Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๑๘

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม : การปฏิบัติภาวนาเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนไหมคะ

หลักของการปฏิบัติจริงๆมันไม่ยากอะไร
มันคือการเรียนรู้ตัวเอง เรียนรู้ความจริงของตัวเราเอง
วัตถุประสงค์ของการมาเรียนรู้ตัวเองก็คือความพ้นทุกข์
เรามุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ สุดท้ายมันจะดับทุกข์ แต่ก่อนจะถึงขั้นดับทุกข์มันพ้นทุกข์ก่อน
ขั้นดับทุกข์ก็คือขั้นที่พระอรหันต์ท่านนิพพาน ขันธ์ท่านดับ สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ก็คือตัวขันธ์นั่นเอง
ถ้าขันธ์ดับเมื่อไหร่เรียกดับทุกข์ นี้พระอรหันต์ที่ยังไม่ได้นิพพานท่านฆ่ากิเลสหมดแล้ว
นี่นิพพานกิเลส อันนี้ท่านพ้นทุกข์ จิตท่านพ้นจากขันธ์ ขันธ์ยังมีอยู่แต่จิตท่านพ้นจากขันธ์

นิพพานท่านเลยแยกไว้สองชนิด
อันหนึ่งเรียก อนุปาทิเสสนิพพาน อันนี้ดับทุกข์จริงๆเลย ดับขันธ์ บางทีเรียกว่าขันธนิพพาน
พระอรหันต์อย่างพระพุทธเจ้า ท่านเข้าขั้นดับขันธ์เรียก อนุปาทิเสสนิพพาน
ถ้าพระอรหันต์ยังมีชีวิตอยู่นะ ก็คือนิพพานชนิด สอุปาทิเสสนิพพาน นะ
มีสองอันนะ ยังมีขันธ์เหลืออยู่แต่ไม่มีกิเลส เมื่อไม่มีกิเลสเนี่ยจิตไม่ไปหยิบฉวยขันธ์ขึ้นมา
ตัวที่ทำให้เรา จิตของเราไปหยิบฉวยขันธ์ขึ้นมา
แบกหามไว้เป็นภาระ เป็นตัวทุกข์ขึ้นมา ก็คือกิเลสนี่เอง

กิเลสไม่ได้เกิดที่อื่นหรอก กิเลสเกิดอยู่ที่ใจนี่เอง
งั้นเราคอยชำระล้างจิตใจของเรา ไม่ให้กิเลสแฝงอยู่ได้
กิเลสมันมาจากไหน ก็ใจมันปรุงขึ้นมา จิตมันปรุงขึ้นมาเอง
จิตมันปรุงกิเลสขึ้นมาแล้วกิเลสนั่นแหละกลับมาปรุงแต่งจิต
มาครอบงำ ทำร้ายจิตใจ ให้มีความทุกข์ขึ้นมา
ให้ไปหยิบฉวยขันธ์ขึ้นมา ก็เท่ากับหยิบฉวยความทุกข์ขึ้นมา

งั้นศัตรูร้ายของชิวิตเราก็คือกิเลสนี่แหละ
กิเลสที่เราปรุงขึ้นมาเอง คล้ายๆคนๆหนึ่งนะ ปลุกผีดิบขึ้นมา
สร้างผีดิบขึ้นมาแล้วคุมผีดิบไม่อยู่นะ ผีดิบกลับมาหักคอตัวเอง มากินเลือดกินเนื้อตัวเอง
พวกเราแต่ละคนเราก็ปรุงกิเลสขึ้นมาเอง ไม่มีใครมาปรุงกิเลสให้เราหรอก
เราปรุงของเราเอง กุศลเราก็ปรุงเอง กิเลสเราก็ปรุงเอง
กิเลสต่างๆ ความชั่วร้ายต่างๆ เป็นความปรุงแต่งฝ่ายไม่ดี เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร
ส่วนกุศลทั้งหลายเราก็ปรุงขึ้นเอง เป็นความปรุงแต่งฝ่ายดี เรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ความปรุงแต่งที่เป็นบุญ
กิเลสเนี่ยเรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ความปรุงแต่งที่ไม่ใช่บุญ ไม่เป็นบุญ
ก็จิตก็ปรุงขึ้นมาอีกแหละ ทั้งดีทั้งชั่ว จิตปรุงขึ้นมา

นี่ถ้าปรุงดีนะ ก็ทุกข์น้อยหน่อย ทุกข์แบบคนดีก็ทุกข์น้อยหน่อย
หยิบฉวยขันธ์ได้ไหม หยิบได้เหมือนกัน คนดีก็ยืดขันธ์ได้เหมือนกัน
เพราะงั้นพวกที่สร้างปุญญาภิสังขาร ปรุงดีขึ้นมาเนี่ย จิตก็เข้าไปหยิบฉวยขันธ์เหมือนกัน
แต่ผลมันต่างกัน พอปรุงคุณงามความดีขึ้นมาแล้ว ความดีให้ผลนะ ขันธ์มันมีความสุข
ไม่ใช่เรามีความสุขนะ เพราะว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ไม่มีเราเลย
ขันธ์มันมีความสุข เจอสิ่งดีๆ สัมผัสสิ่งดีๆ

ถ้าปรุงชั่วก็ให้ผลเผ็ดร้อนกว่ากัน มีภาระไหม มีน้ำหนักไหม ระหว่างคนดีกับคนชั่ว
มีน้ำหนัก แต่น้ำหนักไม่เท่ากัน โบราณบอกรักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา
จั่ววัดหลวงพ่อนี่ใหญ่นะ หามก็ตายเหมือนกันแหละ
เสาแบบนี้ใครจะไปหามได้ ก็หนัก หนักทั้งนั้นแหละนะ
ปรุงดีก็หนัก ปรุงชั่วก็หนัก แต่ว่าผลไม่เหมือนกัน
ปรุงดีก็เวียนว่ายไปในภพภูมิที่ดี มีความสุข เจอสิ่งดีๆ เจอคนดีๆ เจอสัมผัสที่ดี
ปรุงแต่งอกุศลแล้วอกุศลให้ผลนะ เราก็ได้รับผลไม่ดี

พวกเราก็ปรุงดีบ้าง ปรุงชั่วบ้าง เจอของดีบ้าง ของร้ายบ้าง
วนเวียนไปเรื่อยๆ พอมีกำลังใจที่จะวนเวียนต่อไป เจอของดีๆบ้าง
ความปรุงทั้งหมดเลยนะ จะปรุงดีหรือปรุงชั่ว ถ้าปรุงชั่วก็ให้ผลเผ็ดร้อนมาก
ปรุงดีก็เผ็ดน้อยหน่อย ความปรุงแต่งทั้งหมดนั้นมาจากอวิชชาตัวเดียว รากเหง้าเป็นอันเดียวกัน
อวิชชาคือความไม่รู้ความจริงของธาตุของขันธ์
งั้นหัวโจกที่สร้างปัญญาให้แก่ชีวิตเรา ทำให้เราต้องเผชิญกับความทุกข์นานาชนิด
ทุกข์มากทุกข์น้อย ถ้าพูดอย่างชาวโลกก็มีทุกข์กับสุข
ถ้ากุศลให้ผลก็สุข อกุศลให้ผลก็ทุกข์
แต่ถ้าพูดในเชิงสภาวะแท้ๆนะ อย่างนักปฏิบัติแท้ๆ
มันมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ทุกข์กับสุข
ทำความดีมากก็ทุกข์น้อยหน่อย ทำความชั่วก็ทุกข์มากหน่อย
ทำไมทุกข์ล่ะ? เพราะแบกขันธ์ ยึดขันธ์ด้วยกันทั้งคู่
หยิบฉวยขันธ์มาเป็นตัวกูของกูเข้ามาก็ทุกข์

งั้นรากเหง้าจริงๆของความทุกข์
ไม่ว่าจะทุกข์แบบคนดีหรือทุกข์แบบคนชั่ว คืออวิชชา ตัวนี้แหละหัวโจก
ตราบใดที่ยังทำลายอวิชชาไม่ได้ ตราบนั้นยังเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยๆไป
บางคนเรียนฟิสิกส์ ปฏิเสธเวียนว่ายตายเกิด ก็ให้เขาปฏิเสธไป
ถ้าเขามีทางพ้นทุกข์อื่นก็ให้เขาพ้นไป เรื่องของเขาน่ะ ทางใครทางมัน
หลวงพ่อเคยได้ยินนะ บางคนสวดมนต์นะ พวกเราสวดพุทธัง สรณังคัจฉามิ
เค้าไม่สวดอย่างนี้นะ เค้าสวดว่า ฟิสิกคัง สรณังคัจฉามิ
ทุติยัมปิฟิสิกคัง สรณังคัจฉามิ ตติยัมปิฟิสิกคัง สรณังคัจฉามิ เอาฟิสิกส์
พวกนี้ต้องจับต้องได้ ก็แล้วแต่
แต่ถ้าเราชาวพุทธนะ เราก็ฟังที่พระพุทธเจ้าสอน
หลวงพ่อก็ไม่เห็นนักฟิสิกส์พ้นทุกข์สักราย

เนี่ยกระบวนการทำงานของใจ มันปรุงความทุกข์ขึ้นมา
จิตมันเข้าไปหยิบฉวยขันธ์เพราะมันไม่รู้ มันนึกว่าขันธ์น่ะเป็นของดีของวิเศษ
ตัวไม่รู้นี่แหละ ตัวอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจ ๔
ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้สมุทัย ไม่รู้นิโรธ ไม่รู้มรรค
ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ไม่รู้เหตุและผล ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท
รวมแล้ว ๘ อย่าง เราเอา ๔ อย่างพอ
๘ อย่างนั้น อีก ๔ อย่างหลัง ก็อยู่ในอริยสัจเหมือนกัน
ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ทุกข์คือไม่รู้ความจริงว่าขันธ์นี้แหละเป็นตัวทุกข์
ขันธ์ ๕ ของเรานี้นะ ที่เรามีอยู่ เป็นตัวทุกข์
พวกเราคนไหนเคยได้ยินคำว่า อุปาทานขันธ์บ้าง
อุปาทานขันธ์ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นเป็นทุกข์
อุปาทานขันธ์ ไม่ใช่ว่าต้องยึดมั่นถึงจะทุกข์นะ
คำว่า อุปาทานขันธ์ เป็นการ identify ชนิดของขันธ์เท่านั้น
ขันธ์มีสองพวก ขันธ์ที่อยู่ในกองทุกข์ กับขันธ์ที่ไม่ได้อยู่ในกองทุกข์ มีสองจำพวก
ขันธ์ที่อยู่ในกองทุกข์ ก็ขันธ์ที่พวกเรามีนี่แหละ
ขันธ์ที่พ้นจากกกองทุกข์ เช่นพวกโลกุตรจิตทั้งหลาย พวกนี้ไม่ต้องเอามาทำวิปัสสนา

งั้นเรารู้กองทุกข์ ขันธ์ที่พวกเรามีนี้แหละ
ร่างกายที่พวกเรามีนี้แหละ ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ที่พวกเรามีนี้แหละ
ความจำได้ความหมายรู้ที่พวกเรามี ความปรุงดีความปรุงชั่ว ความปรุงไม่ดีไม่ชั่วที่พวกเรามี
จิตที่เกิดที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจที่พวกเรามี พวกนี้เรียกว่าอุปาทานขันธ์ทั้งหมดเลย
เราพร้อมที่จะยึดสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตัวเราของเรา เรียกว่าอุปาทานขันธ์
พร้อมที่จะไปหยิบฉวยมันขึ้นมาเป็นตัวเรา
ไปหยิบขันธ์ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็คือหยิบภาระขึ้นมา เพราะขันธ์เป็นตัวทุกข์
พอเราไปยึดถือขันธ์เมื่อไหร่ เราก็ทุกข์เมื่อนั้น
แบกขันธ์เมื่อไหร่ ก็แบกทุกข์เมื่อนั้น
วางขันธ์เมื่อไหร่ ก็พ้นทุกข์เมื่อนั้น
ดับขันธ์เมื่อไหร่ ก็ดับทุกข์เมื่อนั้น

งั้นเราต้องมาหัดรู้ทุกข์นะ
จะล้างอวิชชา พระพุทธเจ้าบอกว่า อุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์
ขันธ์ที่พวกเรามี กายใจที่พวกเรามีนี่แหละเป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษอย่างที่พวกเราเคยนึก
ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราคิดว่ากายใจของเราเป็นอขงดีของวิเศษ
เราถึงมีความรักมีความหวงแหนมันมากเลย
เป็นอะไรนิดๆหน่อยๆเราก็ทนไม่ได้นะ เสียอกเสียใจ
แก่นิดนึง ก็ทนไม่ได้ เจ็บนิดนึง ทนไม่ได้
จะตาย ทนไม่ได้ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก เจอสิ่งที่ไม่รัก ทนไม่ได้
มีความอยากมากมาย อยากแล้วไม่สมหวังก็ทุกข์อีกแล้ว
ใจเต็มไปด้วยความดิ้นรนมากมาย
มันไปยึดว่าขันธ์นี้เป็นของดีของวิเศษ จะนำความสุขมาให้

พระพุทธเจ้าสอนว่า ตัวขันธ์เป็นตัวทุกข์
หน้าที่ของเราคืออะไร หน้าที่ต่อขันธ์คือการรู้ทันมัน
งั้นหน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ ไม่ใช่คือการละ
พวกเราหลายคนภาวนาผิด มีทุกข์ขึ้นมา พยายามจะละ
เช่นไม่สบายใจขึ้นมา หาทางละ
จิตมีกิเลสขึ้นมา หาทางละ จิตเป็นกุศล หาทางรักษา
จะละบ้าง จะรักษาบ้าง คิดว่ารักษาไว้แล้วมีความสุข
พระพุทธเจ้ากลับสอนว่าทุกข์ให้รู้
ไม่ได้ให้ทำอย่างอื่น ไม่ได้ให้ละ ทุกข์ให้รู้
หน้าที่เรามีหน้าที่แค่รู้ขันธ์ไปเรื่อย รู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็น
รู้เพื่อให้เห็นความจริง ไม่ใช่รู้เพื่อเข้าไปบังคับควบคุม

อย่างบางคนนั่งสมาธินะ พอปวดเมื่อยก็พยายามทนนะ
อดทนมากเลย จะเอาชนะความปวดความเมื่อย
ถ้านั่งจนกระทั่งหายปวดหายเมื่อได้ ก็รู้สึกกูเก่ง กูเก่ง
เนี่ยไม่ละกิเลสนะ กลายเป็นกูเก่ง กูเก่ง ขึ้นมา
ทุกข์ไม่ได้เอาไว้ละ ทุกข์ไม่ได้เอาไว้เกลียด ทุกข์ไม่ได้เอาไว้หนีมัน แต่ทุกข์เอาไว้รู้มัน
คนไหนหนีทุกข์นะ ไม่ยอมรู้ทุกข์ ก็ไม่มีทางบรรลุมรรคผลนิพพานเลย
เพราะใจมันจะไม่เบื่อหน่ายโลก มันจะรู้สึกว่าโลกนี้เอร็ดอร่อย ใจมันก็ติดพันอยู่กับโลก
แต่ถ้าผู้ใด เฉลียวฉลาดขึ้นมาเป็นนักปราชญ์
เห็นความจริงของขันธ์ ของธาตุของขันธ์ เป็นทุกข์
เนี่ยจิตจะเบื่อหน่าย ไม่เอาแล้วกองทุกข์นี้ จิตจะวางขันธ์
ถ้าเมื่อไหร่พ้นจากขันธ์นะ เมื่อนั้นก็เห็นนิพพาน

นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นขันธ์
เนี่ยจะวางขันธ์ได้นะ ต้องเห็นความจริงของขันธ์เป็นทุกข์เป็นโทษจริงๆ
งั้นท่านบอก ทุกข์ให้รู้ ไม่ได้ให้ทำอย่างอื่น
ให้รู้ความจริงของมัน มันเป็นทุกข์โดยตัวของมันอยู่แล้ว ไม่ใช่ต้องแกล้งมองให้มันเป็นทุกข์
เคยได้ยินคำว่าวิปัสสนาไหม วิปัสสนาก็คือการรู้ทุกข์นั่นแหละ
รู้ความจริงของธาตุของขันธ์ ก็คือรู้ทุกข์นั่นแหละ
ถ้าเราทำวิปัสสนานะ ก็รู้ทุกข์ไป ดูกายดูใจมันทำงานไป เห็นแต่ทุกข์ล้วนๆเลย
เมื่อไหร่เป็นกายเห็นใจเป็นทุกข์ล้วนๆ จิตก็วางของมันเอง ไม่ต้องทำอะไรมันวางของมันเอง
ใครจะไปแบกไว้ให้โง่นะ แบกทุกข์ไปแบกทำไม
ทุกวันนี้ที่แบกขันธ์อยู่เพราะว่าไม่เห็นว่าขันธ์มันเป็นทุกข์นะ
เห็นว่ามันเป็นของดีของวิเศษ เห็นว่าขันธ์มันนำความสุขมาให้เรา

งั้นที่หลวงพ่อสอนพวกเรานะ
ส่วนใหญ่ก็คือสอนวิธีที่จะให้รู้ขันธ์ของเรา วิธีที่จะดูกายดูใจของตัวเองจนเห็นความจริงนะว่ามันเป็นทุกข์
พอเห็นความจริงแล้วจิตมันจะปล่อยวางเอง
พอจิตปล่อยวางเอง มรรคผลก็เกิดขึ้นเอง
ไม่มีใครสั่งให้มรรคผลเกิดได้ เพราะมันเป็นอนัตตาทั้งหมด สั่งมันไม่ได้จริง
ทำเหตุของมันได้ แต่สั่งมันไม่ได้ หวังผลนะไม่มีผลเกิดขึ้นถ้าไม่ทำเหตุ

งั้นที่หลวงพ่อสอนพวกเราก็จะสอนหลักที่จะให้รู้ทุกข์นั่นเอง หลักคือให้รู้ทุกข์นะ
พูดง่ายๆ ย่อๆ สรุปออกมาจากการปฏิบัติแล้วก็การเรียนปริยัติ
หลวงพ่อเนี่ยปฎิบัตินะ หลวงพ่อตรวจสอบด้วยปริยัติเสมอนะ
แล้วก็พบว่าอัศจรรย์มากเลย ลงกันได้อย่างดี
ถ้าสรุปวิธีรู้ทุกข์หรือวิธีเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ให้พวกเรามีสติ รู้
รู้อะไร? รู้กายรู้ใจ วงเล็บว่าของตัวเองนะ
ให้มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง
รู้แล้วไม่ได้หนีความเป็นจริง ไม่ได้ปฏิเสธความจริง
ร่างกายเป็นอย่างไรยอมรับความจริง ดูความจริงของกาย
จิตใจเป็นอย่างไรไม่หนีความจริง ดูความจริงของจิตใจ
ถึงบอกว่าให้มีสติรู้กายรู้ใจ ถ้าพูดให้ถูกภาษาปริยัติก็บอกให้มีสติรู้รูปนาม ตามความเป็นจริง

จะรู้รูปนามตามความเป็นจริง รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ มีเงื่อนไข
จิตต้องมีคุณภาพพอถึงจะเห็น จิตที่มีคุณภาพพอที่จะเห็นความจริงของกายของใจของรูปของนามได้นะ
จิตดวงนั้นต้องทรงสมาธิชนิดที่เรียกว่าลักขณูปนิชฌาน
สมาธิชนิดนี้ตั้งมั่น แล้วก็เป็นกลาง ไม่ใช่แค่สงบนะ เราอย่าไปแปลสมาธิว่าสงบ
พวกเราพลาดอย่างร้ายแรง เราไปแปลคำว่าสมาธิว่าความสงบ
สมาธิจริงๆคือความตั้งมั่น ความตั้งมั่นของจิต
เมื่อจิตตั้งมั่น จิตก็ไม่ส่ายแส่วุ่นวายออกไป จิตสงบ
ลักษณะอันหนึ่งก็สงบ ตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้บังคับ สบาย มีความสุขนะ
มีความสบาย จิตเบาๆ จิตอ่อนโยน จิตนุ่มนวล จิตไม่ซึมไม่ทื่อด้วย
จิตว่องไว และจิตเป็นกลาง เห็นสภาวะอะไรก็แค่สักว่ารู้ว่าเห็น
จิตทำตัวเป็นผู้พิพากษานะ เหมือนผู้พิพากษา แต่ผู้พิพากษาก็ยังไม่เหมือนทีเดียว
จิตทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ตัดสินให้ค่าอะไรนะ ทำตัวเป็นคนดูเท่านั้นเอง

คอยสังเกตปรากฏการณ์ของกาย สังเกตปรากฏการณ์ของใจ
แล้วจะเห็นเดี๋ยวความทุกข์ก็เกิด เดี๋ยวความทุกข์ก็ดับ
ความสุขก็เกิด ความสุขก็ดับ กุศลเกิด แล้วกุศลก็ดับ
โลภโกรธหลงเกิด โลภโกรธหลงก็ดับ จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับ
จิตหนีไปคิดแล้วก็ดับ จิตสงบแล้วก็ดับ จิตฟุ้งซ่านแล้วก็ดับ
เนี่ยตามสังเกตไปแล้วจะเห็นเลย ทุกอย่างมันเกิดแล้วก็ดับหมดเลย
ความจริงของมันเป็นแค่นี้ไม่ต้องไปดัดแปลง ไม่เข้าไปแทรกแซง
รู้ซื่อๆ ไม่ใช่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาหาทางทำให้หาย นี่ไม่เป็นกลาง
ความสุขเกิดขึ้นมาหาทางรักษา นี่ไม่เป็นกลาง
อกุศลเกิดขึ้นหาทางดับมัน นี่ไม่เป็นกลาง
กุศลเกิด หาทางรักษา นี่ไม่เป็นกลาง
กุศลยังไม่เกิด ดิ้นรนให้เกิด นี่ไม่เป็นกลาง
งั้นเราจะเดินปัญญาได้นะ ทำวิปัสสนาได้จริง
ให้มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง พยายามไปท่องไว้นะ

สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ ที่ 2 มกราคม 2554