Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๓๑

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporการที่เราได้ยินธรรมะเกี่ยวกับการรู้สึกตัว ได้ยินธรรมะเกี่ยวกับการแยกธาตุแยกขันธ์นะ
ไม่ใช่คนทั่วๆไปจะได้ยินได้หรอก มันเป็นธรรมะในขั้นการปฏิบัติ

แล้วก็ไม่ใช่ปฏิบัติเหยาะๆแหยะๆ เป็นธรรมะที่หวังมรรคผลนิพพานกันจริงๆ
ถ้าเราไม่ได้หวังถึงมรรคผลนิพพานไม่ต้องรู้สึกตัวก็ได้
ทำบุญให้ทานอะไรอย่างนั้นไป ทำบุญทำทานไป
ถึงเวลาไปนั่งสมาธิเคลิ้มไปเคลิ้มมาแค่นั้นก็มีความสุขแล้ว

แต่พวกเราไม่ได้ต้องการแค่นั้น
บารมีพวกเรามี ถึงวันนี้มันก็คงแก่กล้าขึ้นบ้างแล้วล่ะ
ถึงไม่ทันสมัยพุทธกาลนะ แต่ว่ายังไม่สิ้นศาสนาพุทธไปก็ยังทันตรงกลางพุทธกาลนี้แหละ
ต้นพุทธกาลไม่ทัน มาทันกึ่งพุทธกาล
ถึงจะน้อยก็ไม่เป็นไร คนหนึ่งก็ดีกว่าไม่มีสักคน
ตราบใดยังมีคนศึกษาปฏิบัติอยู่สักคนหนึ่งนะ เรียกว่าศาสนายังไม่สูญนะ
ในคัมภีร์พูดถึงวันที่ศาสนาสูญไป บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินให้ไปประกาศ
ว่าถ้าใครทรงจำพระธรรมะวินัยได้สักประโยคหนี่งนะ จะให้รางวัลมากมาย
ประกาศอยู่นาน ไม่มีเลย ไม่มีใครเคยได้ยินเรื่องพระธรรมวินัยเลย
อันนั้นถือว่าสูญไปแล้ว หมดศาสนาแล้ว

แต่พวกเรายังไม่หมด ธรรมะชั้นสูงในการปฏิบัติยังเหลืออยู่
อยู่ที่พวกเราปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมหรือเปล่าเท่านั้นเอง
ธรรมะในขั้นทาน ทำทานรักษาศีลอะไรอย่างนี้เป็นสาธารณะ
ยุคไหนสมัยไหนก็มี ในยุคที่ไม่มีพระพุทธศาสนา การทำทานรักษาศีลก็มี การนั่งสมาธิก็มี
แต่ไม่มีการเจริญปัญญาในขั้นวิปัสสนากรรมฐานที่จะข้ามภพข้ามชาติข้ามโลกไป
ก่อนที่เราจะมาเจริญปัญญา ทำวิปัสสนากรรมฐานได้เนี่ย ต้องรู้ก่อน
วิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องมีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงจะเห็นไตรลักษณ์ของมัน

พวกเราอย่าไปปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส
ส่วนพวกที่มีความเพียรแล้วลอยขึ้น ฟูขึ้น ก็คือพวกที่อยากดี
พยายามควบคุมตัวเอง ควบคุมกายควบคุมใจให้มันดี
มุ่งให้มันดีให้มันสุขให้มันสงบ ตั้งเป้าไปที่ดีที่สุขที่สงบ
อย่างนั่งสมาธิก็นั่งเอาดี นั่งเอาสุข นั่งเอาสงบ
จะทำบุญทำทานก็ยังตั้งเป้าหมาย อยากโน้นอยากนี้อยู่ ควบคุมตัวเองอยู่
พยายามบังคับตัวเอง อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน อะไรอย่างนี้
พากเพียร แต่ทำไปโดยมุ่งเอาดี เอาสุข เอาสงบ
ตั้งเป้าไว้ตรงนี้แล้วพากเพียร ทำไปแล้วได้อะไร อย่างมาก็ได้ดี ได้สุข ได้สงบน่ะสิ

แต่ดีไม่เที่ยง สุขไม่เที่ยง สงบไม่เที่ยง
เอาของไม่เที่ยงเป็นสาระแก่นสาร
เอาของที่ยังไม่ใช่สาระที่แท้จริงมาเป็นสาระที่แท้จริง
มันก็ดีอยู่ชั่วคราวแล้วมันก็เสื่อม สุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็เสื่อม สงบอยู่ชั่วคราวแล้วก็เสื่อมนะ
ลอยขึ้นไป ทำความดีแล้วก็ลอยขึ้นไปนะ
ขึ้นไปสู่สุคติทั้งหลาย ตั้งแต่มนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหมขึ้นไป
ไปเสวยความดี ความสุข ความสงบ ผลของความดี ความสุข ความสงบ แล้วก็หล่นลงมา
ข้ามโอฆะไม่ได้ ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่

ทางสองทางนี้แหละ คือความสุดโต่งสองด้านนี้แหละ พระพุทธเจ้าบอกไม่เอา
ทางสายกลางมีอยู่ ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ เบื้องต้นหัดรู้สึกตัวไว้ก่อน
การที่เราคอยรู้เนื้อรู้ตัวนี่เราจะไม่หลงตามกิเลสไป
แต่ให้รู้ ไม่ใช่ให้เพ่ง ไม่ใช่ให้บังคับ ไม่ใช่ให้ดัดแปลง
ถ้าเพ่ง ถ้าบังคับ ถ้าดัดแปลง อันนี้คือการบังคับตัวเอง
มีผลให้เราได้เป็นมนุษย์ที่ดี เป็นเทวดา เป็นพรหม
ถึงวันหนึ่งก็เสื่อมอีก ยังไม่พ้นการเวียนว่ายตายเกิด

...พยายามรู้สึกตัวขึ้นมานะ แล้วมาเรียนรู้ความจริงของรูปของนาม
ถ้าจิตใจยังติดใจในรูปในนามอยู่ ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ยังก่อภพก่อชาติไปไม่สิ้นสุด
แสวงหารูปนามใหม่ๆ  ขันธ์ ๕ ใหม่ๆไปเรื่อยๆ เพราะใจยังติดอยู่
แต่ถ้าจิตมีสติปัญญาแก่รอบขึ้นมา เห็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่สาระแก่นสาร
พอจิตเห็นขันธ์ ๕ ไม่ใช่สาระแก่นสาร
ความหวังที่จะให้ขันธ์ ๕ มันดี  ขันธ์ ๕ มันสุข  ขันธ์ ๕ มันสงบ ไม่มี
มันดีไปไม่ได้หรอก มันเป็นตัวทุกข์ มันสุขไปไม่ได้หรอก มันทุกข์
มันสงบ มันก็สงบอยู่ไม่ได้จริงหรอก มันยังถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอด

ถ้าเมื่อไหร่เราเห็นขันธ์ ๕ ตกอยู่ใต้ความจริง เห็นความจริงของรูปนาม
จิตจะคลายความยึดถือ ความยินดีในขันธ์ ๕

เมื่อจิตหมดความยึดถือ หมดความยินดีในขันธ์ ๕ เชื้อเกิดจะถูกทำลายไป
จิตที่ยังเวียนว่ายตายเกิด เป็นจิตที่ยังมีเชื้อเกิดอยู่
เชื้อเกิดนี้มันก็เป็นเชื้อที่ยินดีในขันธ์ ๕ นั่นเอง

มันโง่ มันมีอวิชชาซ่อนอยู่ในจิตดวงนี้
มันไม่รู้ความจริงของทุกข์ ไม่รู้ความจริงของสมุทัย
ไม่รู้ความจริงของนิโรธ ไม่รู้ความจริงของมรรค
ไม่รู้ความจริงของทุกข์ก็คือ ไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวทุกข์
ยังคิดว่าจะหาทางหาขันธ์ ๕ ที่มีความสุขได้
พอไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์
ความอยากจะให้ขันธ์ ๕ เป็นสุขก็เกิดขึ้น ความอยากจะให้ขันธ์ ๕ พ้นทุกข์ก็เกิดขึ้น

สมุทัยก็มีขึ้นมา พอมีสมุทัยมีความอยากขึ้นมานี่ จิตก็มีความดิ้นรน
จิตที่มีความดิ้นรนอยู่ ไม่มีความสงบสันติคือไม่มีนิพพาน ไม่เห็นนิพพาน

งั้นเราต้องมาล้างเชื้อเกิดในใจของเรา
ล้างความหลงผิดในใจของเรานั่นเอง ล้างอวิชชานั่นเอง
อยากล้างอวิชชาได้ มีสตินี่แหละ รู้ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง
รู้กายรู้ใจนั่นแหละตามความเป็นจริง ดูลงไปเรื่อยเลย กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ
ไม่ต้องคิดหรอก มันไม่ใช่ของดีของวิเศษมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
เราเพียงหลงผิดว่ามันดีมันวิเศษ เราเลยติดอกติดใจเพลิดเพลินอยู่
ถ้าเราดูซ้ำดูซากนะ ดูแล้วดูอีก อยู่ในกายในใจนี้
เราจะเห็นว่ากายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ ใจนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ


พวกเรายังไม่เห็น พวกเราเห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง
จิตใจนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เพราะเราเห็นอย่างนี้นะ อวิชชาเรามีอยู่
เมื่อมันยังเห็นว่าร่างกายจิตใจเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างได้ มันยังมีทางเลือก มีทางดิ้นต่อ
มันก็จะดิ้นหนีความทุกข์ ดิ้นไปแสวงหาความสุข
จิตที่ดิ้นรนนั่นแหละ ห่างไกลพระนิพพานไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าเรารู้ความจริงแจ่มแจ้ง ว่าขันธ์ ๕ หรือรูปนาม หรือกายใจนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ
มีแต่ทุกข์มาก กับทุกข์น้อย ไม่ใช่มีทุกข์กับสุข

ถ้าเห็นแจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งอย่างนี้ จิตมันจะสลัดคืนหมดความยึดถือขันธ์ ๕
จะรู้สึกเลย ร่างกายนี้เหมือนยืมแผ่นดินมาใช้นะ ยืมธาตุมาใช้
จิตใจก็เหมือนยึมเค้ามาใช้ ไม่ใช่ของเราสักอันเดียว
มันสลัดคืนรูปคืนนาม คืนกายคืนใจให้โลกไป ไม่ยึดถือในรูปนามในกายใจนั้นเอง
เมื่อเราไม่ยึดถือนะ ความหนักก็ไม่เกิดขึ้นในใจ
ใจที่มีความหนัก ใครรู้จักหนักใจบ้าง
หนัก หนักทุกวันเลย หนักเพราะเรายึดถือ
ถ้าเราไม่ได้ยึดถือรูปนามอยู่ ความหนักใจจะไม่มี
ปัญหามีนะ แต่ความหนักใจไม่มี

งั้นเรามาเรียนรู้ความจริงของรูปของนามนี้แหละ เรียกว่าการเจริญปัญญา
รู้ลงไปที่กายบ่อยๆ รู้ลงไปที่ใจบ่อยๆ
จะรู้กายรู้ใจได้ จิตต้องรู้สึกตัวเป็นก่อน อย่าหลง
ขั้นต้นเลย ต้องรู้สึกตัวให้เป็น
ถ้ารู้สึกตัวไม่ได้ ใจหลงไปอยู่ในโลกของความคิด
ลืมกายลืมใจ มีกายก็ลืมกาย มีใจก็ลืมใจนะ ใช้ไม่ได้

เราต้องคอยรู้สึกตัวบ่อยๆ หัดรู้สึกตัวนะ
เบื้องต้นจะพุทโธ จะหายใจ หรือทำกรรมฐานอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ แล้วแต่ถนัด
ทำกรรมฐานขึ้นอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตนเอง
จิตไหลไปคิดรู้ทัน จิตไหลไปคิดรู้ทัน
จิตก็จะหลุดออกจากโลกของความคิด มาอยู่ในโลกของความรู้สึกตัว
จิตที่ไม่รู้สึกตัวนี้ไปหลงอยู่ในโลกของความคิด

คนทั้งโลกหลงอยู่ในโลกของความคิดนะ
มีเป็นส่วนน้อย ผู้ที่ได้ฟังธรรมแล้ว ผู้ที่มีบุญบารมีแล้วอย่างพวกเรานี้
มันรู้ทันจิตที่ไหลไปคิด แล้วก็ตื่น เกิดภาวะแห่งความรู้สึกตัวขึ้นมา
พอเรารู้สึกตัวได้ ก็คือมีกายเราก็รู้ว่ามีอยู่ มีใจเราก็รู้ว่ามีอยู่
เราก็จะเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้
ถ้าเราใจลอย เราลืมกายลืมใจ เราก็ไม่สามารถเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้
เพราะงั้นความรู้สึกตัวนี้แหละ เป็นจุดตั้งต้นที่จะเริ่มเดินปัญญานะ

ทีนี้พอรู้สึกตัวเป็นแล้ว อย่ารู้สึกอยู่เฉยๆ
รู้สึกแล้วมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจ

ค่อยๆแยก กายก็อยู่ส่วนกาย ใจก็อยู่ส่วนใจนะ แยกกัน
กายส่วนกาย ใจส่วนใจ เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ก็อยู่ส่วนเวทนา ไม่ใช่กายไม่ใช่ใจ
สังขาร ความปรุงดีความปรุงชั่ว
เช่นโลภ โกรธ หลงทั้งหลาย ก็อยู่ส่วนโลภ โกรธ หลงทั้งหลาย
ไม่ใช่ร่างกาย ไม่ใช่ความสุข ไม่ใช่ความทุกข์ ไม่ใช่จิตใจ
นี่หัดแยกธาตุแยกขันธ์ ต้องรู้สึกตัวเป็นก่อน ถึงจะแยกธาตุแยกขันธ์ได้

แต่บางคนรู้สึกตัวแล้วอยู่เฉยๆ ไม่ยอมแยกธาตุแยกขันธ์
อันนั้นต้องช่วยมันคิดพิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์ไป

เช่นนั่งอยู่ ก็คอยคิดเอา เออร่างกายที่นั่งอยู่นี่เป็นของถูกรู้นะ อะไรอย่างนี้ ค่อยๆคิดไป
ดู ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก
ผม เป็นของถูกรู้ ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นของถูกรู้
ค่อยๆหัดดูไปอย่างนี้ ต่อไปมันแยกได้เอง

ความสุขความทุกข์เกิดขึ้น ก็เป็นของถูกรู้
ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนไปรู้มันเข้า
เบื้องต้นอาจจะต้องช่วยมันคิดพิจารณาอย่างนี้ แต่ต่อไปมันแยกได้เอง
พอแยกได้เอง เราจะเดินปัญญาอัตโนมัติ
มันจะเห็นเลย ร่างกายเคลื่อนไหว แค่รู้สึกนะ แล้วจะรู้เลยร่างกายไม่คงที่
เวทนาเกิดขึ้นในกาย เวทนาเกิดขึ้นในใจ ความสุขความทุกข์นั้นแหละเกิดขึ้นในกายในใจ
ก็เห็นเลยมันแค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ใจอยู่ต่างๆหาก
เวทนานี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วคราวแล้วก็หายไป
กุศลอกุศล ก็เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาชั่วคราวแล้วก็หายไป
จิตเองก็เกิดแล้วก็ดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้คิด เดี๋ยวเป็นจิตผู้เพ่ง
หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การที่เราเห็นขันธ์ทั้งรูปธรรมนามธรรมทั้งหลายที่ประกอบกันเป็นตัวเรานี้ มีแต่ความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น เป็นอย่างนี้ตลอด
มันจะรู้เลย ไม่ใช่ของดีของวิเศษ
ความสุขเกิดขึ้นก็แค่ของชั่วคราว เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้ เดี๋ยวก็ดับ
กุศลเกิดขึ้นก็เป็นแค่ของชั่วคราว เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยก็ไม่ได้จริง เดี๋ยวก็ดับ
ทุกสิ่งหาที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้เลยในขันธ์ ๕ มีแต่ของน่าเอือมระอา มีแต่ความทุกข์

นี่จิตเห็นความจริงอย่างนี้ จิตจะคืนขันธ์ ๕ ให้โลก ไม่ยึดถืออีกแล้ว
ที่มันคืนไม่ได้ เพราะว่ามันหวง มันห่วง เพราะว่ามันดี
นี่เราทำลายเชื้อเกิดได้ พอมันคืนขันธ์ ๕ ไปนะ
คล้ายๆมีเมล็ดต้นไม้ เมล็ดมะม่วงสักเมล็ดหนึ่ง แต่ต้นอ่อนข้างในมันตายไปแล้ว
ต้นอ่อนที่มันจะงอกขึ้นมาเป็นขันธ์ ๕ ถูกทำลาย
ถ้าเราทำลายความเห็นผิดนะ ว่าจิตนี้เป็นของดีของวิเศษ ขันธ์ ๕ เป็นของดีของวิเศษ
ทำลายตัวนี้ได้ เชื้อเกิดจะถูกทำลายไป

เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของดีแล้ว
ความอยากให้ขันธ์ ๕ มันสุข ให้มันดี ให้มันสงบ ไม่มีแล้ว รู้ว่ามันไม่ดี
ความอยากจะพ้นจากทุกข์ ให้ขันธ์ ๕ พ้นทุกข์ ก็ไม่มี
เห็นไหม อยากให้พ้นทุกข์ก็ไม่มีนะ อยากให้สุขก็ไม่มีนะ เพราะรู้แจ้งแล้วว่าทุกข์แน่นอน

พอรู้แจ้งอย่างนี้ หมดแรงดิ้น
จิตที่หมดแรงดิ้นนี่แหละจะเห็นพระนิพพาน
จิตที่ยังดิ้นอยู่ ยังอยากอยู่ นี่มีตัณหาอยู่ ไม่เห็นพระนิพพาน

พวกเรามีบุญแล้วนะ ได้ฟังธรรม
ฝึกรู้สึกตัวไปบ่อยๆ รู้สึกตัวแล้วอย่ารู้อยู่เฉยๆ
ดูรูปดูนาม ดูกายดูใจ ดูขันธ์ ๕ ทำงานเรื่อยไป

วันหนึ่งเราก็จะตามพระพุทธเจ้าของเราไปนะ

สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๔