Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๓๓

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporตอนนี้ก็ลำบากกันทั่วๆนะ รู้จักคำว่าเพื่อนร่วมทุกข์หรือยัง
เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
เห็นไหมทำท่าจะตายด้วยกันหมดสิ้นแล้วเนี่ย

..โดยธรรมชาตินะทุกคนก็กลัวความทุกข์ เกลียดความทุกข์นะ งั้นเราอย่าไปทำความทุกข์ให้คนอื่น
เรามีชีวิตที่ไม่เป็นหนี้ สะอาดหมดจด ชีวิตที่เบียดเบียนคนอื่น หาความสุขไม่ได้จริงหรอก
รวยแค่ไหนก็ไม่ความสุข มีอำนาจก็ไม่มีความสุข จริงๆคนมีอำนาจ
,คนรวยไม่มีความสุข
ตอนนี้คนรวยๆกลุ้มใจเยอะแยะเลย โรงงานจมน้ำไปก็มี ทำท่าจะจมไปก็มี ลำบาก
ลูกจ้างคนยากคนจนก็ทุกข์อีกนะ ตกงาน
มันเป็นภาวะที่ทุกคนมีความทุกข์
ทีนี้บางคนไม่ฉลาดนะ เห็นเพื่อนน้ำไม่ท่วมก็ไปรื้อเขื่อนให้น้ำท่วมเหมือนๆกัน
ถ้าน้ำท่วมเหมือนๆกันแล้วใครจะช่วยใคร ตัวเองก็จะไม่มีใครเข้าไปช่วย
ถ้าบางพื้นที่ยังเหลืออยู่ ยังมีกำลังไปช่วยพวกที่ลำบากได้
ไม่ใช่เฉลี่ยความทุกข์กันแบบนั้นนะ มันไม่ใช่วิธีของชาวพุทธในการแก้ปัญหา

โลกมันพยายามปรับสมดุลของมัน ที่สูงก็เตี้ยลง ที่ลึกลงไปก็ตื้นขึ้นมา
โดยธรรมชาติแล้วสิ่งทั้งหลายมันก็พยายามปรับสมดุลของมันเอง
จิตใจของเราก็คอยดูแลให้ดี อย่าไปยุ่งกับมันมาก แต่ตามเรียนรู้มันไป มันจะค่อยปรับสมดุลของมัน
จิตหนีไปคิดเราคอยรู้ทันนะ จิตจะได้ค่อยเป็นกลางขึ้นมา ไม่หลงไป
แต่เดิมหลงแรง เพ่งก็เพ่งแรง หลงก็หลงแรง สุดโต่งแรง

ค่อยรู้สึก ค่อยรู้สึกนะ ใจค่อยเป็นกลาง
ช่วงห่าง
,ค่าความเบี่ยงเบนแคบลงเรื่อยๆ ความเหวี่ยงของมันแคบลงเรื่อยๆ
ใจไม่หวือหวา ยิ่งภาวนาไปใจลดความหวือหวาลงไปเรื่อยๆรู้สึกไหม ไม่ค่อยหวือหวานะ
ไม่ใช่เหวี่ยงแรง รักก็แรง หลงก็แรงงี้ นี้ชาวโลก แรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ของเรามันค่อยๆเข้าหาจุดสมดุล จุดที่เป็นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ
ในความเป็นจริงแล้วจิตที่มันเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเพราะเราไปเหวี่ยงมันเข้า
ให้เรามีสติรู้ทันมันไปเรื่อย เราไม่ไปเติมแรงเหวี่ยงให้มัน
มันจะเข้าสู่จุดสมดุลของมันเอง จะหยุด จะหยุดอยู่กับที่ หยุดอยู่กับฐานของมัน

งั้นถ้าเราไม่ไปยุ่งกับจิตมากนะ มีสติไว้เท่านั้น ไม่หลงตามแรงกระทบกระทั่งทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว
อารมณ์ที่ดีมากระทบจิตหลงยินดี นี่แกว่งแล้ว
อารมณ์ร้ายมากระทบ อารมณ์ที่ไม่ดีมากระทบ จิตก็หลงยินร้าย นี่จิตแกว่ง
วันหนึ่งๆจิตเราหลงอยู่ในความยินดี หลงอยู่ในความยินร้ายนับครั้งไม่ถ้วน
งั้นจิตนี่แกว่งอยู่ตลอดเวลาเลย ให้เรารู้ทันสิ่งที่มากระทบ
เป็นความสุขมากระทบ เรารู้ทัน ใจไม่หลงยินดี
ความทุกข์มากระทบ เรารู้ทัน ใจไม่หลงยินร้าย
พอใจไม่ยินดี ใจไม่ยินร้าย ใจเข้าสู่ความเป็นกลาง

การเข้าสู่ความเป็นกลางของจิตทำได้หลายแบบ
ทำด้วยสมาธิก็ได้ น้อมใจให้นิ่งอยู่กับอารมณ์อันเดียว มันก็ไม่หลงยินดียินร้ายกับอารมณ์อื่นๆ
แต่มันมักจะหลงยินดีอยู่ในความสุขความสงบของสมาธิเองนั่นแหละยังติดอยู่ตรงนี้อีกทีต้องคอยระวัง
เราคอยเรียนรู้นะ อย่าไปแทรกแซงเค้า
เคยเห็นลูกตุ้มนาฬิกาไหม นาฬิกาโบราณแกว่งอย่างเนี้ย เวลาลานมันหมดใช่ไหม ค่อยๆแคบลงเรื่อยๆ ในที่สุดมันก็หยุด มันไม่แกว่งเพราะไม่มีแรงผลักให้มันแกว่ง
แรงที่ผลักให้จิตเราแกว่งก็คือความยินดียินร้ายนั่นเอง
ทีนี้ถ้าทำสมาธิ จิตไม่ยินดียินร้ายก็ดีเหมือนกัน
แต่มันยังมีวิธีอย่างอื่นอีกที่ทำให้จิตเป็นกลาง วิธีนั้นคือการเจริญปัญญา

พระอินทร์นะไปถามพระพุทธเจ้า เกิดสงสัยธรรมะขึ้นมาแล้วรีบมาถามพระพุทธเจ้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นแก่นแท้ของธรรมะ
อะไรคือจุดรวบยอดในคำสอนของพระธรรมวินัยคำสอนของพระองค์
แล้วทำอย่างไรจะปฏิบัติให้เข้าสู่จุดนั้นได้อย่างลัดสั้นที่สุด”

เนี่ยนักบริหารไม่อ้อมค้อมนะ ถามก็ถามข้ออะไรเป็นจุดสูงสุดของศาสนาพุทธ
แล้วทำยังไงจะเข้าสู่จุดสูงสุดนั้นได้ ขอให้สั้นที่สุด

พระพุทธเจ้าท่านก็ใจถึงนะ ท่านก็ตอบให้ว่า
“ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น”
อันนี่แหละคือธรรมะสูงสุด คือแก่นธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเอามาเขียนนะ เรื่องสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
ภาษาบาลีว่า “สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ”
อันนี้แหละพระพุทธเจ้าท่านยืนยันเลยว่า เนี่ยแก่นธรรมคำสอนของท่านอยู่ตรงนี้
ถ้าเราไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงได้เมื่อไหร่เราก็พ้นทุกข์ได้เมื่อนั้นนะ

วิธีที่จิตจะพ้นจากความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง ท่านให้รู้เวทนา ท่านสอนอย่างนี้เลยนะ ให้รู้เวทนา
เราไปยึดในสิ่งทั้งปวง เพราะเห็นว่ามันนำความสุขมาให้บ้าง นำความทุกข์มาให้บ้าง
ถ้าเราเห็นว่าความสุข ความทุกข์ ก็เป็นของไม่เที่ยง
ความยินดีในความสุข ความยินร้ายในความทุกข์ ก็ไม่เกิดขึ้น
จิตไม่ยินดีไม่ยินร้ายในสุขในทุกข์นะ จิตจะไม่แกว่งไป
จิตจะค่อยๆคลายความยึดถือในสิ่งต่างๆออก
เราไปยึดในสิ่งต่างๆเพราะเห็นว่ามันนำความสุขมาให้ หรือเห็นว่ามันนำความทุกข์มาให้
ถ้าความสุขความทุกข์ไร้สาระซะ จิตก็จะไม่ไปยึดถือ
เพราะงั้นถ้าเมื่อไหร่เวทนามันทำงานได้ไม่เต็มที่ ตัณหามันก็ไม่เกิด
ถ้าเวทนามันทำงานขึ้นมา ตัณหาคือความอยากก็เกิด
ตัณหาเกิดนะ จิตก็เข้าไปยึดถือด้วยอุปปาทาน
ไปหยิบฉวยเอารูปธรรมนามธรรมขึ้นมาเรื่อยๆ ชาติ ทุกข์ ตามมาเป็นแถว

งั้นท่านสอนให้รู้เวทนา บอกนี่เป็นทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดแล้ว
เมื่อตามองเห็น เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น
เมื่อลิ้นได้รส เมื่อกายกระทบสัมผัส เมื่อใจคิดนึกปรุงแต่ง
ความสุขเกิดขึ้นให้รู้ทัน ความทุกข์เกิดขึ้นให้รู้ทัน
สิ่งที่ท่านสอนให้ทำคือการตามรู้เวทนา ท่านใช้คำว่าตามรู้นะ
ตามเห็น ตามเห็นเนืองๆซึ่งเวทนา ภาษาบาลีใช้ว่า “เวทนานุปัสสี”
ปัสสี ปัสสะ ตัวปัสสนะ ตัวปัสสนา ตัวนี้แปลว่าเห็น
เวทนานุปัสสี อนุปัสสี  อนุแปลว่าตาม ตามเห็นเนืองๆซึ่งเวทนา
เวทนาเกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะ มีการกระทบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
พอกระทบอารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจแล้ว
ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ เกิดขึ้นที่จิต ให้เรารู้ทัน

การตามรู้ทันเวทนา เรียกว่า เวทนานุปัสสี
เมื่อเห็นบ่อยๆแล้วมันจะเกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า เวทนาทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
ความสุขก็ไม่เที่ยง ความทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความเฉยๆก็ไม่เที่ยง
การตามเห็นความไม่เที่ยงเนืองๆนี้เรียกว่า “อนิจจานุปัสสี”
รู้จักอนิจจาไหม
? อนิจจาวัฏฏะสังขารา อนิจจานุปัสสี
เมื่อมีอนิจจานุปัสสี เห็นแล้วว่าความสุขก็ชั่วคราว ความทุกข์ก็ชั่วคราว อะไรๆก็ชั่วคราว
สุขทุกข์เฉยๆนี้ชั่วคราวหมดเลย ความหลงยินดีใจความสุขก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะรู้แล้วว่าของชั่วคราว
ความหลงยินร้ายในความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นเพราะรู้แล้วชั่วคราว

อย่างพวกเราบางคนมีความทุกข์มาก หลวงพ่อเลยสอนคาถาให้ ให้ท่องไว้ว่า “ไม่นานมันก็ผ่านไป”
อันนั้นก็คือการพยายามมองมันในแง่ของอนิจจังนั่นเอง เพราะงั้นความทุกข์ไม่นานมันก็ผ่านไปเหมือนกัน
งั้นถ้าเรายอมรับตรงนี้ได้เราก็ไม่ทุกข์ ใจเป็นกลาง

..งั้นเรารู้เวทนาไปนะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจกระทบอารมณ์ให้มันกระทบอย่าไปห้ามมัน
เมื่อกระทบอารมณ์แล้วเกิดสุขให้รู้ทัน เกิดทุกข์ให้รู้ทัน เกิดเฉยๆให้รู้ทัน
เมื่อรู้ทันนานไปมันจะเห็นเลยว่า ความสุขทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ชั่วคราว
ความทุกข์ที่เกิดจากการกระทบทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ชั่วคราว
ความเฉยๆที่เกิดจากการกระทบอารมณ์ต่างๆ ก็อยู่ชั่วคราว
ความสุขความทุกข์ความเฉยๆ ชั่วคราว นี่เรียกว่าเห็นอนิจจานุปัสสี

เมื่อมีอนิจจานุปัสสี เห็นซ้ำเห็นซากเห็นบ่อยๆจะเกิด “วิราคานุปัสสี” ความอยากจะลดลง
จะอยากอะไร
? คนในโลกนี้ก็อยากมีความสุข อยากหนีความทุกข์ ก็อยากอยู่แค่นี้แหละ
ก็ถ้าเห็นว่าความสุขนะของชั่วคราว จะอยากมันทำไม ความอยากก็จะหายไป
เห็นว่าความทุกข์เป็นของชั่วคราว อยากจะให้พ้นจากมันก็หายไป ของชั่วคราวไม่ต้องไปไล่มันหรอก
ความอยากค่อยคลายออกๆ เรียกว่าวิราคานุปัสสี

ถ้าวิราคานุปัสสีเดินได้เต็มที่ “นิโรธานุปัสสี” คือนิโรธ
ก็จะตามเห็นนิโรธขึ้นมา เห็นความดับสนิทของทุกข์ขึ้นมา ทีแรกก็ดับชั่วคราวก่อน
อย่างใจเราหลงยินดี มีความสุขขึ้นมาเรายินดีพอใจ รู้ทัน มีความทุกข์ขึ้นมา ยินร้าย เรารู้ทัน
ใจคลายออก ใจคลายออก ใจก็ไม่ดิ้น ใจไม่ดิ้นนะใจดับจากความดิ้นรน
นี่ก็เป็นนิโรธนะ เป็นนิโรธอ่อน นิโรธต้นๆ

นิโรธนั้นมี ๕ อย่าง ดับเพราะสมถะก็เป็นนิโรธอย่างหนึ่ง ดับเพราะวิปัสสนาก็เป็นนิโรธอย่างหนึ่ง
อย่างกิเลสเกิดเรารู้ทันว่ามันไม่เที่ยง ความทุกข์ความสุขเกิดเรารู้ทันว่าไม่เที่ยงนะ
ใจไม่ยินดียินร้ายนะ ดับลงไป อันนี้ดับเพราะวิปัสสนา
ยังมีอีก ๓ ดับ คือดับเพราะมรรค ดับเพราะผล ดับเพราะนิพพาน
งั้นนิโรธมี ๕ ตัว ดับเพราะสมถะ ดับเพราะวิปัสสนา ดับเพราะมรรค ดับเพราะผล ดับเพราะนิพพาน
ดับเพราะมรรค ดับเพราะผล จะเกิดต่อกันในฉับพลัน
ดับด้วยมรรคหนึ่งขณะจิต ต่อด้วยดับด้วยผลสองสามขณะจิต
ส่วนดับด้วยนิพพานนี้เป็นความดับรอบดับสนิท
ถ้าเมื่อไหร่จิตของเราปราศจากตัณหาโดยสิ้นเชิงเพราะมีปัญญาแจ่มแจ้งรู้แจ่มแจ้งในอริยสัจ
รู้ในกองทุกข์ว่าขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์ล้วนๆ ความอยากให้ขันธ์เป็นสุขไม่มี ความอยากให้ขันธ์พ้นทุกข์ไม่มี
เห็นไหมตัวสุขตัวทุกข์นั่นแหละตัวผลัก
พอความอยากให้ขันธ์เป็นสุขไม่มี ความอยากให้ขันธ์พ้นทุกข์ไม่มี จิตไม่ปรุงต่อ ความปรุงแต่งไม่มี
งั้นถ้าอวิชชาดับเพราะรู้แจ้งแล้วว่าขันธ์ทั้งหลายเป็นตัวทุกข์ อวิชชาดับ ตัณหาก็ดับ ความอยากจะหายไป
ตัณหาดับนะ อุปปาทานความยึดถือก็ดับ
ภพชาติและทุกข์ก็จะดับตามกันไป จะดับสนิทแห่งทุกข์ก็ตรงนี้เอง
งั้นพวกเรามาหัด นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนพระอินทร์ สอนนั้นนิดเดียวนะ
ท่านสอนตามรู้เวทนา ตามรู้เวทนาเนืองๆเรียกเวทนานุปัสสี
ก็จะเกิดความจางคลายเรียกว่า วิราคานุปัสสี
รู้ความจริงก็เบื่อหน่ายคลายกำหนัด พอคลายกำหนัดนะใจก็เข้าถึงนิโรธานุปัสสีพ้นทุกข์ไป
จิตจะสลัดคืนความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมทั้งปวง
เรียกว่า “ปฏินิสสัคคานุปัสสี” คืน คืนขันธ์ ๕ ให้โลก

พระอินทร์นะได้ยินแล้วสาธุเสียงดังเลย ปลาบปลื้มใจ ถามแล้วพระพุทธเจ้าตอบ
นี่แหละสุดยอดวิชาของพระพุทธเจ้าแล้ว ธรรมะสูงสุดเลยนะ
ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น จะไม่ยึดมั่นได้ให้รู้เวทนา
จนเห็นเลยสุขทุกข์มันไม่เอาไหน มันเกิดแล้วดับ
ความอยากก็จะหายไป ความพ้นทุกข์ก็จะเกิดขึ้น

..งั้นพวกเราถึงไม่ใช่พระอินทร์นะ เราก็เอาธรรมะนี้ไปใช้ได้
ตาหูจมูกลิ้นกายใจให้มันกระทบอารมณ์ไป
พอกระทบอารมณ์แล้วมีความสุขเกิดขึ้นให้รู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นให้รู้ทัน
ถ้ามีความสุขแล้วหลงยินดีให้รู้ทัน มีความทุกข์เกิดขึ้นแล้วหลงยินร้ายให้รู้ทัน
คอยรู้อย่างนี้นะจิตจะหมดแรงดิ้น หมดแรงแกว่ง หมดความอยากนั่นเอง
ตัณหานั่นแหละที่ทำให้จิตเคลื่อนไปตามภพต่างๆ ตัณหาเป็นผู้สร้างภพ
ถ้ามีสติมีปัญญาขึ้นมาเห็นความไม่เที่ยงของเวทนา ตัณหาก็ดับ
เพราะเวทนาปัจจยาตัณหา เวทนาเป็นปัจจัยของตัณหา
ถ้าเวทนาสิ้นฤทธิ์ซะแล้วตัณหาทำงานไม่ได้
ตัณหาทำงานไม่ได้ อุปปาทานทำงานไม่ได้ ภพทำงานไม่ได้ ชาติทำงานไม่ได้ ทุกข์ทำงานไม่ได้

งั้นหัดภาวนาอย่างนี้ สั้นๆนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่านี้สั้นที่สุดนะ สั้นที่สุดแล้ว
ใครจะหาทางลัดอะไรก็หาไปนะ แต่อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าเป็นทางลัด
เมื่อก่อนหลวงพ่อไม่เจอพระสูตรนี้นะ อย่างอ่านหนังสือมาคงอ่านแต่ว่ามันผ่าน
เวลาใจเราไม่ถึงกับธรรมะอันนั้นนะ เวลาเราอ่านแล้วเราจะผ่าน หรือได้ยินก็ผ่านไปนะ
มาอ่านทีหลัง มาได้ยินทีหลัง พอใจมันเหมาะกับธรรมะตรงนั้นก็เข้าใจก็สนใจขึ้นมา
งั้นเมื่อก่อนมีคนมาถามหลวงพ่อว่าทางลัดอยู่ตรงไหน
หลวงพ่อตอบไม่ได้ รู้สึกแต่ละคนมันก็ลัดกันคนละทาง
แต่ว่าตอนนี้เรามีทางลัดสากลแล้วนะ เพราะพระพุทธเจ้าท่านบอกไว้

..ไหนๆก็มาแล้วหลวงพ่อเลยเทศน์เยอะหน่อยวันนี้
เตรียมกายเตรียมใจไว้ เพราะว่าสิ่งที่พวกเราจะเผชิญต่อไปนี้คือความทุกข์ล่ะ
ความทุกข์เพราะบ้านแตกสาแหรกขาด ความทุกข์เพราะตกงาน
ความทุกข์เพราะไม่มีจะกิน มีเงินก็ไม่มีของให้กิน ความทุกข์เพราะโรคระบาด
เตรียมไว้ หัดภาวนาไว้ เผื่อจะเป็นพระอรหันต์ในกองทุกข์นี้แหละ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๔