Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๒๔

ขณะใดจิตไปหลงอยู่ในโลกของความคิด ความเป็นตัวตนก็มีขึ้นมาอีก
งั้นบางทีเราภาวนา ทำสมาธิไปนะ
ใจรู้ตื่นเบิกบาน ตั้งมั่น ว่างๆ สว่างอยู่ ตัวตนหายไป

ถ้าศึกษาไม่ดีก็จะคิดว่า ละไปแล้ว
วิธีละก็คือฝึกสมาธิไปเรื่อย จิตตั้งมั่นขึ้นมาก็ตัวตนหายไป มันไม่ถูกหลัก
จะหายได้จริงด้วยปัญญา
ลำพังหายด้วยสมาธิเดี๋ยวก็มาอีก

งั้นเราหนีการทำวิปัสสนาไม่ได้
พอจิตเราสงบ จิตเราตั้งมั่น มีสมาธิแล้ว อย่าอยู่แค่นั้นเฉยๆ
ดูเหมือนดี ดูเหมือนนิพพานนะ นั่นนิพพานปลอม
ให้เราย้อนมาดูกายดูใจมันทำงาน ดูด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง
เมื่อไรเราเห็นความจริง จิตมันเห็นความจริงอย่างถ่องแท้ว่าขันธ์ทั้งหลายตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
มันจะล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ แล้วไม่กลับมาอีก

งั้นเวลาภาวนา บางคนนะนึกว่าฝึกสมาธิจนใจรู้ตื่นเบิกบานว่างๆนี้แหละดีแล้ว
จบ เส้นทางปฏิบัติไม่มีแล้ว มีแค่นี้ นี้ไม่ถูกนะ
เราฝึกจนใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ต้องมาเดินปัญญาต่อ
มาแยกรูปนาม ดูธาตุดูขันธ์ทำงานไปเรื่อย
จะถึงความบริสุทธิ์ที่แท้จริงด้วยปัญญา ไม่ใช่ถึงความบริสุทธิ์ด้วยสมาธิ

งั้นบางคนดูนะว่าตัวเราหายไป ตัวเราหายไป
ตราบใดที่ยังทรงสมาธิอยู่ก็หาย สมาธิเสื่อมเมื่อไหร่มันก็มาอีก
งั้นการที่เราฝึกจนกระทั่งเรารู้สึกตัวได้แล้ว
ใจสบาย โปร่งแล้ว ต้องดูขันธ์มันทำงานต่อ
อย่าหยุดอยู่แค่นั้น เดี๋ยวตัวเรามันมาอีก

ดูจนปัญญามันเกิด ไม่มีเราในขันธ์ ๕
ไม่มีเรานอกจากขันธ์ ๕ ไม่มีเราที่ไหนเลย
ปัญญาเกิด ล้างความเห็นผิดไป ก็จะไม่กลับมาอีก
ไม่งั้นกระเส็นกระสาย เดี๋ยวก็โผล่มาอีกแล้ว
หายไปเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็มาอีกแล้ว ยังเชื่อไม่ได้นะ
พระพุทธเจ้าท่านถึงบอก “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”

งั้นเราภาวนา ค่อยๆรู้ ค่อยๆดูนะ
สมาธิบางอย่างนะ เหมือนๆนิพพาน
เหมือนๆนะ ไม่เป็นจริงหรอก นิพพานจอมปลอมมีเข้ามีออก
บางทีทำสมาธินะ รักษาจิตจนว่าง แล้วคิดว่าจิตที่ว่างแล้วนี่แหละนิพพาน
บางคนต่ำกว่านั้นอีก ภาวนาแล้วจิตมันสว่างขึ้นมา ไปอยู่ในความสว่าง
ไม่มีอะไรเลย มีแต่ความสว่าง โล่ง สบาย มีความสุข คิดว่านี่แหละนิพพาน สว่าง ว่าง
ตัวนี้เรียก “อากาสานัญจายตนะ” ไม่ใช่ของจริงหรอก ชั่วคราว ยังเสื่อมได้อีก

บางคนเห็นว่าส่งจิตไปอยู่ในว่างนะ จิตยังต้องทำงาน ยังเป็นภาระอีก
มาดูตัวจิต มาประคองตัวรู้ไว้ เพ่งตัวรู้ตัวจิต
จนกระทั่งจิตนิ่ง ว่าง สบาย อยู่ที่จิต ไม่ได้ไปอยู่ในช่องว่าง
อย่างแรกจิตไปอยู่ในช่องว่าง พวกเราที่ดูจิตๆแล้วดูผิดนะ
จิตมันจะหนีไปอยู่ข้างหน้า รู้สึกไหม ไปว่างแล้วเราไปเกาะอยู่ว่างๆนั่นนะ
นั่นเสร็จเลย นั่นสมถะชนิดหนึ่ง เพ่งความว่าง
บางคนไม่เพ่งความว่า มาเพ่งตัวจิต
เป็นสมถะอีกอย่างหนึ่งชื่อ “วิญญานัญจายตนะ” เพ่งตัวผู้รู้
มันจะเกิดตัวผู้รู้ ซ้อนตัวผู้รู้ไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สุด
จะรู้สึกว่าวิญญาณเป็นอนันต์ ไม่มีที่สุดเลย เป็นอินฟินิตี้ ซ้อนๆ ๆ ๆไปเรื่อย

บางคนก็ภาวนาต่อไปอีก
เห็นว่าส่งจิตไปอยู่ในว่าง ว่างเป็นของถูกรู้ก็ไม่ดี
ส่งจิตมาประคองอยู่ที่จิตที่ตัวรู้ก็ไม่ดี ยังเป็นภาระอยู่
เลยทิ้งทั้งอารมณ์ที่ถูกรู้นะ ทิ้งทั้งจิตที่เป็นผู้รู้
ไม่ยึดอะไรเลย ไม่เอาอะไรสักอย่าง
เอาความไม่เอาอะไร เอานะ แต่เอาความไม่เอาอะไร ไม่ยึดทั้งจิต ไม่ยึดทั้งอารมณ์
ตัวนี้ชื่อว่า “อากิญจัญญายตนะ” เป็นสมถะอีกแบบหนึ่ง เป็นอรูปฌาน
ตัวอากิญจัญญายตนะ ถ้าไม่มีสติปัญญาพอนะ นึกว่านิพพาน เพราะไม่ยึดอะไรเลย
ฟังๆแล้วเคลิ้มๆไปนะ เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์บอกเลยนะ
เนี่ย ถ้าจะใช่แล้ว “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง” เหลืออย่างเดียว “ความไม่มีอะไร” เหลือแต่ความไม่มีอะไร
ยึดตัวความไม่มีอะไร นึกว่านิพพานนะ ไม่นิพพานจริง

ทีนี้จิตพออยู่ในความไม่มีอะไรนานๆ การหมายรู้ไม่มี การหมายรู้ไม่ต้องหมาย
เพราะไม่มีอะไรให้หมาย ไม่ได้ยึดอะไรไว้เลย
ตัวสัญญาจะอ่อนลงนะ อ่อนลง อ่อนลง ในที่สุดสัญญาเหมือนจะดับ
เหมือนๆจะดับ ริบหรี่ๆ เหลือนิ๊ดเดียว แทบไม่รู้สึกถึงการหมายอะไรเลย
นี่เป็นอรูปตัวที่ ๔ ชื่อ “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” อยู่ตรงนี้มีความสุขมาก

รวมความแล้วมันมีกับดักเต็มไปหมดเลยสำหรับผู้ปฏิบัติ
งั้นต้องมีสติมีปัญญา ต้องเรียน
ถ้าไม่ได้หาครูบาอาจารย์ที่มั่นใจได้จริงๆนะ
ต้องสังเกตตัวเองให้มากว่าจิตเราไปติดไปข้องอะไรหรือเปล่า
กระทั่งไปติดความไม่มีอะไรเลย ก็ติดนั่นแหละ
สมัยพุทธกาลก็มีคนหนึ่งไปคุยอวดพระพุทธเจ้า
บอกว่าอะไรๆก็ไม่คู่ควรแก่ข้าพระองค์ หมายถึงเค้าไม่ยึดอะไรสักอย่างเลย
พระพุทธเจ้าท่านเลยย้อนให้ “ถ้าอย่างนั้นความคิดว่าอะไรๆก็ไม่คู่ควรแก่ท่าน ก็ไม่สมควรแก่ท่านด้วย”
ท่านยังยึดในความคิดความเห็นอันนี้นะ เค้ามองเห็นตัวนี้แล้วค่อยฉลาดขึ้น

ภาวนานะอย่ารีบร้อนเป็นพระอริยะ อริแยะเยอะนะ อริยะไม่ค่อยมี
ที่ทำสมาธิแล้วว่างๆขึ้นมานะ เป็นพระอริยะไม่ได้หรอก
ไม่นานก็ตาย ตายจากความเป็นพระอริยะ กิเลสเกิดอีก
...
ถ้าไปหลงสมาธิอยู่ นึกว่านิพพานนะ เหมือนไม่มีกิเลส เหมือนๆไม่มีกิเลส
นิพพานจริงๆไม่มีเข้ามีออกอย่างนั้นหรอก ถ้ามีเข้ามีออกได้ยังเป็นภพอยู่
ยังเป็นภพอยู่ สร้างขึ้นมาเป็นครั้งเป็นคราว
งั้นการภาวนาต้องประณีตนะ ต้องฟัง อยู่ๆรู้เองรู้ยาก รู้ยาก เราไม่ใช่ภูมิที่รู้ได้ด้วยตัวเอง
...
แล้วจะทำยังไงดี
ส่งจิตออกไปข้างนอกก็ผิด ส่งลึกเข้าไปข้างในก็ผิด อยู่ตรงกลางก็ผิด แล้วจะไปอยู่ที่ไหน
หลวงปู่ดูลย์เองเคยบอกว่า “จิตไม่มีที่ตั้ง”
ตั้งอยู่ข้างนอกก็ไม่ใช่ ตั้งไว้ข้างในก็ไม่ใช่ ตั้งไว้กลางๆก็ไม่ใช่
จงใจเมื่อไหร่ ก็เป็นภพเมื่อนั้น เราภาวนาจิตไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่งหรอก
แต่ว่าไม่ว่าจิตจะอยู่ที่ใด จิตที่นั้นเกิดแล้วดับทั้งสิ้น

เราภาวนาไม่ใช่เพื่อเอาจิตไปไว้ตรงนั้นตรงนี้
ให้จิตอยู่ตรงกระหม่อม จิตอยู่เหนือหัว จิตอยู่หน้าผาก จิตอยู่ลิ้นปี่ เราไม่ได้ฝึกเอาอย่างนั้น
แต่เราฝึกให้เห็นว่า จิตเกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้นแหละ ทุกสิ่งเกิดแล้วดับทั้งสิ้น
งั้นภาวนาไม่ได้ภาวนาเพื่อประคองเอาไว้ยังจุดใดจุดหนึ่ง
ถ้ายังประคองจุดใดจุดหนึ่งเอาไว้ยังจุดใดจุดหนึ่งยังเป็นสมถะอยู่
แต่ถ้าเราเห็นเลย ทุกอย่างเกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น
มีแต่เกิดแล้วดับตลอดเวลา อย่างนี้ถึงจะเดินปัญญา

ค่อยๆฟังค่อยๆเรียนไปนะ เรียนเป็นลำดับไป
บางวันก็สอนยากๆหน่อย บางวันก็สอนง่ายๆ
พวกเราเป็นนักเรียนห้องเดียวกัน แต่มันมีนักเรียนหลายชั้นมาเรียนรวมๆกัน
คนไหนยังไม่เข้าใจก็จำไว้ก่อน ฟังไว้ก่อน
คนไหนภาวนามาถึงตรงนี้แล้วจะได้ไม่เสียเวลาติดขัด
พวกจำไว้วันข้างหน้าก็ได้เห็น ได้เอาไว้ใช้
บางทีครูบาอาจารย์ก็สอนธรรมะล่วงหน้า
หลวงปู่ดูลย์เคยสอนธรรมะหลวงพ่อล่วงหน้า ตั้งนานแหนะ
ท่านสอน “พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้” กว่าจะเข้าใจที่ท่านบอก ตั้งนานแหนะ ใช้เวลาเป็นสิบๆปี
งั้นบางทีครูบาอาจารย์ท่านบอก บอกล่วงหน้าให้
เอาไว้เป็นมรดกนะ ติดเนื้อติดตัว ช่วยตัวเองได้ ในวันข้างหน้า

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔