Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๐๓

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช




ถาม - ขอให้หลวงพ่อกรุณาเล่าถึงการแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ของพระพุทธองค์ด้วยค่ะ


เรามาศึกษาธรรมะเป็นโอกาสทองของชีวิต เรียกว่าโอกาสทองเชียวละ
โอกาสที่คนๆ หนึ่งจะได้ฟังธรรมะแท้ๆ นะมีไม่มาก มีน้อย
ฟังธรรมะแท้ๆ ของพระพุทธเจ้าต้องฟังธรรมะไปถึงขั้นของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ส่วนธรรมะที่ระดับรองลงมาจากนั้น ถึงไม่มีพระพุทธเจ้าก็มีการสอนกันอยู่แล้ว
อย่างเรื่องการทำทาน การรักษาศีล การทำสมาธิ สิ่งเหล่านี้ถึงไม่มีพระพุทธเจ้าก็มีอยู่แล้ว
ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะออกจากวังไปบวช ท่านออกไปบวชทีแรกท่านก็ไปหัดทำสมาธิกับฤาษี
ฤาษีที่มีชื่อเสียง อาฬารดาบส อุทกดาบส สองคน ฤาษีสองรูปนี้ก็สอนให้ท่านทำสมาธิ
จนถึงฌานที่ ๗ กับ ฌานที่ ๘ ได้อรูปฌาน เพราะฉะนั้นการทำสมาธิมีมาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้อีก
ท่านไปเรียน ท่านก็พบว่าการที่จิตน้อมไปอยู่ในความสุข ในความสงบ ในความไม่มีอะไรเลย
หรือน้อมลงไปจนแทบจะหมดความรู้สึก มันมีความสุขในขณะที่ทำเท่านั้นแหละ
ขณะที่จิตถอนออกจากสมาธิมันก็กลับมาทุกข์เหมือนเดิม
ท่านก็ยังไม่พอใจว่าการพ้นทุกข์นี้มันพ้นเป็นคราวๆ มันไม่พ้นถาวร
นี่ไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการ เพราะฉะนั้นท่านไม่ได้ต้องการของชั่วครั้งชั่วคราว
นั่งสมาธิแล้วมีความสุขสบาย ออกมาแล้วไม่มีความสุขอีกแล้ว มีทุกข์ขึ้นมาได้อีก
ความสุขที่ยังแปรปรวนอย่างนี้ ท่านเห็นว่ายังไม่ใช่สาระแก่นสาร
ท่านอยากจะได้ความพ้นทุกข์ที่ดีกว่านี้ ที่ถาวร

เสร็จแล้วท่านก็มาออกจากสำนักของฤาษี ไปหาวิธีด้วยตัวของตัวเอง
ในสมัยโน้นนักบวชชอบทรมานร่างกาย คือเขาก็มีความคิดดี มีพื้นฐานความคิดที่ดีเหมือนกัน
เขาเห็นว่าเพราะคนเรารักตัวเอง มันถึงชั่วได้ อย่างรักร่างกายนะ
ร่างกายแปรปรวนไปอะไรอย่างนี้ ก็เป็นทุกข์เพราะร่างกาย
มีความอยากอะไรเกิดขึ้นแล้วสนองความอยากไปก็สบายใจ ไม่สนองก็ไม่สบายใจ
เพราะฉะนั้นมาฝึกใหม่ดีกว่า มาฝึกทรมานมัน ไม่ตามใจมัน
เพราะตามใจมันไปมันมีความสุขชั่วครั้งชั่วคราว เดี๋ยวมันอยากอย่างอื่นต่อไปอีก
เพราะฉะนั้นหาทางที่จะทำลายความอยากในกายในใจซะเลย
มันอยากให้ร่างกายสบาย ก็พาให้มันลำบาก จะได้ไม่รักร่างกาย
นี่เขาก็มีคอนเซพ (concept) นะ ไม่ใช่โง่นะ
หรือสนองความต้องการทางใจ จิตใจมีความสุขแล้วก็มีความสุขขี้นมา
ต่อมามันก็มีความทุกข์ขึ้นมาอีก เพราะฉะนั้นทรมานมันเลย
มันอยากได้อะไรไม่เอา มันอยากกินไม่กิน มันอยากนอนไม่นอน
มันอยากเป็นอย่างนี้ไม่เป็น ต่อสู้ด้วยวิธีที่เรียกว่าเนกาทีฟ (negative) เนกาทีฟ
ไม่เอา ปฏิเสธหมดเลย ความสุขในกายไม่เอา ความสุขในใจไม่เอา
หวังว่าวันหนึ่งจะไม่รักกาย จะไม่รักใจ เขาก็เก่งเหมือนกันในการคิด

ทีนี้ท่านทดลองอยู่หลายปี ทรมานเท่าไรๆ ทรมานกาย ทรมานใจอย่างแสนสาหัส
ความอัศจรรย์ของท่านก็คือ ตลอดเวลาที่ท่านออกจากวังมา ดิ้นรนแสวงหาทางพ้นทุกข์
ท่านทำด้วยความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ ไม่เคยคิดจะถอยหลังกลับเลย
ท่านบอกท่านไม่เคยขาดสติเลยนะ สติมีมาแล้วนะ แต่ยังไม่มีปัญญา
นึกออกไหม สติท่านมีอยู่นะ ไม่ใช่ไม่มี
ท่านบอกมารเนี่ยคอยตามท่านตลอดเวลา ๖ ปี พญามารตามอยู่ตลอด ๖ ปี
หวังว่าเมื่อใดเจ้าชายสิทธัตถะท้อใจเนี่ยจะมาเกลี้ยกล่อมให้กลับวัง
แต่มารไม่มีช่องเลย ไม่เห็นช่องทางเลย เพราะเจ้าชายนี่ไม่ยอมขาดสติเลย
ไม่ยอมหลงกลปล่อยเนื้อปล่อยตัว ปล่อยใจตามกิเลสสักนิดหนึ่งก็ไม่มี
ท่านมีสติตลอด สติก็มีอยู่แล้ว แต่เป็นสติที่ยังไม่ประกอบด้วยปัญญา
เป็นสติในการบังคับควบคุมกาย ควบคุมใจให้ดี

เห็นไหมคุณงามความดีทั้งหลายแหล่นะมีมาก่อนพระพุทธเจ้าแล้วนะ ไม่ใช่ไม่มี ก็มีเหมือนกัน
เสร็จแล้วท่านก็พบว่าไม่ว่าจะทรมานแค่ไหนนะ
มันก็ไม่เห็นจะพ้นทุกข์ตรงไหนเลย มีแต่ลำบากมากกว่าเก่า
ท่านก็คิดถึงทางสายกลาง ทางสายกลางคือการที่ฝึกจิตฝึกใจให้เกิดปัญญา เฉลียวฉลาดขึ้นมา
ท่านคิดถึงตอนเด็กๆ ท่านเคยนั่งสมาธิ นั่งหายใจ
หายใจเข้า หายใจออก หรือหายใจออก หายใจเข้า ในตำราก็ยังมีเถียงกันนะ
บางคนก็แปลว่าหายใจออกก่อน บางคนก็แปลว่าหายใจเข้าก่อน
ลองไปดูซิ ถ้าหายใจออกก่อน กับหายใจเข้าก่อน สภาวะจิตจะไม่เหมือนกัน
หายใจเข้าก่อน (หลวงพ่อทำเสียงหายใจเข้า) จะรู้สึก...
อ่ะ ลองหายใจเข้า รู้สึกไหมใจจะแข็ง
ลองเริ่มต้นด้วยการหายใจออก ใจจะคลายกว่า
ความจริงถ้าแค่หายใจเข้าแล้วใจแข็งขึ้นมารู้ทัน หายใจออกใจคลายออกไปรู้ทัน
แค่นี้ก็ภาวนาได้นะ เห็นไตรลักษณ์ได้แล้ว
แค่นี้ง่ายๆ เห็นไตรลักษณ์ แต่ง่ายหรือเปล่าไม่แน่ใจ อานาปานสตินี่ยากมาก
ท่านนึกถึงตอนที่ท่านตามพ่อท่านไปแรกนา ไปแรกนา
พวกพี่เลี้ยงเอาท่านไปไว้ใต้ต้นไม้ แล้วก็ไปดูพระเจ้าสุทโธทนะไถนา
พวกเจ้าศากยะนี่พวกทำนานะ สุทโธทนะแปลว่าข้าวบริสุทธิ์ บางองค์ก็ข้าวเยอะ แปล
ในขณะที่ท่านอยู่ลำพังท่านก็ลุกขึ้นมานั่งสมาธิ หายใจ หายใจด้วยความมีสติแล้ว
ไม่ได้หายใจอย่างที่ฤาษีสอน ไม่ใช่หายใจแล้วก็ดับความรู้สึกลงไป
ท่านหายใจด้วยความรู้สึกตัว ด้วยปฐมฌานเท่านั้นเอง ที่ท่านหายใจตอนนั้น ตอนเด็กเล็กๆ
นี่พอท่านคิดได้ถึงการหายใจตอนเด็กๆ

พวกเราสังเกตไหมว่า กรรมฐานเคยทำอะไรไว้ตอนเด็กๆ มันเคยกลับมา แล้วเราจะลืมมันไป
ไปภาวนาแทบเป็นแทบตายเลยแล้วพบว่ามันกลับมาที่เก่า
อย่างบางคนพอดูจิตเป็นแล้วก็พึ่งนึกได้ว่าตอนเด็กๆ เคยดูจิตมาแล้วแต่ลืมไป
อันนี้เจ้าชายสิทธัตถะก็เหมือนกัน ไปภาวนามาตั้ง ๖ ปี ทรมานมากมาย
สุดท้ายท่านก็พบว่ากลับมาหายใจแล้วรู้สึกตัว
พอท่านหายใจแล้วรู้สึกตัวแล้วเนี่ยท่านไม่ให้ขาดสติ
ไม่ได้หายใจแล้วก็นิ่งอยู่ ท่านหายใจแล้วท่านเจริญปัญญา
ท่านก็ดูไป ความทุกข์มันมี เกิดมาแล้วมันทุกข์นะ
ลองระลึกชาติไป มีชาติไหนไม่ทุกข์บ้าง
ในยามที่หนึ่งท่านระลึกชาติไปเรื่อยๆ ระลึกชาติของตัวเอง
ระลึกไปๆ ระลึกไปนะ หลายชั่วโมง ระลึกไปไกลแสนไกล
เนี่ยบารมีท่านมาก พวกเราระลึกชาติเมื่อเช้ายังนึกไม่ออกเลย
เมื่อเช้าอุจจาระกี่ก้อน นึกออกไหม บางคนตอบได้บอกว่าเหลว (โยมหัวเราะ)
เรื่องของเราบางทีไม่รู้ แค่ระลึกชาติใกล้ๆ นะ เราไม่รู้นะ
ทีนี้ท่านระลึกชาติไปไกลมากเลย ระลึกไปแล้วในที่สุดท่านก็เกิดปัญญา ปิ๊งขึ้นมา
ความเกิดนะเกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที ถ้าเป็นเราระลึกได้คงสนุกใช่ไหม
เราก็จะระลึกได้ว่าคนนี้เคยเป็นเมียเรา ตอนนี้มาเกิดอยู่นี้
เดี๋ยวเราจะตามไปจีบอะไรอย่างนี้ นี่ระลึกตามกิเลสนะ ระลึกตามกิเลสไป
ท่านไม่เป็นอย่างนั้น ท่านรู้เลยว่าเกิดทีไรก็ทุกข์ทุกที นี่ท่านระลึกอย่างนี้นะ

พอถึงยามที่สอง ท่านลองดูคนอื่น เขาเกิดอย่างไรที่จะไม่ทุกข์บ้าง
สัตว์ทั้งหลายเวียนตาย เวียนเกิดตั้งมากตั้งมายนะ
ระลึกไป ระลึกไป สุดท้ายท่านก็สรุปได้ เกิดทีไรเป็นทุกข์ทุกที
นี่คนมีปัญญานะ ถ้าเป็นเราระลึกได้ ก็สนุกไปเลยใช่ไหม
หลง หลงโลก หลงกิเลสไปเลย
ท่านกลับไปเห็นว่าเกิดทีไรก็ทุกข์ทุกที
พอมาถึงยามที่สาม ท่านมาค้นคว้าพิจารณาแล้ว
ความเกิด ความเกิดคืออะไร ทำไมเกิดแล้วมันทุกข์ทุกที ถ้าไม่เกิดได้จะดี
ความเกิดคือการได้มาซึ่งอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ
พูดง่ายๆ ได้กายได้ใจได้รูปได้นามมา มีกายมีใจมีรูปมีนามมาทีไร ก็มีทุกข์ทุกที
นี่ระลึกชาติไปก็เห็นอย่างนี้ ไปดูของคนอื่นก็เป็นอย่างนี้ มีกายมีใจมาก็มีทุกข์ทุกทีเลย
ท่านก็ใช้สติ ใช้ปัญญา เห็นไหมท่านบรรลุพระอรหันต์ไม่ใช่เพราะอานาปานสตินะ
อานาปานสติทำให้ใจสงบใจสบายมีพลัง
ท่านเอาพลังของจิตใจที่สงบที่สบายแล้วมาเดินปัญญา

ศาลากาญจนาภิเษกอนุสรณ์
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓

ถาม - อยากขอให้หลวงพ่อช่วยอธิบายถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาการเกิดของความทุกข์และการได้มาของรูปนามค่ะ

ความทุกข์ ความได้มาซึ่งรูปซึ่งนามได้มาเพราะอะไร ชาติได้มาเพราะอะไร
คำว่าชาติ ชาติก็คือการได้มาซึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ท่านพบว่าถ้ามีภพก็มีชาติ คำว่าภพมีสองอย่างนะ อย่างหนึ่งเรียกอุปปัติภพ
อุปปัติภพคือภพโดยการเกิด อย่างพวกเราเนี่ยมีอุปัปติภพเป็นมนุษย์
แล้วมีกรรมภพ กรรมภพคือการทำงานของใจที่ทำอยู่เป็นขณะๆ
พวกเรามีกรรมภพ วันหนึ่งมีกรรมภพนับไม่ถ้วน
เดี๋ยวเป็นภพที่ดี เดี๋ยวเป็นภพที่เลว บางขณะกิเลสครอบงำใจ
อย่างโทสะครอบงำใจ ในขณะนั้นเราอยู่ในภพของสัตว์นรก
ร่างกายเราเป็นมนุษย์แต่ใจเราเป็นสัตว์นรกในขณะนั้น
ขณะใดความโลภครอบงำใจนะ ร่างกายเราเป็นมนุษย์แต่ใจเราเป็นเปรต มีภพย่อยๆ ที่เป็นเปรต
อันนี้เป็นภพย่อยๆ ภพที่เกิดจากจิตมันทำงานขึ้นมา
หรือในขณะใดจิตเรามีศีลมีธรรมขึ้นมา เราอยู่ในภพของมนุษย์
ขณะใดจิตเรามีหิริโอตตัปปะ ละอายที่จะทำบาป เกรงกลัวผลของการทำบาป เราเป็นเทวดา
ขณะใดจิตใจเราสงบ มีความสงบ สุขสงบบ้าง อุเบกขาแล้วก็สงบบ้าง จิตใจเราเป็นพรหม

เรายังมีภพเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
ภพใหญ่ๆ ได้มาโดยการเกิด เกิดมาชาติหนึ่ง อุปปัติภพเป็นมนุษย์
ก็มีภพย่อยๆ มากมายนับไม่ถ้วนในแต่ละวัน
ทีนี้ท่านมาดูต่อไป เอ๊ ภพย่อยๆ มาได้อย่างไร
ในวันหนึ่งๆ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์
เดี๋ยวเป็นสัตว์นรก เดี๋ยวเป็นเปรต เดี๋ยวเป็นอสุรกาย
อสุรกายคือพวกยึดในความคิดความเห็น
คนไหนที่ยึดถือในความคิดความเห็นของตนเองมากๆ รีบระลึกเลยนะว่ากำลังเป็นอสุรกายอยู่
อยู่ในภพของอสุรกาย พวกมิจฉาทิฏฐิ
หรือถ้าใจเราหลงตลอดเวลา นั้นภพของสัตว์เดรัจฉาน
ใจหลงบ่อยๆ ในที่สุดเราจะได้ไปเป็นภาคีของเดรัจฉาน ได้เป็นหมู่เป็นพวกของเขา
ใจเรานี่แหละมีภพย่อยๆ ภพย่อยๆ คือ ภพนี่เกิดจากอะไร
อุปาทานทำให้เกิดภพ อุปาทานคือการที่จิตนี่โลภอย่างรุนแรง
เข้าไปยึดไปถือ ไปหยิบไปฉวยเอาอารมณ์ ไปหยิบไปฉวยเอารูปเอานามขึ้นมา
ใจมันก็มีความอยาก มีตัณหาขึ้นมา มีความอยากเกิดขึ้น ถ้าตัณหารุนแรงก็เป็นอุปาทาน
อุปาทานนี่ไม่ใช่อยากอย่างเดียวแต่จิตกระโดดเข้าไปยึดด้วย
ยึดเอากายยึดเอาใจขึ้นมาเป็นของเรา ยึดเอากายยึดเอาใจขึ้นมาเป็นตัวเรา
พอมีตัวเรามีของเราก็มีชาติ มีชาติขึ้นมา
เพราะฉะนั้นใจนี่แหละมีความอยากขึ้นมาก่อน มีความอยากรุนแรงมันก็ออกไปยึดอารมณ์
ท่านค่อยๆ สาวมานะ ท่านดู ท่านไม่ได้คิดเอา บางคนบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยการคิดเอา
ท่านไม่ได้คิดหรอก ท่านต้องมีสภาวะรองรับ แล้วท่านตามเห็นสภาวะที่ปรากฎอยู่จริงๆ
ไม่อย่างนั้นนั่งคิดเอา ใครๆ คิดเอาจะบรรลุเหรอ ไม่บรรลุหรอก ต้องเห็นของจริง
สภาวะนั้นมีแต่รูปธรรมนามธรรมทั้งนั้นแหละ

ทีนี้ท่านเห็นอีกความอยากมาจากอะไร ความอยากมาจากเวทนา
เมื่อไรมีความสุขเกิดขึ้น มันก็อยากได้อยากมีอยากเป็นขึ้นมา
เมื่อไรมีความทุกข์เกิดขึ้น มันก็ไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น
เพราะฉะนั้นความอยากเกิดมาจากความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์
บางทีรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ พวกนี้จะหลงไปเลย เพลินๆไปเลย
ดูไม่ออกว่าจะโลภหรือจะโกรธดี ว่าจะอยากได้หรือจะอยากไม่ได้ หรืออยากให้มันไม่มี
เพราะฉะนั้นก็เฝ้ารู้ลงไป ท่านค่อยๆ สังเกต หาเหตุหาผลไปเรื่อย
ท่านก็พบว่าถ้ามันมีเวทนาขึ้นมาเนี่ย ความอยากก็เกิดขึ้น
มีความสุขเกิดขึ้นก็อยากให้สุขอยู่นานๆ มีความทุกข์เกิดขึ้นก็อยากให้ทุกข์หายไป
ความอยากมันตามหลังเวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์มา
เวทนามาจากไหน นี่ท่านดูต่อไปอีก นี่ท่านหาเหตุหาผลเก่งนะ ท่านค่อยๆ ดู ท่านไม่ได้นั่งคิดเอาเอง
เวทนาคือความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์เฉยๆ เนี่ยมาจากผัสสะ การกระทบอารมณ์
ถ้าไม่มีการกระทบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวทนาก็ไม่เกิด
อย่างตาเรามองเห็น พอตาเรามองเห็นสาวสวยนะ ความสุขก็เกิดขึ้น
ตาไปมองเห็นศัตรูของเราเนี่ย ความทุกข์ก็เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปกระทบอารมณ์
ทางใจกระทบอารมณ์เช่นไปคิด คิดถึงคนซึ่งเราเคยเกลียดชัง
โทสะเกิดขึ้น แล้วใจมีความทุกข์ขึ้นมา คิดถึงคนที่เรารัก ใจก็มีความสุขขึ้นมา

อาศัยการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่แหละ
ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์ก็เกิดขึ้นมา พอความรู้สึกสุขทุกข์เกิดขึ้นมาแล้ว
ความอยากก็เกิดตามมา พอความอยากเกิดตามมาแล้ว
ความยึดถือในอารมณ์ต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น พอความยึดถือเกิดขึ้นแล้ว
มันจะไปหยิบฉวยเอารูปธรรมนามธรรมมาเป็นตัวกูของกูขึ้นมา
พอไปหยิบฉวยเอารูปธรรมมาเป็นตัวกูของกู
หยิบฉวยนามธรรมมาเป็นตัวกูของกูแล้ว ความทุกข์ก็เกิดขึ้นเลย
เพราะอะไร เพราะตัวรูปตัวนามนั่นแหละคือตัวทุกข์
ทุกข์มันอยู่ของมันต่างหาก อยู่ดีไม่ว่าดีไปหยิบมันขึ้นมา
พอไปหยิบฉวยเอาตัวทุกข์ขึ้นมา ไปหยิบฉวยเอารูปเอานามขึ้นมา ก็ทุกข์เลย
การหยิบฉวยรูปนามขึ้นมาได้นั่นแหละเรียกว่าชาติ มีชาติก็มีทุกข์ทันทีเลย
ทีนี้ผัสสะมาจากไหน ผัสสะการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กระทบได้เพราะเรามีตา เรามองเห็นรูปได้เพราะมีตา เราได้ยินเสียงได้เพราะมีหู
เราได้กลิ่นได้เพราะมีจมูก เรารู้รสได้เพราะมีลิ้น
เรารู้สัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งได้เพราะมีประสาทสัมผัสทางร่ายกาย
เรารู้อารมณ์ทางใจได้เพราะเรามีจิตใจ
เนี่ยมันอาศัยอายตนะตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่แหละ
จึงเกิดมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้
อายตนะจึงเป็นปัจจัยของผัสสะ พอมีผัสสะก็เกิดเวทนา
เกิดตัณหา เกิดอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ เกิดทุกข์เป็นลำดับๆ ไป
ท่านค่อยๆ ดูมานะ สังเกตไหมดูมาตั้งนานไม่มีคนเลยนะ
มีแต่รูปธรรม นามธรรม ดูให้ดีไม่มีคน
ปัญญาของท่านคมกริบ ถ้าเป็นเรา ตาของเรา หูของเรา จมูกของเรา จิตใจของเรา
ท่านเห็นตาก็คือตา หูก็คือหู จมูกก็คือจมูก ไม่ใช่จมูกของเรา ไม่ใช่ตาของเรา
ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีเราไม่มีเขา สติปัญญาของท่านแหลมคมขนาดนี้

ศาลากาญจนาภิเษกอนุสรณ์
วันอาทิตย์ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๓