Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๑๐๒

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



 

ถาม: ผมอยากจะทำให้จิตนิ่งมากกว่านี้ครับ เพราะรู้สึกว่าจิตของผมมันแปรปรวนง่ายเหลือเกิน จนสติตามไม่ทันครับ

คือการปฏิบัติมี ๒ อัน
อันหนึ่งทำจิตให้สงบ อันหนึ่งทำจิตให้เกิดปัญญาเห็นความจริง
ทำจิตให้สงบเนี่ย ทำใจให้สบายก่อน แล้วก็ไปรู้อารมณ์อันเดียวสบายๆ
เช่นรู้พุทโธ รู้ลมหายใจ สบายๆ อย่าอยากสงบนะ
ทำใจให้สบาย แล้วแป๊บเดียวจะสงบ เนี่ยเคล็ดลับนะ

ส่วนการจะทำให้จิตรู้ความจริงเนี่ย เราจะตามดูจิตใจของเราไปเรื่อย ไม่ไปบังคับเค้า
แล้วเราจะเห็นเลย จิตทำงานทั้งวันทั้งคืน
ฟุ้งซ่านนะ เดี๋ยวก็ฟุ้ง เดี๋ยวก็ฟู เดี๋ยวก็แฟ่บ ใช่ไหม
ให้ตามรู้ไปเรื่อยๆ ไม่เข้าไปแทรกแซง
ตามรู้จนวันหนึ่งเกิดปัญญาเห็นความจริง
ว่าจิตที่ทำงานฟูบ้างแฟ่บบ้างนะ เค้าทำของเค้าเอง เค้าไม่ใช่ตัวเรา
ถ้าวันใดจิตใจยอมรับความจริงว่าจิตไม่ใช่เรา จะเข้าถึงธรรมะ ธรรมะก็คือตัวความจริง

ความจริงเบื้องต้นเลยก็คือขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
ขันธ์ ๕ นี้ถ้าเข้าไปหยิบฉวยไปยึดถือไว้จะเป็นทุกข์ อันนี้ยังไม่เห็น
แล้วขั้นสุดท้าย เป็นปัญญาขั้นสุดท้าย ขันธ์ ๕ นั่นแหละ เป็นตัวทุกข์
งั้นปัญญามีหลายขั้น ปัญญาเบื้องต้นเราก็เห็นว่าขันธ์ ๕ มันทำงานของมันได้เอง ไม่ใช่ตัวเรา
ปัญญาขั้นกลางก็เห็นว่าถ้าจิตเข้าไปหยิบฉวยขันธ์ ๕ ไว้จิตจะเป็นทุกข์ ถ้าไม่หยิบจิตจะไม่ทุกข์
แต่ปัญญาขั้นสุดท้ายเลย ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจ
ขันธ์ ๕ หรือตัวจิตนี้แหละตัวทุกข์
จะอยากหรือไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด ขันธ์ ๕ ก็เป็นตัวทุกข์

เพราะฉะนั้นปัญญาในศาสนาพุทธนะมีเป็นชั้นๆไปเหมือนกัน มีเป็นลำดับๆไป
ปัญญาแต่ละชั้นฟังแล้วเหมือนๆขัดๆกัน ความรู้ความเข้าใจของเราที่เกิดขึ้น พัฒนาไปเรื่อยๆ ค่อยๆปรับ ค่อยๆเปลี่ยนไป ตามประสบการณ์ที่มากขึ้นๆ
อย่างเราภาวนา พอสติเราเกิด เรารู้เลย ถ้าเมื่อไหร่ใจของเรารู้ตื่นเบิกบาน มีความสุข
ใจเราหลงไปคิดไปนึกไปปรุงไปแต่ง ใจจะมีความทุกข์
เราก็เข้าใจธรรมะ เข้าใจระดับหนึ่ง
ต่อเมื่อไหร่เข้าใจแล้วขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ล้วนๆ จะปรุงแต่งหรือไม่ปรุงแต่ง จะอยากจะยึดหรือไม่ ก็ทุกข์
อันนี้เรียกว่ารู้ทุกข์ ถ้าเมื่อไหร่รู้ทุกข์ เมื่อนั้นจะถึงธรรมนะ
หลวงปู่เทสก์เรียกว่า "สิ้นโลก เหลือธรรม"

พอรู้ว่าขันธ์เป็นทุกข์นะ มันจะวางขันธ์ลงไป ไม่ยึดถือขันธ์ สิ้นโลกไป
เหลือธรรมะล้วนๆ ธรรมะล้วนๆนี้มีแต่ความเที่ยง
ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่น ไม่เคยหายไป
ธรรมะล้วนๆนี้มีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์
แต่ธรรมะล้วนๆนี้เราไม่ได้เข้าไปครอบครอง เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติค่อยๆศึกษาไปนะ คอยดูของจริงในใจของเราเรื่อยๆ
ไม่มีใครสอนธรรมะเราได้ แต่สภาวะธรรมที่ผุดขึ้นมาในกายในใจ อันนี้แหละคือครูที่จะสอนเรา คนอื่นสอนไม่ได้ หลวงพ่อก็สอนไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านยังบอกว่าท่านก็เป็นแค่คนบอกทาง บอกทางก็คือให้มารู้กาย ให้มารู้ใจ เรียกว่ารู้ทุกข์นะ ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละสมุทัย ละสมุทัยจิตก็ไม่ดิ้นรน ก็ถึงสันติสุข เรียกว่านิโรธหรือว่านิพพาน
คือท่านบอกทางให้ เราก็มีหน้าที่เดินทางเอาเอง แล้วไปเรียนรู้ของจริงเอาเอง
ธรรมะน่ะของใครของมันนะ
ธรรมะที่หลวงพ่อพูดให้ฟัง มันก็ธรรมะของหลวงพ่อ
ของเราก็ต้องมีธรรมะเฉพาะตัวของเราเอง ไม่ลอกเลียนแบบกัน ดูจากของจริง

สวนสันติธรรม
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙



ถาม - ถ้าเราไม่ได้ทำผิด เช่น ไม่ขโมยของเพราะเราก็มีเงินซื้อหาเองได้ แต่ไม่ได้ตั้งใจรักษาศีล แบบนี้เรียกว่ามีศีลไหมครับ

ทุกอย่างอยู่ในเรื่องของกฎของกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้
ทำแบบไหนก็ได้แบบนั้น ทำชั่วก็ได้รับผลของความชั่ว ทำดีก็ได้รับผลของความดี
รักษาศีลก็ได้รับผลของศีล ทำทานก็ได้รับผลของทาน
ทำสมถะได้ความสุข ได้ความสงบ ได้ความดี
ทำวิปัสสนาเนี่ยได้ปัญญา เห็นความจริง เพราะฉะนั้นต้องทำให้ตรง
เวลาที่มรรคผลจะเกิดนะ ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องพร้อม
เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้พร้อมนะ ท่านบอกกุศลทำให้ถึงพร้อม
ไม่ใช่เจริญปัญญาอย่างเดียวแล้วจะบรรลุได้นะ ศีลก็ต้องรักษา สมาธิก็ต้องทำ
เพราะฉะนั้นถ้าศีล สมาธิ ปัญญา ไม่พร้อม ไม่มีอริยมรรคเกิดขึ้น
ต้องทำเหตุกับผลให้ตรงกัน อยากได้ผลอย่างนี้ ต้องทำเหตุอย่างนี้
อย่างอยากจะได้ศีล ให้ใจเรามีศีลจริงๆ
ต้องมีเจตนางดเว้นจากการทำบาปอกุศลทางกายทางวาจา
ถ้าไม่มีเจตนางดเว้นก็ไม่เรียกว่ามีศีล
อย่างเด็กเล็กๆ เกิดใหม่ๆ นะ เป็นชู้กับใครไม่ได้ บอกว่าไม่ประพฤติผิดในกาม
ไม่ใช่ มันไม่ประพฤติเพราะไม่มีความสามารถจะประพฤติ
หรือแก่งั่กเลยนะ เดินยังไม่ไหวเลยนะ กระย่องกระแย่ง มีชู้ไม่ไหว อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ได้จัดว่าเป็นศีล
เป็นศีลหมายถึงว่ามีเจตนาที่จะงดเว้นจริงๆ ถึงมีโอกาสทำก็ไม่ทำ

ผลของศีลก็มีอยู่นะ ท่านก็สอนนะ
"สีเลนะ สุคติง ยันติ" ศีลนะมีความสุขอยู่เบื้องหน้านะ
"สีเลนะ โภคะสัมปะทา" มีโภคะ ถือศีลแล้วรวยได้ คนไม่มีศีลไม่รวยง่ายนะ
อย่างกินเหล้า ติดยาเสพติด คบคนไม่ดี อะไรพวกนี้นะ
หาเจริญยาก ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ลำบาก
"สีเลนะ นิพพุติง ยันติ" ศีลเนี่ยเป็นปัจจัยไปสู่นิพพาน
อานิสงส์ของศีลก็มี เราต้องรักษาศีล ถึงทำผิดได้ก็ไม่ทำ
ถึงทำผิดได้ก็ไม่ทำ ถูกยั่วยวนยังไงก็ไม่ทำผิด อย่างนี้เรียกว่ามีศีล
ถ้าเรามีศีลเราจะงดงามนะ มีความงามในตัวเอง
มีความน่าเชื่อถือ มีเครดิต คนไม่มีศีล ไม่มีเครดิต
พอไม่มีเครดิตนะ ไม่ได้รับความเชื่อถือนะ
โอกาสจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง อะไรอย่างนี้ยาก
เพราะฉะนั้นเราต้องมีเจตนานะ งดเว้นการทำผิดทำบาปทางกายทางวาจา
ต้องเจตนางดเว้น ตั้งใจไว้เลย
ตื่นนอนขึ้นมาตอนเช้านะ ตั้งใจไว้เลยวันนี้จะไม่ทำผิดศีล
กลางวันก่อนจะกินข้าวนะ ตั้งใจไว้ วันนี้จะไม่ทำผิดศีลอีก
ถ้าตั้งใจอย่างนี้ ก็เข้าไปร้านอาหารบางแห่งไม่ได้แล้ว
จะต้องไปเลือก เอาตัวนี้ๆ อะไรอย่างนี้ อย่างนี้ทำไม่ได้แล้ว
ก่อนจะนอนนะ ตั้งใจไว้อีก จะไม่ทำผิดศีล
จำเป็นยังไง ก่อนจะนอนก็ต้องตั้งใจ
เผื่อไม่ได้ตื่น เผื่อนอนหลับไปแล้วไม่ตื่นอีกเลย
ไฟครอกตาย หรือเป็นโรคอะไร หัวใจวายตาย
อย่างน้อยตอนก่อนจะตายเนี่ย รักษาศีลไว้แล้ว มีศีลเป็นเครื่องคุ้มครองเรา
ลองตั้งใจรักษาศีลวันละ ๓ ครั้งนะ ก่อนอาหาร แถมอีกครั้งหนึ่งก่อนนอน
ถ้าตั้งใจอย่างนี้นะ ใจเราจะเคล้าเคลียในธรรมะง่ายขึ้น
มันจะมีกำลังนะ ทำให้เราไปสู่มรรคผลนิพพานได้ง่าย


สวนสันติธรรม
๒๕ เมษายน ๒๕๕๓