Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๑๐

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม: ทำอย่างไรถึงจะเจริญสติให้เห็นว่ากายใจนี้ไม่ใช่เราได้ครับ

ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดู ดูทุกวันๆ นะ ดูร่างกายเค้าทำงาน
ดูความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ที่เกิดขึ้น
ดูสังขารที่ปรุงดี ที่ปรุงชั่ว ดูเค้าทำงาน
ดูจิตที่เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ดูเค้าทำงาน ไม่เข้าไปแทรกแซงเค้า

อย่างจิตนี้เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
ไม่ได้ภาวนาเพื่อให้จิตไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง
จิตมันคิด มันนึก มันปรุง มันแต่ง ตามรู้มันมีสติรู้มัน
เราจะเห็นเลยว่า จิตมันคิด มันนึก มันปรุง มันแต่ง มันทำหน้าที่ของมัน
มันทำหน้าที่ของมันเฉพาะตัวของมัน เราห้ามไม่ได้บังคับไม่ได้
สั่งไม่ให้คิด มันจะคิด สั่งไม่ให้นึก มันจะนึก
สั่งไม่ให้ปรุง มันก็ปรุง สั่งไม่ให้แต่ง มันก็แต่ง
ทำหน้าที่ของเค้าไปเรื่อยๆ นี่จิตมีหน้าที่อย่างนี้

ร่างกายมันก็ทำหน้าที่ของร่างกาย
มีหน้าที่ไปยืน ไปเดิน ไปนั่ง ไปนอน
มีหน้าที่ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เค้าทำหน้าที่ของมัน ห้ามมันไม่ได้
เวทนาก็ทำหน้าที่ของเวทนา ร่างกายนี้เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์
จิตใจนี้ เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็เฉยๆ
ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ทั้งหลายทั้งปวง เป็นการทำหน้าที่ของเค้า ของเวทนา
เนี่ยเราดูลงไปเรื่อย แล้วเห็นแต่สภาวะธรรมทั้งหลายเค้าทำหน้าที่ของสภาวะธรรม
สภาวะธรรมก็แสดงหน้าที่ของเค้าไป ไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา ร่างกายหายใจไม่ใช่เราหายใจ
ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน
ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน เค้าทำหน้าที่ของเค้าเองนะ
ร่างกายสุข ร่างกายทุกข์ ความสุขความทุกข์ก็ทำหน้าที่ของเค้า
มีมาแล้วก็หายไป หายไปแล้วก็มีมา
กุศล อกุศล ก็ทำหน้าที่ของเค้า อย่างความโกรธเกิดขึ้น
หลายคนภาวนาทำอย่างไรจะไม่โกรธ ทำอย่างไรจะไม่โลภ ทำอย่างไรจะไม่หลง
ความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็ทำหน้าที่ของเค้าอย่าไปตกใจ

หน้าที่ของเรา มีสติตามรู้ตามดูเค้าไปเรื่อย
แล้วก็เห็นว่าเออ เค้าก็ทำหน้าที่ของเค้า
ถ้าเราไม่ไปแทรกแซงนะ ไม่ไปหลงกล ตกอกตกใจขึ้นมา
จิตใจเราก็ปลอดโปร่ง กิเลสทั้งหลายครอบงำใจเราไม่ลง
เพราะงั้นเราตกอกตกใจขึ้นมา มันครอบงำเอา สู้มันไม่ได้
เพราะงั้นหัดรู้หัดดูไปสบายสบาย ดูธาตุดูขันธ์มันทำงาน

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ถาม: สับสนค่ะ การที่เราตั้งใจภาวนา ตั้งใจทำความเพียร
แต่ผลที่ได้คือผิดที่เราตั้งใจเกินไป พอรู้เข้าจิตเกิดรู้สึกท้อแท้ว่าทำอะไรก็ผิด
แม้ความเพียร ความตั้งใจ ซึ่งคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีสิ่งที่ควรทำก็ยังผิด
จะไม่ตั้งใจก็ทำไม่ได้ก็จิตเขาตั้งใจเอง แล้วพอดีทำอย่างไรคะ ?


เวลาเราภาวนาไม่ต้องกลัวผิดนะ อย่างไรก็ผิด
ผิดมากผิดน้อย ค่อยๆ เรียนรู้ๆไป จากสิ่งที่ผิด
อันไหนผิดจนแจ่มแจ้งแล้ว มันก็ไม่ผิดซ้ำอีก
อันไหนยังไม่แจ่มแจ้ง มันก็ซ้ำอีก

ยกตัวอย่างง่ายๆเลย อย่างเราเห็นความโกรธเกิดขึ้น แล้วเราไม่ชอบเลย
หาทางละใหญ่ ยิ่งละก็ยิ่งโมโหใหญ่นะ ทำไมมันไม่หายโกรธสักที
ที่แรกโกรธคนอื่นนะ ตอนหลังโกรธตัวเอง ทำไมมันดื้อ มันไม่หายโกรธ
เนี่ยดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก อยู่นานเลยนะ แรมเดือน แรมปี บางคน
ถึงรู้ โอ้!ความโกรธก็เป็นอนัตตานะ จิตที่มันโกรธ จิตมันก็เป็นอนัตตา
จิตมันปรุงความโกรธขึ้นมา ห้ามมันไม่ได้
เนี่ยกว่าจะเข้าใจแต่ละอัน แต่ละอัน บางทีแรมปีนะ
นานกว่าจะเข้าใจ เข้าใจไม่ใช่เข้าหู ไม่ใช่เข้าสมอง
เข้าหูเข้าง่าย ฟังหลวงพ่อพูดก็เข้าหูแล้ว เข้าแล้วก็ออก เข้าแล้วก็ออกนะ
บางคนเข้าแล้วก็เข้าไปอยู่ที่สมอง จำไว้ ไม่ได้เข้าใจ
ฉะนั้นเราเรียนกรรมฐาน ต้องเรียนจนมันเข้าใจ เข้าถึงใจจริงๆ
คนโบราณเก่งนะ บัญญัติศัพท์ออกมานะ สะใจมากเลย
ถ้าเราภาวนาเป็นจะรู้เลยว่า คนไทยโบราณบัญญัติศัพท์เก่งมาก....

...คนไทยโบราณนั้น ความรู้ทางด้านจิตใจเขาลึกซึ้งมากนะ
เขาบัญญัติศัพท์มาแต่ละคำ แต่ละคำที่เกี่ยวกับจิตใจนะ ลึกมากเลย
"เข้าใจ" ไม่ใช่ธรรมดานะ เข้าใจ ไม่ใช่เข้าหู ไม่ใช่เข้าสมอง
"ใจดำ" ดำมั้ย? ดำได้มั๊ย? ดำจริงๆ ใช่มั๊ย?
"สบายใจ" ดูแต่ละตัว แต่ละตัวนะ มันให้ความรู้สึกทั้งนั้นเลย
ฉะนั้นเราดูนะ ค่อยๆฝึกไป สังเกตไปเรื่อยๆ ดูความเปลี่ยนแปลง
ง่ายๆ กรรรมฐานที่ง่ายๆ เหมาะกับคนในเมือง
คอยดูความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตัวเองไปเรื่อย
เนี่ยดูอย่างนี้นะ ไม่ต้องไปบังคับจิตให้นิ่งหรอก บังคับจิตให้นิ่งก็ตึงไป
ไม่ได้ลืมจิต หลงลืมจิต ไม่ได้ดูจิต อันนี้หย่อนไป ใช่มั๊ย?
ที่ผิดมีตึงไปกับหย่อนไป เผลอไปกับเพ่งไว้ ที่ผิดมันก็มีแค่นี้เอง
แต่ที่พอดี พอดี มันทำไม่ได้ พอดี พอดี มันทำไม่ได้
อยู่ๆ เราจะทำให้พอดีมันจะไม่พอดี มันจะตึงเกินไป
แต่เบื้องต้นจะตึงก่อนก็ไม่เป็นไร ก็ทำไปก่อน
พอรู้ทันว่ามันตึง ก็ค่อยๆคลายให้มันพอดี
แต่เบื้องต้นจะเอาให้พอดีมันจะหย่อนไป
บางทีหย่อนไปนะ บางทีก็ตึงไป
บางทีเห็นนะ แหม!ตอนนี้มันตึงไปนะ พยายามคลาย คลาย คลายมากไป
อย่างพวกเราหลายคนติดเพ่งมาก่อนใช่มั๊ย?
พอมาฟังหลวงพ่อ เลิกเพ่ง จิตฟุ้งซ่านเลย รู้สึกมั๊ย?
เคยเพ่งอยู่ พอเลิกเพ่ง จิตฟุ้งซ่านเลย สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง
มันก็ไม่พอดีอยู่นั่นแหละ เราก็ค่อยๆรู้ ค่อยๆดูไปนะ
ว่าตอนนี้ตึงไป ตอนนี้หย่อนไป ค่อยสังเกตไป
ตรงที่เรารู้โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ตรงนั้นแหละพอดี
ฉะนั้นพอดีไม่ได้ทำขึ้นมานะ แต่ต้องที่เรารู้โดยไม่เข้าไปแทรกแซง
รู้อย่างเป็นกลาง อันนั้นแหละพอดีอยู่แล้ว
นั้นมันง่าย มันเหมือนเส้นผมบังภูเขานะ
แต่กว่าจะเข้าใจว่ามันง่ายขนาดนี้ ก็ยากมาแล้ว
อาศัยอดทนนะ ค่อยสังเกตจิตใจของเราไป
อันนี้ตึงไป อันนี้หย่อนไป สังเกตไป ใจอยากให้พอดี ก็รู้อยาก
ใจอยากให้พอดี ทำให้ดิ้นรน ดิ้นรนได้ทั้งสองด้าน
ดิ้นรนบังคับตัวเอง กับดิ้นรนที่จะปล่อยการบังคับ
พอปล่อยการบังคับมากก็หลุดเลย ฟุ้งซ่านแทน
ฉะนั้นให้เรารู้ทุกอย่างอย่างที่เขาเป็นนะ ไม่ต้องไปแทรกแซงเขา
จิตใจเป็นอย่างไรรู้ลงไปเรื่อยๆ จิตใจเป็นสุขก็รู้ จิตใจเป็นทุกข์ก็รู้
จิตใจไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ อยู่ก็รู้ หัดอย่างนี้ หัดดูไปง่ายๆ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓