Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๑๕

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช




ถาม
: ผมเคยได้ยินมาว่า การทำสมาธินั้นสามารถทำได้มากมายหลายรูปแบบ ไม่ทราบว่าถ้าผมจะทำสมาธิเพื่อความเกื้อกูลให้เกิดปัญญาต้องทำแบบไหนครับ

จำหลักการปฏิบัติให้แม่นนะ
ส่วนใหญ่ที่ภาวนาแล้วมันไม่ได้ผลกัน มันไม่ใช่วิธีไหนดีวิธีไหนไม่ดี
มันอยู่ที่วางจิตไม่ถูก ไม่รู้จักจิตที่จะใช้เดินปัญญา แยกไม่ออก

มันมีจิตอยู่สามแบบนะ อันหนึ่งเป็นจิตที่เหมือนๆมีสมาธิแต่ไม่ได้มีจริง พวกเคลิ้มๆ หรือพวกเครียดๆ
อันที่สองเป็นสมาธิ ที่จิตแนบเข้าไปในอารมณ์ที่มีความสุขนะ ให้จิตสงบ นี้ได้สมถะ
ชนิดแรกนะไม่มีทั้งสมถะและวิปัสสนาเลย
ส่วนใหญ่ที่นั่งกันรุ่นหลังๆจะเป็นแบบนี้นะ
นั่งแล้วก็เคลิ้มไป ฝันโน้นฝันนี้นะ นิมิตต่างๆอะไรเกิดขึ้นมา
อันนี้ฟุ้งซ่านหรอก ออกข้างนอกไปอีก หรือไม่ก็เคลิ้มหลับในไปเลย
พวกหลับในไปเลย กับพวกฟุ้ง ฝันออกไป
นี่ไม่มีทั้งสมถะและวิปัสสนา เพราะอะไร เพราะขาดสติอย่างแรงเลย
ถ้าเมื่อไรขาดสตินะ เมื่อนั้นไม่มีหรอก ศีล สมาธิ ปัญญา ที่แท้จริง
เพราะอย่างนั้นต้องมีสติ ทำสมาธิอยู่ก็ต้องมีสติ

สมาธิอีกอย่างหนึ่งก็คือ จิตสงบ จิตแนบไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว
จิตเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่ไม่ได้เพ่งแรงๆนะ คำว่าเพ่งในภาษาไทยมันแรงไป
คำว่าฌาน มันไม่ได้เพ่งอย่างรุนแรง ถ้าเพ่งอย่างรุนแรง ไม่สงบหรอก
มันคล้ายๆแค่มนสิการถึงนะ แล้วใจไปจ่ออยู่ในอารมณ์อันเดียว
ถ้าเป็นอารมณ์ที่จิตพอใจ จิตมีความสุข จิตจะไม่หนีไปหาอารมณ์อันอื่น
ถ้าจิตไม่วิ่งพล่านไปสู่อารมณ์โน้นอารมณ์นี้ จิตจะสงบ นี้จะได้สมถะ
เนี่ยสมถะก็มีเยอะแยะ หลายรูปแบบ

วิธีปฏิบัติเนี่ยนับไม่ถ้วน
จะใช้อารมณ์ อารมณ์บัญญัติก็ได้
เช่นภาวนาพุทโธ พุทโธ สัมมาอรหัง นะมะพะธะ อะไรก็ได้ เหมือนกันหมดแหละ
คิดพิจารณากาย พิจารณาอสุภะ พิจารณาปฏิกูล พิจารณาความตาย อะไรต่ออะไร
พิจารณาถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
อันนี้เป็นเรื่องใช้อารมณ์บัญญัติทั้งหมดเลย ก็ทำให้เกิดความสงบได้ มีความสุข

อารมณ์อันที่สองที่ใช้ทำสมถะ ก็คืออารมณ์รูปนาม
ตัวนี้คนที่บอกว่าทำวิปัสสนาๆ แต่ไม่เป็นวิปัสสนาจริงน่ะจะมาพลาดตรงนี้
คือไปรู้อารมณ์รูปนาม แล้วไปแนบอยู่ในอารมณ์รูปนาม
เช่นไปดูท้องพองยุบนะจิตแนบลงไปอยู่ที่ท้อง ไม่เคลื่อนไหวไปไหนเลย
ไปรู้ลมหายใจ จิตแนบอยู่ที่ลมหายใจ ไม่เคลื่อนไหวไปไหนเลย
เห็นไหม ตัวท้องก็เป็นตัววัตถุใช่ไหม เป็นตัวรูป ตัวลมหายใจก็เป็นตัวรูป
หรือเดินจงกรม ยืนเดินนั่งนอนนะก็เพ่ง
เดินจงกรมก็เพ่งร่างกายทั้งร่างกายบ้าง เพ่งอยู่ที่เท้าบ้าง
จิตแนบอยู่ในอารมณ์อันเดียว นึกว่าเป็นวิปัสสนา ไม่เป็นหรอก
วิปัสสนาไม่ใช่แค่รู้อารมณ์รูปนาม วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามถึงจะเป็นวิปัสสนา

เพราะงั้นนึกออกไหม ที่นักปฏิบัติจำนวนมากเขาทำกัน
บางคนทุ่มเทนะ หลายสิบปีเลย ทำไมมันไม่ได้ผล
อันแรกเลย เป็นสมาธิที่ใช้ไม่ได้
นั่งแล้วเคลิ้มบ้าง นั่งแล้วเครียดบ้าง นั่งแล้วก็ฝันไปบ้าง
ไม่มีสมถะไม่มีวิปัสสนา ไม่มีสตินั่นแหละ
หรือสติแรงเกินไป ไปจ้องบังคับใจ
เครียดเลยนะ สติแรงเกินไป
แต่ถ้าเคลิ้มไปฝันไป เนี่ยขาดสติ ลืมเนื้อลืมตัวนะ
นักปฏิบัติเยอะเลยที่เป็นอย่างนี้

อีกพวกหนึ่งก็ไปดูรูปดูนาม แต่ไปเพ่งรูปเพ่งนาม
จิตแนบอยู่ที่เท้า แนบอยู่ที่ท้อง แนบอยู่ที่มือ แนบอยู่ที่ลมหายใจ แนบนิ่งอยู่อย่างนั้น
นึ่ถึงจะรูปอารมณ์รูปนามก็จริงนะ แต่เป็นสมถะ
สมถะอีกชนิดหนึ่งก็ใช้นิพพานเป็นอารมณ์

เพราะงั้นการทำสมถะกรรมฐานนะ จริงๆไม่ยากเท่าไหร่หรอก
จะใช้อารมณ์อะไรก็ได้ ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้คือเรื่องราวที่คิด
คิดถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ คิดถึงความตาย
คิดถึงร่างกายเป็นปฏิกูลเป็นอสุภะอะไรงี้ คิดเอา นี่อารมณ์บัญญัติ

อันที่สอง ใช้อารมณ์รูปนาม
เพ่งลมหายใจ เพ่งเท้า เพ่งท้อง เพ่งมือ นี่เพ่งรูป
เพ่งนามทำยังไง เพ่งนามเช่นไปเพ่งอยู่ที่จิต
ประคองจิตให้นิ่งให้ว่าง รักษาจิตให้นิ่งให้ว่าง เป็นสมถะเห็นไหม
เพ่งรูปก็เป็นสมถะนะ เพ่งนามก็เป็นสมถะ
ที่ว่าดูจิตๆนะ พวกหนึ่งที่ว่าดูจิตน่ะไม่ได้ดูจิตหรอกมันไปเพ่งอยู่เฉยๆ ไม่เดินปัญญา
ยิ่งไปคิดนะว่า ศีลสมาธิปัญญาไม่สำคัญหรอก
ทำอย่างไรจะให้จิตเลิกปรุงแต่งได้แล้วก็บรรลุมรรคผลได้ นี่เป็นความเข้าใจผิด
จิตมีธรรมชาติปรุงแต่ง มันก็ปรุงแต่งของมันนะ
ไปบังคับให้มันนิ่งมันว่าง ความนิ่งความว่างก็เป็นความปรุงแต่งอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ปรุงแต่ง
งั้นไปประคองจิตนะ ไปคิดว่าต้องอยู่กับสุญญตา
หรือประคองไม่ให้จิตปรุงแต่งแล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพานนะ เป็นความเข้าใจผิด

ความปรุงแต่งมาจากอวิชชา ไม่ใช่มาจากจงใจจะแต่งหรือจงใจไม่แต่ง
ตราบใดยังมีอวิชชาอยู่ จิตก็ยังปรุงแต่งอยู่ไม่เลิกหรอก
งั้นอยู่ๆก็ไปนั่งนึกเอาเองนะ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องทำ
รักษาจิตให้นิ่งให้ว่าง ไม่ให้ปรุงแต่ง แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพาน
บรรลุไม่ได้ มันนอนทับอวิชชาอยู่
จะล้างอวิชชา นั่นแหละต้องใช้ศีลสมาธิปัญญาล้าง
ไม่ใช่บอกไม่ใช้ศีลสมาธิปัญญา แล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพาน
เห็นไหมสิ่งที่ผิดนะมันเต็มไปหมดเลย

ถ้าเพ่ง ไปเพ่งจิตนะ จะไปอรูปฌาน
บางคนไปเพ่งความว่างอยู่นะ เป็นอรูปฌานที่หนึ่งชื่ออากาสานัญจายตนะ

บางคนไปเพ่งตัวจิต ประคองจิตนะ
หรือบางทีก็ไปเพ่งตัวผู้รู้ เพ่งจิตกับเพ่งผู้รู้ยังไม่เหมือนกัน
เพ่งจิตนะ แน่วนิ่งอยู่กับจิต ไม่ให้เคลื่อนไหวเลย
ส่วนการเพ่งตัวผู้รู้เนี่ย มันจะเห็นสภาวะอันหนึ่งแล้วมีผู้รู้
พอไปดูผู้รู้มันจะเกิดผู้รู้ซ้อนไปเรื่อย
ที่ วิญญาณัญจายตนะ นะในตำราหนึ่งสอนมาว่า วิญญาณเป็นอนันต์
คือตัวรู้นั่นเอง ตัวรู้ซ้อนตัวรู้ไปไม่มีวันสิ้นสุดเลยบอกวิญญาณเป็นอนันต์
เห็นไหมดูจิตก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นวิปัสสนานะ ดูจิตดูไม่เป็นจริงๆก็เป็นสมถะ

ไปเพ่งความว่าง เรียกอากาสานัญจายตนะ
ไปเพ่งจิต เรียกวิญญาณัญจายตนะ
เพ่งจิตยังแยกได้สองแบบ แบบหนึ่งประคองจิต ประคองนิ่งเลย
อีกอันหนึ่งไปดูผู้รู้ แล้วก็เกิดผู้รู้ซ้อนผู้รู้ไปเรื่อยๆ วิญญาณเป็นอนันต์

อย่างที่สาม ถ้าทำอรูปนะ อย่างที่สาม
ดูจิตไป ดูจิตไป ไอ้โน่นก็ไม่ยึด ไอ้นี่ก็ไม่เอา
ไม่เอาอะไรสักอย่างนะ จะเอาความไม่เอาอะไรเลย
ไปยึดอยู่ในความไม่เอาอะไรเลยนี่ชื่ออากิญจัญญายตนะ

อีกอย่างหนึ่ง ไปดูจิตนะ จนกระทั่งมันไปอยู่ในอากิญจัญญายตนะนาน
โน่นไม่ยึด นึ่ไม่ยึดนะ จิตมันรู้อารมณ์ที่ละเอียดมาก อารมณ์ที่ว่าง แทบไม่มีอะไรเลย
จิตพอละเอียดมากนะ กำลังของมันตกลงไปนะ
มันจะค่อยๆคลายความรู้สึกตัวลงไป จนกระทั่งเหลือความรู้สึกนิดเดียวนะ
เหมือนๆจะไม่รู้สึกน่ะ รู้สึกเหมือนๆจะไม่รู้สึก เป็นเนวสัญญานาสัญญายตนะ
บางคนบอกตรงนี้ประณีตมากเลย แทบไม่มีอะไรเลย

เนี่ยดูจิตผิดนะ ก็ไปอรูป
ดูกายผิด เพ่งรูป ไปเพ่งรูปเข้าไปก็ไปรูปฌาน ไปเป็นรูปพรหม
ไปดูจิตซึ่งเป็นนามธรรม ถ้าดูไม่เป็นนะ ดูแบบไปเพ่งจิตเข้าก็ไปอรูปฌาน ไปเป็นอรูปพรหม
ไม่ใช่ทางเดินของมรรคผลนิพพานเลย

เนี่ยสมาธิสองอย่างนะ สมาธิ เล่าไปแล้วสองชนิด
ชนิดหนึ่งสมาธิไม่เอาไหนเลย นั่งแล้วเคลิ้มขาดสติ หรือไม่ก็เร้าสติแรงเกินไปเพ่งจนเครียด นี่พวกหนึ่ง
พวกที่สอง มารู้รูปรู้นามนะ มาเพ่งรูปเพ่งนามก็ได้
เพ่งอารมณ์บัญญัติก็ได้ รู้นิพพานก็ได้ แต่ให้จิตแนบอยู่ในอารมณ์อันเดียว
มีสติอยู่ มีจิตที่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้สมถะกรรมฐาน
นี่ตรงสมถะกรรมฐานนะต้องรู้ทันว่าตอนนั้นทำสมถะอยู่
ถ้ารู้ไม่ทันนะก็จะหลงไปเป็นรูปพรหมบ้าง อรูปพรหมบ้าง
ถ้ามันไปแน่วนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว
จิตที่แน่วนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวนะ เรียกว่ามันมีอารัมมณูปนิชฌาน
การที่จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว เรียกอารัมมณูปนิชฌาน

สมาธิอีกชนิดหนึ่ง เป็นสมาธิชั้นเลิศเลย เป็นสมาธิที่ใช้เดินปัญญาล้วนๆเลย
เป็นสมาธิที่ในตำราเค้าเรียกลักขณูปนิชฌาน
เป็นจิตที่ตั้งมั่นเห็นลักษณะ คือเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนาม
เพราะงั้นจะเดินปัญญาเนี่ย ต้องรู้รูปนาม
ต้องรู้อารมณ์รูปนามแล้วก็เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของอารมณ์รูปนาม

อันนี้สมาธิที่ตั้งมั่นแล้วเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามได้เนี่ย
เป็นสมาธิที่ใช้ทำวิปัสสนา เรียกว่าลักขณูปนิชฌาน
เห็นลักษณะ ลักขณูก็คือลักษณะนะ เห็นไตรลักษณ์นั่นเอง
สมาธิชนิดนี้จะไม่เหมือนสมาธิอย่างที่สอง ที่จิตเข้าไปแนบนิ่งอยู่ในอารมณ์ที่มีความสุข
สมาธิชนิดนี้มันตั้งมั่นอยู่นะ แต่มันไม่ไหลเข้าไปตั้งแช่อยู่ในอารมณ์อันเดียว
สภาวะที่เกิดคือจิตมันจะถอดถอนตัวเองออกมา ถอดถอนตัวเองออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดู
เนี่ยจิตตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นปรากฏการณ์ของรูปธรรม เห็นปรากฏการณ์ของนามธรรม
ปรากฏการณ์ทั้งหลายนั่นแหละแสดงไตรลักษณ์ให้ดู
ต้องถอนตัวออกมาให้ได้ จิตมันถอนตัวออกมานะ เริ่มแยกธาตุแยกขันธ์ เริ่มเดินปัญญา
ถ้ายังไม่ถึงขั้นเดินปัญญา อย่ามาพูดถึงเรื่องมรรคผลนิพพานนะ ยังไกล
ทำแต่สมถะ สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว ไม่มีมรรคผลนิพพานหรอก
มีแต่รูปฌาน-อรูปฌาน ไปรูปพรหม-อรูปพรหม
ถ้าทำสมาธิผิด ขาดสติไป ก็ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้
หรือเพ่งจนเครียดนะ ภาวนาแล้วเครียดจัดนะตกนรกทั้งเป็นอยู่แล้ว อย่างนั้นไม่ได้เรื่องเลย

สวนสันติธรรม
วันพุธ ที่ 27 ตุลาคม 2553