Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๐๕

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

 


ถาม - อายตนะเกิดจากอะไรคะ พระพุทธองค์ทรงทำความเข้าใจในเรื่องปฏิจจสมุปบาทจนทรงพ้นจากอวิชชาได้อย่างไรคะ


อายตนะมาจากอะไร อายตนะมีขึ้นมาได้เพราะมีรูปธรรมกับนามธรรมมาทำงานด้วยกัน
อย่างเรามีตา ตาทำงานได้ก็มีจักขุประสาท จักขุประสาทเป็นรูปธรรม
มีจอรับภาพ มีแก้วตา เลนส์ มีอะไรต่ออะไรพวกนี้ นี่เป็นส่วนของรูปธรรม
แล้วก็มีความรู้สึกทางตาเกิดขึ้น มีไหมที่มองอยู่แต่ไม่เห็น เคยมีไหม
กำลังคิดอะไรเพลินๆ ใช่ไหม มองไปไม่รู้ว่ามองอะไร
เพราะอะไร เพราะไม่เกิดนามธรรมทางตา มันไปเกิดนามธรรมทางใจ มันไปคิดเรื่องอื่นก่อน
เพราะฉะนั้นการที่ตาทำงานได้อาศัยรูปธรรมและนามธรรมมาทำงานด้วยกัน
ท่านค่อยๆ สาวเข้ามานะ สุดท้ายท่านก็ทะลุไปถึงอวิชชาได้
ตรงนี้หลวงพ่อไม่ได้อธิบายละเอียดนะ
อธิบายโดยภาษามนุษย์นี่ฟังยากแล้วนะ ท่อนปฏิจจสมุปบาทท่อนแรกๆ นี่
ท่านทะลุลงไปถึงอวิชชา อวิชชาคือการที่ไม่รู้ความจริง ไม่รู้ความจริงของตัวทุกข์
ตัวทุกข์ก็คือรูปธรรมนามธรรม ถ้ารู้ความจริงของตัวทุกข์
จะรู้ความจริงว่าไม่มีคนไม่มีสัตว์ไม่มีเราไม่มีเขา มีแต่รูปธรรมกับนามธรรมล้วนๆ เลย
แต่เพราะความไม่รู้ความจริงนี่แหละ
ก็เลยไปหยิบฉวยเอารูปธรรมนามธรรมขึ้นมาเป็นตัวเราของเรา
เป็นคนเป็นสัตว์เป็นเราเป็นเขาขึ้นมา

นี่ท่านหัดดูลงไปนะจนทำลายอวิชชาได้ ทำลายความเห็นผิด ในตัวทุกข์ ในกองทุกข์
ก็คือในกองของขันธ์ ๕ ในตัวรูปธรรมนามธรรมได้
ไม่ยากนะที่เราจะค่อยๆ กลับ ภาวนาจนกระทั่งมันทวนเข้าไปเห็นตรงนี้
แต่ต้องอดทน อดทนคอยรู้รูปธรรม คอยรู้นามธรรมที่กำลังปรากฏ
ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ขั้นตอน ถ้าพูดจริงๆ ก็คือรูปธรรมกับนามธรรมทั้งนั้นแหละไม่มีอย่างอื่นหรอก
วนเวียนอยู่ในรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดเลย
เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากรู้แจ้งปฏิจจสมุปบาท อยากรู้แจ้งอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
เราก็คอยรู้อยู่ที่รูปธรรม นามธรรม
ในที่สุดพระพุทธเจ้าท่านก็รู้จริงว่าในความเป็นจริงไม่มีอะไร
ทุกสิ่งทุกอย่างมีแต่สภาวธรรมที่เกิดขึ้นมาอยู่ชั่วคราวแล้วก็สลายตัวไป
ถ้าไม่ยึดไม่ถือก็ไม่มีอะไรเลย ถ้าหลงไปยึดไปถืออยู่ความทุกข์ก็เกิดขึ้นเยอะแยะไปหมดเลย
เกิดทีไรก็เป็นทุกข์ทุกที เราเกิดเองก็ทุกข์ คนอื่นเกิดก็มีแต่ทุกข์
มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น มีแต่ทุกข์ตั้งอยู่ มีแต่ทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเลย
นี่ปัญญาตรัสรู้เกิดขึ้นตรงนี้ พอท่านตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ท่านก็ออกมาสอนนะ ออกมาสอนธรรมะพวกเรา


ถาม ถ้าอยากรู้ตามพระพุทธเจ้าบ้าง จะต้องหัดรู้หัดดูอย่างไรครับ

พวกเราอยากรู้ตามท่านเราก็ต้องดูตามท่าน
ท่านดูรูปธรรมนามธรรม เราก็ดูรูปธรรมนามธรรมของตัวเอง ไม่ต้องไปดูของคนอื่น
ถ้าไปดูรูปธรรมนามธรรมของคนอื่นมักจะเกิดกิเลสนะ
ดูรูปธรรมนามธรรมของตัวเองมักจะลดละกิเลสได้ ค่อยๆสังเกตลงไป
การรู้รูปธรรมนามธรรมของตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก
มันยากเฉพาะคนที่ไม่ดู เราละเลยที่จะดูเท่านั้นเอง
ถ้าเราอยากจะดู เราคอยรู้คอยดูไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะรู้กายของตัวเอง รู้จิตใจของตัวเอง
ทุกคนรู้กายรู้ใจของตัวเองได้อยู่แล้วแต่ละเลยที่จะรู้ มันมีแค่นั้นเอง
เราชอบใจลอย นึกออกไหม เราชอบใจลอย เราชอบคิดถึงคนอื่น คิดถึงสิ่งอื่น
เราชอบคิดถึงอดีต คิดถึงอนาคต
อดีตไม่มีรูปธรรมนามธรรมในขณะนี้ อนาคตรูปธรรมนามธรรมนี้ยังไม่เกิดขึ้น
อดีตนั้นรูปธรรมนามธรรมที่เคยมีอยู่ก็ดับไปหมดแล้ว

เราชอบคิดไปอดีตชอบคิดไปอนาคต เราทิ้งรูปธรรมนามธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันไป
หรือสนใจรูปธรรมนามธรรมที่เป็นปัจจุบัน ก็ผ่าไปสนใจรูปธรรมนามธรรมของคนอื่น
เช่นอยากรู้ใจคนอื่น แต่ละคนแปลกนะอยากรู้ใจของคนอื่น
เราสนใจนะที่จะอยากมีคนรู้ใจ เราอยากให้คนอื่นรู้ใจเรา แล้วเราก็อยากรู้ใจคนอื่น
นึกออกไหม เราไม่อยากรู้ใจตนเอง ยกเว้นเราอยากมีคนรู้ใจ
แต่ตัวเอง ใจตัวเองไม่รู้หรอก เนี่ย เราไปหวังอะไรที่ไร้สาระมาก
ลองหัดมารู้ใจตัวเอง ทำตัวเป็นคนรู้ใจตัวเองซะบ้าง
แล้วจะพบว่าไม่ยากหรอกที่จะรู้ใจตัวเอง
ร่างกายของเราก็คอยรู้สึกสิ มันมีอยู่แล้ว คอยรู้สึกมันเรื่อยๆ
มันยืนอยู่ก็รู้ มันเดินอยู่ มันนั่งอยู่ มันนอนอยู่ มันหายใจเข้า มันหายใจออก ก็คอยรู้ไป มันจะยากอะไร

เราสนใจที่จะรู้กายคนอื่น เราสนใจที่จะดูกายคนอื่น สนใจที่จะรู้ใจคนอื่น
สนใจที่จะให้คนอื่นเขาสนใจตัวเรา สนใจที่จะให้คนอื่นมารู้ใจตัวเรา
เรื่องไร้สาระทั้งหมดเลย ของที่เป็นสาระแก่นสารกับชีวิตแท้ๆ เราไม่เอา
ลองกลับมารู้สึกอยู่ในกายรู้สึกอยู่ในใจ สนใจในร่างกายตนเอง สนใจในจิตใจของตนเอง
คอยดูว่าขณะนี้ร่างกายเป็นอย่างไร คอยดูว่าขณะนี้จิตใจเป็นอย่างไร
ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้ อย่างร่างกายเป็นอย่างไร ในขณะนี้ร่างกายนั่ง
ร่างกายนั่งอยู่ รู้สึกลงมา ร่างกายมันนั่ง แต่ไม่ใช่นั่งเพ่งมันนะ
ไม่ใช่ไปรู้สึกใจแข็งๆ เครียด จ้องไม่ให้กะพริบตา ไม่ใช่
แค่รู้สึกถึงความมีอยู่ของร่างกาย แล้วมันอยู่ในอิริยาบถอะไรก็แค่รู้สึกไป
ไม่ต้องเอาตาไปดู รู้ด้วยใจนะ รู้ด้วยใจ
เราหลับตา เรายกมือเราก็รู้สึกใช่ไหม รู้สึกถึงมันไว้ รู้สึกถึงร่างกายไว้
เรารู้สึกถึงร่างกายบ่อยๆ ใจเราเป็นแค่คนรู้สึก
เราจะพบว่าร่างกายกับจิตใจเนี่ยเป็นคนละส่วนกัน เป็นคนละส่วนกัน

พวกเราลองทำใจให้สบายนะ หลับตาซะหน่อยก็ได้ เพื่อความเท่ห์ดูเป็นนักปฏิบัติ
หลับตาซะหน่อยก็ได้ ลืมตาแล้วหน้าทะเล้นไป
หลับตานะแล้วลองเคลื่อนขยับมือดู อย่าไปตีเอาหัวชาวบ้านนะ ขยับใกล้ๆ ของตัวเอง
ลองขยับมือดูก็ได้ จะยกแขนยกอะไร เบาๆก็ได้ รู้สึกไหมร่างกายมันเคลื่อนไหว
รู้สึกไหม เห็นไหมใจเราเป็นคนรู้ เราไม่ได้เอาตาไปดู แต่ใจเราเป็นคนรู้
บางคนนั่งพยักหน้า ง็อกๆ ง็อกนะ เห็นไหมร่างกายพยักหน้า
ร่างกายนี้เป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า หัดอย่างนี้นะลองดู

ไม่นานเลยเราจะพบว่าร่างกายกับจิตใจเนี่ยเป็นคนละอันกัน เป็นคนละส่วนกัน
พอคนละส่วนกันแล้วร่างกายยืนอยู่ เราก็รู้ชัดเลยว่าร่างกายมันยืนอยู่
ไม่ใช่เรายืนอีกต่อไปแล้ว รูปธรรมมันยืนอยู่ นามธรรมมันเป็นคนดู
รูปธรรมคือร่างกายมันนั่งอยู่ นามธรรมคือใจมันเป็นคนไปดู
เพราะฉะนั้นรูปธรรมกับนามธรรมนี้เป็นคนละอันกัน ลองดูนะ ลองกลับบ้านดู
คนไหนที่ยังแยกรูปนามไม่ได้ ลองทำอย่างที่หลวงพ่อบอกเมื่อกี้นี้นะ ลองทำดู
นั่งหลับตาให้สบาย อย่าเคร่งเครียด แล้วก็ขยับตัวไป
ขยับไปๆ แล้วก็แค่รู้สึกนะ แค่รู้สึกถึงว่าร่างกายมันขยับๆ
รู้สึกไปเรื่อยๆ จะเห็นเลย ใจเรารู้มัน เราไม่ได้รู้ด้วยตา ขยับแล้วใจเราไปรู้มัน
เนี่ยร่างกายกับจิตใจคนละอันกัน

ศาลากาญจนาภิเษกอนุสรณ์
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓