Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๑๒

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช




ถาม: การที่จะภาวนาได้ดี ต้องเป็นคนที่เรียนหนังสือเก่งๆด้วยหรือเปล่าคะ

เรียนธรรมะนะอย่าไปคาดหวังมากนะว่าต้องรู้ต้องเข้าใจในฉับพลันมันไม่เหมือนในหนังสือหรอก
เรียนธรรมะจริงๆเรียนเรื่องตัวเราเอง
เราจะเรียนเรื่องตัวเราเองได้ชัดเจนถูกต้องก็ต้องไม่มีอคติไม่เข้าข้างตัวเอง

หน้าที่เรามีง่ายๆเลย มาดูว่าสิ่งที่เรียกว่าตัวเราคือกายกับใจจริงๆนั้นมันเป็นอย่างไร
ต้องการดูของจริงเท่านั้นแหละ ไม่ได้ต้องการอย่างอื่นหรอก
ต้องการให้เห็นความจริงของกาย ต้องการให้เห็นความจริงของจิตใจ
สิ่งที่ต้องการมีแค่นั้นเอง ถ้าเห็นได้แล้วมันจะเห็นเลยว่าไม่มีสาระแก่นสารอะไรที่แท้จริง

สิ่งที่เรียกว่าตัวเราๆ เอาเข้าจริงๆไม่ใช่ตัวเรา
เป็นแค่ขันธ์ ๕ เป็นแค่รูปธรรมนามธรรมมารวมกันอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่นานก็แตกสลายไป
อย่างเรารู้สึกว่าโลกนี้จริงจังมากนะ เกิดอะไรขึ้นรู้สึกจริงจังไปหมดเลย
แต่พอมันผ่านไปแล้วมันก็เหมือนฝันไปหมด เหมือนภาพลวงตาไปหมด
อย่างบางคนอกหัก อกหักรู้สึกจริงจังมาก พอผ่านไปนานๆก็งั้นๆแหละ
ค่อยๆสลายตัวไป ความรู้สึกต่างๆ

จริงๆแล้วขันธ์ ๕ เหมือนความฝัน
เหมือนพยับแดด เหมือนภาพลวงตา
มีขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็สลายตัวไป
เนี่ยเราจะมาเรียนเพื่อให้เห็นของจริงตรงนี้
ถ้าใจเรายอมรับความจริงได้ว่าขันธ์ ๕ ซึ่งมันประกอบกันเป็นตัวเรา
ย่อๆ เรียกว่ารูปธรรม กับนามธรรม “รูปนาม”
บางส่วนเป็นรูปธรรม บางส่วนเป็นนามธรรม

แยกให้ละเอียดออกไป รูปธรรมก็แยกเป็นธาตุ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

นามธรรมแยกให้ละเอียดออกไป
มีเวทนาความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์
สัญญาความจำได้ ความหมายรู้
สองอัน จำได้อันหนึ่ง หมายรู้อันหนึ่ง
จำได้เนี่ย มีข้อมูลชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่ปรากฏให้รับรู้ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจมันคืออะไร จำได้
หมายรู้ เป็นการอนุมาน อนุมานสิ่งซึ่งแปลกใหม่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เข้ากับข้อมูลเดิม เป็นการหมายรู้
ความจำได้ ความหมายรู้ ก็เป็นสภาวะอย่างหนึ่ง
ความปรุงดี ความปรุงชั่ว ความปรุงไม่ดีไม่ชั่ว
เช่นปรุงดี เช่นมีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา
มีของดี มีทาน มีศีล อะไรต่ออะไร นี่ของดี

ปรุงชั่ว ก็ปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง
ปรุงฟุ้งซ่าน ปรุงหดหู่ นี่ความปรุง
ความปรุงบางอย่างเข้าได้ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว
อยู่กับฝ่ายชั่วก็ได้ อยู่กับฝ่ายดีก็ได้
ความปรุงแต่งบางอย่างเช่นสมาธิ
สมาธินะฝ่ายชั่วก็มี ฝ่ายดีก็มี เรียกว่าสังขารความปรุง

นี่ส่วนของนามธรรมนะ
มันมีเวทนา คือความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์
สัญญา คือความจำได้ความหมายรู้
สังขาร คือความปรุงดี ความปรุงชั่ว ความปรุงไม่ดีไม่ชั่ว
แล้วก็วิญญาณ คือความรับรู้อารมณ์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ
นี่นามธรรมนะก็แยกออกไปเป็นสี่
รูปธรรมก็แยกออกไปได้สี่ เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ต้องมาหัดแยกนะ การเดินปัญญาต้องมาหัดแยก
เบื้องต้นแยกรูปกับนาม ต่อไปรูปก็แยกออกไปได้เป็นธาตุดินน้ำไฟลม
นามก็แยกออกไปอีกเป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
วิญญาณคือตัวจิต จิตเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ
เกิดที่ไหนดับที่นั้น จิตเกิดดับ นี่หลวงพ่อสอนอย่างนี้นะ

ดูลงไปเรื่อยนะ เรามาหัดแยกธาตุแยกขันธ์
แยกธาตุก็แยกกายออกเป็นธาตุ แยกขันธ์
นามธรรมทั้งหลาย มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
แยกไปทำไม
? แยกเพื่อให้เห็นความจริงเลยว่าตัวเราไม่มี

การที่หัดแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวตนออกเป็นส่วนๆนะ
สุดท้ายจะเห็นว่าแต่ละส่วนไม่ใช่ตัวเราหรอก
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
จะเห็นอย่างนั้นก็ล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน มีเรามีเขาได้
จะรู้เลยมีแต่รูปธรรมนามธรรม ไม่ใช่คนหรอก
ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา

ล้างความเห็นผิดตัวนี้ได้ ได้เป็นพระโสดาบันนะ
เพราะพระโสดาบันท่านเห็นความจริง ไม่มีสัตว์ไม่มีคน ไม่มีเราไม่มีเขา
แต่ต้องเห็นด้วยใจจริงๆ ถ้าเห็นด้วยการคิดเอายังใช้ไม่ได้

ถ้าเห็นด้วยใจจริงๆนะมันจะมีองค์ประกอบอื่นๆเกิดขึ้นอีกหลายอย่าง
คุณงามความดีหลายอย่างจะเกิดขึ้น อย่างศีลนี้จะบริบูรณ์ขึ้นมาอัตโนมัติเลย
มันเป็นวิธีเรียนของศาสนาพุทธนะ เรียนด้วยการแยกสิ่งที่เราคิดว่ามีอยู่จริง
แยกเป็นส่วนย่อยๆแล้วพบว่าไม่มีอยู่จริง เรียกว่าวิภัชวิธี
ต้องการให้เห็นความจริงว่าตัวเราไม่มี เราใช้วิภัชวิธี

ยกตัวอย่าง อย่างเราคิดว่ารถยนต์มีอยู่จริงๆนะ
เราจับรถยนต์มาถอดเป็นชิ้นๆ เราก็พบว่าพวงมาลัยไม่ใช่รถยนต์
กันชนก็ไม่ใช่รถยนต์ ถังน้ำมันก็ไม่ใช่รถยนต์
เก้าอี้ เบาะนั่ง อะไรนี่ก็ไม่ใช่รถยนต์
แยกออกไปเป็นส่วนๆแล้วพบว่ารถยนต์หายไป ไม่มีรถยนต์จริง

สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่เหมือนกัน พอจับแยกเป็นส่วนๆแล้วตัวเราหายไป ไม่มีตัวเรา
เหมือนกับเห็นว่ากันชนไม่ใช่รถยนต์นะ
เราก็จะเห็นเลย รูปธรรมไม่ใช่ตัวเรา
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละตัวๆไม่ใช่ตัวเรา
ภาวนาต้องมาให้ได้ตรงนี้นะ ถึงจะเรียกว่าขั้นเดินปัญญา
ถ้าไม่มีการเดินปัญญา ไม่มีวันได้มรรคผลนิพพาน

พระพุทธเจ้าเคยสอนว่าบุคคลเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
ปัญญาคือความเห็นจริง เห็นจริงขนาดไหนล่ะถึงจะได้มรรคผล
เห็นจริงว่าเราไม่มี ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีเราไม่มีเขา
มีแต่สภาวะธรรม บางอาจารย์ท่านก็เรียกสภาพธรรม
คือเห็นเป็นตัวสภาวะ อย่างความโกรธเป็นสภาวะ
ความโลภเป็นสภาวะ ความหลงฟุ้งซ่านเป็นสภาวะ
ความหดหู่เห็นสภาวะ ความลังเลสงสัยเป็นสภาวะ
ความสุขก็เป็นสภาวะ ความทุกข์ก็เป็นสภาวะ
ถ้าเราแยกออกมานะ เราจะเห็นเลยว่าแต่ละอันไม่มีเรา
ถ้าแยกเป็นเราก็จะดู อย่างความโกรธเกิดขึ้น
เราก็จะเห็นความโกรธมันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาสู่จิต
ไม่ใช่จิตด้วยไม่ใช่ร่างกายด้วย
แล้วความโกรธนะถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่จะเห็นว่าความโกรธไม่ใช่คน
รู้สึกไหมความโกรธเป็นนามธรรม เราไม่มีรู้สึกว่าเป็นคนแล้ว
ใครรู้สึกว่าเส้นผมเป็นคนมีไหม
?
ใครรู้สึกว่าเล็บเป็นคนมีไหม
?
ลองจับแยกๆๆออกไปไม่มีคนหรอก มีแต่รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดเลย

งั้นที่เรามาหัดภาวนากันแทบเป็นแทบตายนะ
มาหัดแยกรูปแยกนาม แยกธาตุแยกขันธ์
แยกไปเรื่อยจนวันหนึ่งปัญญามันแจ้งมันปิ๊งขึ้นมานะ
มันไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีเราไม่มีเขา ล้างความเห็นผิดได้
หน้าที่ของปัญญาคือหน้าที่ล้างความเห็นผิด
ไม่มีอะไรมีโทษมีภัยเท่าความเห็นผิดหรอก
พระพุทธเจ้าท่านเคยสอนนะ ท่านไม่เห็นอะไรมีพิษมีภัยเท่ากับมิจฉาทิฐิความเห็นผิด
อาศัยความเห็นผิดนะ เอาของที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน
เอาของที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
เสร็จแล้วก็เกิดรักใคร่หวงแหนในของที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา
รักใคร่ว่าเป็นตัวเราของเรา

พอมันหายไปก็กลุ้มใจ
มันแปรปรวนไปก็กลุ้มใจ มีความทุกข์
อย่าไปหลงว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา
หลงว่าร่างกายเป็นเรา พอร่างกายแก่ร่างกายเจ็บร่างกายตายก็กลุ้มใจทุรนทุรายขึ้นมา
แต่ถ้าเห็นความจริงว่ากายไม่ใช่เรานะ
มันแก่หรือวัตถุธาตุนี้แก่แล้ว ก้อนธาตุนี้แก่แล้ว
ก้อนธาตุนี้แปรปรวนไป ก้อนธาตุนี้แตกสลายไป
ไม่ใช่คนแก่ คนเจ็บ คนตาย
เนี่ยธรรมะของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งมากนะ

อย่างหลวงพ่อตอนเด็กๆ เคยเรียนสมัยประถมก็เคยเรียนเรื่องอริยสัจ
ตอนเด็กๆก็ท่องไว้นะ อะไรคือทุกข์
?
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์
เค้าสอนกันแค่นี้ ให้เด็กเรียนก็เรียนแค่นี้เอง
เราก็ปิ๊งเลยว่า คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นทุกข์
เนี่ยมีคนเข้าไปทันทีเลย เพราะอะไร
?
เพราะใจเราคุ้นเคยที่จะมีคน ใจเรามีมิจฉาทิฏฐิ มีการหมายรู้ผิดๆ
ได้ยินคำสอนว่า “เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์”
ก็เอาเลยว่า “คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นทุกข์”
แท้จริงท่านสอนว่า “ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์” มันไม่มี “คน”


ต้องภาวนานะ ต้องภาวนา
ต้องเรียน ภาวนากันหนักหนาสาหัสเลย
กว่าจะถอนความเห็นผิดว่าธาตุขันธ์ทั้งหลายไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา
วิธีถอนความเห็นผิด มีทางเดียวคือเห็นให้ถูก
ไม่ใช่ไปคิดเอาว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่คน ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา
จะถอนความเห็นผิดได้ต้องเห็นถูก
มันเหมือนความมืดนะ ความเห็นผิดเปรียบเหมือนความมืด
ความมืดจะหายไปก็เมื่อเกิดความสว่าง
มิจฉาทิฏฐิจะหายไปก็เมื่อเกิดสัมมาทิฏฐิ

ต้องรู้ให้ถูก รู้ให้ถูกคือรู้ของจริง ดูลงมาในสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ตัวเรา
รูปธรรมทั้งหลาย นามธรรมทั้งหลาย
ดูไปเรื่อยก็จะเห็นเลย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา
อย่างร่างกายนะ มีสติไปรู้มัน จะรู้สึกถึงความเห็นก้อนธาตุของมัน เป็นวัตถุเท่านั้นเอง

สวนสันติธรรม
วันพฤหัสบดี ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓