Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๙๙

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม - ขอให้หลวงพ่อกรุณาอธิบายเรื่องของสภาวธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมค่ะ


อยากได้มรรคผลนิพพานนะ ก็ต้องรู้ความจริงของกายของใจ ของรูปของนามนะ
เพราะสภาวธรรมเนี่ย ที่เรียกว่าปรมัตถธรรมเนี่ย
คือธรรมะแท้ๆ เลย มีอยู่ ๔ อย่าง
อันที่ ๑ เรียกว่าจิต อันที่ ๒ เรียกเจตสิก
เจตสิกเป็นธรรมะที่ประกอบกับจิต
อันที่ ๓ เรียกว่ารูป อันที่ ๔ คือนิพพาน
อยู่ๆ เราเห็นนิพานไม่ได้ เพราะเราไปติดอยู่ในจิต เจตสิก รูป
บางคนยิ่งกว่านั้นอีก ไปติดอยู่ในสมมุติบัญญัติ
ไปติดอยู่ในสมมุติบัญญัตินะ จิตก็ไม่เห็น เจตสิกก็ไม่เห็น รูปก็ไม่เห็น ยิ่งไปใหญ่
สมมุติบัญญัติคือสิ่งที่คิดนึกเอาเอง ไม่เห็นจิต เจตสิก รูป
แล้วสมมุติบัญญัตินะมันปิดบังไม่ให้เราเห็นจิต เจตสิก รูป
ตัวจิต เจตสิก รูปเองเนี่ย ถ้าเรารู้ไม่แจ้ง วางไม่ลงเนี่ย
มันก็บังไม่ให้เราเห็นนิพพาน เราค่อยศึกษาเป็นลำดับๆ ไป
อันแรกเลยต้องหลุดจากโลกของสมมุติบัญญัติให้ได้
โลกของความคิดนั่นเอง มาอยู่ในโลกของความเป็นจริง
เมื่อเราอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ เราจะเห็นจิต เจตสิก รูป
ฟังแล้วฟังยากนะ เจตสิกเนี่ย จิตกับรูป รูปยังพอฟังรู้เรื่อง
อย่างร่างกายเป็นรูป จิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์
เจตสิกเป็นสภาวธรรมที่ประกอบกับจิต
จิตนั้นโดยตัวมันเองเป็นตัวรู้อย่างเดียว
เฉยๆ ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีอะไร รู้เฉยๆ นะ ไม่มีกุศล อกุศลอะไร
เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ
แต่มันจะสุขมันจะทุกข์ มันจะเป็นกุศลอกุศลเนี่ย
เพราะความสุขเพราะความทุกข์มันแทรกเข้าไป
เพราะกุศลเพราะอกุศลมันแทรกเข้าไป
นี่ตัวที่แทรกเข้ามานี้ เรียกว่า "เจตสิก" เกิดร่วมกับจิต ทำงานร่วมกับจิตนะ
รู้อารมณ์อันเดียวกับจิต ดับไปพร้อมกับจิต
ยกตัวอย่างนะ จิตเนี่ยคล้ายๆ น้ำบริสุทธิ์ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส
มันเป็นน้ำเขียวน้ำแดงขึ้นมาเพราะเราเอาสีไปใส่
จิตเนี่ยจะสุขจะทุกข์ขึ้นมา จะดีจะชั่วขึ้นมาก็เพราะว่ามีเจตสิกเข้าไปใส่นะ มันเติมลงไป

เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนานะ เราค่อยๆ ดูไป
ร่างกายก็อยู่ส่วนร่างกาย นี่คือตัวรูป อยู่ต่างหาก
ในส่วนที่เป็นนามธรรมนั้นมีจิตกับเจตสิก
จิตเป็นตัวรู้ เจตสิกเป็นสิ่งต่างๆ ที่แปลกปลอมเข้ามา
อย่างเราภาวนานะมีความสุขขึ้นมา
คนทั่วๆ ไปเห็นว่าเราสุข นี่คนที่ไม่เคยภาวนาเห็นว่าเรามีความสุข
นักภาวนานะเห็นว่าจิตมันมีความสุข ไม่ใช่เรามีความสุขนะ แต่จิตมันมีความสุข
ความสุขเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา
ความสุขไม่ใช่จิตหรอก มันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต
เนี่ยตัวที่เข้ามาแทรกแซง มาเติมลงไปในจิต เรียกว่าเจตสิก
เพราะฉะนั้นเวลาเราภาวนาเนี่ย
ถ้าภาวนาชำนาญแล้ว เราจะเห็นเลยว่าจิตมันสุขนะ
ไม่ใช่เราสุขหรอก ความสุขก็ไม่ใช่จิตด้วย
ส่วนใหญ่เราจะรู้สึกว่าจิตเป็นตัวเรา จะสำคัญมั่นหมายว่าจิตคือตัวเรา
เพราะจิตเป็นตัวรู้ จิตเป็นประธานของทุกสิ่งทุกอย่าง
จิตเป็นใหญ่ในธรรมทั้งปวง ตัวรู้เป็นหัวหน้าในธรรมทั้งปวง
เราก็เลยรู้สึกว่าตัวนี้แหละคือตัวเรา เป็นตัวที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เรารู้
พอมาหัดภาวนาจริงๆ เราเห็นเลย จิตก็ไม่ใช่เรานะ
จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง
ที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
อะไรเป็นอารมณ์ให้จิตไปรู้ได้บ้าง
สมมุติบัญญัติก็เป็นอารมณ์ให้จิตรู้ อย่างเราคิดอะไรต่ออะไรเนี่ย
จิตเป็นคนรู้ ไม่ใช่เรารู้นะ ทีนี้ถ้าสำคัญมั่นหมายผิดก็รู้สึกว่าเรารู้ เราคิด
ที่จริงจิตมันคิด จิตมันรู้ จิตมันปรุง
เนี่ยสมมุติบัญญัติมันก็เป็นอารมณ์อันหนึ่งที่จิตรู้
รูปธรรม ร่างกายนี่ ก็เป็นอารมณ์อันหนึ่งที่จิตรู้
เจตสิกก็เป็นอารมณ์อันหนึ่งที่จิตรู้ ตัวจิตเองก็เป็นอารมณ์ให้จิตรู้ได้
จิตดวงก่อนถูกจิตดวงใหม่ สดๆ ร้อนๆ ที่เกิดขึ้นใหม่เนี่ย รู้จิตดวงก่อน
ไม่ใช่จิตดวงเดียวรู้จิตดวงเดียวนะ จิตดวงใหม่ไปรู้จิตดวงเก่าที่จบไปแล้ว
เพราะฉะนั้นจิตเนี่ยรู้อารมณ์ได้กว้างขวาง
รู้สมมุติบัญญัติก็ได้ คือเรื่องราวที่คิดก็ได้นะ
รู้รูปก็ได้ รู้เจตสิกก็ได้ รู้จิตก็ได้ แถมรู้นิพพานได้ด้วย

ถาม - เราจะเห็นสภาวธรรมที่พ้นจากความปรุงแต่งได้อย่างไรคะ

บรรดาอารมณ์ทั้งหลายเนี่ยนะ มีอยู่ ๒ ส่วน
อารมณ์ที่เป็นความปรุงแต่งก็คือสมมุติบัญญัติทั้งหลาย
อารมณ์ที่เป็นความปรุงแต่งนะจะเป็นสังขาร มีสภาวธรรมรองรับ นี่ก็มีจิต มีเจตสิก มีรูป
อารมณ์ที่พ้นจากความปรุงแต่งก็คือนิพพาน เป็นสภาวธรรมที่พ้นจากความปรุงแต่ง
ทั้งหมดนี้จิตรู้ได้หมดเลย สรุปแล้วจิตทำหน้าที่รู้เท่านั้นเองนะ
แต่จิตมันไม่รู้เฉยๆ หรอก จิตมันไม่ฉลาด มันก็รู้ไปยึดไป รู้ไปปรุงไป
เราค่อยๆ สอนมันนะ ค่อยๆ สอนมันโดยการเอาข้อเท็จจริงมาให้มันดู
พามันเจริญสติไป ให้มันมีสติ พอเรารู้สึกตัวขึ้นมา มีสติขึ้นมา
มันก็หลุดออกจากโลกของสมมุติบัญญัติแล้ว
หลุดออกจากโลกของความคิดนึกปรุงแต่ง มาอยู่กับโลกของความเป็นจริง
โลกของความเป็นจริงก็มารู้สึกอยู่ที่กาย รู้สึกอยู่ที่ใจ
คือรู้จิต เจตสิก รูป นั่นเอง รู้สิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ
ตัวจิต เจตสิก รูป หรือย่อๆ ลงมาเรียกว่ารูปกับนาม
จิตกับเจตสิกเนี่ยเป็นนามธรรม เรียกว่านาม
เพราะฉะนั้นจาก จิต เจตสิก รูป ย่อลงมาเหลือแต่รูปกับนาม
รู้รูปรู้นาม ภาษาไทยว่าง่ายๆ นะแต่มันไม่ตรงทีเดียว คือรู้กายรู้ใจ
นามไม่ได้มีแค่ใจหรอก แต่พูดง่ายๆ ก็มีใจดี ใจร้าย อะไรด้วย
ดีร้ายไม่ใช่ใจหรอก เป็นเจตสิก
ใจสุข ใจทุกข์ สุขทุกข์ไม่ใช่ใจหรอก เป็นเจตสิก ตัวใจก็ตัวจิต

เราค่อยๆ เรียนไปนะ เราจะเห็นเลย
สิ่งที่มาประกอบ สภาวธรรมที่มาประกอบเป็นตัวเราเนี่ย
จิต เจตสิก รูป หรือรูปนาม หรือกายใจ
เอาเข้าจริงแต่ละตัวๆ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
คอยรู้สึกอยู่ที่กาย ก็จะเห็นแล้ว กายไม่ใช่เรานะ
รู้สึกอยู่ที่ความรู้สึก เช่นความสุขเกิดขึ้นก็รู้ ความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้
โลภโกรธหลงเกิดขึ้นก็รู้ พวกนี้เจตสิก
พอเราเห็นนะ เราจะเห็นเลยว่าสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ตัวเราหรอก
ความสุขความทุกข์ก็เป็นสิ่งที่แปลกปลอม ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
กุศลอกุศลก็เป็นสิ่งแปลกปลอม ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จิตเป็นคนรู้
ทีนี้เราจะเห็นเลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับ
อย่างร่างกายเนี่ย รูปนะ มีรูปหายใจออก รูปหายใจเข้า เกิดดับต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ
รูปยืน รูปเดิน รูปนั่ง รูปนอน เกิดดับต่อกันไปเรื่อยๆ
รูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง เกิดต่อเนื่องกันไป
เจตสิกนะ สุข ทุกข์ เฉยๆ ก็เกิดดับหมุนเวียนกันไป
เจตสิกในส่วนที่เป็นกุศลอกุศลก็เกิดดับหมุนเวียนกันไป
เป็นกลางๆ บ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง หมุนกันไปอย่างนี้เอง ทุกอย่างเกิดแล้วดับ
แต่ตัวจิตล่ะ เกิดดับยังไง ดูยังไงให้เห็นจิตเกิดดับ
ดูสิจิตเกิดดับที่ไหน จิตเกิดที่ไหนจิตก็ดับที่นั่น
จิตเกิดที่ตา จิตก็ดับที่ตา จิตเกิดที่หู จิตก็ดับที่หู
จิตเกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ก็ดับที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย
จิตเกิดที่ใจ จิตไปรู้อารมณ์ทางใจ เกิดแล้วก็ดับได้เหมือนกัน
สังเกตไหมจิตที่ไปดู ก็อยู่ชั่วคราวก็หายไป กลายเป็นจิตที่ไปคิด อะไรอย่างนี้
จิตที่ไปฟัง อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป มากลายเป็นจิตที่คิด
นี่จิตเกิดดับให้ดูได้เหมือนกัน

สวนสันติธรรม
๓ ตุลาคม ๒๕๕๒