Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๒๕

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



การปฏิบัตินะต้องเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม

ต้องเห็นนะไม่ใช่คิด ต้องเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ไม่ใช่คิดเรื่องรูปนาม
การคิดเรื่องรูปนามว่าเป็นไตรลักษณ์ยังไม่ขึ้นวิปัสสนา

ในโสฬสญาณที่พูดถึงเมื่อกี้
ญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณ แยกรูปแยกนาม

ญาณที่ ๒ ชื่อปัจจัยปริคคหญาณ ดูว่ารูปนามแต่ละตัวๆมีเหตุถึงจะเกิด
รู้เหตุเกิดของมัน ไม่มีอะไรที่เกิดลอยๆ ทุกอย่างมีเหตุถึงจะเกิด

ถัดมาเป็นญาณที่ ๓ ชื่อสัมมสนญาณ
จะเห็นเลยว่ารูปนามทั้งหลายเกิดแล้วดับทั้งสิ้น รูปนามทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
แต่เป็นการเห็นด้วยการคิดเปรียบเทียบเอา ยังไม่ได้เห็นความเกิดดับต่อหน้าต่อตา
เพราะงั้นอย่างการคิดเรื่องไตรลักษณ์ของรูปนาม ยังไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน
ในโสฬสญาณนี่อยู่ในญาณที่ ๓ นะ
อย่างเป็นต้นว่าเราส่องกระจกนะ เห็นตีนกาขึ้น ใจก็สลดสังเวชนะ ร่างกายนี้ไม่เที่ยงนะ
ปีกลายตีนกายังไม่ขึ้น ปีนี้ตีนกาขึ้นแล้ว ปีหน้าคงเป็นตีนวัวตีนควายอะไรอย่างนี้
ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ไม่เที่ยง อย่างนี้ยังไม่ใช่วิปัสสนา ยังเจือด้วยการคิดอยู่
การเห็นไตรลักษณ์ด้วยการคิดเรียกว่าสัมมสนญาณ

ขึ้นญาณที่ ๔ ชื่ออุทยัพพยญาณ (อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ)
อันนี้เป็นการเห็นความเกิดดับจริงๆ อันนี้ขึ้นวิปัสสนาแล้ว
วิปัสสนาญาณขึ้นจากโสฬสญาณ ญาณที่ ๔ นะ แล้วก็ไล่ไปเก้าอัน

วิปัสสนาไล่ขึ้นไปเรื่อย ถึงสังขารุเบกขาญาณวิปัสสนาสูงสุดแล้ว
สังขารุเบกขาญาณคือจิตมันเห็นความจริงจนกระทั่งมันเป็นกลางกับความปรุงแต่งทั้งปวง
เห็นเลยสุขกับทุกข์นั้นเท่าเทียมกัน เพราะว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน
กุศล อกุศล ทั้งหลายเท่าเทียมกัน ด้วยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนกัน
จิตยอมรับความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเสมอกันหมด
ใจที่ภาวนามาถึงจุดนี้จะรู้สึกโลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง เสมอกันไปหมดเลย
ดูไปนี่นะใจมันไม่กระเพื่อมขึ้นมานะ ชอบคนนี้เกลียดคนนี้ไม่มีเลย
ตัวนั้นน่ะใจเข้าไปสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญา ถัดจากนั้นกระบวนการเกิดอริยมรรคถึงจะเกิดขึ้น
ก็จะมีตั้งแต่อนุโลมญาณ(สัจจานุโลมิกญาณ) โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ
ในกระบวนการที่เกิดอริยมรรคก็มีตั้งแต่ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ
เนี่ยอยู่ในกระบวนการที่จะเกิดอริยมรรค
กระบวนการนี้จบแล้วยังจะเกิดญาณตัวที่สิบหก ปัจจเวกขณญาณ
ทวนเข้าไปพิจารณาว่าตอนที่เกิดอริยมรรคนั้นล้างกิเลสอะไรไปบ้าง
กิเลสอะไรยังไม่ล้าง จะทวนเข้าไปดู ก็รู้ว่างานยังไม่เสร็จ
ถ้างานเสร็จแล้ว ก็ทวนเข้าไปดูเห็นความเสร็จแล้ว
จิตจะไปพิจารณานิพพานได้แล้ว ไปทำความรู้แจ้งในตัวนิโรธ

งั้นจิตมันจะพัฒนาไปนะ พวกเราก็ดู
การปฏิบัติไม่ยาก สรุปนะการปฏิบัติไม่ยาก มันยากเฉพาะคนไม่ปฏิบัติ
คนไม่ปฏิบัติมีสองพวก พวกหนึ่งไม่สนใจการปฏิบัติ พวกที่สองปฏิบัติผิด
ปฏิบัติผิดก็คือไม่ได้ปฏิบัตินั่นเอง ไม่ได้ทำตามทางที่พระพุทธเจ้าสอน

ต้องจำให้แม่นนะ อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน ทิ้งวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้
วิปัสสนากรรมฐานคือการเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ไม่ใช่คือการเห็นรูปนามนะ


บางคนก็สอนกันเพี้ยนๆนะ เนี่ยเราพูดซื่อๆอย่างนี้นะ
เราไม่ได้ว่าสำนักไหนนะ พูดในทางวิชาการจริงๆเลย
ถ้าไม่พูดทางวิชาการ อ้อมๆแอ้มๆจะรู้เรื่องเหรอ จะพากันผิดไปหมด
ในหลักสูตรนักธรรมเอกมีนะ สอนเรื่องสมถะวิปัสสนา เขาก็เขียนชัดเจนเลย
เขียนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว บอกว่าวิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม ไม่ใช่เห็นรูปนาม

เพราะงั้นอย่างเรานั่งดู เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า เป็นวิปัสสนาไหม
?
ยังไม่เป็น ยังไม่เป็น เห็นร่างกายอยู่ยังไม่เป็น ต้องเห็นไตรลักษณ์นะ
เห็นเลยตัวที่หายใจออกไม่ใช่ตัวเรา ตัวที่หายใจเข้าไม่ใช่ตัวเรา
ตัวที่หายใจออกไม่เที่ยง ตัวที่หายใจเข้าไม่เที่ยง อย่างนี้นะ
การหายใจออกนั้นอยู่ได้ชั่วคราว ทนอยู่ไม่ได้ เป็นทุกข์
การหายใจเข้าก็หายใจเข้าได้ชั่วคราว ทนอยู่ไม่ได้ตลอด เนี่ยทุกขัง
คือถ้าไม่ได้เห็นไตรลักษณ์ เห็นแต่ร่างกายหายใจอยู่
ฤาษีชีไพรเค้าทำอานาปานสติเค้าก็เห็นเหมือนกัน
แต่เค้าไม่ได้เดินปัญญา ไม่ได้ขึ้นมาเห็นไตรลักษณ์

อย่างพวกเราเดินจงกรม เราเห็นร่างกายเดินไปเรื่อย
ใจเป็นคนดู เห็นร่างกายเดิน ขึ้นวิปัสสนาหรือยัง
? ยัง
แต่ถ้ามีความเห็นแจ้งลงไปเลย ตัวที่เดินอยู่นี้ไม่ใช่เราเดินแล้ว
เนี่ยเริ่มละความเห็นผิดว่ามีเราเดิน นี่ถึงจะขึ้นวิปัสสนาได้นะ
เห็นเลยร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่คงที่เลย ใจเป็นคนดูอยู่สบายๆ
เห็นว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นมาแล้วดับไปต่อหน้าต่อตา
การเดินในแต่ละก้าว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปๆ ให้เห็นความเกิดความดับ อย่างนี้จึงจะขึ้นวิปัสสนา

งั้นจำหลักให้แม่นนะ ต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามจึงจะขึ้นวิปัสสนา
ถ้าไม่ขึ้นวิปัสสนา มรรคผลไม่มี ไม่มีแน่นอน


งั้นอย่างภาวนา บางคนบอกน้อมจิตเข้าไปสู่ความว่าง
ให้จิตอยู่ในความว่างนานๆ เหมือนไม่มีกิเลสเลย เนี่ยบรรลุมรรคผลนิพพานเป็นไปได้ไหม
?
น้อมจิตไปอยู่ในความว่าง มันเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามไหม
? ไม่เห็นอะไรเลย
คนละเรื่องเลยนะ ต้องระมัดระวังให้ดีนะ

หรืออยู่ๆก็บอกตัวเองว่าอย่าไปยึดสิ่งทั้งปวง
อะไรๆก็อย่าไปยึด เจออะไรก็บอกไม่ยึดไม่ยึด ใจโล่งว่างไปเลย
เป็นวิปัสสนาไหม
? เห็นรูปนามไหม? นั่งคิดตลอดเลยว่าอย่าไปยึดโน่นอย่าไปยึดนี่
ไม่ใช่รู้ไม่ใช่การเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม งั้นไม่เป็นวิปัสสนา
อยู่ๆก็บอกไม่ยึดอะไรเลยๆ ทำใจให้ว่าง หรือน้อมใจไปสู่ความว่าง
ไม่คิดไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง ความปรุงแต่งใดๆเกิดขึ้นตัดทิ้งให้หมดเลย
ให้จิตพ้นจากความปรุงแต่งไปเลย เนี่ยสอนอย่างนี้เยอะมากเลยนะ เยอะแยะเลยนะ

ถ้าพวกเราไม่เรียนให้ดีเราจะหลงเตลิดเปิดเปิง ไปลองทำดูแล้วจะมีความสุข
เพราะอะไร
? มันเป็นสมถะนะ อย่างน้อมใจไปอยู่ในความว่าง เป็นสมถะชัดๆเลย
น้อมใจไปสู่ความไม่ยึดถืออะไรเลย นี่ก็สมถะนะ
น้อมใจไปอยู่ในความว่าง ชื่ออากาสานัญจายตนะ
น้อมใจเข้าไปสู่ความไม่มีอะไรเลย ชื่ออากิญจัญญายตนะ ไม่มีไตรลักษณ์ให้ดูหรอก
เทศน์ดุไปไหมวันนี้
? (
J ยิ้ม)

ต้องเห็นไตรลักษณ์ ต้องเห็นนะ ไม่ใช่คิดด้วยนะ ต้องเห็น
วิปัสสนานะมาจากคำว่า วิ + ปัสสนะ
ปัสสนะแปลว่าการเห็น + วิ แจ้งหรือยอดเยี่ยม
เห็นอย่างแจ้ง เห็นจริง เห็นอย่างยอดเยี่ยม เห็นอย่างถูกต้อง
เห็นอะไร
? เห็นไตรลักษณ์สิถึงจะถูกต้อง เห็นอย่างอื่นไม่แจ้ง เรียกว่ายังไม่รู้แจ้ง
งั้นต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม

ทีนี้จะเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้ เครื่องมือที่เราต้องพัฒนาขึ้นมานะ
อย่างน้อยที่สุดต้องมีสองตัว ตัวที่หนึ่งชื่อสติ ตัวที่สองชื่อสมาธิชนิดตั้งมั่น
สมาธิต้องระบุชนิดด้วย วงเล็บไว้ เพราะสมาธิมีหลายประเภท
สมาธิโหลยโท่ยเลยก็มีนะ คนจะไปฆ่าเค้ามีสมาธิไหม
?
จะไปดักยิงหัวใครมีสมาธิไหม
? คนคิดจะจั่วไพ่มีสมาธิไหม? มี
งั้นสมาธินี่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง กระทั่งจิตอกุศลก็มีสมาธิ

แต่มันเป็นสมาธิชนิดชั้นเลว สมาธิออกนอกเลย

สมาธิอีกชนิดหนึ่ง จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว

อันนี้ชื่ออารัมมณูปนิชฌาน จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
นี้ล่ะคือสมาธิที่ใครต่อใครชอบทำกันนักหนา แล้วหยุดอยู่แค่สมาธิชนิดนี้
พุทโธแล้วก็สงบอยู่กับพุทโธ หายใจแล้วก็สงบอยู่กับลมหายใจ
ดูท้องพองยุบแล้วสงบอยู่กับท้อง ขยับมือแล้วสงบ ใจสงบนิ่งอยู่กับมือ
ทำกรรมฐานอะไรแล้วก็สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว อันนี้เรียกว่าอารัมมณูปนิชฌาน
เอาไว้พักผ่อน มีประโยชน์ไหม
? มี
ถ้าคนไหนทำได้ให้ทำ ถ้าทำไม่ได้อย่างน้อยต้องทำสมาธิชนิดที่สองให้ได้
สมาธิชนิดแรกชื่ออารัมมณูปนิชฌาน เอาไว้พักผ่อนให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
จิตปกตินั้นน่ะสำส่อน โดดจากอารมณ์โน้นที โดดจากอารมณ์นี้ทีตลอดเวลา
ฟุ้งซ่านไป ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ น้อมจิตไปอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุขมีความสงบ
ใครถนัดพุทโธก็อยู่กับพุทโธ ใครถนัดลมหายใจก็อยู่กับลมหายใจ
ใครถนัดท้องพองยุบก็ดูท้องพองยุบไป ให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
พอจิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้วก็ได้ความสุขได้ความสงบ เป็นที่พักผ่อนทำให้จิตมีเรี่ยวมีแรงนะ

สมาธิชนิดที่สองนะ ชื่อลักขณูปนิชฌาน
ลักขณูปนิชฌานเนี่ยจิตตั้งมั่นเห็นลักษณะ
ลักขณู ลักขณะ คือลักษณะนั่นเอง คือคำว่าไตรลักษณ์นั่นแหละ
คือลักษณะ ลักขณูปนิชฌานจิตตั้งมั่นเห็นไตรลักษณ์ เห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
ทำไมต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
?
รูปนามมีไตรลักษณ์ อย่างอื่นไม่มีไตรลักษณ์
สิ่งที่เหนือจากรูปนามมีสองอย่าง อันหนึ่งเรียกว่าบัญญัติ เรื่องราวที่คิดไม่มีไตรลักษณ์
อีกอันหนึ่งคือนิพพาน นิพพานไม่มีไตรลักษณ์ นิพพานมีเอกลักษณ์ มีอันเดียว มีอันเดียวนะ
ลักษณะเป็นไตรลักษณ์ในนิพพานมีหนึ่ง เรียกอนัตตา มีแต่อนัตตา ไม่มีอนิจจัง ทุกขัง

งั้นจะดูไตรลักษณ์ได้ต้องดูที่รูปนาม
รูปนามที่ดูแล้วเห็นไตรลักษณ์ได้ ต้องเป็นรูปนามในปัจจุบัน
รูปนามในอดีตไม่มีแล้ว ตัวมันเองยังไม่มีเลย
ให้ไปหาไตรลักษณ์ของรูปนามในอดีตก็เป็นการคิดเอา ไม่เป็นวิปัสสนา
รูปนามในอนาคตก็ยังไม่มี จะไปดูไตรลักษณ์ของมันก็ไม่ได้
งั้นจะดูไตรลักษณ์ของรูปนาม ต้องดูรูปนามในปัจจุบันนะ
นี่เห็นไหมมันเป็นหลักของการทำวิปัสสนาทั้งหมดเลย
อย่างการดูรูปนามนะให้ลงปัจจุบัน ยังมีปัจจุบันสองแบบ
งั้นเรื่องที่ต้องเรียนนี่เยอะมากเลยนะ ค่อยๆเรียน ค่อยๆฟังนะ
ไปเปิดซีดีนะเทศน์วนไปวนมา เราคอยดูเอา ดูไปเรื่อยๆ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๔