Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๑๙

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช




ถาม
: หัวใจของวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างไรครับ

หลักของวิปัสสนากรรมฐานเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกคนควรอย่างยิ่งที่จะเรียน

ถ้ามีสติปัญญาพอนะ ต้องเรียน
ถ้าเราไม่เรียนวิปัสสนากรรมฐาน เรียกว่าเราไม่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาเลย
วิปัสสนากรรมฐานคือวิชา วิชาๆหนึ่ง ที่สอนให้เราเรียนรู้ความจริงของชีวิต
ไปเรียนรู้ความจริงของรูปธรรมนามธรรม ของกายของใจ ของธาตุของขันธ์ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวเรา
เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งเท่านั้นแหละ อย่าไปคิดว่าเป็นอะไรที่น่ากลัวลึกลับเหลือเกิน

เราเป็นนักศึกษาเราก็วางใจแค่ว่าวิปัสสนากรรมฐานก็เป็นวิชาๆหนึ่ง
เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ยากเกินไปที่จะเรียนนะ

หัวใจแท้ๆเลยของวิปัสสนากรรมฐานนี่นะ
คือทำยังไงเราจะเห็นความจริงของขันธ์ ๕
ของธาตุของขันธ์ ของอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รวมกันเป็นตัวเรา
ธาตุต่างๆรวมกันก็เป็นตัวเรา ขันธ์ต่างๆรวมกันก็เป็นตัวเรา แล้วแต่จะมอง
จะมองในมุมจะแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกในมุมของขันธ์ ๕ ก็ได้
จะแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ออกในมุมของอายตนะ ๖ ก็ได้
จะแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ออกเป็นธาตุ ๑๘ ธาตุก็ได้
ไม่ใช่ธาตุทางเคมี ธาตุเป็นสภาวะที่มันทรงตัวอยู่ได้
แยกออกไปแล้วมันจะเห็นว่าตัวเราไม่มี ความจริงเลยก็คือตัวเราไม่มีหรอก
สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา เป็นตัวเรา นี่เป็นความคิดของเราเอง

เพราะฉะนั้นมนุษย์ทั้งหลายเนี่ย ไม่ได้ถูกใครหลอกนะ ถูกความคิดของตัวเองหลอก
ความคิดหลอกเพราะว่าเราไม่รู้ความจริง
เราไม่เคยเห็นความจริง เราไม่รู้วิธีที่จะรู้ความจริง
วิธีที่จะรู้ความจริงนั่นแหละเรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน
พูดง่ายๆเลยนะ จับหลักให้แม่นๆนะ
หลวงพ่อพยายามกลั่นกรองออกมาเพื่อเป็นภาษาที่มนุษย์สมัยนี้จะรู้เรื่อง
วิธีที่จะทำวิปัสสนากรรมฐานนะ ให้มีสติ ฟังให้ดีนะ ให้มีสติ รู้
รู้อะไร รู้รูปรู้นาม รู้กายรู้ใจ ของตัวเอง

ให้รู้นะไม่ได้ให้คิด ให้รู้นะไม่ใช่ให้เข้าไปแทรกแซง
มันเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างงั้น
งั้นหลักของวิปัสสนาจริงๆ ก็คือการมีสติ รู้รูปนาม ตามความเป็นจริงนั่นเอง
ความจริงของรูปนาม ไม่มีอะไรเกินคำว่าไตรลักษณ์
ความจริงมีแต่เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา


รูปเที่ยงหรือรูปไม่เที่ยง
? รูปไม่เที่ยง
เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง
? เวทนาก็ไม่เที่ยง
สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เห็นไหม

รูปเป็นสุขหรือรูปเป็นทุกข์
?
ดูให้ดีนะ ดูไม่ดีก็รู้สึกเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง
ถ้าเมื่อไหร่สติปัญญาแก่รอบจริงๆ จะเห็นรูปนี้เป็นทุกข์ เพียงแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ช่วงไหนทุกข์น้อย คนสติปัญญาไม่พอก็ว่าเป็นสุข

เวทนานั้นน่ะเป็นทุกข์หรือเป็นสุข
?
มีสุขเวทนาด้วยนะ สุขเวทนาก็เป็นทุกข์ คือตัวมันเองน่ะถูกบีบคั้นตลอดเวลา
ในที่สุดมันก็ทนอยู่ไม่ได้ มันทนอยู่ไม่ได้ตลอดหรอกความสุข
งั้นเราไม่ภาวนาเพื่อหาความสุข เพราะอะไร เพราะความสุขไม่เที่ยง
ไปหาของไม่เที่ยงก็ได้แต่ของไม่เที่ยง สุขประเดี๋ยวประด๋าวก็ทุกข์อีกแล้ว
หลวงพ่อตั้งแต่เด็ก หัดทำสมาธิ
ทำไปจิตใจมีความสุข มันก็อยู่ชั่วคราวเดี๋ยวมันก็ไม่สุขอีกแล้ว
จิตใจมีความสงบ มันก็อยู่ชั่วคราวเดี๋ยวมันก็ไม่สงบอีกแล้ว
งั้นเราจะไปมุ่งหาของที่ชั่วคราวนี่มาเป็นที่พึ่งที่อาศัย ยังเรียกว่าประมาทอยู่
สิ่งที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริง ต้องเที่ยง ต้องสุข ต้องมีความสุข ต้องเป็นของที่เที่ยงด้วย พึ่งพาได้จริงๆ อะไรที่พึ่งพาได้จริงๆ
? คือธรรมะนั่นเอง ธรรมนะนี่คงทนถาวร
พระพุทธเจ้าหมดไปกี่องค์ๆ ธรรมะก็ยังเป็นธรรมะอย่างเดิมนั่นเอง
สิ่งนี้แหละจะเป็นที่พึ่งที่อาศัยของเราได้จริงๆ

ธรรมะก็สอนความจริงเรา งั้นวิธีที่จะให้รู้ความจริงของชีวิตมีหลักง่ายๆ ตอนนี้ท่องไว้ก่อน
ให้มีสติ รู้รูปนาม ถ้ารูปนามฟังยากก็ลดระดับลงมานิดนึง
ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง
ความจริงของกายของใจคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานะ
ไม่เที่ยงหมายถึงว่า ของที่เคยมีแล้ววันหนึ่งก็ไม่มี
ของที่เคยไม่มี วันหนึ่งก็เกิดมีขึ้นมา นี้เรียกว่าไม่เที่ยง
คำว่าเป็นทุกข์ หมายถึงมันถูกบีบคั้น มันทนอยู่ในสภาวะเดิมตลอดไปไม่ได้
คำว่าอนัตตาหมายถึงว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าตัวตนถาวร
มีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน มีเป็นแว๊บๆตอนที่หลงคิดเท่านั้นเอง เมื่อไรไม่หลงคิดตัวตนไม่มีหรอก
ทุกสิ่งเกิดแล้วดับ เพราะงั้นไม่มีอะไรที่เป็นตัวตนถาวร กระทั่งจิตเองเกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรเป็นตัวตนถาวร
นี่คือความจริงของรูปของนาม ของกายของใจ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ให้มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
เราจะรู้กายรู้ใจได้ ต้องรู้ด้วยสติ
เราจะเห็นความจริงของกายของใจได้ ต้องเห็นด้วยปัญญา
เครื่องมือที่ทำให้เราทำวิปัสสนา คือสติกับปัญญา
แต่ปัญญาโดยตัวของมันเอง อยู่ๆไม่เกิดขึ้นมา
ปัญญาเกิดจากอะไร
? ปัญญามีสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
เพราะงั้นเครื่องมือจริงๆที่เราต้องพัฒนาขึ้นมานะ สติกับสมาธินะ
ถ้ามีสติกับสมาธิแล้วปัญญาจะเกิด
พอสติกับสมาธิปัญญาแก่รอบสมบูรณ์ ได้สัดได้ส่วนกัน อริยมรรคก็จะเกิดขึ้น

อริยมรรคมีจริงๆ ไม่ใช่กันพูดลอยๆ ไม่ใช่อยู่ๆก็นึกว่าฉันบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว
อริยมรรคมีกระบวนการ มีกระบวนการเกิดขึ้นนะ มีกระบวนการที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่ๆก็นึกๆว่าเกิดแล้ว
กระบวนการแห่งการเกิดอริยมรรคเกิดขึ้นใน ๗ ขณะจิตแค่นั้นเอง
ในกระบวนการนี้นะใช้เวลา ๗ ขณะจิตที่จะเกิด
และเวลาที่เกิดอริยมรรคนั้น ๑ ใน ๗ เท่านั้น
ถัดจากนั้นเกิดอริยผล ๒ หรือ ๓ ขณะจิต จะเป็นอย่างนั้น
เพราะงั้นมีกระบวนการนะ จิตใจเรามีกระบวนการทำงาน
ถ้าหัดภาวนา หัดฝึกอย่างที่หลวงพ่อสอนไปเรื่อย
เราจะเห็นกระบวนการทำงานของจิต
เราจะรู้เลยจิตมันปรุงความเป็นตัวตนขึ้นมาได้ยังไง
จิตมันปรุงความทุกข์ขึ้นมาได้ยังไง

จิตที่ทรงสมาธิแล้วจะทำให้เกิดปัญญาเนี่ย
สมาธิมีสองชนิด นี่ก็ต้องศึกษาเหมือนกัน
สมาธิที่คนทั้งโลกเขาเรียนกันคือสมาธิสงบ
สงบหมายถึงว่าจิตไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แต่จิตสงบแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว
เช่นเราหัดพุทโธจิตก็อยู่กับพุทโธไม่หนีไปที่อื่น
หัดรู้ลมหายใจจิตอยู่กับลมหายใจไม่หนีไปที่อื่น
หัดดูท้องพองยุบจิตอยู่ที่ท้องพองยุบไม่หนีไปที่อื่น
จิตที่แนบสนิทอยู่ในอารมณ์อันเดียวนี่มีสมาธิ แต่เป็นสมาธิที่มีชื่อเฉพาะนะ
สมาธิชนิดนี้ชื่อ อารัมมณูปนิชฌาน ต้องเรียนนะตัวนี้สำคัญมากเลย
ที่ทุกวันนี้ที่ภาวนาไม่ได้ผลนะ เพราะแยกสมาธิสองชนิดไม่ได้

สมาธิมีสองชนิด
ชนิดที่หนึ่งชื่อ อารัมมณูปนิชฌาน
ชนิดที่สองชื่อ ลักขณูปนิชฌาน

อารัมมณูปนิชฌาน เนี่ยจิตสงบแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว เน้นที่ความสงบ
จิตสงบแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่ฟุ้งไปในอารมณ์โน้นอารมณ์นี้นะ
นี้ก็มีวิธีฝึก ฝึกให้จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว
เช่นพุทโธ พุทโธ จิตหนีไปแล้วรู้ทันนะ จิตก็จะอยู่ในอารมณ์อันเดียว
สุดท้ายจิตเชื่อง มีความสุขอยู่ในอารมณ์อันเดียว
เคล็ดลับอยู่ที่ความสุข ถ้าเมื่อไหร่มีความสุขจะมีความสงบนะ

สมาธิอีกชนิดหนึ่ง เป็นสมาธิที่อาภัพที่สุดเลย
ที่ครูบาอาจารย์สอนดูจิตๆ เพื่อจะสร้างสมาธิชนิดนี้เพื่อจะฝึกให้จิตเนี่ยเป็นผู้รู้ผู้ดู
จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จิตที่เป็นพุทโธ พุทโธแปลว่าผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน
เราจะฝึกจิตจนกระทั่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
จิตชนิดนี้ไม่ได้เน้นที่สงบ แต่จิตชนิดนี้ตั้งมั่นในการรู้อารมณ์
สมาธิชนิดแรกจิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว จิตมีหนึ่ง อารมณ์มีหนึ่ง
สมาธิชนิดที่สองเนี่ย อารมณ์มีแสนอารมณ์ล้านอารมณ์ก็ได้ แต่จิตตั้งมั่นเป็นคนดูอยู่นะ
ตัวนี้แหละตัวสำคัญเลยที่จะแตกหักเลยนะว่าเราจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่ จะเจริญวิปัสสนาได้หรือไม่
อยู่ที่ว่าเราได้พัฒนาจิตจนเกิดสมาธิชนิดที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูนี้หรือไม่
ถ้าจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูได้เรียกว่ามี ลักขณูปนิชฌาน

ลักขณูปนิชฌาน นี้คือตั้งมั่นในการรู้ลักษณะ เห็นความเป็นไตรลักษณ์ ไม่ได้ดูตัวอารมณ์แล้ว
ตอนที่จิตทำสมถะนะ จิตทำสมถะ ทำอารัมมณูปนิชฌานเนี่ยจิตไปรู้ตัวอารมณ์
เช่นรู้พุทโธ รู้ลมหายใจ รู้ท้องพองยุบ อะไรที่ถูกรู้สิ่งนั้นเรียกว่าอารมณ์ทั้งสิ้นเลย
คำว่าอารมณ์ในศาสนาพุทธนะ เรียกว่าสิ่งที่ถูกรู้
เพราะงั้นสมถะกรรมฐานนี่จิตไปรู้ตัวอารมณ์ ไปแนบอยู่ที่ตัวอารมณ์ สงบอยู่ที่ตัวอารมณ์
ลักขณูปนิชฌาน ไม่ดูตัวอารมณ์แต่ดูไตรลักษณ์ เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์
อารมณ์จะมีร้อยอารมณ์ ทุกอารมณ์ก็แสดงไตรลักษณ์
อารมณ์จะมีพันอารมณ์ ทุกอารมณ์ก็แสดงไตรลักษณ์
จิตตั้งมั่นเป็นคนดูไตรลักษณ์ งั้นอารมณ์นะไหลตลอดเวลาเลย
มันคือปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในขณะที่จิตเป็นแค่คนดู
เหมือนเราดูฟุตบอลอยู่บนอัฐจรรย์นะ ไม่โดดลงไปในสนามฟุตบอล ดูอยู่เห็นภาพในสนามได้ชัดเจน
และต้องไม่มีอคติด้วย ถ้ามีอคติก็เห็นไม่ชัดใช่ไหม
หรือดูมวย เราเป็นคนดู เราไม่โดดขึ้นไปอยู่ในเวทีมวย เดี๋ยวถูกชกด้วย
เราอยู่ข้างนอกเวที ดูด้วยใจที่เป็นกลาง เราจะเห็นเลยว่าใครชกดี ชกไม่ดี
ถ้าดูแบบมี
Bias(อคติ) ใช่ไหม นักมวยของเราชกไม่ถูกเค้า ชกเฉียดๆเราก็ว่าถูกแล้ว

เพราะงั้นเวลาเราจะทำวิปัสสนานะ มันจะมีเคล็ดลับ
สมาธิชนิดที่เป็นลักขณูปนิชฌานเนี่ย
อันหนึ่งนะคือตั้งมั่น อันที่สองคือเป็นกลาง
คุณสมบัติของมันนะ ตั้งมั่น และเป็นกลาง
หลวงพ่อจะสอนเรื่อยๆบอกว่า ถ้าเราจะเจริญปัญญานะ ให้มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
เราจะรู้ตามความเป็นจริงได้ เราต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คือจิตที่ทรงสมาธิชนิดที่เรียกว่าลักขณูปนิชฌานนั่นเองนะ

มีสติ สติเป็นยังไง สติทำหน้าที่ยังไง ทำยังไงสติจะเกิดขึ้น
สติเป็นยังไง สติทำหน้าที่อะไร
ถ้าสติทำงานขึ้นมาแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น อะไรเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้น
๔ อย่าง มันคืออะไร สติคืออะไร สติทำหน้าที่อะไร ถ้าสติทำหน้าที่แล้วจะมีผลยังไง
ผลของมันนะคือการคุ้มครองรักษาจิตนะ ทันทีที่สติเกิดอกุศลดับทันทีเลย
ทันทีที่สติเกิดนะ กุศลเกิดทันทีเลย เนี่ยผลของการที่มีสตินะ จะมีความเพียรชอบขึ้นมาได้

สติเกิดจากอะไร
? เกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น
มีสติรู้ รู้ไม่ใช่ใช่เผลอไปคิดเอา รู้ไม่ใช่นั่งเพ่งนั่งจ้องเอาไว้
รู้คือไม่เผลอกับไม่เพ่ง รู้อะไร รู้กายรู้ใจ วิธีรู้กายรู้ลงปัจจุบัน เป็นปัจจุบันขณะ
วิธีดูจิตดูใจ เป็นปัจจุบันสันตติ คือสืบเนื่องกับปัจจุบัน ไม่ใช่ปัจจุบันขณะ
นี่ต้องเรียนทั้งสิ้นนะ ค่อยๆเรียนไป
ตามความเป็นจริง คือต้องเห็นไตรลักษณ์
ถ้าไปเห็นอย่างอื่นของกายของใจ เช่นเห็นปฏิกูลอสุภะ ไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐานนะ
จะเห็นความจริงของธาตุของขันธ์ของกายของใจ
จะเห็นไตรลักษณ์ได้ ต้องมีสมาธิ จิตต้องตั้งมั่นและเป็นกลาง

งั้นเราจะเรียนอยู่ในขอบเขตนี้แหละ
มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
เดี๋ยวค่อยไปแตกรายละเอียดเอานะ แต่ละตัวถ้าเข้าใจแล้วการปฏิบัติจะสั้นนิดเดียว
ถ้าไม่เข้าใจจะลูบคลำนานเลย สติทำไม่เป็นเนี่ยกี่ชาติก็ไม่ได้
มีสติแล้วไปเพ่งเอา กี่ชาติก็ไม่ได้
หรือไม่สติแล้วไปคิดเรื่องไตรลักษณ์ กี่ชาติก็ไม่ได้
มีสติแล้วแต่จิตไม่ตั้งมั่น จิตไปแนบสงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ ไม่ตั้งมั่นเป็นกลาง ก็ไม่ได้ กี่ชาติก็ไม่ได้
งั้นเราค่อยๆเรียนสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาให้ได้

สวนสันติธรรม
วันศุกร์ ที่ 7 มกราคม 2554