ก็แผ่เมตตาให้คนนี้ นี้เรียกว่าเมตตาพรหมวิหาร แผ่ให้คนนี้ๆหายโกรธเค้า เกิดความเมตตาความโกรธถูกข่มเอาไว้ดับไป ความโกรธหายไปก็เป็นคนดี ไม่ชั่วเพราะโกรธ
เป็นคนสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปเพราะความโกรธ มีความสุขขึ้นมา คนโกรธไม่มีความสุข กิเลสมันเผาเร่าร้อน

เนี่ยสมถะนะทำไปได้ความสุข ได้ความสงบ ได้ความดี
อยู่ชั่วกำลังของสมถะ หมดกำลังเมื่อไหร่มันก็กลับมาอีก กิเลสมันก็กลับมาอีก มันไม่ตาย
เพราะว่าไม่ได้ขุดรากถอนโคนมัน ครูบาอาจารย์ท่านเทียบการทำสมถะนะเหมือนเอาก้อนหินไปทับหญ้าไว้
ยกก้อนหินออกเมื่อไหร่นะหญ้าก็งอกใหม่ เนี่ยหญ้ามันเก่ง รากมันยังอยู่
เหมือนต้นไม้บางต้นนะ จากรากมันงอกขึ้นมาได้อีก ตายยาก
สมถะนะ ข่มกิเลสได้ชั่วคราวเดี๋ยวก็มาอีก
วัตถุประสงค์ที่ข่มไว้ก็ได้ความสุข ได้ความสงบ ได้ความดี วัตถุประสงค์ตรงนี้

..งั้นเวลาเราเริ่มต้นมันจะเริ่มต้นโดยการที่จิตนี้เข้าไปจับอารมณ์อันเดียวนิ่งๆอยู่
คิดถึงการปฏิบัติทีไรมันตกมาร่องนี้ทุกทีเลย ด้วยความเคยชินที่สะสมมาในสังสารวัฏ
คิดถึงการทำวิปัสสนากรรมฐานปุ๊บ กำหนดพองยุบเลย กำหนดท้องเลย
กำหนดลมหายใจเลย กำหนดเดินจงกรมเลย กำหนดมือเลย
กำหนดโน้นกำหนดนี้ตลอดเลย เอาจิตไปจดจ่อไว้ที่ใดที่หนึ่งน้อมเข้าไปเลย นั่นไม่ใช่วิปัสสนาหรอก

หลักของการทำวิปัสสนากรรมฐานนะทำไปเพื่ออะไร?
สมถะนะทำไปเพื่อความสุข ความสงบ ความสบาย ความดี
วิปัสสนากรรมฐานทำไปเพื่อให้เห็นความจริงคือความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
ไม่ใช่ไตรลักษณ์ของสิ่งอื่นนะ ต้องไตรลักษณ์ของรูปนาม

..ต้องดูอารมณ์รูปนามเท่านั้น รูปธรรมนามธรรมที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเรา ดูให้เห็นไตรลักษณ์
แล้ววิธีปฏิบัติทำอย่างไร เราต้องการให้เห็นความเป็นจริงของรูปนามคือเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
วิธีปฏิบัติอันแรกต้องรู้รูปนามสิ ถ้าไปรู้ของอื่นมันก็ไม่ใช่สิ
เราจะรู้รูปนามได้นะถ้าเราไม่ใจลอยไป ถ้าเราใจลอยเราก็ลืมกาย ใจลอยเราก็ลืมใจ
มีกายเราก็ลืม มีใจเราก็ลืม ทำวิปัสสนาไม่ได้หรอกเราลืมกายลืมใจไปแล้ว
เพราะฉะนั้นเราต้องรู้สึกตัว ขึ้นแรกเลยจะทำวิปัสสนาต้องรู้สึกตัว อย่าลืมกายอย่าลืมใจ

ทำสมถะลืมกายลืมใจได้นะ บางทีกายหายไปเลยเหลือจิตดวงเดียว
สว่างเต็มโลกธาตุ ๓ โลกธาตุไม่มีอะไรเลย มีแต่จิตดวงเดียวสว่างจ้าอยู่อย่างนั้น
ไม่มีที่หมายไม่มีที่กำหนดเลย ไม่มีอะไรให้ดู อย่างนี้สมถะทำได้
แต่วิปัสสนาต้องมีรูปมีนาม อย่าลืมกายอย่าลืมใจของเรา
กายกับใจที่เราจะใช้ดูก็กายกับใจที่เป็นจริงๆของเราตอนนี้แหละ
อย่างเราจะดูจิตดูใจของเราก็รู้เข้ามาเลยว่าจิตใจตอนนี้มันมีความรู้สึกอย่างไร มันมีอาการอย่างไร
เวลาดูจิตเราดูสองอย่างนะ อันแรกดูความรู้สึกของมัน รู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ รู้สึกดีรู้สึกโลภโกรธหลงรู้สึกชั่ว
ดูไปที่ความรู้สึกสุขทุกข์ดีชั่วทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับจิต นี่เรียกว่าดูจิตนะ
อันที่สอง ดูการกระทำงานของมัน ดูกิริยาอาการของมัน เช่นดูวิถีของจิต
ดูปฏิจจสมุปบาท การที่จิตทำงานสืบต่อกันเป็นช่วงๆๆไป
งั้นเราดูได้สองอย่างนะ อันหนึ่งดูความรู้สึก อันหนึ่งดูกิริยาอาการของมัน

..จุดสำคัญนะถ้าเราจะทำวิปัสสนากรรมฐาน
จุดแรกเลย ต้องรู้สึกตัว อย่าลืมกายอย่าลืมใจ ถ้าลืมกายก็ทำวิปัสสนาไม่ได้ ลืมใจก็ทำวิปัสสนาไม่ได้
เพราะวิปัสสนานั้นเราจะเรียนความจริงของกายของใจ ของรูปของนาม
เห็นไหมไม่เหมือนสมถะนะ สมถะจะอะไรก็ได้
พุทโธไปเรื่อยไม่มีกายไม่มีใจก็ได้ พุทโธอย่างเดียวเลยให้จิตอยู่กับพุทโธไปเรื่อย
หรือรู้ลมหายใจแล้วก็ลืมไปเลยร่างกายเป็นอย่างไรไม่รู้
รู้แต่ลมนะในที่สุดลมสั้นเข้าๆลมหยุดกลายเป็นแสงสว่าง
ลมหายใจไม่มีให้ดูแล้วกลายเป็นแสงสว่าง ลืมกายลืมใจไปหมดเลย
นี่สมถะ สมถะนี้จิตไปอยู่ในอารมณ์เดียว อะไรก็ได้
แต่วิปัสสนานั้น ต้องรู้กายรู้ใจ ถ้าเราไม่รู้กายรู้ใจ เราไม่มีโอกาสเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจ

แล้วทำอย่างไรเราจะเห็นไตรลักษณ์ของกายของใจได้? จิตต้องเป็นคนดู
ไตรลักษณ์นั้นแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ความคิดของเรานั้นแหละปิดบังไตรลักษณ์
ทำให้เรามองไตรลักษณ์ไม่ออก มัวแต่หลงไปอยู่ในโลกของความคิด
ถ้าจิตของเราหลุดออกจากโลกของความคิด มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัวได้นะ
จิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานได้ หลุดจากโลกของความคิดได้
เวลาสติระลึกรู้รูป จะเห็นว่ารูปไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เวทนา คือความรู้สึกสุขทุกข์
สติระลึกรู้สัญญา คือความจำได้หมายรู้ สติระลึกรู้สังขาร คือความปรุงดีปรุงชั่วทั้งหลาย
สติระลึกรู้จิต เห็นจิตเกิดทางตา จิตเกิดทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเห็นเลยไม่มีตัวเรา

งั้นตัวสำคัญนะ เราต้องมาฝึกจิตให้หลุดออกจากโลกของความคิด เป็นจิตผู้รู้ ผู้ตื่น
จิตผู้รู้ กับจิตผู้คิดนั้นกลับข้างกัน
เมื่อไหร่เป็นจิตผู้คิดเมื่อนั้นไม่ใช่จิตผู้รู้ เมื่อไหร่เป็นจิตผู้รู้เมื่อนั้นไม่ใช่จิตผู้คิด เป็นคนละขณะกัน
ถ้าเราจับหลักได้นะว่าถ้ามีจิตผู้รู้ก็ไม่ใช่จิตผู้คิด ให้เรารู้ทันจิตเวลามันคิด
คอยรู้ทันเวลาจิตมันหลงไปคิดนะ จิตไหลไปคิดทั้งวัน รู้สึกไหม จิตคิดทั้งวัน

งั้นหลักของวิปัสสนานะ ต้องรู้กายรู้ใจ ถ้าลืมกายลืมใจเรียกว่าขาดสติ
ถ้ารู้กายรู้ใจอยู่ยังมีสติอยู่ เรียกว่าสติปัฏฐาน สติรู้กายสติรู้ใจ เรียกว่าสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติกระจอกงอกง่อย
แล้วต้องรู้ด้วยจิตที่เป็นคนดู จิตที่ตั้งมั่นหลุดออกจากโลกของความคิดถึงจะเห็นความจริง
ความคิดนั่นแหละปิดบังความจริง เราต้องหลุดออกจากโลกของความคิดให้ได้
วิธีที่จะหลุดออกจากโลกของความคิดนะ รู้ทันเวลาจิตไปคิด
ทำอย่างไรจะรู้ทันเวลาจิตไปคิด ต้องซ้อมรู้ อยู่ๆไม่รู้หรอกต้องซ้อมนะ
วิธีซ้อม อาจจะบริกรรมอะไรขึ้นมาก็ได้ พุทโธๆไป เมื่อจิตหนีไปคิดแล้วคอยรู้ทัน อย่างนี้ก็ได้

..ถ้าเราทำแบบนี้ไม่ได้เราก็หัดเอา
หายใจไปแล้วก็คอยรู้ทันจิตไป พุทโธไปแล้วก็คอยรู้ทันจิตไป
ดูท้องพองยุบแล้วคอยรู้ทันจิตไป จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้
หรือขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้แล้วคอยรู้ทันจิตอย่าไปรู้แต่มือนะ
ขยับไปแล้วคอยรู้ทันจิตไว้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ จิตหนีไปคิดแล้วรู้
จับหลักตัวนี้ให้แม่น "ตัวรู้" จะเกิด
ไปลองทำดูนะ ถ้าใครยังไม่ได้ "ตัวรู้"
ถ้าไม่มี "ตัวรู้" อย่ามาอวดว่าเจริญปัญญา ไม่มีหรอก

..งั้นหลักของวิปัสสนานะ ทำไปเพื่อให้เห็นความจริงของรูปนามคือไตรลักษณ์
จะเห็นความจริงได้ต้องไม่ลืมรูปนาม ต้องรู้สึกอยู่ในรูปในนาม คือในกายในใจของเรานี้
สติเป็นคนระลึกรู้ รู้สึกกายรู้สึกใจบ่อยๆ
ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น จิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
จิตที่ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เกิดจากการที่เรารู้ทันจิตที่ไหลไป จิตที่ไม่ตั้งมั่น
ถ้าเรารู้ทันจิตที่ไหลนะคือจิตที่มันไม่ตั้งมั่น จิตตั้งมั่นจะเกิดขึ้นมา
ถ้าเรามีสติ แล้วมีจิตที่ตั้งมั่น ยังไงก็เห็นไตรลักษณ์
แต่ถ้าเรามีจิตตั้งมั่นอย่างเดียว แล้วสติไปจ่ออยู่กับจิตตั้งมั่นนะ
เพ่ง รักษาตัวรู้อยู่อย่างเดียว ก็ไม่เห็นไตรลักษณ์
ต้องให้มีสตินะ เที่ยวไปในขันธ์ในธาตุในอายตนะของเรานี้นะ ให้สติมันเที่ยวไป
รู้ความเปลี่ยนแปลงของกาย รู้ความเปลี่ยนแปลงของใจ อย่ามาเพ่งจิตนิ่งๆอยู่
..อย่าไปเพ่งใส่ตัวจิตผู้รู้นะ ให้มันมีอยู่ แต่อย่าไปเพ่งใส่มัน

เนี่ยมันมีทริคเยอะแยะเลยนะ เราค่อยๆฝึกนะแล้วเราจะพบ
อุ้ย! ทำอย่างนี้ผิดนะ ทำอย่างนี้ก็ผิด อย่างนี้ก็ผิด อย่างนี้ๆก็ผิดๆๆ
แล้วมันจะค่อยๆถูกเอง ค่อยๆถูกมากขึ้นๆ

ต้องแยกให้ออกนะ ถ้าอยากได้มรรคได้ผล ต้องทำวิปัสสนา
แต่สมถะเป็นเครื่องช่วยเครื่องเสริม ถ้าไม่มีสมถะหนุนหลังเลยนะไม่ค่อยมีแรงทำวิปัสสนานะ
แต่บางคนต้องทำสมถะก่อนแล้วมาทำวิปัสสนาด้วยการดูกายหรือเวทนา
บางคนดูจิตหรือเจริญธรรมานุปัสสนาไปก่อน
ดูขบวนการทำงานของมันไปก่อนแล้วสมาธิเกิดทีหลัง สมถะเกิดทีหลังอย่างนี้ก็มี
บางคนทำสมาธิกับปัญญาควบกันเลย ทำวิปัสสนาในฌาน อันนี้ทำยากหน่อย
ทำได้หลายแบบนะ แต่ถ้าเราจะดูจิตก็รู้ไปเลย จิตเป็นอย่างไรก็รู้ไปเลย ดูง่ายๆ

ในที่สุดจะเห็นความจริง
ธาตุขันธ์ทั้งหลายไม่มีตัวเรา ถ้าเห็นตัวนี้ได้ก็เป็นพระโสดาบัน
ธาตุขันธ์ทั้งหลายมีแต่ทุกข์ ถ้าเห็นตรงนี้ได้นะก็เป็นพระอรหันต์นะ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔