Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๓๖

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangpor เรามาดูนะ มาหัดดู ขันธ์ทั้งหลายเดี๋ยวเวทนาก็ทำงานเด่นขึ้นมา
เดี๋ยวสัญญาก็ทำงานเด่น เดี๋ยวสังขารความปรุงดีปรุงชั่วก็ทำงานเด่น
จิตก็เป็นคนรับรู้ แต่ไม่ชอบรู้อย่างเดียว เราชอบวุ่นวาย ชอบแทรกแซงด้วย
ชอบยินดียินร้าย เวลาจิตยินดียินร้ายเรียกว่าจิตทำเกินหน้าที่
จิตควรจะทำหน้าที่รู้ แต่ดันไปทำหน้าที่ยินดียินร้าย

ให้เรารู้ทัน เอ็งทำงานเกินหน้าที่แล้ว
ยินดียินร้ายเป็นเรื่องของสังขาร ให้จิตรู้ทันเข้าไป
จิตก็ทำหน้าที่รู้ ขันธ์แต่ละขันธ์ก็ทำหน้าที่ของมันเอง
ไม่ก้าวก่ายกันนะ ขันธ์แต่ละขันธ์จะสอนไตรลักษณ์เรา
สอนธรรมะเราชัดๆเลย เห็นชัดๆเลย
รูปก็สอนธรรมะ สอนไตรลักษณ์
ความรู้สึกสุขทุกข์ก็สอนไตรลักษณ์
สัญญาความจำได้ความหมายรู้ก็สอนไตรลักษณ์
สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงไม่ดีไม่ชั่ว ก็สอนไตรลักษณ์
จิตที่เกิดดับทางทวารต่างๆเรียกว่าวิญญาณ
วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางใจ
นี่จิตที่เกิดดับทางทวารต่างๆก็สอนไตรลักษณ์ สอนเรื่องเดียวกันหมดเลย

งั้นใครถนัดเห็นร่างกายบ่อย มีกายเป็นวิหารธรรมก็ได้ ก็จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์
คนไหนถนัดดูเวทนา ก็ดูเวทนา ก็จะเห็นทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์
คนไหนถนัดดูจิต ก็จะเห็นสังขารกับจิตทำงานร่วมกัน ไม่ได้ดูจิตเดี่ยวๆนะ
แล้วถ้าสติปัญญาแก่กล้าพอก็จะเห็นจิตเกิดดับทางทวารทั้ง ๖
เห็นไหมจิตแยกออกจากเจตสิกได้ แยกออกจากสังขารได้แล้ว ก็เหลือจิต
แต่ว่าจิตมันก็ยังเกิดดับให้เราเห็นได้โดยการดูผ่านอายตนะ
บางทีจิตเกิดที่ตา บางทีจิตเกิดที่หู บางทีจิตเกิดที่ใจ
ถ้าตัวจิตเดี่ยวๆดูยากนะว่าเกิดดับ แต่ถ้าดูเป็นก็ดูได้
มันจะรู้เลยมีความรับรู้เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับ วั๊บ! แล้วก็รับรู้ แล้วก็ดับ วั๊บ!
ดับแล้วก็จะมีช่องว่างเล็กเล๊กมาคั่น ถ้าเห็นถึงขนาดนี้เรียกว่าสันตติขาดแล้ว
๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องได้มรรคผลนิพพานบ้างล่ะ ขั้นใดขั้นหนึ่ง อาจจะไม่ถึงพระอรหันต์
บารมีเราอ่อนกว่าคนสมัยพุทธกาลที่เค้าเจอพระพุทธเจ้า แล้วเค้าสร้างความดีมา

ทุกคนที่เจอพระพุทธเจ้าเป็นบุญไหม? เห็นพระพุทธเจ้าเป็นบุญแน่เลย
แต่เจอแล้วได้บุญไหม? ..ไม่แน่ บางคนลงอเวจีมาแล้ว มีคนตกนรกหมกไหม้มาแล้ว ไม่แน่นะ
พวกเราไม่ได้เห็นก็หมดโอกาสทำบาปบางอย่างไปนะ
งั้นไม่ต้องเสียใจที่ไม่ได้เห็น มันพอดีสำหรับเรา
เราก็เจียมตัวหน่อยบารมีเราน้อย ไม่เหมือนพระสาวกที่ดีของพระพุทธเจ้า
แต่บารมีเราก็มาก มากกว่าพวกที่ไปก่อกวนพระพุทธเจ้า
งั้นไม่ต้องน้อยใจนะ มีแค่นี้ มีบุญบารมีมาแค่นี้เราก็มาเรียนเอา

ถ้าคนไหนอยากจะรู้สึกเท่ห์มีบารมีมากนะ เรียนไปก่อนอย่าเพิ่งบรรลุอะไรนะ
พอไปเจอพระศรีอาริย์แล้วบรรลุเร็ว เดี๋ยวท่านชมโอ้บรรลุเร็วอะไรอย่างนี้ ความจริงมันช้ามาแต่ยุคก่อนๆ

ถ้าไปธรรมดาของเรานะ ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ
ดูขันธ์มันทำงานไปนะ แยกธาตุแยกขันธ์ กายส่วนกาย เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์
เกิดขึ้นในกายบ้าง เกิดขึ้นในจิตบ้าง ก็ส่วนของเวทนา ไม่เกี่ยวกับใคร
ทำหน้าที่รู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกเฉยๆ

สัญญาทำหน้าที่จำได้ กับหมายรู้
สองอันนะ จำได้ กับ หมายรู้ ไม่เหมือนกัน
จำได้เช่น จำได้ว่านี่สีเขียว นี่สีแดง นี่จำได้
จำได้ซ้อนลงไปอีกชั้นหนึ่ง สีเขียวเป็นสัญลักษณ์ให้ขับรถไปได้ สีแดงเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ให้ไป
เป็นสมมุติซ้อนสมมุติเข้าไป จำสัญญาซ้อนเข้าไป

หมายรู้ หมายถึงอะไร หมายรู้มีหลายระดับนะ
หมายรู้เบื้องต้นเป็นการวิเคราะห์เอาว่าสิ่งซึ่งพบซึ่งเห็นอยู่นี้น่าจะเป็นอะไร
ไม่เคยเห็นแต่ว่ามีข้อมูลเดิมที่เอามาเทียบเคียง
อย่างเด็กเล็กๆเคยรู้จักแมว ในบ้านมีแมว
พอมาที่สวนเสือ เห็นเสือ เด็กก็หมายรู้เลยว่านี่คือแมว
อาจจะหมายรู้ผิดก็ได้นะ แต่มันน่าตาเหมือนๆกัน เพียงแต่ลายมันไม่เหมือนกันเท่านั้น
ท่าทางอะไรก็เหมือนกัน เวลาเล่นก็เล่นเหมือนกัน
อย่างนี้ก็เรียกว่าหมายรู้ หมายรู้อีกอย่างหนึ่ง หมายรู้ลึกซึ้งเข้าไปอีก
หมายรู้อย่างอื่นไม่เท่าไหร่หรอก แค่จำทางผิดเช่นจำว่าถนนนี้ไปไหนๆ
จำทางผิดก็ไม่เท่าไหร่ เดี๋ยวไปผิดทางก็มาเดินใหม่

หมายรู้อีกชนิดหนึ่งนี่น่ากลัว หมายรู้ชนิดที่เรียกว่าวิปลาสเลย
เห็นของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม นี่สัญญาวิปลาส หมายรู้ผิดอย่างร้ายแรง
หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง อย่างจิตใจของเรานี่ไม่เที่ยงนะ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
เรากลับรู้สึกว่าจิตของเราเที่ยง จิตของเราดวงนี้กับจิตของเราตอนเด็กๆเป็นดวงเดียวกัน
นี่หมายรู้ของไม่เที่ยงว่าเที่ยง วิปลาสอย่างร้ายแรง
หมายรู้สิ่งซึ่งเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นว่ามันมีความสุข
รู้สึกไหมร่างกายเรานี้มีความสุขเป็นช่วงๆนะ นานๆมีความทุกข์ที นี่หมายรู้ผิดนะ
ถ้าหมายรู้ถูกก็จะรู้ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีทุกข์กับสุข
จิตใจก็มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีทุกข์กับสุข
เราหมายรู้ผิดๆอยู่ว่ามันเป็นทุกข์บ้างสุขบ้าง
ใครก็เป็นอย่างนี้ใช่ไหมรู้สึกไหม ร่างกายนี้ทุกข์บ้างสุขบ้าง นี่หมายรู้ผิด สติปัญญาไม่พอ

หมายรู้ของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ว่าเป็นตัวเป็นตน
นั่งภาวนาก็อยากจะเอาชนะเวทนา เอาชนะกิเลส
คิดแต่จะเอาชนะอะไรต่ออะไร สุดท้ายก็แพ้ทุกทีแหละ
ใครจะเอาชนะกิเลส ไม่มีใครเอาชนะกิเลสหรอก
ถ้าฉลาดพอ จิตมันปรุงกิเลส ไม่ต้องไปเอาชนะมันหรอก
มีสติมีปัญญาขึ้นมา ไม่มีกิเลสจะให้เอาชนะ ถ้ากิเลสโผล่ขึ้นมานะไม่เห็นใครชนะมันเลย
มีแต่ชนะอันหนึ่งก็โดนมันหลอกนะ พอโทสะเกิดขึ้นข่มใจไว้ได้ ไม่ตีเค้าไม่โกรธเค้า
กูเก่งขึ้นมาอีกแล้ว เกิดมานะขึ้นมาแทนอย่างนี้ มันพลิกรูปพลิกโฉมมาหลอก ประณีตมากเลยกิเลส

เราตามรู้ตามดูลงไปนะ
สังขารความปรุงดีปรุงชั่วอะไรก็แสดงไตรลักษณ์ จิตก็แสดงไตรลักษณ์
เดี๋ยวจิตก็สุขเดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตก็ดีเดี๋ยวจิตก็ชั่ว
เดี๋ยวจิตเกิดที่ตา เดี๋ยวจิตเกิดที่หู เดี๋ยวจิตเกิดที่ใจ
นี่ทุกอย่างมีแต่เกิดดับ แสดงไตรลักษณ์อยู่นะ ในธาตุในขันธ์
ทั้งในกาย ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารคือความปรุงของจิต ทั้งในตัวจิตเองก็เกิดดับ

เฝ้ารู้เฝ้าดูของดีไปนะ ของจริงนี่แหละดีวิเศษที่สุดเลย รู้ความจริงแล้วจิตจะปล่อยวางขันธ์
ปล่อยวางขันธ์แล้วจิตก็ว่าง สว่าง บริสุทธิ์
หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต
ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง
หลวงปู่ดูลย์ก็สอนตรงนี้ไว้ด้วย แต่นี่ปลายทางแล้ว
บางคนได้ยินตรงนี้นะก็เอามาทำนะ ทำยังไงจิตจะว่างสว่างบริสุทธิ์
จะสว่างได้ไง ตรงที่อยากทำนั่นแหละกิเลสล่ะ

ฉะนั้นเวลาฟังธรรมะ ต้องรู้ขั้นรู้ตอนนะ
อย่างหลวงปู่ดูลย์สอน ขั้นสมถะดูจิตอย่างนี้ ขั้นวิปัสสนาดูจิตอย่างนี้
ขั้นผลแล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วจิตใจมันเป็นอย่างนี้นะ อย่าไปปนกันมั่วๆ
ตอนที่จะลงมือปฏิบัติ ต้องจิดเห็นจิดอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค
ไม่ใช่จิตรักษาจิต ไม่ใช่จิตประคองจิต เป็นมรรคนะ
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เห็นอะไร? เห็นไตรลักษณ์ เห็นอย่างอื่นเห็นไม่ได้ ใช้ไม่ได้
เห็นตัวจิตเป็นสมถะ ไปเพ่งตัวจิต ขันธ์นี่ถ้าเราไปเพ่งตัวขันธ์เป็นสมถะทั้งหมดเลย
จิตก็เหมือนกันเราไปเพ่งจิตก็เป็นสมถะ
ไปเพ่งลมหายใจก็สมถะ เพ่งท้องก็สมถะ ถ้าเพ่งใส่ตัวขันธ์เป็นสมถะหมดเลย
ถ้าดูมันแสดงไตรลักษณ์ ถึงจะเป็นวิปัสสนา
ถึงที่สุดเลยก็ว่าง ว่าง สว่าง บริสุทธิ์
หยุดความปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต
ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง
แต่ก็เหลืออยู่ แต่ไม่ยึดถือ เหลืออะไร? สิ้นโลกเหลือธรรม สิ้นขันธ์เหลือธรรมสิ
เป็นธรรมธาตุ เห็นธาตุธรรม จิตที่สัมผัสธรรมธาตุ มีความสุข
เหลืออะไรอีก? เหลือความสุข เพราะอะไร?
เพราะธรรมธาตุนั้นน่ะ นิพพานนั้นน่ะเป็นบรมสุข ไม่มีอะไรสุขเท่านิพพาน
จิตไปเห็นนิพพาน จิตมีความสุขที่สุดเลย จิตกับนิพพาน คนละอันกันนะ
แต่พอถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้วมันเหมือนจิตกับนิพพานรวมเป็นอันเดียวกันขึ้นมา อยู่ด้วยกัน

สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๔