Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๙๘

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม: หลวงพ่อแนะนำให้ฝึกทำในรูปแบบทุกวัน อยากทราบว่าการทำในรูปแบบมีประโยชน์อย่างไรบ้างคะ


ที่หลวงพ่อบอกให้ทำในรูปแบบบ้าง ทำในรูปแบบจะได้หลายอย่างเลย
อย่างแรก...ถ้าเราตั้งใจจะทำ แล้วทำทุกวัน เราได้บารมีที่ชื่อ อธิษฐานบารมี
อันที่สอง เราได้ ขันตินะ
เราต้องทนนะในการทำ ได้บารมีตั้งหลายตัว
เรามีความเสียสละ เสียสละความสุขอย่างโลกๆ มาหัดภาวนา
เป็น เนกขัมมบารมีนะ
แทนที่เอาเวลาไปดูหนัง ฟังเพลง
เอาเวลามาภาวนาก็เป็น เนกขัมมบารมีเหมือนกัน
ไม่ถึงต้องขนาดไปบวชหรอก ขณะนั้นออกจากกามชั่วครั้งชั่วคราว
5
นาที 10 นาที ก็เนกขัมมะน้อยๆ
เสียสละก็เป็น ทาน
เสียสละความสุข ความสบายของตัวเอง เพื่อจะเอาธรรมะ
กล้าสละ เป็นทานบารมี

มีบารมีหลายตัวนะ
ฉะนั้นเราหัดทุกวันนะ ทำในรูปแบบบ้าง
ทำไปเรื่อยๆ เราจะได้อะไร
นอกจากได้บารมีหลายตัวแล้ว สติเราจะเร็วขึ้น
เพราะเวลาเราทำในรูปแบบนี่ บางทีจิตก็หลงไป จิตเผลอไป
พอจิตเผลอไป จิตหลงไปนะ
ไปคิดนึกปรุงแต่ง เกิดกิเลสโน้น กิเลสนี้ แทรกเข้ามา
เราคอยรู้ทันไปเรื่อย
ต่อไปไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นในกาย อะไรเกิดขึ้นในใจ
รู้ได้เอง ไม่ต้องเจตนาจะรู้
มันรู้ได้เอง นี่เรียกว่าได้สติแล้ว
เราทำในรูปแบบไปนะ พุทโธไป รู้ทันจิตไป
หายใจไปรู้ทันจิตไป ดูท้องพองยุบ รู้ทันจิตไป
เดินจงกรม รู้ทันจิตไป
ถ้าจิตไหลแล้วรู้ จิตไหลแล้วรู้
จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา จะได้อะไร ได้ สมาธิ
สมาธิคือความตั้งมั่นของจิต
จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ ผู้ดูนะ
เป็นผู้รู้ตัวน้อยๆ เล็กๆ เป็นขณะๆ ไป
ผู้รู้ตัวน้อยๆ เป็นขณะๆ นี่เรียกว่าขณิกสมาธิสมาธิเป็นขณะๆ
ถ้ามีขณิกสมาธิก็ทำมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้นได้

สวนสันติธรรม
๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓

ถาม - ขอให้หลวงพ่อกรุณาชี้แนะวิธีการสังเกตสภาวธรรม โดยเฉพาะราคะซึ่งดูยากกว่าโทสะค่ะ

เครื่องมือในการสู้กิเลสนี่มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา
สู้กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด
เพราะฉะนั้นลำพังสู้อย่างละเอียดนะ สู้ไม่ไหวจริงหรอก
ค่อยๆ ฝน ค่อยๆ เกลา แหม กิเลสเกิดแล้วรู้ กิเลสเกิดแล้วรู้
ถ้ามันรู้ได้ก็ดีสิ ส่วนมากมันนานๆ รู้ทีนึง
เวลาที่เหลือนะ อกุศลหยาบๆ เอาไปกิน
แต่ถ้าฝึกไปจนชำนาญนะ จนสติอัตโนมัติแล้ว
ศีลมันเกิดขึ้นเองนะ สมาธิเกิดขึ้นเองเลย ไม่ต้องรักษาแล้ว มีขึ้นมาเอง
แต่ก่อนจะมีขึ้นมาเองเนี่ย ต้องสร้างมันไว้ก่อน เป็นเครื่องอาศัยไว้ก่อน
ยังไงก็อย่าทำชั่วก็แล้วกัน
พอถึงขั้นเจริญปัญญาเราจะไม่กดข่มทางใจแล้ว
กิเลสเกิดขึ้นมาไม่หาทางละแล้ว ไม่หาทางข่มนะ
แต่ความชั่วใดๆ กิเลสใดๆ ผุดขึ้นในใจ ให้มีสติรู้ทัน
เราจะเห็นเลยว่ากิเลสเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป
ไม่เฉพาะกิเลสหรอกที่เกิดแล้วดับ กุศลเกิดแล้วก็ดับด้วย
ทุกอย่างมีแต่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ นี่เรียกว่าเจริญปัญญา
แต่ถ้าปัญญาล้ำหน้านะ ก็คิดเอาเองว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทุกอย่างว่างเปล่า
ทำชั่วอะไรก็ได้เพราะว่าไม่มีตัวเรา นี่คิดเอาเอง
คิดเอาเองไม่ได้หรอก จิตก็ยังทุกข์อยู่ ต้องภาวนานะ
มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจบ่อยๆ รู้ไปเรื่อย ใจค่อยสะอาดสะอ้านขึ้นเรื่อยๆ

กิเลส ทีแรกเราจะหัดภาวนาใหม่ๆ นะ ต้องเห็นกิเลสหยาบๆ
เช่นโทสะแรงๆ เกิดขึ้นถึงจะมีสติรู้ทัน ต่อไปขัดใจเล็กๆ ก็มีสติรู้ทันแล้ว
ราคะก็ดูยากขึ้นไปอีก ราคะเป็นความโลภในใจ
พวกเราดูออกไหมว่าใจเรามีราคะเกือบตลอดเวลา ดูออกไหม
ราคะอะไร เช่น มันคันอยากเกา ไม่เห็นว่าอยากเกา
มันเมื่อยอยากขยับ ไม่เห็นว่าอยากขยับ
ได้ยินเสียงอะไรก๊องแก๊งอยู่ข้างหลัง อยากดู ไม่รู้ว่าอยากดู
ความอยากที่จะดู อยากฟัง อยากได้กลิ่น อยากได้รส
อยากกระทบสัมผัสทางกาย อยากรู้เรื่องทางใจ
ความอยากทั้งหลายทั้งปวงนี่เป็นโลภะ เป็นตัณหาทั้งนั้นเลย
เห็นไหมความอยากก็เกิดทั้งวันแหละ
นั่งๆ อยู่รู้สึกไหม เดี๋ยวก็อยากเกา เดี๋ยวก็อยากขยับ
ได้ยินใครเขาพูดไหม เขาส่งการบ้าน อยากดู
ยังไม่ทันจะมีคนส่งการบ้านเลย เขาส่งไมค์ ยังอยากรู้เลยว่าไมค์ไปถึงไหนแล้ว
ความอยากมันละเอียดลออนะ

เนี่ยเราค่อยๆ มีสติเราจะเห็นเลย ใจมีแต่ความอยากทั้งวันเลย
ความหลงน่ะมีทั้งวัน แต่ดูย้าก ยาก
โทสะเนี่ย นานๆ แทรกขึ้นมาที
ราคะก็ละเอียดขึ้น ดูยากขึ้น
โมหะดูยากที่สุดเลย โมหะเป็นความฟุ้งซ่านของจิต
ความฟุ้งซ่านของจิตทำให้จิตไม่มีคุณภาพที่จะรู้สภาวธรรม
ตัวอย่างโมหะง่ายๆ นะ เคยได้ยินหลวงปู่ดูลย์บอกไหม
ว่าจิตมันไหลไป จิตมันส่งออกนอก อะไรอย่างนี้
จิตส่งออกนอกมันหลงนะ แล้วถึงจะได้ส่งออกนอก
ในขณะที่จิตส่งออกนอกนั้นน่ะ ประกอบด้วยความหลงเสมอ
ถ้าจิตส่งออกนอกคือจิตมีโลภะ มีตัณหานะ จะต้องเกิดร่วมกับความหลง
ถ้าจิตไม่หลง ก็ไม่ส่งออกนอก
พวกเราลองดูสิ เราหลงทั้งวัน รู้สึกไหม
ก่อนจะโลภ เราก็หลงก่อน ก่อนจะโกรธ เราก็หลงก่อน
หลงอะไรมากที่สุด หลงไปคิด หลงคิดนี่เกิดทั้งวันเลย
สังเกตไหมใจเราแอบไปคิดได้เอง
ค่อยๆ สังเกตไปนะ ใจมันหนีไปคิดได้เอง หนีไปคิดแว็บ แว็บ หนีไปเรื่อยๆ
ดูออกไหม หนีไปคิดแล้ว ไม่ไปหยุดคิดนะ จิตหนีไปคิด
ไม่ได้ฝึกห้าม เพราะเราไม่ได้ฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่คิดไม่เป็น กลายเป็นต้นไม้และก้อนหิน
แต่เราฝึกรู้ทัน จิตไหลไปคิดแล้วรู้ทัน จิตไหลไปคิดแล้วรู้ทัน ใจมันจะตื่นขึ้นมา
ใจที่ตื่นขึ้นมาตรงข้ามกับใจที่มีโมหะ ใจที่ตื่น
ใจที่มีโมหะก็หลงไป ไม่รู้สภาวะ
ใจที่ตื่นขึ้นมาก็สามารถรู้กายรู้ใจได้ ใจที่หลงไปก็จะลืมกายลืมใจ
สังเกตดูขณะที่พวกเราหลงไปคิด มีกายเราก็ลืมมัน มีใจเราก็ลืมมัน
เราลืมทั้งวันเลย

สวนสันติธรรม
๑๘ กันยายน ๒๕๕๒