Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๐๗

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

 


ถาม
: อยากเป็นคนดีจะได้พ้นจากกิเลสที่คอยเข้ามารบกวนจิตใจอยู่เรื่อยค่ะ

สำรวจตัวเองด้วยความซื่อๆ ซื่อตรง
แต่ละคนถ้าไม่เคยภาวนานะ จะรู้สึกว่าเราเป็นคนดี
ฉันดีแล้ว ฉันดี ฉันวิเศษ ดีกว่าคนอื่นเยอะแยะเลย

มาภาวนาถึงจะรู้เลยว่ากิเลสย้อมใจมอมแมมอยู่ตลอดวันตลอดคืนเลย
ดูออกไหม เยอะนะ ยุบยิบๆ เต็มไปหมดเลย
จะหันซ้ายหันขวากิเลสเยอะแยะไปหมดเลย
เดี๋ยวลองสังเกตนะ เวลาแมลงวันมาตอมเนี่ย มีโทสะไหม นิดเดียวก็มีนะ โมโหนะ

งั้นเรื่องเล็กเรื่องน้อยนะ กิเลสเนี่ยแทรกถี่ยิบไปหมดเลย
อยู่ที่สติปัญญาของเราเนี่ยจะรู้ให้ทัน
งั้นเราอยากรู้ทันกิเลสนะในใจเรา ยิ่งเราล้างกิเลสได้มากเท่าไหร่ กุศลยิ่งเกิดได้มากเท่านั้น
เพราะกิเลสกับกุศลเป็นสิ่งตรงข้ามกัน
กิเลสเป็นความมืด กุศลเป็นความสว่าง
กิเลสเป็นความร้อน กุศลเป็นความเย็น
เราพัฒนา อย่างเราลดความมืดลงไป ความสว่างมันก็เพิ่มขึ้น
ลดความร้อนลงไป ความเย็นมันก็เพิ่มขึ้น
งั้นถ้าเราลดอกุศลได้นะ กุศลมันก็เจริญเองแหละ
ลดราคะได้ เกิดกุศล ชื่ออโลภะ
มีโลภะนะ กุศลที่ตรงข้ามกับโลภะ เค้าเรียกอโลภะ จิตที่ไม่โลภเนี่ยเป็นกุศล
มีโทสะ เป็นอกุศล กุศลก็คืออโทสะ ไม่มีโทสะ
มีโมหะนะ ความหลง เป็นอกุศล ตัวกุศลก็คืออโมหะ
อโมหะเป็นชื่อหนึ่งของปัญญา ปัญญานั่นแหละคือตัวอโมหะ
ถ้าเมื่อไหร่ล้างโมหะได้ก็เกิดปัญญาเมื่อนั้นแหละ
เมื่อไหร่มีปัญญาได้ก็ล้างโมหะได้เมื่อนั้นแหละ

นี่เราจะล้างโมหะ ก็ล้างด้วยปัญญา
ปัญญาก็เดินวิปัสสนา เรียนรู้ความจริงของรูปนาม ของกาย ของใจ รู้ความจริงก็ล้างโมหะได้
ถ้าโมหะถูกทำลายนะ โลภะ โทสะ ไม่มีทางเกิดเลย
เพราะโลภะ โทสะ เกิดลอยๆ ไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับโมหะเสมอ
งั้นถ้าเราล้างนะเนี่ยเอาให้เด็ดขาดเลย ไม่ใช่ล้างราคะ โทสะ
ถ้าล้างราคะ โทสะ เนี่ยะล้างได้ชั่วคราว เดี๋ยวมาอีก
ยกตัวอย่าง จิตมีราคะขึ้นมา เราพิจารณาปฏิกูล พิจารณาอสุภะ
ราคะดับไป ดับชั่วคราว โมหะยังมียังหลงอยู่ มันยังมีตัวเราอยู่
มีเราอยู่ เดี๋ยวมันก็รักตัวเรา รักคนอื่นขึ้นมาอีก แล้วราคะก็เกิดได้อีก
มีโทสะขึ้นมานะ ก็ไปล้างมันด้วยการเจริญเมตตา
เจริญเมตตามากๆ โทสะหายไป หายชั่วคราว
โมหะยังอยู่ เดี๋ยวก็โกรธอีก มันยังมีเราอยู่
พอเรากระทบอารมณ์ที่ดีก็เกิดราคะ พอเรากระทบอารมณ์ที่เลวก็เกิดโทสะ
เพราะฉะนั้นตราบใดไม่ล้างโมหะนะ ราคะ โทสะ มันก็กลับมาได้อีก ข่มได้ชั่วคราว

เพราะงั้นจะเรียนกรรมฐานทั้งทีนะ สู้โมหะให้ได้ ชนะโมหะให้ได้ หัวหน้าโมหะชื่ออวิชชา
อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจ ตอนนี้ยังไม่ต้องชกอวิชชา
ชกอวิชชาตอนนี้ตายเปล่า มวยคนละรุ่นกัน
ของเราตอนนี้อย่าไปสู้ อย่าไปคิดจะหาญสู้กับอวิชชา ยังไม่ใช่คู่ต่อสู้กัน
ตัวแรกๆ เลยนะเราลองสู้ดู พวกความเห็นผิดทั้งหลาย
ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนพวกนี้นะ สู้กับพวกนี้ไป
ในทางตำราก็ถือว่า ตัวทิฏฐิเป็นโลภะนะ ความเห็นผิดอย่างนี้รากเหง้ามันก็มาจากโมหะ

เบื้องต้นยังไม่สู้กับโมหะจริงๆหรอก สู้กับความเห็นผิดก่อน
ความเห็นผิดก็สู้ด้วยความเห็นถูก
ถ้าเห็นถูกแล้วก็ล้างความเห็นผิดไป
เห็นถูกทำไงจะเห็นถูก ต้องเห็นตรงความจริง
ถ้าล้างความเห็นผิดได้ ตัวนี้เป็นโลภะนะ เป็นตระกูลโลภะตัวนึง ตัวทิฏฐิ แต่รากเหง้าของมันมาจากโมหะ มาจากโง่นี่แหละ ก็เลยมีความเห็นผิดขึ้นมา
งั้นยังไม่สู้กับอวิชชา สู้กับความเห็นผิดธรรมดาๆ นี่แหละ ความเห็นผิดว่ามีตัวเรา

วิธีสู้กับความเห็นผิดก็เห็นถูก เห็นถูกว่าไม่มีตัวเรา
ก็ในความรู้สึกของเรา รู้สึกว่าตัวเรามีจริงๆ ทำไมบอกว่าไม่มีตัวเรา
พอมาดูลงไป ในสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา สิ่งที่เรียกว่าตัวเราก็มีกายกับใจ รูปกับนาม นี้แหละ
ดูลงมาว่ารูปธรรมนี้เป็นตัวเราไหม นามธรรมนี้เป็นตัวเราไหม ดูของจริงลงไป
ถ้าเมื่อไหร่ใจลอย จะดูรูปดูนามไม่ได้
ถ้าเมื่อไหร่ไปเพ่งรูปเพ่งนามไว้ จะไม่เห็นความจริงของรูปนาม

งั้นเราจะเดินปัญญาได้ ล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตนได้ เราต้องไม่พลาดสองอย่าง
อย่างที่หนึ่ง ลืมกายลืมใจ หลงไปเลย หลงตามกิเลสไป อันนี้เรียกย่อหย่อนมากไป
อีกอันหนึ่งก็บังคับกายบังคับใจ
เพ่งกายให้นิ่ง เพ่งใจให้นิ่ง จนมันไม่สามารถแสดงไตรลักษณ์ได้
นี้เรียกว่าตึงเกินไป

งั้นเราภาวนานะ ไม่หย่อนไป ไม่ตึงไป
ตรงไหนที่ไม่หย่อนไม่ตึง ตรงที่รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่หย่อนไม่ตึง
ทีนี้ใจเราเคยหย่อนเคยตึงตลอดเวลา จะให้มันพอดีมันไม่พอดีหรอก
ฉะนั้นเบื้องต้นไม่ต้องไปหาความพอดี ความพอดีมันไม่มีหรอก
ถ้าเมื่อไหร่มันพ้นจากความสุดโต่งสองข้าง มันพอดีของมันเอง
เมื่อไหร่ไม่มืดมันก็สว่าง เมื่อไหร่ไม่ร้อนมันก็เย็น
เมื่อไหร่ไม่สุดโต่ง มันก็เข้าทางสายกลาง

ให้คอยรู้ทัน ใจมันสุดโต่งไปข้างไหน คอยรู้ทันมัน
สุดโต่งข้างย่อหย่อน ลืมกายลืมใจ หลงไปคิด
หลงไปคิดเกิดทั้งวันเลยรู้สึกไหม มีใครไม่คิดบ้าง มีไหมเอ่ย
ไม่คิดก็แปลกนะ ขนาดนอนหลับยังคิดเลย

ใจหนีไปคิดให้รู้ทันนะ แค่รู้ทัน ฝึกรู้ทันไป
ใจหนีไปคิดแล้วเรารู้ทันนะ มันก็หลุดออกจากโลกของความคิดมา ไม่หลงไปคิดแล้ว
คนที่ไม่เคยปฏิบัตินะ พอรู้ทันว่าหลงไปคิดเนี่ย จิตจะตื่น เพราะเพ่งไม่เป็น
ส่วนนักปฏิบัติมืออาชีพทั้งหลายนะ พอรู้ว่าจิตไปคิด คิดนี่อันนึงนะ รู้ว่าคิดนี่อันหนึ่ง
ตรงรู้ว่าคิดเนี่ยถูกแล้ว ถัดจากนั้นจะต่อด้วยการเพ่ง กลัวจะหลง
งั้นคนที่เคยฝึกไปฝึกมานะ บางทีสู้คนไม่เคยฝึกไม่ได้
พวกที่ติดสมถะมาจะติดเพ่ง หลายคนฝึกมาติดสมถะมานะ ต้องมานั่งแก้
อย่างบางคนติดแรงๆ นะ หลวงพ่อบอกให้หยุดสมถะไปก่อน หยุดไปชั่วคราวนะ ไม่ใช่หยุดถาวรหรอก
หยุดเพ่งไปชั่วคราวก่อน มาฝึกให้มีสติรู้สึกตัวธรรมดาๆ นี้ ให้จิตมันเคลื่อนไหวได้
กายเคลื่อนไหว จิตเคลื่อนไหว แล้วคอยมีสติตามดู
บางคนมันได้ยินเราสอนอย่างนี้ มันนึกว่าเราสอนไม่ให้ทำสมถะ บ้าสิหลวงพ่อทำสมถะตั้งแต่เจ็ดขวบ แล้วมันเรื่องอะไรหลวงพ่อจะสอนไม่ให้ทำสมถะ
นี้สอนกับบางคนหรอกที่ติดสมถะ ติดเพ่ง
พวกหนึ่งเพ่งแบบหมาบ้า ดุ
อีกพวกหนึ่งเป็นแบบเคลิ้ม เพ่งแบบพวกติดยา
พวกนี้จิตไม่ธรรมชาติไม่ธรรมดา
พวกนักปฏิบัติสังเกตให้ดีเกือบร้อยละร้อย
อย่างส่วนใหญ่ที่มานั่ง ขอนั่งให้หลวงพ่อดู
สังเกตไหมมานั่งให้หลวงพ่อดู สิ่งแรกที่ทำนะ เวลาจะนั่งต้องวางฟอร์มนั่นเอง
ขยับร่างกายก่อน ตอนนี้ยังไม่ดูนะ ตอนที่ขยับเนี่ยยังไม่ดู เผลอไปก่อน ขยับได้ที่แล้วก็เริ่ม เริ่มแล้วก็ยังไม่ดูนะ ต้องขยับจิตก่อน ขลุกขลิกขลุกขลิก อืม แล้วค่อยดูไป
เกือบทั้งนั้นเลย ไม่ได้กินหรอก โมหะเอาไปกินหมดเลยนะ งั้นเราไม่น้อมลงไป ไม่เคลิ้มลงไป
อันนี้สุดโต่งไปข้างซึม ข้างบังคับตนเอง ไม่ดีเลย
ไม่บังคับนะ ไม่หลงแล้วก็ไม่บังคับ เพราะงั้นจิตหลงไปคิดรู้ทัน จิตหลงไปบังคับอยู่รู้ทัน
จิตหลง ไปคิดพอรู้ทันจะเลิกเลย เลิกทันที เพราะเมื่อไหร่รู้เมื่อนั้นไม่คิด
แต่จิตเพ่งเนี่ย เรารู้ว่าเพ่งหายไหม เพราะอะไร จิตเพ่งมันไม่ใช่อกุศลนะ
พวกพระพรหมก็พวกเพ่งเก่งน่ะ มันไม่ใช่อกุศล มันไม่หายหรอก งั้นต้องไม่ไปฝึกมัน
ถ้าจิตเคยเพ่ง มันก็เพ่งน่ะ ถ้ามันไม่เพ่งนะ มันก็ไม่เพ่งหรอก
เพราะงั้นถ้าคนไหนเคยเพ่งจนชินนะ หลวงพ่อบอกไปเลิกก่อน หยุดก่อน หยุดชั่วคราว
เดี๋ยวนี้มาเจริญปัญญา เจริญรวดเลยไม่ยอมเพ่งอีกแล้ว ก็สุดโต่งไปอีกฝั่งเนาะ

งั้นเราอย่าสุดโต่งสองฝั่งนะ ถ้าเมื่อไหร่หลง ใจลอยไป ลืมกายลืมใจ อันนี้ทำวิปัสสนาไม่ได้
วิปัสสนาต้องรู้รูปนาม แล้วก็พอรู้รูปนามก็รู้แบบสบายๆ รู้แบบคนวงนอก ดูห่างๆ ดูแบบไม่มีส่วนได้เสีย
ดูแบบเป็นผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย มันเป็นยังไงก็ได้
ร่างกายเป็นยังไงก็ได้ จิตใจเป็นยังไงก็ได้ ไม่ว่ามัน
ดูแบบไม่มีส่วนได้เสีย ดูมันทำงานไปเรื่อยเลย จะเห็นว่ามันทำงานได้ตลอดเวลาเลย

มันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเลย เนี่ยแสดงอนิจจัง
มันทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้เนี่ยเรียกว่าทุกขัง
มันบังคับไม่ได้ มันสั่งไม่ได้
มันจะสงบหรือมันจะฟุ้งซ่าน
มันจะปรุงดีหรือมันจะปรุงชั่ว สั่งมันไม่ได้ เรียกอนัตตา

สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๓