Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๒๒

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

luangporธรรมะไม่ใช่ของฉาบฉวย ธรรมะเป็นเรื่องจริงจังนะ
ต้องศึกษา ต้องลงมือปฏิบัติ

ธรรมะให้ประโยชน์ ธรรมะให้ความสุข
บางทีสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าจะส่งพระออกไปเผยแผ่ธรรมะ ไปประกาศธรรมะ
ท่านบอกให้พระทั้งหลายนะ จาริกไป
ไปประกาศธรรมะ ที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของคนจำนวนมาก
อันนี้เป็นการบอกอยู่ในตัวเองนะ ธรรมะนั้นงดงาม ธรรมะนั้นให้ประโยชน์ ธรรมะนั้นให้ความสุข
ถ้าหากพวกเราเข้าถึงธรรมะนะ เราก็งาม เราได้รับประโยชน์ เราได้รับความสุข

คนมีธรรมะงาม งามจริงๆนะ
อย่างคนมีศีล ก็งามนะ งามกว่าคนทุศีล
คนมีสมาธิ จิตใจมีความสุขมีความสงบ ยิ้มแย้มแจ่มใส แช่มชื่นเบิกบาน
งดงาม งามกว่าพวกหน้านิ่วคิ้วขมวดกิเลสหนา
ใครเคยส่องกระจก หรือใครเคยเห็นเวลาโกรธไหม
เวลาโกรธงามไหม
? ดูไม่ได้ เหมือนยักษ์เหมือนมาร
ถ้าพูดอย่างนี้เดี๋ยวมารเค้าว่า มารเค้าเป็นเทวดา เอ้าเหมือนยักษ์ก็แล้วกันเวลาโกรธ
เวลาคนมีราคะแรงๆเคยเห็นไหม หน้าตางามไหม
หน้าตาเยิ้มๆ เยิ้มด้วยกิเลส ไม่งาม
หลงงามไหม
? คนหลง
สาวสวยสมมุติเป็นนางสาวไทย ง๊ามงาม
เวลาหลงขึ้นมาจะเดินแคะฟันเล่น มันงามตรงไหน มันไม่งาม

พอมีศีลนะ มีสมาธิขึ้นมาก็งดงาม
ยิ่งมีปัญญายิ่งงามมาก สังเกตดูอย่างครูบาอาจารย์ท่านแก่ท่านเฒ่า
คนแก่ส่วนมากเราจะดูว่าไม่สวยไม่งามใช่ไหม
เคยเห็นครูบาอาจารย์ที่แก่ๆไหม อย่างเมื่อก่อนที่นี่มีหลวงปู่เหรียญ
หลวงปู่เหรียญท่านแก๊แก่ตั้งเก้าสิบกว่า ท่านงามนะ งดงาม เห็นแล้วก็ชื่นใจ
พวกเราเคยเห็นคนบางคนแล้วเราชื่นใจไหม
เห็นคนบางคนแล้วคลื่นไส้รู้สึกไหม

งั้นธรรมะนั้นทำให้งามนะ ใครอยากสวยอยากงามก็มีธรรมะไว้ในใจ
ธรรมะทำให้จิตใจเราดี จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบา จิตใจสบาย จิตเป็นบุญ จิตเป็นกุศล
คนที่จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบา เป็นบุญเป็นกุศลนะ
งามโดยไม่ต้องเสแสร้ง แก่เฒ่ายังไงก็งามโดยไม่ต้องเสแสร้ง
เพราะมันงามมาจากข้างใน ข้างนอกมันก็งามทีหลังนะ
อย่างครูบาอาจารย์แก่เฒ่า ก็ดูงาม
ตายไปเผาลงไปนะ กระดูกยังงามเลย
พวกเรากระดูก ใครเคยเห็นกระดูกของคนทั่วๆไปไหม
เวลาเผาออกมา เหมือนกระดูกเป็ดกระดูกไก่ ด้านๆขุ่นๆนะ สีกระดำกระด่าง
ครูบาอาจารย์เผาออกมากระดูกสวย นี่งามเข้าไปถึงกระดูกนะ
งั้นเราอยากสวยอยากงาม เราต้องมีธรรมะไว้

ธรรมะนอกจากให้สวยให้งามแล้ว ธรรมะยังให้ประโยชน์
ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน
นี่ธรรมะให้ประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ ประโยชน์ในปัจจุบัน
คนมีศีลคนมีธรรม ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย
ไม่ยากจนหรอก รายได้ไม่มาก แต่ไม่จน
บางคนไม่มีศีลมีธรรม รายได้เยอะ แต่จน
เพราะไม่รู้จักพอ หิวตลอดเวลา หิวตลอดเวลาก็เป็นภูมิของเปรต

ถ้าเรามีธรรมะนะ เรามีความสุข รู้จักพอดีๆ มีชีวิตที่พอดีๆ
ได้รับประโยชน์ ธรรมะสอนตั้งแต่เบื้องต้น สอนทุกสิ่งทุกอย่างเลย
สอนให้เราเป็นคนดี ให้เราเลือกคบคนดี ดำรงชีวิตอย่างดีๆ
พอเรารู้จักเลือกคบคนดี ดำรงชีวิตดีๆ ชิวิตมันมีความสุข
ได้ประโยชน์ ได้ความสุขในปัจจุบัน

อย่างพวกเราที่หัดภาวนา หัดเจริญสติ
พวกเรารู้สึกไหม พอสติเกิดเรามีความสุขในปัจจุบัน
ใครรู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม
หัดมาช่วงหนึ่งรู้สึกไหมชีวิตมันโปร่งมันโล่งมันเบา มีความสุขนะ
เราได้รับประโยชน์ เราได้รับความสุขอยู่ในปัจจุบันแล้ว
นี้ถ้าเราหัดต่อไปๆนะ ประโยชน์ข้างหน้า ถ้าปัจจุบันเราดี
อนาคตไม่ต้องห่วงหรอก อนาคตมันก็มาจากปัจจุบันนั่นเอง
ปัจจุบันเราตั้งหลักเอาไว้ดี วางตนไว้ถูกต้อง วางจิตวางใจไว้ดี
ฝึกจิตฝึกใจไปเรื่อย อนาคตมันก็ดี
ถ้ามันดีเต็มที่นะ มันจะเลยดีขึ้นไป อันนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลย เป็นความสุขอย่างยิ่ง
สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรานี้จะนำความสุขมาให้

ถ้าเราภาวนาจนความเห็นความจริงของธาตุของขันธ์ของกายของใจได้
จิตปล่อยวางความยึดถือในรูปนามในกายในใจได้ จะได้รับประโยชน์อันยิ่ง
เราจะเห็นพระนิพพาน นิพพานไม่ใช่โลกอุดมคติ
นิพพานไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังใจ ไม่มีจริง ไม่ใช่นะ
พระพุทธเจ้าแจ่มแจ้งในพระนิพพานแล้ว เห็นแล้วว่าพระนิพพานเป็นอย่างไร
นิพพานนั้นเป็นสันติ เป็นความสงบอย่างยิ่ง
เป็นความสุขอย่างยิ่ง ไม่ใช่สงบอย่างโลกๆนะ
อย่างไฟไหม้แล้วไฟดับ บอกว่าไฟสงบ
พวกแขกบางทีเรียกไฟไหม้แล้วไฟดับว่าไฟนิพพานเหมือนกัน อันนั้นไม่พอ นั้นมันตื้นไป
มันสงบจากอะไร มันสงบจากกิเลส
สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากขันธ์ สงบจากทุกข์
จิตมันพรากออกไปจากขันธ์ จิตมันพ้นจากความปรุงแต่ง
จิตมันพ้นจากกิเลส ไม่มีกิเลสมาย้อมจิต
เมื่อกิเลสไม่ย้อมจิตนะ ก็ไม่มีความปรุงแต่งเกิดขึ้น
ความปรุงแต่งของจิตเกิดจากกิเลสนั่นแหละ
ถ้าไม่มีกิเลส จิตจะไม่หลงไปในความปรุงแต่ง
มันจะเหลือแต่ธาตุขันธ์ทำงานไปนะ จิตอยู่ต่างหาก
จิตพรากออกจากขันธ์ ไม่เข้าไปยึดถือในธาตุในขันธ์
ถ้าภาวนาจนจิตแยกออกจากขันธ์ได้ เราจะพบว่ามีความสุขมาก
พระอรหันต์นั้นท่านแยก จิตท่านพรากจากขันธ์อย่างถาวร

พวกเรายังทำไม่ได้ขนาดนั้นนะ พวกเราทำได้เป็นคราวๆ
ใครเคยภาวนาแล้วจิตกับขันธ์แยกออกจากกันได้บ้างมีไหม
อย่างกายกับจิตแยกออกจากกันนะ พอกายกับจิตแยกออกจากกันรู้สึกไหมความทุกข์น้อยลง
ใครแยกเวทนากับจิตออกจากกันได้ ความสุขความทุกข์กับจิตมันแยกออกจากกัน
ถ้าแยกออกจากกันได้ความทุกข์มันน้อยลงเห็นไหม

ใครเห็นว่ากิเลสกับจิตเป็นคนละอัน อันเดียวกันหรือคนละอัน
ถ้าหัดดูหัดภาวนาไปก็จะเห็นกิเลสก็ส่วนกิเลส จิตก็ส่วนจิต คนละอันกัน
พอกิเลสกับจิตมันแยกออกจากกันนะ จิตมีความสุขมีความสงบอย่างมหาศาลเลย
นี่ขนาดไม่ถึงพระนิพพานนะ แค่แยกธาตุแยกขันธ์ได้
นี่ธรรมะในเบื้องต้นเท่านั้นเอง แยกเป็นครั้งเป็นคราว
จิตพรากออกจากขันธ์เป็นครั้งเป็นคราว ยังได้รับความสุขมากมาย
เวลานี้ที่พวกเราเรียนจากหลวงพ่อนะ พวกเราสามารถแยกธาตุแยกขันธ์ได้เนี่ย นับจำนวนไม่ถ้วนเลย

เราจะรู้สึกขึ้นมาในใจนะ มีความรู้สึกตัวขึ้นมา
เราจะรู้สึกว่าร่างกายอยู่ห่างๆไป ใครเคยรู้สึกไหมว่าร่างกายห่างๆ
จะเห็นว่าร่างกายอยู่ส่วนร่างกาย จิตอยู่ส่วนจิต คนละอันกัน
ความสุขความทุกข์ที่เกิดในร่างกาย ก็เป็นคนละอันกับร่างกาย เป็นคนละอันกับจิต
ความสุขความทุกข์ความเฉยๆนะ ที่เกิดขึ้นในจิตก็เป็นคนละอันกับร่างกาย เป็นคนละอันกับจิต
กุศลอกุศลที่เกิดขึ้น เช่นความโลภความโกรธความหลง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่จิตอีก มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ จิตไปรู้เข้าเป็นคราวๆ เกิดแล้วก็ดับไป
นี้ถ้าเราหัดมากเข้าๆมันจะแยก มันแยกออกมา
พอมันแยกออกมานะ ความทุกข์มันจะหายไปเยอะเลย นี่แยกได้ชั่วคราวนะ
แยกได้ชั่วคราวเพราะมีสติ เพราะมีจิตตั้งมั่นขึ้นมา คือมีสมาธิขึ้นมา
แค่มีสติกับสมาธิขึ้นมานะ ขันธ์ยังเริ่มแยกตัว
พอขันธ์มันเริ่มแยกตัวแล้วเราก็เจริญสติรู้ขันธ์มันต่อไป
เห็นรูปมันเคลื่อนไหว เห็นนามธรรมทั้งหลาย
เห็นความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมันเคลื่อนไหวไปเรื่อย

พอมันเคลื่อนไหว มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ถึงจุดหนึ่งปัญญามันปิ๊งขึ้นมา ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นดับทั้งสิ้นเลย ไม่มีตัวมีตน
สิ่งทั้งหลายล้วนแต่ของไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายล้วนทนอยู่ไม่ได้
สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาล้วนแต่บังคับควบคุมไม่ได้จริง
ร่างหายก็ไม่เที่ยง ร่างกายก็เป็นทุกข์ ร่างกายก็เป็นอนัตตา
ความสุข ความทุกข์ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กุศล อกุศล ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตเองก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด
เดี๋ยวก็เป็นกุศล เดี๋ยวก็เป็นอกุศล เดี๋ยวก็จิตมีความสุข เดี๋ยวก็จิตมีความทุกข์
เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ตา เดี๋ยวจิตก็เกิดที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ
จิตเองก็ไม่เที่ยงเห็นไหม เกิดดับอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน
หัดรู้หัดดูเนืองๆ รู้ลงในธาตุในขันธ์ของเราเนืองๆ

ศาลากาญจนาภิเษก (ศาลาลุงชิน)
วันอาทิตย์ ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔