Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๑๗

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม
: ใกล้ครบปีแล้วที่โยมได้มีโอกาสมาพบและศึกษาธรรมะจากหลวงพ่อ จึงอยากกราบขอโอกาสหลวงพ่อได้ให้โอวาทเพื่อจะได้เป็นเครื่องเตือนสติและเป็นกำลังใจให้แก่พวกโยมในการทำความเพียรต่อไปด้วยครับ

จะสิ้นปีแล้ว เหลืออีกไม่กี่วัน เวลาผ่านเร็วมากเลย
ใครรู้สึกเวลาผ่านเร็วไหม ยกมือซิ
แก่... แก่แล้วนะ เด็กมันจะรู้สึก โอยกว่าจะได้ปีหนึ่งนะ...นาน
เด็กมันอยากโตใช่ไหม พออยากโตก็เลยไม่ทันใจ เลยรู้สึกเวลายาวนาน
คนแก่ โตขึ้นมาแล้วกลัวแก่กลัวตาย อยากให้มันผ่านช้าๆ รู้สึกมันเร็ว
ช้าเร็วเลยไม่ใช่ปรมัตถธรรมนะ ไม่มีของจริงหรอก เป็นการเปรียบเทียบเอา
จริงๆแต่ละวันมันก็ผ่านไปเรื่อยๆนะ หน้าที่เราคอยสำรวจตัวเอง
นี่ก็จะสิ้นปีแล้ว ปีหนึ่งที่ผ่านมาเราได้อะไรบ้าง
แต่หลวงพ่อประเมินผลนะ ประเมินผลการทำงานของตัวเอง
หลวงพ่อพอใจมากเลยปีนี้ เรียกว่าปีทองเลย เป็นปีทองของการภาวนา

พวกเรารู้สึกไหม จำนวนมากนะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลเลยปีนี้
หลวงพ่อเปิดที่นี่มา ๕ ปีนะ คล้ายๆเราปลูกต้นไม้ไว้
๕ ปีที่ผ่านมานี่ต้นไม้โต ออกดอก ออกผลนะ
จำนวนต้นไม้ที่เติบโตงอกงามนี้เยอะมาก
เรามีความเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณของเราเอง เรารู้ได้ด้วยตัวเราเอง
ใจที่มันเคยมืดบอดนะ สว่างไสวขึ้นมา
เคยจมอยู่กับความทุกข์ไม่มีทางออก มันเริ่มเห็นทางออก เห็นทางรอด
เรารู้เลยว่าเราปฏิบัติธรรมไปนะเป็นทางรอดจากความทุกข์
คล้ายๆ พ้น...พ้นไป เคยอยู่ในที่รกๆที่คับแคบนะ ก็ออกมาสู่ที่กว้างๆ ที่กว้างขวาง
ในใจเรา เราจะรู้สึกได้ด้วยตัวของเราเอง ของผู้ปฏิบัตินะ
ท่านจึงบอกว่าวิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง
แต่ทรชนรู้ไม่ได้นะ ต้องวิญญูชนนะถึงจะรู้ด้วยตัวเอง
เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง
ใครรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองบ้างยกมือซิ

หลวงพ่อกล้าท้านะ ไม่ได้พูดแบบ self จัดนะ ไม่ได้ self หรอก
กล้าท้าเลยว่าที่เราลงทุนปลุกปั้นพวกเราขึ้นมา มันคุ้มมากเลย
ที่ทำทุกสิ่งทุกอย่างนะ หวังจะสืบทอดพระศาสนาไว้ไม่ให้มันจบลงในยุคของเรา
งั้นพวกเราแต่ละคนพอได้ศึกษาแล้วเนี่ย เรามีหน้าที่นะ
ต้องสืบทอดแสงสว่างอันนี้ต่อไป ให้คนรุ่นต่อไป อย่าให้จบลงในมือของพวกเรา
จบในมือคนรุ่นต่อไปไม่เป็นไรนะ แต่อย่าให้มันจบลงในมือพวกเรา
เราต้องพัฒนาจิตวิญญาณของตนเองนะ จนเราเข้าใจ
เราเกิดความเชื่อมั่นแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา
เรารักพระพุทธเจ้า เราเห็นคุณค่าของพระธรรม
เรารู้เลยว่าพระสงฆ์มีจริง เพราะใจของเราจะเป็นพระสงฆ์ขึ้นมา
พอใจของเรานะมั่นคงแน่นแฟ้นในพระศาสนา เราก็บอกธรรมะนี้ต่อไป
มอบแสงสว่าง มอบดวงตาที่ส่งทอดกันมาตั้งแต่พระพุทธเจ้าให้คนรุ่นถัดไป

นี่เป็นหน้าที่ของชาวพุทธนะ คือฝึกตัวเองก่อน
ฝึกตัวของเราเองแต่ละคนแต่ละคน จนแสงสว่างนี้เข้ามาสู่จิตใจของเรา
จนเราได้ดวงตา มีดวงตา เห็นความจริง
ดวงตาเห็นธรรมไม่ใช่เห็นประหลาดอะไรหรอก
เห็นความจริงเลย ตัวเราไม่มี ความจริงตัวเราไม่มี
ใครเริ่มเห็นบ้าง ว่าตัวเราไม่มี จำนวนมากเลยที่เห็นนะ แต่ยังยอมรับไม่ได้เท่านั้นแหละ
ใครเห็นแต่ว่ายังยอมรับไม่ได้ มีไหม? ชักไม่ค่อยกล้ายกมือ
เยอะแยะ เยอะแยะนะ รู้สึกขึ้นมาตัวเราไม่มีน่ะ
คนที่รู้สึกอย่างนี้ได้นับไม่ถูกแล้ว เยอะแยะไป
เราเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนแล้วเราจะรักพระพุทธเจ้า
อัศจรรย์เหลือเกินธรรมะที่ท่านสอนเรามา ธรรมะที่นึกไม่ถึงนะ

แต่เดิมในชีวิตเรา เราไม่มีทิศทาง
โตมานะก็โตไปตามชาวบ้านเค้าเท่านั้นแหละ
โตขึ้นมาเค้าเรียนหนังสือก็เรียนกับเค้า
เค้าแต่งงานก็แต่งกับเค้า เค้าทำงานก็ทำกับเค้านะ
เค้าหาเงินก็หากับเค้า เค้ามี BB ก็จะมีกับเค้าบ้าง
เออ มันหน้าตาเป็นยังไงยังนึกไม่ออก ได้ยินแต่ชื่อ
เค้ามีอะไรก็จะต้องมีกับเค้าบ้าง ตามๆเค้าไปเรื่อยๆ
สุดท้ายก็แก่ตามเค้าไป เจ็บตามเค้าไป ตายตามเค้าไป ชีวิตไร้ความหมายมากเลย

พวกเราซึ่งเป็นลูกเป็นหลานพระพุทธเจ้า ชีวิตเราไม่ได้ล่องลอยขนาดนั้น
เรามีเป้าหมายในชีวิต เกิดมาทั้งทีชีวิตต้องดีขึ้นนะ
ดีขึ้นในทางระดับของจิตวิญญาณนะ ไม่ใช่ดีขึ้นในฐานะรวยขึ้น เก่งอย่างโน้นเก่งอย่างนี้
เก่งขนาดไหนนะ ก็ยังไม่พ้นทุกข์ จิตวิญญาณยังถูกกิเลสครอบงำอยู่ ยังใช้ไม่ได้จริงหรอก
งั้นเรามีเป้าหมายในชีวิตเรานะ มีจุดมุ่งหมาย ต้องยก ยกระดับจิตวิญญาณของเรา
เข้าไปสู่ความสงบ สะอาด สว่าง ด้วยปัญญาอันยิ่งนะ มีปัญญาอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
มีปัญญาเห็นแจ้งความจริงของชีวิต ของรูปของนาม ของกายของใจ
พอมีปัญญาเห็นแจ้งนะ ใจจะสว่างไสว กิเลสจะมาย้อมใจไม่ได้
กิเลสหลอกได้เฉพาะคนที่ไม่รู้ความจริงของกายของใจ
ไม่รู้ว่าธาตุขันธ์กายใจนี้เป็นตัวทุกข์
ถ้าคนไหนยังไม่เห็นตรงนี้นะ กิเลสยังย้อมได้ ยังหลอกได้
ยังรู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง
นี่กิเลสจะหลอกได้ ยังรู้สึกว่าจิตใจนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง อย่างนี้กิเลสยังหลอกเราได้

แต่ถ้าเมื่อไหร่ปัญญาเห็นแจ้งนะ กายนี้ทุกข์ล้วนๆ จิตนี้ทุกข์ล้วนๆ
ความดิ้นรน ความทะยานอยากของจิต ที่จะแสวงหาความสุขให้กายให้ใจนี้จะไม่มี
ไม่มีโลภะ ไม่อยากได้แล้ว รู้ว่ามันไม่มี กายนี้ใจนี้เป็นทุกข์
จะไปอยากให้มันเป็นสุขมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นความอยากที่ไร้เดียงสาที่สุดเลย
ความดิ้นรนที่จะหาความสุขไม่มี ความดิ้นรนที่จะหนีความทุกข์ไม่มี
เพราะไม่โง่ เห็นไหมล้างโมหะซะตัวเดียว ไม่โง่ซะตัวเดียวนะ
เห็นความจริงของธาตุขันธ์ของกายของใจ ล้างโมหะไป
ราคะ ความอยากจะหาความสุขความสบายไม่มี
โทสะ ความปฏิเสธความทุกข์ที่เกิดขึ้นไม่มี
จิตเข้าไปสู่ความเป็นกลาง หมดความดิ้นรน

จิตที่หมดความดิ้นรนด้วยปัญญาอย่างยิ่ง เห็นความจริงอย่างยิ่ง ขันธ์ ๕ มีแต่ทุกข์
จิตชนิดนี้ไม่มีอะไรย้อมติดอีกต่อไปแล้ว
จิตของเราตอนนี้เหมือนสร้างด้วยวัสดุที่ปนเปื้อนง่าย
รู้สึกไหม ปนเปื้อนง่าย หลงไปคิดนิดเดียวก็ปนเปื้อนแล้วรู้สึกไหม
อะไรนิดหนึ่งกิเลสก็ครอบ อะไรนิดหนึ่งกิเลสก็ครอบ
แต่จิตใจที่ฝึกอบรมดีนะ มีปัญญาแก่รอบ รอบรู้ในกองทุกข์ของขันธ์ ๕
ไม่ใช่กองทุกข์ที่อื่นเลย กองทุกข์ในขันธ์ ๕ นี่เอง

พอปัญญารอบรู้ในกองทุกข์ในขันธ์ ๕ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ
ไม่ใช่สุขบ้างทุกข์บ้างอย่างที่เคยคิดเคยเห็นกัน
ความดิ้นรนหาความสุขไม่เกิดขึ้น ความดิ้นรนหนีความทุกข์ไม่เกิดขึ้น
จิตหมดความปรุงแต่ง หมดความดิ้นรน
เมื่อหมดความปรุงแต่ง หมดความดิ้นรน
ก็จะเข้าไปสัมผัสสภาวะธรรมอีกชนิดหนึ่ง
ธรรมะอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ปรุงแต่ง ไม่ดิ้นรน คือนิพพาน
นิพพานไม่ใช่โลกอุดมคติ ไม่ใช่ utopia นะ ไม่ใช่โลกอุดมคติ
อย่างสันติภาพนี่โลกในอุดมคติใช่ไหม มีไหมสันติภาพ
เสรีภาพมีไหม อุดมคติใช่ไหม เสมอภาคมีไหมเสมอภาค อุดมคติ ไม่มีจริง
นิพพานไม่ใช่อุดมคติ นิพพานเป็นของจริง เป็นสภาวะธรรมจริงๆ
มีอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา ไม่เคยหายไปไหนด้วยนะ แต่เราไม่มีคุณภาพพอ
จิตใจเราไม่มีคุณภาพพอที่จะเห็นเท่านั้นเอง
เพราะจิตใจเรายังปนเปื้อนอยู่ ปนเปื้อนเพราะอะไร
ปนเปื้อนเพราะว่าโง่ ไม่รู้ความจริงว่าขันธ์ ๕ นี้เป็นตัวทุกข์
งั้นเรามาเรียนนะ เรามาเรียน ต่อสู้ การปฏิบัติธรรมไม่ใช่อะไรมากหรอก
ต่อสู้กับความไม่รู้ของเราเอง ไม่ใช่สู้กับคนอื่นเลย

อย่างบางคนภาวนา ได้ยินคนอื่นส่งการบ้านแล้วใจฝ่อ เค้าภาวนาเก่งกว่าเรา
นี่คิดจะสู้คนอื่นนะ ไม่ได้เรื่องหรอก
หน้าที่ของเราสู้กับความไม่รู้ของตัวเอง ไม่ใช่สู้กับเรื่องอื่นด้วย
ไม่ใช่จิตมีราคะไปสู้กับราคะ จิตมีโทสะไปสู้กับโทสะ ไม่ใช่นะ
จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ ไม่สู้มันนะ ไม่ต่อต้าน ไม่ปฏิเสธ และไม่ยอมรับ เป็นกลาง
ยอมรับก็ไม่ได้ ต่อต้านก็ไม่ได้ เนี่ยกิเลส
อย่างโทสะเกิดขึ้น การยอมรับมันคือปล่อยให้โทสะครอบงำจิตใจ ปฏิเสธมันก็หาทางไม่ให้มีโทสะ
ทำไม่ได้จริงหรอก ทำอย่างมากก็เก็บกด
ให้เรารู้มันนะ รู้มันอย่างเป็นกลางจริงๆ

งั้นเรามีหน้าที่รู้ทัน กิเลสอะไรเกิดขึ้นรู้ทัน
ราคะเกิดขึ้นรู้ทัน โทสะเกิดขึ้นรู้ทัน รู้ไปเรื่อย รู้จนหายโง่
หายโง่เลย รู้เลย ราคะ โทสะ ทั้งหลาย
หรือกิเลสทั้งหลาย หรือกุศลทั้งหลาย
หรือความสุขความทุกข์ทั้งหลาย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ ใจมันก็หมดความดิ้น
มีแต่ของอย่างนี้ มีแต่ของไม่แน่นอน มีแต่ของทนอยู่ไม่ได้จริง มีแต่ของที่บังคับไม่ได้
มีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันก็ไม่ได้
เนี่ยใจมันเห็นความจริงของขันธ์อย่างนี้นะ
เห็นอย่างนี้ใจมันก็จะค่อยๆคลายความยึดถือในขันธ์ออก
เห็นความจริงแล้วจะเบื่อ ขันธ์นี้เต็มไปด้วยความกลับกลอก
เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้จริง

อย่างร่างกายเรานะอุตส่าห์ฟิตซ้อมให้แข็งแรงนะ
แข็งแรงอยู่ชั่วคราวเดี๋ยวมันก็ไม่แข็งแรง เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้จริง
ความหนุ่มความสาวอะไรเนี่ยรักษาไม่ได้จริง เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้จริง
กินข้าวให้อิ่มนะหวังว่าจะมีความสุขความสบาย
มันก็มีความสุขไม่นาน เดี๋ยวมันก็หิวอีก งั้นร่างกายนี้เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้จริง
อุตส่าห์บริหารอย่างดีเลย ฟิตซ้อมไว้มีกล้ามเนื้อแข็งแรง
ถึงช่วงหนึ่งก็สลายไปไม่แข็งแรงจริง จะหาความสุขทางจิตใจก็ไม่มีจริง
ไปดูหนังหวังว่าจะมีความสุข ก็สุขประเดี๋ยวประด๋าวเดี๋ยวก็ไม่สุขแล้ว
ไปฟังเพลงไปหาของกินอร่อย ไปดูสาวสวย
หวังว่าจะมีความสุข ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ไม่สุขจริง
งั้นจะหาความสุขมาเป็นที่พึ่งที่อาศัย หาไม่ได้จริง

เนี่ยไม่มีจริง สิ่งเหล่านี้เราดูลงมาในธาตุในขันธ์นะ
เห็นแต่ของที่พึ่งไม่ได้ กายนี้ก็พึ่งไม่ได้ ความรู้สึกสุขทุกข์ก็พึ่งไม่ได้
กุศลอกุศลทั้งหลายก็พึ่งไม่ได้ มีแต่เกิดแล้วดับทั้งสิ้นเลย
จิตเองก็พึ่งพาไม่ได้
เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานได้ไม่นานก็กลายเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่งได้อีก
มันไม่มีที่พึ่งที่อาศัยได้ในขันธ์ ๕ นี้ นี่เราก็เข้าใจมันนะ คอยรู้ คอยดูไปเรื่อย

รู้ไป รู้ไปนะ จะเห็นความจริงว่าเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้
ไม่มีสาระ ไม่มีสาระเพราะมันไม่เที่ยง
ไม่มีสาระเพราะมันเป็นทุกข์
ไม่มีสาระเพราะมันควบคุมไม่ได้อย่างใจต้องการ
ไม่มีที่พึ่งที่อาศัยอยู่ในขันธ์ ๕
พอเห็นอย่างนี้นะ เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก คือเห็นแต่ของไม่ดีไม่งามนะในขันธ์ ๕
มันไม่ดีจริงหรอก เอาเป็นที่พึ่งไม่ได้จริง เห็นแล้วมันจะเบื่อ
พระพุทธเจ้าท่านจริงสอนบอกเพราะเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย
กายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ใช่ของน่ารักน่าหวงแหน
เวทนาก็แปรปรวนตลอดเวลา เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยอะไรไม่ได้
กุศล อกุศลทั้งหลาย ทำขึ้นมานะ ปรุงขึ้นมา เป็นความปรุงทั้งนั้นแหละ
ปรุงดีปรุงชั่ว ปรุงขึ้นมา อยู่ได้ชั่วครั้งชั่วคราวก็สลายไปอีก
จิตนะอุตส่าห์ฝึกมาอย่างดีเลย สงบตั้งมั่น
แป๊บเดียววิ่งไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
วิ่งไปคิด วิ่งไปนึก วิ่งไปปรุง วิ่งไปแต่ง เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้จริง
จะคิดว่าจิตจะนำความสุขมาให้ แป๊บเดียวมันก็นำความทุกข์มาให้อีกแล้ว
วิ่งร่อนๆออกไปเก็บขยะเข้าบ้าน จิตมีลักษณะชอบเก็บขยะเข้าบ้าน วิ่งออกนอกไป
ไปหาความทุกข์กลับเข้ามาทับถมตัวเองเรื่อยๆ

นี่เห็นแล้วเบื่อ รู้เลยขันธ์ ๕ นี้เป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้
พระพุทธเจ้าบอกเห็นตามความเป็นจริงจึงเบื่อหน่าย
เพราะเบื่อหน่ายจึงคลายกำหนัด คือคลายความรักใคร่ผู้พันในขันธ์ ๕
เราเห็นความจริงของขันธ์ ๕ แล้ว กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษอย่างที่คิดหรอก
ไม่มีความสุขเลย มีแต่ความทุกข์ ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
กายนี้มีแต่ความทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ผู้มีปัญญาเห็นว่ากายมีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
จิตมีแต่ความทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ผู้ไม่มีปัญญาก็เห็นว่า พอตอนทุกข์น้อยก็เห็นว่ามันเป็นความสุข
ความจริงมันเป็นแค่ทุกข์น้อย ไม่ใช่ความสุข
นี่ถ้าสติปัญญาแก่รอบจริงนะ จะเห็นเลย
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไปในขันธ์ ๕ นี้
เห็นอย่างนี้แล้วมันวางนะ
มันคลายแล้ว มันไม่เอาแล้ว ก้อนทุกข์จะเอาทำไม

สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ ที่ 26 ธันวาคม 2553