Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๓๐

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporวันนี้เราจะมาบูชาพระพุทธเจ้ากัน
การบูชามีหลายระดับ เอาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาเค้าเรียกอามิสบูชา
อีกอย่างหนึ่งคือปฏิบัติบูชา
นี่ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา เราก็บูชาได้แค่อามิสบูชา
เดินเรื่อยเปื่อย ไม่มีสติ อะไรอย่างนี้ บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน
ถ้าเราฉลาด เราปฏิบัติบูชาไปด้วย
เดินไปด้วยความรู้สึกตัว หรือเราเดินจงกรมบูชาท่าน
ทั้งอามิสบูชา ทั้งปฏิบัติบูชา ก็ควบกันไปในขณะเดียวกันเลย
นี่ทำอย่างนี้ก็ได้บุญเยอะ
การทำบุญบางทีต้องใช้สติใช้ปัญญาเหมือนกัน
ถ้าขาดสติขาดปัญญาก็บุญน้อย

พวกเราก็หัดฝึกอยู่เรื่อยๆพยายามทุกก้าวที่เดิน
เดินด้วยความรู้สึกตัว หัดจนเป็นนิสัย
ถ้าเดินด้วยความรู้สึกตัว ได้บุญไปทุกขณะ ทุกก้าวที่เดิน
งั้นพวกเราพยายามหลอมรวมการเจริญสติเข้ามาอยู่ในชีวิตจริงๆของเราให้ได้
ถ้าเรามีสติอยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน มันก็เป็นบุญอยู่ตลอดเวลา
แล้วไม่ใช่บุญธรรมดาด้วย เป็นบุญใหญ่ถึงขนาดจะพาเราข้ามโลก

คนๆหนึ่งกว่าจะข้ามภพข้ามชาติได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเรียกว่าเอาชีวิตเข้าแลก
แต่ถ้าเอาแค่มรรคผลเบื้องต้นนะ ก็พอง่าย ไม่ยาก
สมัยพุทธกาลเค้าฟังเทศน์พระพุทธเจ้าเค้าก็บรรลุกันแล้ว
โสดาเยอะแยะ สกทาคาเยอะแยะ ดูไม่ยากเท่าไหร่
พวกเราฟังเทศน์เยอะแล้วไม่ค่อยได้ เราต้องรวมการปฏิบัติเข้ามาในชีวิตจริงให้ได้
อย่าไปวาดภาพว่าการปฏิบัติธรรมกับการใช้ชีวิตจริงๆนั้นแยกออกจากกัน

ถ้าเราเห็นว่าการใช้ชีวิตอยู่นี่แหละคือการปฏิบัติละก็ดีละ เจริญเร็ว
ถ้ายืนอยู่ด้วยความรู้สึกตัว นั่งอยู่ด้วยความรู้สึกตัว
นอนอยู่ด้วยความรู้สึกตัว จิตก็ทรงสมาธิอยู่ทั้งวัน ได้สมาธิขึ้นมา
ยืนอยู่เห็นร่างกายมันยืน ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายไม่ใช่เรา นี่เจริญปัญญาอยู่
ถ้ารู้ถึงความมีอยู่ของกาย รู้ถึงความมีอยู่ของใจนะ ได้สมาธิขึ้นมาแล้ว
ถ้าเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ ได้ปัญญาขึ้นมานะ เป็นบุญใหญ่

ปฏิจจสมุปบาทสำคัญมากเลย
ถ้าเห็นแจ้งปฏิจจสมุปบาทก็ข้ามภพข้ามชาติได้
ในปฏิจจสมุปบาท สิบสองขั้นตอน
ทั้งสิบสองขั้นตอนมีแต่เรื่องรูปนาม
อวิชชาเป็นรูปหรือนาม
? ตัวอวิชชาเป็นนามธรรม
ความไม่รู้แจ้งในรูปนาม มีเรื่องรูปนามด้วย
แต่ตัวความไม่รู้ ตัวอวิชชา เป็นตัวโมหะ เป็นนามธรรม
ตัวสังขาร เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม
? เป็นนามธรรม
ตัววิญญาณเป็นนามธรรม
ตัวนามรูป เป็นรูปนาม
ตัวผัสสะ ผัสสะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม
? ผัสสะเป็นนามธรรม
เวทนาเป็นนามธรรม
ตัณหาเป็นนามธรรม
อุปปาทานเป็นนามธรรม
ภพ เป็นอะไร
? ภพเป็นการกระทำกรรม ก็ตัวสังขารนั่นแหละเป็นนามธรรม
ภพกับสังขารเป็นตัวเดียวกันนะ แต่อยู่คนละระดับเท่านั้นเอง
สังขารนะ อวิชชาปรุงสังขารขึ้นมาก่อนจะมีรูปนาม
ถ้ามีรูปนามแล้วมาปรุงต่อนี้เรียกว่าภพ
ชาติล่ะ รูปธรรมหรือนามธรรม
? เป็นทั้งรูปทั้งนาม
ความได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งรูปทั้งนาม
ตัวทุกข์ล่ะ
? หึๆ เอาละสิ ไปดูเอาเองก็แล้วกัน

สิบสองขั้นตอนนะ ท่านสอนแล้วก็จะเห็นว่ามมันสัมพันธ์กัน
เนี่ยหลักธรรมะของพระพุทธเจ้านะอัศจรรย์มากเลย
ท่านสอนถึงสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลสัมพันธ์กัน
สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาไม่ได้ปรากฏลอยๆ เพราะมีเหตุมันจึงจะเกิด
สิ่งๆหนึ่งที่ปรากฏขึ้น ประกอบด้วยเหตุจำนวนมากเลย
ไม่ใช่หนึ่งต่อหนึ่งด้วย ในความเป็นจริงประกอบด้วยเหตุปัจจัยจำนวนมาก
และเหตุปัจจัยแต่ละตัวแต่ละตัว ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งนามรูปทั้งหลายก็เป็นอนัตตานะ
การทำงานสืบเนื่องกันไปตามหน้าที่ก็เป็นอนัตตา ไม่มีใครควบคุมมันได้

อย่างราคะจะเกิด ราคะต้องมีเหตุ
กามราคะ มีอะไรเป็นเหตุ มีกามวิตกเป็นเหตุ
การตรึกเรื่องกาม เหมือนหลวงพ่อสอนพระ กลัวมัน ราคะ กามราคะ อย่าไปคิดก็แล้วกัน
ถ้าคิดนะให้แน่แค่ไหนก็พัง ต้องไม่น้อมใจไปคิดเรื่องในกาม
โทสะก็มีเหตุให้เกิด มีพยาบาทวิตก อะไรอย่างนี้
แต่ละตัวจะมีเหตุมีผลสัมพันธ์กันไป แล้วมีหลายแฟคเตอร์ ไม่ใข่มีตัวหนึ่งต่อหนึ่ง
อย่างก่อนโทสะจะเกิด พื้นฐานจะต้องมีอนุสัยขี้โมโห
ต้องกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี ขณะกระทบต้องไม่มีสติเกิดขึ้น
มีหลายเงื่อนไขเลย กว่าที่สภาวะธรรมะตัวหนึ่งๆจะปรากฏขึ้นมา ล้วนแต่ควบคุมไม่ได้บังคับไม่ได้

พระพุทธเจ้าบางองค์นะ ท่านเห็นไล่ปฏิจจสมุปบาทลงไป
ไปถึงวิญญาณ อะไรมีอยู่นามรูปจึงมีอยู่ วิญญาณมีอยู่นามรูปจึงมีอยู่
อะไรมีอยู่วิญญาณจึงมีอยู่ ท่านพบว่านามรูปมีอยู่ วิญญาณจึงมีอยู่
นี่บางองค์ท่านเห็นตรงนี้ นามรูปมีอยู่ วิญญาณถึงมีอยู่จริงไหม
ก็เกิดวิญญาณทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นมา อาศัยนามรูปนั่นเอง
งั้นวิญญาณเป็นปัจจัยของนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยของวิญญาณ
เนี่ยหมุนอยู่อย่างนี้ วัฏฏะก็หมุนๆๆไปเรื่อย

พระพุทธเจ้าของเรา แค่นี้ไม่พอท่านนะ ลึกลงไปอีก
ท่านเป็นพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ ปัญญาท่านกล้า
ท่านสาวลึกลงไปอีก อะไรมีอยู่วิญญาณถึงมีอยู่
เห็นสังขารมีอยู่ วิญญาณจึงมีอยู่
อะไรมีอยู่ สังขารจึงมีอยู่ อวิชชามีอยู่ สังขารจึงมีอยู่
ที่จริงท่านลงลึกไปอีกชั้นหนึ่ง แต่พวกเราไม่ค่อยเรียน
อะไรมีอยู่ อวิชชาจึงมีอยู่ รู้ไหม
อาสวะมีอยู่ อวิชชาก็มีอยู่ แล้วอะไรมีอยู่อาสวะจึงมีอยู่ อวิชชามีอยู่ อาสวะจึงมีอยู่
อาสวะมีอยู่ อวิชชาจึงมีอยู่ ท่านไล่ลงไปถึงนี้

ภูมิปัญญาของพระพุทธเจ้าเรานะ ลึกซึ้ง
ความบริสุทธิ์นั้นเท่าๆกัน แต่ปัญญาไม่เท่ากัน
พระสารีบุตท่านเคยชมพระพุทธเจ้า
ว่าพระพุทธเจ้าเรานี้ไม่มีใครมีปัญญายิ่งกว่าท่านนะ แต่เสมอมี
คือพระพุทธเจ้าบางองค์เสมอกัน แต่ไม่มียิ่งกว่า

ไหนๆเราก็เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าปัญญาธิกะ เราก็ใช้ปัญญาให้เยอะหน่อยก็แล้วกัน
แต่ปัญญาไม่ใช่ฟุ้งซ่าน คิดเอาเองนะฟุ้งซ่าน
ต้องช่างสังเกตนิดนึง ดูสภาวะธรรมทั้งหลาย อย่าไปทำแต่สมาธินิ่งซึมกระทือไป
คอยดูรูปดูนามเค้าทำงานไปเรื่อยๆ มันจะไปได้เร็ว

พระศรีอริยเมตไตร ท่านเป็นพระพุทธเจ้าประเทศวิริยาธิกะ เพียรเอา
พระพุทธเจ้าบางองค์ท่านเป็นสมาธิกะ ทำสมาธิเยอะ
พระพุทธเจ้าของเรานะเป็นปัญญาธิกะ จะเร็วที่สุด

งั้นพวกเราจะเอาแต่ความเพียรก็ได้นะ ก็ไปได้เหมือนกันแต่นานหน่อย
ถ้าจะเดินก็มีปัญญาแยกรูปแยกนามไปเลย อย่างนี้เร็ว
ถ้าเดินไปเรื่อย เพียรลำบากยากเข็ญ ลำบาก นาน
หรือทำสมาธิแล้วก็สุขอย่างเดียว สบายอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ค่อยเห็นทุกข์นะ ก็นาน
ปัญญานะเห็นอะไร เห็นทุกข์นั่นแหละ
เห็นทุกข์ในรูปในนาม มีปัญญาเห็นทุกข์ในรูปในนามบ่อยๆ จิตก็วางเร็ว
ปัญญาของพระพุทธเจ้าลึกซึ้ง ความบริสุทธิ์ของท่านลึกซึ้ง ความกรุณาของท่านกว้างใหญ่ไพศาล

เมื่อเช้าก็พูดความกรุณาของท่าน เห็นอกเห็นใจสัตว์โลกตาแป๋วๆ
แต่บางตัวท่านก็โปรดไม่ไหวเหมือนกัน ท่านก็ปล่อยเหมือนกัน
ท่านก็พูดเปรียบเทียบ อย่างท่านสอนเจ้าชายคนหนึ่งที่เป็นคนฝึกม้า
ท่านบอกม้าบางตัวนะให้มันกินหญ้ากินน้ำนะแล้วฝึกมัน
บางตัวนะให้มันกินนิดหน่อย ฝึกไปด้วย
บางตัวต้องอดน่ะ ให้มันอดก่อน ทรมานมัน
บางตัวฆ่าทิ้งไปเลย ฝึกไม่ได้ มีหลายแบบ

ฝึกคนก็เหมือนกัน พวกฆ่าทิ้งเลยคือท่านไม่สอน
มีเหมือนกันขนาดท่านกรุณานะ ท่านยังไม่สอนเลย ถ้าสอนแล้วมันบาปมากกว่าเก่า
อย่างพวกเราที่ชอบสอนระวังนะ สอนบางคนมันไม่ได้บุญนะ
สอนบางคนแล้วมันบาปมากกว่าเก่า ก็อย่าไปสอนมัน ปล่อยมันไป
สอนไม่ได้ก็ปล่อยไป อย่าไปเข็นเค้านะ เข็นมากๆแล้วมันโมโห บาปกว่าเก่าอีก
คนไหนควรบอกก็บอก คนไหนไม่ควรบอกเราก็เฉยเสียดีกว่า

วันนี้พูดอันนี้เพราะว่าในห้องนี้นักสอนเยอะเลย พี่ล้งพี่เลี้ยงอะไรก็มีเยอะ ค่อยฝึกเอา
ฝึกของเราก่อน ช่วยคนอื่นมีโอกาสช่วยก็ช่วย โอกาสผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป
หลวงปู่ดูลย์ก็สอนอย่างนี้

สวนสันติธรรม
วันวิสาขบูชา ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๔