Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๙๖

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช



ถาม - ทำอย่างไรจึงจะเห็นไตรลักษณ์ของกายและใจ จนปล่อยวางได้คะ


เราภาวนานะเพื่อให้รู้ความจริงลงในขันธ์
ถ้าเห็นว่าขันธ์นี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ จิตมันจะปล่อยวางของมันเอง
ไม่ต้องไปคิดเอา ไม่ต้องไปนึกเอา อย่างโน้นอย่างนี้นะ
ดูของจริงๆ ลงไปหรอก มันไม่สวยไม่งาม
ไม่ดี ไม่วิเศษอะไรหรอกนะ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย
การที่เรามีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ตามความเป็นจริงคือเห็นความจริงของมัน
ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ ใจจะปล่อยวาง
เพราะฉะนั้นพวกเราก็มีหน้าที่เท่านี้แหละ มีสติคอยรู้สึกกาย มีสติคอยรู้สึกใจ
แล้วก็คอยดูซิ กายจริงๆ เป็นยังไง จิตใจจริงๆ เป็นยังไง ดูของจริงไม่ใช่คิดเอา

สมมุติว่าถ้าเราจะไปนั่งคิดเอาเองนะ ว่าอาภัสรา ไม่สวยหรอก ไม่สวยหรอก
ก็เห็นอยู่แล้วว่ามันสวยน่ะ ตอนเราเด็กๆ เราก็เห็นว่าสวยนะ
แล้วจะมาให้เรานั่งคิดว่าอาภัสราไม่สวยหรอก
ต่อไปเธอจะแก่ เธอจะเหี่ยว เธอจะย่นๆ
ก็ตอนนี้เธอยังไม่ย่นน่ะ เนี่ยใจมันจะคิดอย่างนี้นะ

เพราะฉะนั้นคิดเอาเนี่ย กิเลสไม่เชื่อหรอก จิตไม่เชื่อหรอก
ต้องดูของจริง อย่าไปนั่งคิดเอาเอง ไม่ได้
อย่างสมมุติเราชอบผู้หญิงสักคนหนึ่งนะ
อย่าไปนั่งคิดเอา อีกหน่อยเธอก็แก่แล้ว
ก็ตอนนี้เธอยังสาวน่ะ ใช่ไหม
ใจมันรู้ว่าคิดหลอกตัวเอง ตอนนี้มันยังดี ยังวิเศษ
ยังเห็นเป็นของดี แค่โกหกตัวเองว่ามันไม่ดี

เพราะฉะนั้นเราไปนั่งคิดเอานะ พิจารณาปฏิกูล พิจารณาอสุภะ อะไรแบบนี้
มันไม่ล้างกิเลสจริง มันข่มกิเลสได้ชั่วครั้งชั่วคราว
ต่อเมื่อเห็นความจริงของมันนะ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
นั่นแหละมันถึงจะล้างกิเลส
เพราะฉะนั้นพวกเราหัดเจริญสตินะ มีสติรู้กายรู้ใจ

แล้วทำยังไงถึงจะเห็นอนัตตา เห็นทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นไตรลักษณ์
ต้องมีสติรู้กายรู้ใจ ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
เงื่อนไขที่จะทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ เห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์
ก็คือตัวสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิทำให้เกิดปัญญา

สัมมาสมาธิคือสภาวะที่จิตมันตั้งมั่น
มันตั้งมั่นแล้วมันเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่างนะ
มันรู้ทุกสิ่งทุกอย่างด้วยใจที่ซื่อๆ รู้แล้วไม่แทรกแซง
รู้แล้วไม่คลุกเข้าไป รู้แล้วไม่อินเข้าไป รู้แล้วไม่ไหลเข้าไป รู้อยู่ห่างๆ
ดูแบบคนวงนอก ดูเหมือนคนดูละคร
เนี่ยเรียกว่าจิตมีสัมมาสมาธิ

พอสติระลึกรู้กาย จิตตั้งมั่นอยู่ต่างหากเนี่ย
ก็จะเห็นเลยกายนี้ไม่ใช่เราหรอก เห็นทันที
สติระลึกรู้เวทนา ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์นะใจเราตั้งมั่นเป็นแค่คนรู้คนดูอยู่
จะเห็นว่าเวทนาเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา ไม่ใช่เราหรอก
สติระลึกรู้กุศลและอกุศล เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้งหลาย
ถ้าจิตตั้งมั่นอยู่ ก็จะเห็นกิเลสเนี่ยเป็นของแปลกปลอม
มันผ่านมาผ่านไปเหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน
เราอย่าวิ่งตามมันออกไปก็แล้วกัน หรืออย่าวิ่งไปเชิญมันเข้าบ้านก็แล้วกัน

แค่รู้มันเฉยๆ นะ ทุกอย่างมันจะมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป
ไม่คล้อยตาม ไม่ต่อต้าน รู้อย่างที่เขาเป็นไป
เราต้องการเห็นความจริงว่าทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไปนะ
ไม่มีอะไรคงทนถาวรหรอก มีแต่ของไม่เที่ยง
เราต้องการให้เห็นว่าจริงๆ แล้วกายนี้ใจนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
เราต้องการให้เห็นความจริงว่า กายก็ไม่ใช่เรา จิตก็ไม่ใช่เรา
มันเป็นขันธ์ มันเป็นธาตุ มันทำงานของมันเอง มันเป็นของโลก
ต้องการให้เห็นความจริงนี้ เราก็รู้มันไปซื่อๆ

ตามรู้มันบ่อยๆ รู้มันเนืองๆ รู้แล้วไม่เข้าไปเพ่งไว้ รู้แล้วไม่ไปคิดเอา
รู้แล้วไม่แทรกแซง รู้แล้วไม่บังคับ รู้ธรรมดาๆ รู้ซื่อๆ
รู้ลงไปเรื่อยๆ ในกาย รู้ลงไปเรื่อยๆ ในใจ
กิเลสมันทนสติปัญญาเราไม่ได้หรอก ซักวันมันต้องแสดงให้เห็นหรอก
ทุกวันนี้กิเลสมันครอบงำจิตใจอยู่นะ มันหลง
มันไปเห็นขันธ์ซึ่งไม่เที่ยงว่าเป็นของดีของวิเศษ
เห็นขันธ์ที่เป็นทุกข์ว่าเป็นของดีของวิเศษ
เห็นขันธ์ที่เป็นอนัตตานะ ว่าเป็นตัวกูของกูขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเรามาหัดเจริญสตินะ รู้ลงในกาย รู้ลงในใจ
จะเห็นเลยมันเป็นไตรลักษณ์
เงื่อนไขที่จะทำให้รู้กายรู้ใจได้มีสองตัวนะ
มีสติ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก
คอยรู้สึกถึงความมีอยู่ของกาย รู้สึกถึงความมีอยู่ของใจ นี่เรียกว่ามีสติ
ในขณะที่มีสตินั้น มีใจตั้งมั่น ใจสักว่ารู้ สักว่าเห็น
รู้มันซื่อๆ รู้แล้วไม่แทรกแซง รู้แล้วไม่ถลำไปเพ่ง ไปจ้อง รู้สบายๆ รู้อยู่ห่างๆ
เนี่ยเรียกว่าใจมันตั้งมั่นในการรู้การเห็น มันไม่ถลำลงไป
ก็จะเกิดปัญญา เห็นไตรลักษณ์

เพราะฉะนั้นจะเห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ห้าได้ ของกาย ของใจได้นะ
มีเครื่องมือสองตัว สติตัวหนึ่ง สัมมาสมาธิอีกตัวหนึ่ง
สติเป็นเครื่องระลึกรู้ความมีอยู่ของกายของใจ
สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ในขณะที่รู้กายรู้ใจ ในขณะที่สติระลึกรู้กายรู้ใจ
เนี่ยถ้ามีสองตัวนี้เมื่อไหร่นะ ปัญญาจะเกิด คือจะเห็นความจริงของกายของใจ
แต่ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่นนะ พอสติไปรู้กาย เราก็ถลำไปลงจ้องอยู่ที่กาย
กลายเป็นเพ่งเฉยๆ ไม่เกิดปัญญา

ถ้าไม่ถลำไปจ้องนะ มันจะเห็นเลย ร่างกายมันพอง ร่างกายมันยุบ
ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน
ไม่ใช่เรายืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่เราหายใจออก หายใจเข้า ไม่ใช่เราพอง เรายุบ
แต่รูปมันเป็น ร่างกายมันเป็น จะเห็นเลยมันไม่ใช่เราแล้ว
จะเห็นเวทนา ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นที่กายบ้าง ที่ใจบ้าง
ก็สักแต่ว่าสภาวธรรม ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
จะเห็นกุศลอกุศลเกิดขึ้นที่จิตใจ กุศลอกุศลไม่เกิดที่กายหรอก เกิดที่จิตใจอย่างเดียว

ก็เห็นไป สักแต่ว่าสภาวะ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
เห็นอยู่อย่างนี้ เรื่อยๆ เห็นเนืองๆ
ในที่สุดก็เห็นว่า อ้อ มันก็แค่สภาวะที่เกิดๆ ดับๆ เท่านั้นแหละ
ไม่ใช่ตัวเราหรอก นี่เห็นความจริงแล้ว
ขันธ์ห้านี้ก็แค่สภาวะเท่านั้นเอง เกิดๆ ดับๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริงนะ
ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ฝึกไปอย่างนี้ได้เป็นพระโสดาบัน
ตามรู้ตามดูไปอีก เห็นแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย
ขันธ์ห้ามีแต่ทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ของดีของวิเศษ
ถ้าเห็นแบบนี้ปล่อยวางแล้ว ไม่ยึดแล้ว เป็นพระอรหันต์

อย่าไปวาดภาพว่ายากเกินไปนะ ไม่ยากหรอก
อยู่ที่ความอดทนของเรานะ ทำให้ถูกหลัก
มีสติตามรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง นี่ถูกหลัก
พอถูกหลักแล้วต้องขยัน ดูเนืองๆ รู้เนืองๆ
ไม่ใช่สามวันดูที เจ็ดวันดูที อย่างนั้นไม่ไหว กิเลสเอาไปกินหมด
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
รู้เนืองๆ ไปนะ วันหนึ่งปัญญาเกิด
ได้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอรหันต์ เป็นลำดับๆ ไป แล้วก็พ้นทุกข์ไป

สวนสันติธรรม
๔ ตุลาคม ๒๕๕๒