Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๒๐

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม
: การภาวนาที่ว่าต้องเป็นกลาง หมายถึงไม่ต้องทำทั้งความดีและความชั่ว อย่างนี้จึงจะเรียกว่าเป็นกลางใช่ไหมครับ

ไม่ใช่นะ คนละเรื่องเลย
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องความเป็นกลางแบบนั้น
ท่านสอนบอกว่าไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม
ฝึกจิตฝึกใจนะ ทำจิตให้ผ่องแผ้ว นี่ลงกันกับโอวาทปาติโมกข์

เป็นกลางไม่ใช่แปลว่าไม่ทำอะไรเลย ดีก็ไม่ทำชั่วก็ไม่ทำ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทำ
ภูมิจิตภูมิธรรมของคนทั้งหลายที่ไม่ใช่พระอรหันต์เนี่ย จิตทำงานตลอด ไม่ปรุงดีก็ปรุงชั่วนะ
ปรุงไปเรื่อยแหละ บางทีก็ปรุงเฉยๆแบบไม่ดีไม่ชั่ว
แต่ถ้าลงปรุงแล้วจิตเข้าไปเสวยอารมณ์นะ ไม่ดีก็ชั่วนะส่วนใหญ่
เพราะอย่างนั้นอย่างไรก็ปรุง ไม่ใช่พระอรหันต์
พระอรหันต์มีกริยาจิต จิตไม่ปรุงดีไม่ปรุงชั่ว ไม่เสพอารมณ์ ไม่ดีไม่ชั่ว ท่านเป็นกลาง
เราคนละภูมิกัน กลางแบบนั้นไม่ได้

กลางของเรานี่หมายถึงยังไง
อันแรกเลยต้องไม่ทำชั่วก่อน ไม่ทำบาปอกุศล
เริ่มจากทางกายทางวาจา บาปอกุศลทางใจก็คือความเห็นผิด
บาปอกุศลทางกายทางวาจา ก็คือในศีล ๕ นั้นแหละ

บาปอกุศลทางใจตัวหลักเลยก็คือความเห็นผิด
ผิดทำนองคลองธรรม ผิดศีลผิดธรรม เห็นผิดว่าตัวเรามีจริงๆ
เห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวสุข บังคับได้ เป็นของเที่ยง ก็เห็นผิด
เห็นผิดว่าอดีตไม่มี อนาคตก็ไม่มี เห็นผิดว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วดับสูญ พวกนานาชนิดของความเห็นผิด
เห็นผิดว่าไม่ต้องทำอะไรเลย ทุกอย่างดีอยู่แล้ว นี่ก็พวกเห็นผิด ความเห็นผิดมีนานาชนิด
หรือเห็นผิดว่าสิ่งต่างๆเกิดมาโดยไม่มีเหตุ เรียกอเหตุกทิฏฐิ นี่ความเห็นผิดเรามีเยอะแยะเลย

ไม่ทำบาปทั้งปวงนะ ต้องข้ามพ้นการทำผิดทางกายทางวาจาให้ได้
ทางกายทางวาจามีศีล ทางใจเนี่ยข้ามพ้นความเห็นผิดได้ด้วยปัญญา ใช้ปัญญา
ปัญญาเกิดลอยๆไม่ได้ ต้องมีสมาธิหนุนหลัง เลยต้องมีทั้งศีล มีสมาธิ มีปัญญา
มีศีล และมีสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา เป็นทอดๆไป
อกุศลจะถูกล้างได้ ก็ด้วยอาศัยกุศลไปล้าง
ล้างของสกปรกได้ก็ด้วยน้ำที่สะอาด ไม่ใช่ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างไปตามยถากรรม

พวกเราชาวพุทธต้องตั้งหลักให้แม่นๆ สำรวจใจตัวเองไป
อกุศลอะไรยังไม่ละ อกุศลอะไรยังเกิดแล้วมีอิทธิพลครอบงำจิตใจ สำรวจเอา
กุศลอะไรยังไม่มี ก็สำรวจเอา ศีลมีหรือยัง สมาธิมีหรือยัง ปัญญามีหรือยัง
ยังไม่มีก็สำรวจรู้แล้วก็พัฒนา ทำเหตุให้ตรงกับผล
ศีลเกิดจากเจตนางดเว้น เรียกเจตนาวิรัติ
สมาธิความตั้งมั่น เกิดจากจิตมั่น มีความสุข มีความสงบ อยู่ในอารมณ์อันเดียว
นี่สมาธิชนิดที่หนึ่ง ใช้ทำสมถะ
สมาธิชนิดที่สอง จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นผู้รู้ผู้ดูปรากฏการณ์ทั้งหลาย ไหลผ่านหน้าไปเฉยๆ
นี่สมาธิชนิดที่สอง เอาไว้เดินปัญญา ไว้ทำวิปัสสนา

เราก็มาสำรวจ เรายังไม่มีอะไร
ใจฟุ้งตลอดปีตลอดชาติ ฟุ้งสะเปะสะปะไปเลย ต้องทำสมาธิชนิดที่หนึ่งมาช่วย
อยู่กับพุทโธ อยู่กับลมหายใจ อะไรอย่างนี้
ให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียวที่มีความสุข มันก็จะสงบขึ้นมา ไม่ฟุ้งไป
ไม่ฟุ้งไปแล้วมาสำรวจอีก มีสมาธิชนิดที่สองไหม จิตตั้งมั่นไหม
สงบกับตั้งมั่นไม่เหมือนกัน สงบนะ จิตเป็นหนึ่งอารมณ์เป็นหนึ่ง
หนึ่งต่อหนึ่งอยู่ด้วยกันอย่างนั้นน่ะ นิ่งๆอยู่อย่างนั้น
สมาธิตั้งมั่นเนี่ยจิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่งนะ แต่อารมณ์เป็นล้านเลย อารมณ์กี่อารมณ์ก็ได้
รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสนะหมุนเวียนตามอายตนะต่างๆ หมุนติ้วๆๆอยู่ตลอดเวลา
ใจก็คิดนึกปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา แต่จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่
นี่สมาธิชนิดที่สอง จิตเป็นหนึ่ง แต่อารมณ์นับไม่ถ้วน สมาธิความตั้งมั่น

มีปัญญาไหม ได้เห็นความจริงของธาตุของขันธ์ ของรูปของนามไหม ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา
ถ้ายังไม่มีปัญญา ยังไม่เห็น ก็ต้องทำเหตุของปัญญา
เหตุของปัญญาคือวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เกิดปัญญา
วิปัสสนาแปลว่าการเห็นถูกเห็นจริง เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
ปัสสนะ การเห็น เห็นตรงความเป็นจริง เห็นได้อย่างยอดเยี่ยม
จะเห็นตรงตามความเป็นจริงได้ ต้องไม่เข้าไปแทรกแซง ต้องไม่ลืม
เห็นอะไรตามความเป็นจริง ก็เห็นรูปเห็นนาม เห็นกายเห็นใจ
ของตนเองนั่นแหละ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเราๆ

เราทำวิปัสสนา เรามาเจริญปัญญา เพื่อล้างความเห็นผิดว่ามีตัวเรา
งั้นเราก็มาดูสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นตัวเรา
ร่างกายนี้เราเคยคิดว่าเป็นตัวเรา มาดูซิว่าจริงๆเป็นไหม
ความรู้สึกต่างๆ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความสุข ความทุกข์
ก็เคยรู้สึกว่า เราโลภ เราโกรธ เราหลง เราสุข เราทุกข์
มาดูของจริงซิว่า โลภ โกรธ หลง ความสุขความทุกข์อะไร เป็นเราจริงไหม
จิตเราเคยรู้สึกว่า จิตเป็นเรา ใครรู้สึกไหมว่าในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง
เราคนนี้กับเราตอนเด็กๆ คือเราคนเดิมนะ รู้สึกอย่างนั้นเลย
เราคนนี้กับเราอดีตก็คนเดิม เราคนนี้กับเราในอนาคตก็คนเดิม
จะเห็นว่าเป็นเรา จะเห็นว่าจิตใจเป็นเรา
มาดูความจริง มาดูให้เห็นความจริง จิตเองเกิดดับอยู่ตลอดเวลา
จิตเดี๋ยวก็ไปเกิดที่ตาดับที่ตา เกิดที่หูดับที่หู เกิดที่ใจดับที่ใจ เนี่ยไปเกิดที่ใดก็ดับที่นั้น
แล้วจิตที่เป็นสุขเกิดขึ้นแล้วก็ดับ จิตเป็นทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตเฉยๆเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ จิตโลภเกิดแล้วดับ จิตโกรธจิตหลงเกิดแล้วดับหมดเลย
นี่จะเห็นอย่างนี้เรื่อย แล้วต่อไปก็เห็นเลยจิตทั้งหมดเกิดแล้วดับ บังคับไม่ได้นะ
ไม่มีตัวเราที่แท้จริง ไม่มีสิ่งที่เป็นอมตะถาวร

อย่างพวกเราจะรู้สึกว่าในนี้มีเราคนหนึ่ง
รูปร่างหน้าตาเราเปลี่ยนแปลง แต่เรารู้สึกเราเป็นคนเดิม เรายังเป็นคนเก่า
อย่างบางคนอายุหกสิบ เจ็ดสิบนะ
ก็ยังรู้สึกว่าตอนที่เราเป็นเด็กหญิงเด็กชายก็ยังเป็นคนเดิมกับคนปัจจุบันนี้แหละ
ทั้งๆที่เห็นอยู่นะร่างกายมันไม่ใช่คนเดิม ร่างกายมันเปลี่ยนไปแล้ว เนี่ยยังรู้สึกว่าจิตเป็นคนเดิม
การเห็นร่างกายไม่ใช่คนเดิมนะดูง่าย เพราะร่างกายนี้มันแปรปรวนให้ดู ของหยาบดูง่าย

แต่จิตใจนั้นเป็นของละเอียด เป็นของปราณีต
จิตของเด็กกับจิตของคนแก่ก็เป็นธรรมชาติรู้เหมือนๆกัน ไม่มีอะไรต่างกันเลย
จิตทั้งหลายก็เหมือนๆกัน ดูยากว่าไม่ใช่คนเดิม
งั้นเราจะรู้สึกว่าในตัวเรานี้มีคนเดิมอยู่ ดูอยู่ตลอดเวลา
ต้องมาเจริญปัญญาให้เห็นเลย จิตนานาชนิดเลย จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับหมดเลย

เวลาดู ดูเป็นคู่ๆ คนไหนขี้โมโห เอาจิตโกรธมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน
จะเห็นเลย เดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็หาย
ทั้งวันมีแต่โกรธแล้วก็หาย โกรธแล้วก็หาย เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่อย่างนี้

คนไหนขี้โลภ อยากตลอดวัน เดี๋ยวอยากโน้นเดี๋ยวอยากนี้
เอาจิตโลภมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน
ดูไปจิตทั้งวันเลย มีแต่เดี๋ยวก็โลภเดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวก็โลภเดี๋ยวก็ไม่โลภ

คนไหนฟุ้งซ่านมาก เอาจิตฟุ้งซ่านมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน
เดี๋ยวก็ฟุ้งเดี๋ยวก็ไม่ฟุ้ง เดี๋ยวก็ฟุ้งมากเดี๋ยวก็ฟุ้งน้อยเดี๋ยวก็ไม่ฟุ้งอะไรอย่างนี้ ดูไปอย่างนี้
ก็เห็นเลยจิตเค้าเกิดดับ ไม่ว่าจิตชนิดไหนนะเกิดดับหมดเลย

คนไหนดูสังขารคือสิ่งที่ประกอบปรุงแต่งจิตไม่ออก ดูเวทนาก็ได้
เช่นจิตที่มีความสุขเกิดแล้วก็ดับ จิตที่มีความทุกข์เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เฉยๆอยู่เกิดแล้วก็ดับ นี่ดูอย่างนี้ก็ได้

หรือดูอิงกับอายตนะก็ได้
จิตที่เกิดที่ตาเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เกิดที่หูเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เกิดที่จมูกที่ลิ้นที่กายที่ใจเกิดแล้วก็ดับ

หรือดูอยู่ที่ใจอันเดียวยังได้เลย ดูอยู่ที่ใจอันเดียว
เดี๋ยวก็เป็นจิตรู้ จิตรู้เกิดแล้วก็ดับกลายเป็นจิตคิด
จิตคิดเกิดแล้วก็ดับกลายเป็นจิดรู้ นี่อย่างนี้เราเห็นจิตนะไม่ใช่ดวงเดียว
ไม่ใช่มีจิตดวงเดียวรวดตั้งแต่เด็กมาจนป่านนี้ก็เป็นจิตดวงเดิม

มันเป็นการยากมากเลยที่เราจะเห็นความเกิดดับของจิต
เพราะงั้นคนทั่วๆไปจะคิดว่าจิตเป็นอมตะ
เราเคยได้ยินมานาน อย่างคนที่เชื่อเรื่องเวียนว่ายตายเกิด
เราเชื่อว่าร่างกายนี้ตายนะ แต่จิตไม่ตาย จิตดวงเดิมออกจากร่างไปเกิดใหม่
เพราะมองไม่เห็นความเกิดดับของจิต เลยเห็นว่าคิดว่าคนเดิมไปเกิด ตายเกิดไปเรื่อย
เพราะงั้นมันมีสิ่งที่เป็นอมตะ คือตัวเรานี้แหละเป็นอมตะอยู่
ร่างกายตายก็ว่าจิตดวงนี้แหละออกจากร่างไปเกิดใหม่
นี่เป็นมิจฉาทิฏฐินะ มิจฉาทิฏฐิร้ายแรงมากๆเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้
แต่ว่าพวกเราที่แขวนป้ายว่าเป็นชาวพุทธเราเชื่ออย่างนี้เยอะ
เป็นส่วนใหญ่เลย เชื่อว่าตายแล้วก็จิตดวงเดิมไปเกิด

มาหัดทำวิปัสสนากรรมฐานจะล้างความเห็นผิดตัวนี้ได้
เราจะเห็นว่าจิตทุกดวงเกิดแล้วดับ จิตสุขเกิดแล้วดับ จิตทุกข์เกิดแล้วดับ
จิตดีเกิดแล้วดับ จิตชั่วเกิดแล้วดับ
จิตที่เป็นรู้ ตัวรู้เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นตัวคิดเกิดแล้วก็ดับ จะเห็นเป็นคู่ๆไป เห็นคู่กันไปเรื่อย
มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี มีแล้วก็ไม่มี นี่แหละเรียกว่าเห็นเกิดดับ
เห็นจิตโกรธเกิดขึ้นแล้วก็จิตโกรธดับไป ก็เห็นเกิดดับ
เนี่ยเฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยนะ เราจะล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้
ถ้าล้างความเห็นผิดได้ ใจไม่ค่อยยึดถือนะ
ค่อยๆคลายความยึดถือในรูปในนามไป มันไปยึดถือในรูปนามว่าเป็นตัวเราของเราเพราะมันเห็นผิด
เราทำวิปัสสนาก็เพื่อล้างความเห็นผิด
ใจเราถ้าล้างความเห็นผิดได้นะเราได้กุศลชั้นเลิศเลย
เพราะกุศลใดประกอบด้วยสติปัญญา เป็นกุศลอันใหญ่
กุศลใดประกอบด้วยสติไม่มีปัญญา เป็นกุศลเล็กๆ เป็นกุศลเล็กๆน้อยๆ

อยากเวียนเทียน มีไหมมีปัญญาไหม
มีเหมือนกันนิดๆหน่อยๆ ยังดีกว่าอยากไปทำชั่วอะไรอย่างนี้
ตอนไปเวียนเทียนจิตใจสงบใช่ไหม เบิกบาน มีความสุข
อย่างนี้เป็นกุศล แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาชั้นเลิศ
ไม่มีวิปัสสนาปัญญา ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม
งั้นถ้าบุญใดมีปัญญาเห็นความเกิดดับของรูปนามได้ เป็นบุญใหญ่
เพราะบุญชนิดนี้ชนิดเดียวนี้แหละ เป็นบุญระดับนี้ถึงจะพาเราข้ามภพข้ามชาติได้ ถึงมรรคถึงผลถึงนิพพานได้
ลำพังบุญทั่วๆไป พาไปไม่ถึงนิพพาน พาเวียนตายเวียนเกิดไปในภพภูมิที่ดี
ได้เป็นมนุษย์ ได้เป็นเทวดา ได้เป็นพรหม เป็นแล้วยังทำชั่วได้อีก ก็กลับมาเวียนอีก

จะต้องมีปัญญาจึงจะข้ามพ้นไปได้ ถึงจะเข้าสู่ความบริสุทธิ์ได้
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่า บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
แต่ปัญญาเกิดลอยๆไม่ได้ ต้องมีศีล มีสมาธิ เป็นฐานรองรับ
เห็นไหมมีงานต้องทำเยอะแยะ ไม่ใช่บอกว่าไม่ต้องทำอะไรเลย
ความชั่วไม่ต้องละ ความดีไม่ต้องทำ จิตไม่ต้องฝึก
ต้องละความชั่ว สำรวจดูความชั่วอะไรมีอยู่ในใจสำรวจดู
ถ้าเรามีสติจริงๆ ความชั่วเกิดขึ้นที่จิต สติระลึกรู้ได้จริงๆนะ ความชั่วจะดับอัตโนมัติเลย
มันอยู่ไม่ได้หรอก ความชั่วเหมือนความมืดนะ เหมือนความมืด
สติเหมือนแสงสว่าง จุดไฟสว่างขึ้นมาความมืดก็หายไป อัตโนมัติ
งั้นเราคอยรู้ทันจิต กิเลสอะไรเกิดที่จิตเรารู้ทัน
กิเลสครอบงำจิตไม่ได้ ศีลอัตโนมัติจะเกิดขึ้น นี่เป็นศีลชั้นดีเลย
ก่อนที่ศีลอัตโนมัติจะเกิดขึ้นนะ เราต้องมีศีลตั้งใจไว้ก่อน ศีลจงใจไว้ก่อน เบื้องต้นต้องจงใจไว้ก่อนนะ
และสมาธินะ เบื้องต้นต้องจงใจไว้ก่อน แข็งไว้หน่อยหนึ่งไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่แข็งทั้งปี
ปัญญาเบื้องต้นก็ต้องจงใจก่อน เช่นจิตมารู้ตัวแล้วก็เฉยอยู่อย่างนั้นก็ต้องจงใจค้นคว้าพิจารณาในธาตุในขันธ์ช่วยมันคิดก่อน
เบื้องต้นนะถ้าอินทรีย์เราอ่อน ศีลเรายังอ่อน เราก็ต้องจงใจรักษาศีลก่อน

สวนสันติธรรม
วันมาฆบูชา ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔