Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๒๙

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม:
ในช่วงระหว่างที่ทำความเพียร บางครั้งก็รู้สึกขาดกำลังใจในการปฏิบัติ
พอจะมีธรรมะหมวดไหนมั้ยคะ ที่เรานำมาพิจารณาแล้ว จะทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติภาวนามากขึ้น

ตอบ:
วิสุทธิ ๗ เป็นธรรมะที่สำคัญมากเลย
ถ้าเราเข้าใจ เราจะมีกำลังใจในการปฏิบัตินะ

พวกเรามีศีลมั้ย ตั้งใจรักษาศีลอยู่รึเปล่า
ถ้ามีเราก็มี ศีลวิสุทธิ นะ

พวกเราได้ฝึกจิตให้อยู่กับเนื้อกับตัวมั้ย มีใช่มั้ย
เรามีวิสุทธิ์ตัวที่สองแล้วนะ จิตตวิสุทธิ

พวกเราเห็นบ้างมั้ยว่า
สิ่งที่เรียกว่าตัวเราจริงๆประกอบด้วยรูปธรรมกับนามธรรม
มันคือรูปกับนาม แยกรูปแยกนามเป็นบ้างมั้ย
แยกรูปแยกนามเป็นนะ เรียกว่าได้ ทิฐิวิสุทธิ แล้ว
มีมั้ยพวกเราได้ตัวที่สามรึยัง

แยกรูปแยกนามแล้วเห็นมั้ยว่า
ทุกอย่างมันอยู่ๆไม่ได้เกิดมาเองนะ มันมีเหตุทั้งหมดเลย
อย่างความโกรธจะเกิดได้ ความโกรธก็ต้องมีเหตุ
เราก็ต้องไปกระทบอารมณ์ที่ไม่ดี กระทบแล้วเกิดทุขเวทนา
กระทบแล้วไม่ถูกอกถูกใจ เรามีอนุสัยที่ขี้โมโหอยู่ก่อน
พอกระทบอารมณ์ที่ไม่ดีปุ๊บ ความโกรธถึงจะเกิด
สติก็ต้องมีเหตุถึงจะเกิดนึกออกมั้ย เราต้องจำสภาวะได้แม่นสติถึงจะเกิด
สมาธิก็ต้องมีเหตุถึงจะเกิด
จิตใจต้องสงบสุขอยู่ในอารมณ์อันเดียว ถึงจะมีสมาธิขึ้นมา
ปัญญาก็ต้องมีเหตุให้เกิด คืออะไร
จิตต้องตั้งมั่น มีสมาธินั่นเอง

ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งกุศลทั้งอกุศล ล้วนแต่เกิดจากเหตุทั้งนั้น
พวกเราพอเห็นบ้างมั้ย มันโยงกันมาเป็นลูกโซ่เลย
ในใจเรามันปรุงต่อกันเป็นทอดๆนี่แหละ
เราข้ามพ้นความสงสัยได้เรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ
เราข้ามความสงสัยได้คือ รู้เลยว่าสิ่งทั้งหลายเกิดจากเหตุนะ
ไม่มีเหตุไม่เกิดหรอก อย่างนี้เรียกไม่สงสัยแล้ว
ไม่สงสัยในรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย
ว่าจริงๆแล้วมันมีเหตุมันก็เกิด ไม่มีเหตุมันไม่เกิดนะ
ถ้ามันเกิดมาแล้วเหตุมันดับ ตัวมันก็ดับ จะเห็นอย่างนี้

แล้วพวกเรารู้สึกรึยัง อย่างภาวนาไปแล้วบางที่จิตสว่างว่าง
ไปนิ่งว่างอยู่ข้างนอกดูออกมั้ย ตัวนั้นเป็นวิปัสสนูนะ
ถ้าเรารู้ทัน จิตกลับมาตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว
เรารู้แล้วว่าทางที่จะดำเนินต่อไปนี้ จิตต้องถึงฐาน
ตรงที่รู้ว่าจิตต้องตั้งมั่นถึงฐาน รู้ว่าทางดำเนินอยู่ตรงไหน
รู้ว่าถ้าจิตส่งออกไป ฟุ้งซ่านออกไปในอารมณ์ ๑๐ ประการ
มีความสว่างว่างเป็นที่หนึ่ง บางทีก็เจริญสติกล้าแข็งไป
บางทีปัญญาล้ำหน้าไป นี่พวกวิปัสสนูทั้งหมดเลย วิปัสสนูไม่ใช่ทางนะ
จิตที่ตั้งมั่น รู้รูป รู้นาม รู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง เป็นทาง

ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว จะได้วิสุทธิอีกตัวนึงชื่อ
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
มรรค กับ อมรรค เอามาสนธิกัน มารวมกันเลยเรียก
มรรคา มรรคญาณ ทรรศนะ วิสุทธิ
พวกเราตอนนี้มาถึงตัวนี้ก็เยอะแล้วนะ

พวกเราเริ่มเห็นมั้ยว่า มันมีสภาวะที่เกิดดับทั้งในทางกายทั้งในทางใจ
บางคนเห็นชัดที่ร่างกาย เห็นร่างกายเกิดดับนะ
บางคนเห็นชัดที่จิตใจ เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเกิดดับไปเรื่อยๆ
อันนี้เห็นมั้ย นี่เรากำลังเกิดนอยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
เดินอยู่ในตัวที่หกนะ เหลืออีกนิดเดียวเอง เหลืออีกนิดเดียวนะ
ในเจ็ดตัวนี้เราเดินมา หกตัวแล้ว

ตอนนี้พวกเราจำนวนมากเดินมาถึงตัวที่หก คือเราเดินวิปัสสนาแท้ๆแล้ว
เราเห็นสภาวะของรูปธรรม และนามธรรมไมใช่ตัวเราด้วยนะ
มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้
มีแต่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับนะ
ใครดูไปแล้ว ใครรู้สึกเห็นแต่ดับบ้าง
ดูอะไรลงไปก็เห็นแต่ดับให้ดู ใครเห็นมั้ยตรงนี้
ใครดูแล้วรู้สึกว่ามันน่ากลัวบ้าง สภาวะทั้งหลาย โลกนี้น่ากลัวเห็นมั้ย
ใครดูแล้วรู้สึกน่าเบื่อบ้าง
ถ้าเห็นว่าไม่มีสาระแก่นสาร เรียก อาทีนวญาณ
น่ากลัวนี่เรียก ภยตูปัฏฐานญาณ
ถ้าเห็นว่าน่าเบื่อเรียก นิพพิทาญาณ

นี่เดินอยู่นี่จิตจะพัฒนาไปเรื่อยนะ ในที่สุดจิตเป็นกลาง
เบื่อขึ้นมาก็รู้ทัน ในที่สุดความเบื่อดับไปจิตเป็นกลาง
รู้สภาวะไปอย่างเป็นกลาง นี่แหละเราเดินอยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
เหลืออีกนิดเดียวเอง อีกขั้นเดียวเราก็จะเห็น อริยสัจ แล้ว (ญาณทัสสนวิสุทธิ)

ถ้าเห็น อริยสัจ เมื่อไหร่
เราก็ไม่ได้ไปยึดถือความรู้ในอริยสัจนะ
จิตจะวาง แล้วเข้าถึงพระนิพพาน
ฉะนั้นในวิสุทธิ ๗ นี่ เป็นธรรมะที่น่าเรียนนะ
เรียนแล้วได้กำลังใจดี

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔