Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๐๙

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช




ถาม
: รู้กาย รู้ใจ กับ รู้รูป รู้นาม ทั้งสองคำนี้เหมือนกันใช่ไหมครับ

รู้สึกกายรู้สึกใจ กายไม่ตรงกับคำว่ารูปทีเดียว ทะลุกายเข้าไปถึงจะเห็นรูป
อย่างร่างกายเราเนี่ย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นร่างกายเราใช่ไหม
เป็นส่วนประกอบในร่างกายเราใช่ไหม
ผม ไม่ใช่รูป อะไรคือรูป ธาตุดินน้ำไฟลมที่ประกอบกันเป็นผมต่างหากคือรูป
แรกๆ เราเห็นกายนะ ยังไม่เห็นรูปหรอก
ต้องฝึกกันไปช่วงหนึ่งถึงจะมองทะลุสิ่งที่เรียกว่ากายเนี่ยเข้าไปเห็นรูปได้
หรือคำว่าใจเนี่ยก็ไม่ใช่แทนคำว่านามได้ นามธรรมไม่ได้มีแค่ใจ
ใจเป็นแค่ธรรมชาติรูปอารมณ์

คำว่าจิต คำว่าใจ คำว่าวิญญาณ เป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
มีความหมายอย่างเดียวกันแต่ใช้ในคนละที่เท่านั้นเอง คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์
อย่างวิญญาณนี่ใช้เวลาไปรู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พวกนี้พวก วิญญาณ
รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทางใจ อันแรกนี่เป็นวิญญาณทางใจเรียก มโนวิญญาณ
ตัวใจนะเป็นตัว...อืม ชักยากแล้ว

อย่างตัวมโน ตัวใจแท้ๆนะ คือจิตบางชนิด
จิตที่ทำหน้าที่รับอารมณ์เนี่ย รับอารมณ์ มีอยู่ไม่มาก
ส่วนมากจะเป็นตัวที่เรียกว่า จิต เที่ยวเสวยอารมณ์ต่างๆ
นี่เราไม่ต้องไปเรียนมากขนาดนั้นนะ
เห็นไหมถ้าพูดมากแล้วน่ากลัว ชาตินี้ไม่ภาวนาแล้วหนีดีกว่า
หลวงพ่อเลยพูดง่ายๆ ว่า ใจ
แล้วก็ไม่ได้มีแค่ใจอย่างเดียว
ในความเป็นจริงมันมีสิ่งที่เรียกว่าเจตสิกคือสิ่งที่ประกอบกับจิตมาเกิดร่วมด้วย
ความรู้สึกสุขทุกข์นี่ไม่ใช่ใจหรอกนะ แต่โมเมเอาเป็นใจไปก่อน เป็นส่วนของใจ
กุศล อกุศล ไม่ใช่ตัวใจหรอก เป็นสังขาร
ก็โมเมเอาไปก่อนว่าเนี่ยดูใจของตัวเอง
มันเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นสุข เป็นทุกข์ อนุโลมเอาก่อน
เรียนอย่างนี้เอาง่ายๆ ก่อนนะ ต่อไปก็ค่อยๆ ทะลุลงไป
ทะลุร่างกายเข้าไปเห็นรูป ทะลุใจเข้าไปก็กระจายออกไป อันนี้จิตนะ อันนั้นเจตสิก

เจตสิกก็มีหลายชนิด อันนี้เวทนา อันนี้สัญญา อันนี้สังขาร มีสามแบบ
มันเห็นเองนะ มันเห็นเองรู้เอง ไม่ต้องตกใจวันหนึ่งก็เห็น
มีท่านที่เรียนอภิธรรมท่านนี้
ท่านบอกว่าที่หลวงพ่อพูดนี้นะมันไม่ตรงภาษาอภิธรรมหรอกนะ แต่สภาวะเนี่ยมันตรงกัน
งั้นที่พวกเราภาวนากันอยู่ทุกวันนี้ที่เราหัดทำวิปัสสนากันอยู่ทุกวันนี้ จริงๆ เราเรียนอภิธรรมอยู่
แต่เราเรียนอภิธรรมในภาคปฏิบัติ เราไม่ได้เรียนอภิธรรมในภาคทฤษฏี
อภิธรรมเนี่ยจะสอนให้เราเห็นเลย มีแต่รูปธรรมนามธรรมนะ
ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา เห็นไหมเราเรียนลงมาในกายในใจ เนี่ยเรียนอภิธรรมอยู่
หรือเราเรียนแล้วเราเห็นการทำงานของจิตใจที่จะปรุงแต่งความทุกข์ขึ้นมา นี่ก็เป็นอภิธรรม
เรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาทเรื่องอะไรต่ออะไร
ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา

เพราะงั้นเราอย่าไปตกใจนะ
ใครเขาพูดเราฟังไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร เรารู้สึกกายรู้สึกใจไว้ก่อน
ความรู้สึกนะ เวลาหัดรู้สึกในกายรู้สึกในใจแล้ว
ต่อไปเราฝึกให้ใจตั้งมั่น ฝึกสมาธิ ฝึกให้ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
เรามีสติ รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหรือความหยุดนิ่งของกายของใจ
มีสตินะ รู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงหรือว่ามันหยุดนิ่งก็ได้ของกายของใจ
เช่นกายมันนิ่งก็รู้สึก กายมันเคลื่อนไหวก็รู้สึก
จิตมันนิ่งก็รู้สึก จิตมันเคลื่อนไหวก็รู้สึก
เนี่ยหน้าที่รู้อันนี้ เรียกหน้าที่ของสติ

เครื่องมือที่จะเจริญปัญญาตัวที่สองที่เราฝึกนะ คือสมาธิ
วิธีฝึกสมาธิอย่างง่ายที่สุดเลยนะ หาอารมณ์กรรมฐานมาสักอันหนึ่งมาทำ
หาอารมณ์กรรมฐานมาสักอันหนึ่ง
จะพุทโธก็ได้ จะรู้ลมหายใจ จะรู้ท้องพองยุบก็ได้ อะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งนะ
พอเรามีอารมณ์กรรมฐานมาอันหนึ่งแล้วเนี่ย เราคอยรู้ทันจิตไว้

บางคนคิดมากนะบอกจะไม่เรียนเรื่องจิต
ไม่เรียนเรื่องจิตไม่ได้
การเรียนเรื่องจิตจะทำให้เราเกิดสมาธิ
บทเรียนที่หนึ่งของพระพุทธเจ้านะ ชื่อศีลสิกขา เรียนแล้วเราได้ศีล
บทเรียนที่สองชื่อจิตสิกขา เรียนแล้วจะได้สมาธิ
บทเรียนที่สามชื่อปัญญาสิกขา เรียนแล้วจะได้ปัญญา
เราชอบไปพูดถึงผล ชอบไปพูดว่าศีล สมาธิ ปัญญา ฝึกศีล สมาธิ ปัญญา พูดเลื่อนลอยไป
ที่เราต้องเรียน ที่เราต้องฝึกนะ เรียนเรื่องศีล เรียนเรื่องจิต เรียนเรื่องปัญญา วิธีเจริญปัญญา
แล้วสิ่งที่จะได้มาคือศีล สมาธิ ปัญญา ต่างหาก
เพราะงั้นไม่ใช่ไปฝึกศีล สมาธิ ปัญญานะ “ต้องเรียน”
เรียนว่าทำอย่างไรมีศีล ศีลผิดขึ้นมาได้เพราะกิเลสชั่วหยาบครอบงำ
ราคะ โทสะ แรงๆ ครอบงำจิตใจได้
ถ้าเรามีสติ คอยรู้ทันจิตใจ ราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิตใจไม่ได้ ไม่ทำผิดศีลหรอก
แต่ถ้ายังภาวนายังไม่เก่งพอ ราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำใจได้
ตรงนี้ต้องอดทนอดกลั้น ตั้งใจงดเว้นเลย
ถึงกิเลสจะครอบงำเราก็ไม่ยอมทำผิดทางกาย ทางวาจา ไม่ไปล่วงเกินคนอื่น นี่เรียกว่ามีศีลนะ
ต้องเรียนนะ ศีลมีตั้งหลายแบบ ศีลมีตั้งสี่อย่าง
เราเอาศีล ๕ ให้ได้ก่อน
อย่างไรก็ตั้งใจรักษาศีล ๕ ไว้

ส่วนการเรียนเรื่องจิตเนี่ย ไม่ยากอะไร
หาอารมณ์กรรมฐานมาอันหนึ่งแล้วสักเกตจิตไป
พุทโธแล้วสักเกตจิต รู้ลมหายใจแล้วสักเกตจิต ดูท้องพองยุบแล้วสักเกตจิต
รู้อะไรเป็นหลัก รู้จิตเป็นหลัก รู้อารมณ์กรรมฐานเป็นแบคกราวน์ ใช้ดูจิตเป็นหลักนะ

เพราะงั้นที่ดูจิต ดูจิตเนี่ย สิ่งที่พวกเราจะได้คือสมาธินะ แต่ไม่ถึงขั้นปัญญานะ
ดูจิตให้เกิดปัญญาเป็นอีกแบบหนึ่ง คนละแบบกัน
ต้องแยกธาตุแยกขันธ์ แยกจิต แยกเจตสิก อะไรออกไปโน่น
จนกระทั่งเห็นวิถีการทำงานของจิตนะ
เห็นปฏิจจสมุปบาท เห็นอะไรพวกนั้น ถึงจะเป็นเรื่องดูจิตจริงๆ

เพราะงั้นเบื้องต้นเนี่ย เราสังเกตจิตก่อน
พุทโธ พุทโธ จิตหนีไปรู้ทัน
หายใจเข้า หายใจออก จิตหนีไปรู้ทัน
ดูท้องพองยุบจิตหนีไปรู้ทัน
รู้ยืนเดินนั่งนอนอยู่รู้กายยืน การเดิน การนั่ง การนอน จิตหนีไปแล้วรู้ทัน
ให้รู้ทันจิตอย่างนี้บ่อยๆ พอเรารู้ทันจิตที่มันหนีไป
จิตที่มันหลงไป จิตที่มันไหลไป ซึ่งหลวงปู่ดูลย์เรียกว่าจิตออกนอก
จิตมันออกนอกนะมันลืมตัวเองไป
สังเกตดูจิตเราจะลืมตัวเองตลอด
สวดมนต์นะ ลองสวดมนต์ บางคนใช้บทสวดมนต์เป็นวิหารธรรมก็ได้
อะระหังสัมมาสัมพุทโธ ยังไม่ทันจะภควาเลยจิตหนีไปแล้ว
สวดย่อๆ ก็สวดพุทโธ พุทโธ พุทโธ นี้ก็คือสวดมนต์นั่นแหละ
เพราะงั้นเราสังเกตที่จิต
พุทโธ พุทโธ แล้วจิตหนีไปรู้ทัน
มาหัดสังเกตจิตที่หลงไป จิตที่ไหลไป
จิตที่ฟุ้งไป จิตที่ลืมตัวเองในปัจจุบัน ลืมอารมณ์กรรมฐานที่กำลังหัดอยู่
มันจะลืมตลอดแหละ รู้สึกได้แว๊บๆ เนี่ย เดี๋ยวก็ลืมไป

หัดอย่างนี้เรื่อยนะ ต่อไปพอจิตไหลปั๊บมันจะรู้สึก
แล้วมันจะตั้งมั่นขึ้นมา ก็ตั้งได้ทีละแว๊บเดียว
เรียกว่ามีขนิกกสมาธิ ตั้งได้ทีละนิดเดียว แล้วไหลอีก
ไหลอีกรู้อีกแล้วจะตั้งได้อีก ไหลอีกรู้อีกแล้วจะตั้งได้อีก
พอรู้ถี่ๆ แล้วมันก็ตั้งถี่ๆ ขึ้นมา ตั้งได้บ่อยๆ
พอมันตั้งได้ถี่ยิบขึ้นมา มันจะมีความรู้สึกเหมือนว่าเรารู้สึกตัวได้ทั้งวันเลย
จะรู้สึกเหมือนกับต่อเนื่อง จริงๆไม่ต่อเหนื่อง
จริงๆเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เนี่ยหัดอย่างนี้นะไม่ยากอะไรหรอก
ตั้งใจให้เด็ดเดี่ยว แต่ไม่ใช่ทำกรรมฐานเพื่อบังคับให้จิตนิ่ง

พวกเราหลายคนภาวนามานานไมได้ผล
เช่นไปรู้ลมหายใจแล้วก็ไปบังคับจิตให้สงบ
ไปท่องพุทโธก็ไปบังคับจิตให้สงบ
ไปดูพองยุบก็ให้จิตไปแนบนิ่งอยู่กับท้อง
ไปเดินจงกรมก็ให้จิตไปแนบไปนิ่งไปสงบอยู่กับเท้า อย่างนี้ไม่ได้
อย่างนี้ไม่ได้ทำให้เกิดสมาธิคือความตั้งมั่น
แต่ทำให้เกิดความสุขความสงบเท่านั้นเอง

สิ่งที่เราต้องการฝึกให้เกิดขึ้นมานะคือความตั้งมั่น
ความสงบเอาไว้ใช้พักผ่อน
คนไหนทำได้ทำ ทำแล้วดีไหม ดี มีประโยชน์ไหม มี
ถ้าจิตได้รับความสงบเป็นครั้งเป็นคราวนะ
เช่นเราพุทโธจิตสงบอยู่กับพุทโธ
หายใจจิตสงบอยู่กับลมหายใจ
ดูท้องพองยุบจิตสงบอยู่กับท้อง
เราจะมีแรง จิตใจจะมีเรี่ยวมีแรง แต่ยังเดินปัญญาไม่ได้

ต้องฝึกให้มีจิตอีกชนิดหนึ่ง คือจิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา
งั้นเราฝึกนะ ฝึกให้จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตเป็นคนดูทุกอย่างที่เกิดขึ้น
หัดดู เช่นพุทโธ พุทโธ ไปจิตหนีไปคิดรู้ทันนะ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา
ตรงที่มันตั้งมั่นขึ้นมาเนี่ย จิตมันจะทำตัวเป็นผู้รู้ผู้ดูได้
แต่ถ้าจิตไหลไป จิตส่งออกนอกไป จิตจะไม่เป็นผู้รู้ผู้ดู
จิตจะกลายเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง

งั้นเราฝึกนะ พอจิตหลงไปแล้วรู้ จิตหลงไปแล้วรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตหลงไปคิด
ถ้าเมื่อไหร่รู้ทันว่าจิตหลงไปคิดนะ เมื่อนั้นจะเกิดจิตผู้รู้ขึ้นมา เพราะรู้กับคิดเนี่ยตรงข้ามกัน
เมื่อไหร่รู้เมื่อนั้นไม่คิด เมื่อไหร่คิดเมื่อนั้นไม่รู้นะ จะกลับข้างกัน
แต่ว่าเราต้องคิดไหม ต้องคิด เพราะธรรมชาติของจิตนั้นต้องคิด
เพียงแต่พอคิดแล้วเรารู้ทัน กระแสความคิดนั้นจะขาดลงไปเกิดความรู้สึกขึ้นมาแว่บนึงนะ
เดี๋ยวมันก็คิดอีก รู้อีกนะ ก็ขาด ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา

หัดรู้สึกอย่างนี้บ่อยๆ ในที่สุดมันจะเห็นว่า ในทุกๆปรากฏการณ์เนี่ยมีตัวร่วมอยู่ตัวหนึ่ง
ในทุกๆ ปรากฏการณ์นะ เช่นร่างกายเคลื่อนไหวก็เป็นปรากฏการณ์อันหนึ่ง
ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน นี่เป็นปรากฏการณ์
ร่างกายเป็นสุข เป็นทุกข์ นี่เป็นปรากฏการณ์
จิตใจเป็นสุข เป็นทุกข์ นี่เป็นปรากฏการณ์
จิตใจโลภ โกรธ หลง นี่เป็นปรากฏการณ์
จิตใจสงบ จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจแอบไปเพ่ง
ทั้งหมดนี้เป็นปรากฏการณ์แต่ละชนิด แต่ละชนิด
ถ้าพูดให้ดูน่ากลัวนะ ก็นี่แหละคือภูมิล่ะ ภูมิต่างๆ ภพต่างๆ ภพย่อยย่อยๆ
ขณะนี้จิตมีความโกรธ เป็นภพของสัตว์นรก
ขณะนี้จิตมีความโลภ เป็นภพของเปรต
เป็นภพย่อยๆ ในใจเรา แต่ละภพๆ ก็คือปรากฏการณ์อันหนึ่งที่เกิดขึ้น

ถ้าเราฝึกหัดรู้หัดดูเรื่อยๆ เราจะพบว่าในทุกๆ ปรากฏการณ์นั้นมีตัวร่วม คือมีการรับรู้อยู่ มีตัวผู้รู้อยู่
ความโกรธเกิดขึ้นเห็นไหม มันจะมีจิตดวงหนึ่งเป็นคนรู้ความโกรธ
ความโลภเกิดขึ้น จะมีจิตคนหนึ่งเป็นคนรู้ว่าความโลภเกิดขึ้น
ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน มีจิตเป็นคนรู้ว่าร่างกายยืนเดินนั่งนอน

เราฝึกอย่างนี้นะ เราจะจับเอาตัวร่วมของทุกๆ ปรากฏการณ์ออกมาได้
ตัวร่วมของทุกปรากฏการณ์นี้คือตัวจิตนั่นเอง
จิตนี้แหละเป็นใหญ่ เห็นไหม อยู่ในที่ทุกที่เลย อยู่ในทุกปรากฏการณ์เลย
จิตนี้เป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นหัวหน้าหมายความว่าไง
ถ้าจิตดีนะมันก็เป็นกุศล จิตชั่วมันก็เป็นอกุศล
จิตนี้แหละสุข จิตนี้แหละทุกข์ จิตนี้แหละเป็นตัวรู้
จิตเป็นผู้กระทำกรรม แล้วกายวาจาก็ทำตาม
จิตเป็นผู้เก็บสะสมวิบากกรรมเอาไว้
จิตเป็นผู้รับผลของกรรมสืบเนื่องไป
จิตเป็นผู้สร้างภพสร้างชาติต่อได้อีก สร้างขันธ์ ๕ ต่อได้อีก

เราค่อยฝึกนะ ค่อยฝึกไป จนกระทั่งเรารู้ตัวจิตขึ้นมา
จิตนี้เป็นตัวร่วมในทุกๆ ปรากฏการณ์
ในขณะที่โกรธมีจิตไหม มี ถ้าไม่มีจิตใครจะโกรธล่ะ จิตมันโกรธต่างหาก
ในขณะที่โลภมีจิตไหม มีใช่ไหม
ในขณะที่หลงมีจิตไหม ก็มี
ในขณะที่มีความสุขมีจิตไหม ในขณะที่ทุกข์ก็มีจิตใช่ไหม
ในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า ก็ยังมีจิตอยู่ มีกายอยู่ก็มีจิตอยู่เรื่อยๆ
จิตนี้เป็นตัวร่วมในทุกๆ สถานะการณ์เลย

เราหัดดูนะ สถานการณ์อันนี้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป อ๋อจิตมันเป็นคนรู้
อันนี้มาแล้วก็ไป อ๋อจิตมันเป็นคนรู้ ฝึกอย่างนี้นะ จิตมันจะตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
แล้วมันก็จะเห็นว่าทุกๆ ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาผ่านไปนั้น ถ้ามีเหตุมันก็มา ถ้าไม่มีเหตุมันไม่มาหรอก
หรือมีเหตุมันก็มา ถ้าหมดเหตุมันก็ไป ทุกอย่างเกิดจากเหตุหมดเลย จิตเป็นแค่คนรู้ จิตเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์

นี่เราทำคล้ายๆ งานวิจัยนะ เรียกว่าธรรมวิจัย
เห็นสภาวะธรรมทั้งหลายไหลมาไหลไปทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งที่เป็นรูปธรรมทั้งที่เป็นนามธรรม
ไหลมาไหลไปตลอด จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดูอยู่
เมื่อจิตทำตัวเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ มันจะเห็นความจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง
เห็นว่าความโกรธก็อยู่ชั่วคราว มีเหตุก็เกิดหมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ไล่ก็ไม่ไป
ความโลภ ความหลง ความสุข ความทุกข์ ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวไปหมดเลย
นี่เรียกว่าเราเดินปัญญานะ คือเห็นทุกอย่างผ่านมาผ่านไป เพราะเรามีจิตซึ่งตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูได้
แต่ต้องระวังถ้าฝึกให้มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว ต้องระวังอย่าไปเพ่งตัวผู้รู้เป็นอันขาด
ถ้าเพ่งตัวผู้รู้แล้วจิตจะนิ่งแล้วไม่เดินปัญญาต่อ

เรามีแค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจของตัวเอง
แค่รู้สึกถึงความมีอยู่นะ อย่าเพ่งมัน
รู้สึกถึงความมีอยู่ของจิตใจ แล้วก็เห็นสภาวะทั้งหลายเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายนั้นไหลผ่านหน้าเราไป
เหมือนเรายืนอยู่บนบก เห็นของลอยน้ำมา เรายังรู้สึกถึงความมีอยู่ของตัวเองที่อยู่บนบกนะ
แต่ว่าเห็นธรรมชาติที่ไหลผ่านไป ผ่านไป
จะเห็นทันทีเลย ธรรมชาติที่ผ่านไปซึ่งๆ หน้าเนี่ยไม่มีเราสักหน่อย ไม่มีคนไม่มีสัตว์เลย
ความโกรธไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ความโลภไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
สุขทุกข์ก็ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขาเลย
ฝึกไปเรื่อยแล้วจะเห็นอีก ตัวผู้รู้เองก็เกิดแล้วก็ดับ
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ไม่สืบเนี่องจริงหรอก
นี่มันก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์นะ มันเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์บ้าง ธรรมชาติที่คิดบ้าง
ในที่สุดจะเห็นเลย ขันธ์ ๕ ทั้งหมดนะ
ทั้งปรากฏการณ์ทั้งหมดของขันธ์ ๕
ทั้งตัวจิตที่ไปรู้ปรากฏการณ์ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกันหมด
ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีเรา ไม่มีเขา เหมือนๆ กันนั่นแหละ

ค่อยๆ ฝึกไปนะ ขั้นแรกถือศีลไว้ แล้วก็หัดรู้สึกตัวบ่อยๆ
หัดรู้สภาวะบ่อยๆ สติจะได้เกิด
หัดรู้ทันจิตที่ไหลไปบ่อยๆ จะได้มีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
พอมีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ไม่ประคองนะ
แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของความมีผู้รู้ผู้ดู เห็นปรากฏการณ์ผ่านไป
แล้วจะเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับ
กระทั่งตัวจิตผู้รู้ก็เกิดแล้วดับ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิดนะ

สวนสันติธรรม
วันเสาร์ ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๓