Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๘๙

luangporพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช




ถาม - ปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาได้ครับ


สมัยก่อนที่หลวงพ่อไปหัดเรียนกับครูบาอาจารย์นะ
เข้าไปหา ครูบาอาจารย์ทุกองค์เลย เมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนเนี่ย
ทุกๆ องค์ ครูบาอาจารย์วัดป่า ท่านจะสอนเรื่องจิตผู้รู้
ท่านย้ำกับตรงนี้มากเลย หลังๆ นี่คำนี้หายไป หลังๆ มีแต่เรื่องนิมิตนะ
ได้ยินนักปฏิบัติคุยกันพูดแต่เรื่องนิมิต ซึ่งมันเป็นเรื่องไร้สาระ
เรื่องที่มันมีสาระคือทำไมเราลืมคำว่าจิตผู้รู้ไป
งั้นภาวนาให้มันมีจิตที่เป็นผู้รู้ขึ้นมา

เบื้องต้นทำกรรมฐานอย่างหนึ่งก่อน หายใจก็ได้ พุทโธก็ได้

จะดูท้องพองยุบก็ได้ จะขยับมือทำจังหวะก็ได้ อะไรก็ได้
รู้อยู่ที่กาย รู้อยู่ที่ใจนี้แหละ แล้วก็ค่อยๆ สังเกตไป
ทุกสิ่งนี่เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูนี่อยู่ต่างหาก
ค่อยฝึกไปจนมันมีตัวผู้รู้ขึ้นมา พอมันมีตัวผู้รู้ขึ้นมา
มันจะเกิดปัญญาได้ง่าย อย่างเวลาเดินอยู่เนี่ย
ถ้าเราฝึกเดินจงกรมนะ แล้วเราเห็นร่างกายมันเดินใจมันเป็นคนดู ฝึกแบบนี้
ร่างกายเดินใจเป็นคนดู ร่างกายยืนใจเป็นคนดู
ร่างกายนั่งใจเป็นคนดูร่างกายนอนใจเป็นคนดู
ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ค่อยๆ สังเกตไป
หรือพุทโธ พุทโธไป ก็เห็นพุทโธ เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
พุทโธเป็นสิ่งถูกรู้ถูกดู ผู้รู้ผู้ดูมีอยู่ต่างหาก
ดูท้องพองยุบก็เห็นร่างกายมันพอง ร่างกายมันยุบ
อย่าไปเพ่งอยู่ที่ท้อง รู้สึกตัวทั่วตัว รู้สึกตัวทั่วๆ เลย
รู้สบายๆ รู้กว้างๆ เห็นร่างกายมันพองไป ร่างกายมันยุบไป
ใจเป็นผู้รู้ผู้ดู ค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยนะ
เดินจงกรมก็เหมือนกัน เห็นร่างกายมันเดิน ใจเป็นผู้ดู
เห็นจิตไปคิด ใจก็เป็นผู้รู้ผู้ดู ค่อยฝึกอย่างนี้บ่อยๆ
พอใจมันเป็นผู้รู้ผู้ดูเนืองๆ ต่อไปมันมีผู้รู้ผู้ดูอยู่บ่อยๆ
พอมีผู้รู้ผู้ดู จิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูเกิดแล้วเนี่ย
พอสติระลึกรู้ร่างกาย มันจะเห็นทันทีเลย
ร่างกายนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา
เห็นทันที ร่างกายไม่ใช่เรา
เวทนาคือความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์เกิดขึ้น สติระลึกรู้นะ จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูเท่านั้น
จะเห็นว่าความสุข ความทุกข์ก็ไม่ใช่จิตนะ
ความสุข ความทุกข์เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาให้จิตเข้ามารู้ชั่วครั้งชั่วคราว
กุศล อกุศลเกิดขึ้น จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
ก็จะเห็นเลยว่า โลภโกรธหลงทั้งหลาย กุศลทั้งหลาย
คือสิ่งที่ผ่านมาผ่านไป จิตเป็นแค่ผู้รู้ผู้ดู
ค่อยฝึกไปมันจะเห็นเลยว่า ทุกอย่างสิ่งแค่ผ่านมาผ่านไป
ทุกอย่างไม่ใช่ตัวเราหรอก เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้น

ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ พอฝึกไปมากๆ ต่อไปก็สังเกตอีก
กระทั่งตัวจิตที่เป็นผู้รู้ผู้ดูเองก็เกิดแล้วก็ดับ
เป็นผู้รู้อยู่ชั่วคราวนะ เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด
เป็นผู้รู้อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง
เป็นผู้รู้อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เผลอออกไป ลืมเนื้อลืมตัวไปเลย เป็นสารพัด
เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ประเดี๋ยวก็เป็นผู้เงื่องหงอย ผู้โมโหร้าย
เห็นมั้ย ตัวผู้รู้ก็ไม่คงที่หรอก เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ
เฝ้าดูลงไปนะ ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ดูไป
จิตซึ่งมันตั้งมั่นที่มีผู้รู้ผู้ดูอยู่นี่แหละ เรียกว่าจิตมันมีสมาธิ
ถ้าจิตมันหายไป ผู้รู้ผู้ดูหายไปนะ
กลายเป็น ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่งไป ก็เรียกว่าจิต มันขาดสมาธิ
เราอย่านึกว่าสมาธิคือการเห็นแสงสีต่างๆ นะ
การเห็นนิมิตแสงสีต่างๆ ไม่เรียกว่าเรามีสมาธิที่แท้จริง
จิตยังมีสมาธิไม่ดีพอ ยังฟุ้งออกไปข้างนอก
เที่ยวเห็นอันโน้นอันนี้ หรือจิตยังปรุงแต่งอยู่
งั้นถ้าจิตเราตื่นเป็นผู้รู้ผู้ดู เราเรียกว่า เรามีผู้รู้
มีสมาธิที่แท้จริงอยู่ เป็นสมาธิที่เกื้อกูลกับการเจริญวิปัสสนา
ถ้าจิตมันเป็นผู้รู้ผู้ดู มันเจริญวิปัสสนาได้
พอสติระลึกรู้กาย มันเห็นเลยกายเป็นของถูกรู้
สิ่งใดถูกรู้สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเรานะ
นี่ตรงนี้มีนาฬิกาอยู่อันหนึ่ง พวกเราดูนาฬิกานี่
นาฬิกานี้ถูกรู้ รู้สึกมั้ย ใจเราเป็นคนรู้มัน
ใครรู้สึกว่านาฬิกาเป็นตัวเรา มีมั้ย? ถ้ามีนะ รู้สึกจิตแพทย์ก็มานะวันนี้
เห็นมั้ย อะไรๆที่มันถูกรู้ถูกดูได้ มันไม่ใช่เราหรอก
มันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
ถ้างั้นเราค่อยๆ ตื่นขึ้นมานะ
บางคนหลวงพ่อบอกว่าจิตตื่น จิตตื่น
จิตที่ตื่นมาเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ขึ้นมานั่นเอง


ถาม - จะมีวิธีฝึกอย่างไร ให้จิตตื่นคะ

วิธีฝึกก็คือหากรรมฐานมาทำซักอันหนึ่งก่อน
ทำกรรมฐานซักอย่างหนึ่งก่อน อะไรก็ได้นะ แล้วแต่เราถนัด
แต่ไม่ได้ทำเพื่อน้อมให้จิตซึม จิตนิ่ง
ไม่ใช่นั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้ม อย่างนี้ไม่เอานะ
หรือนั่งแล้วก็บังคับ เคร่งเครียดอย่างนี้ไม่เอานะ
นั่งแล้วรู้สึกไป นั่งแล้วเห็นร่างกายมันหายใจไปเรื่อยๆ
ร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดูไปเรื่อยๆ
เวลาจิตรวมนะ จิตสงบนะ จิตมันจะรวมแบบรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ขาดสติเลย
เหมือนเรือบินนะ landing เก่งลงได้นิ่ม ไม่หล่นตู้มลงมา มันกระเด้งขึ้นไปอีก
เพราะงั้นใจเรา ค่อยๆ ฝึกเอา รู้สึกไป
ทำกรรมฐานซักอันหนึ่งก่อน แล้วก็ค่อยๆ สังเกตไป
ว่ากรรมฐานทั้งหลายเหล่านั้นก็เป็นของที่ถูกรู้ถูกดู เหมือนๆ กันหมดเลย
บางคนขยับมือนะ ก็เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว ใจเราเป็นแค่คนรู้คนดู
ลองฝึกดูนะ ฝึกดู จนใจเรามีผู้รู้ผู้ดู
แล้วเรารู้เลยว่าใจที่ตั้งมั่นมีสัมมาสมาธิมันเป็นยังไง
ไม่ใช่จิตที่เคลิ้มๆ ไม่ใช่จิตที่ลืมเนื้อลืมตัว เป็นจิตที่รู้เนื้อรู้ตัว

เนี่ยสมัยก่อนไปหาครูบาอาจารย์นะ ทุกๆ องค์เลยนะ
สอนให้เรารู้สึกตัวอันนี้ สอนให้มีจิตผู้รู้
ไปหาหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ท่านไม่ได้พูดคำว่าจิตผู้รู้นะ
ท่านก็พูดว่า ตื่นขึ้นมา รู้สึกขึ้นมา
ไปหาหลวงพุธ ท่านก็พูดถึงจิตผู้รู้
หลวงปู่เทสก์ อาจารย์มหาบัว หลวงปู่เหรียญ หลวงปู่สิม
เข้าไปหาแต่ละองค์ๆ พูดอย่างเดียวกัน ให้มันรู้ขึ้นมา

แต่บางองค์บอกว่าให้รู้ตัว ให้มีสติรักษาจิต
บางองค์ก็ว่าให้มีจิตผู้รู้ จิตผู้รู้คือจิตมันมีสติ จิตมันตั้งมั่น จิตมันมีสมาธิ
งั้นเราค่อยฝึกนะ อย่าไปเอาแต่มิจฉาสมาธิ นั่งแล้วก็เคลิ้มไป
ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาหรอก ได้แต่นั่งสบายใจ ชั่วครั้งชั่วคราว
พอออกจากสมาธิแล้ว จะอารมณ์ร้าย เที่ยวตีกับชาวบ้านไปเรื่อยเลย พวกมิจฉาสมาธิ
พวกเจริญสติแล้วมีจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเนี่ย อารมณ์ดีนะ
จะเห็นเลย ทุกอย่างไหลมา ไหลไป
จิตไม่เข้าไปข้องไปแวะด้วย สบายใจ
นี่ค่อยๆ ฝึกไปนะ ให้มีใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นขึ้นมา
พอรู้แล้วก็ดูกาย เห็นกายไม่ใช่เรา เห็นจิตไม่ใช่เรา
เห็นเวทนาไม่ใช่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา
เมื่อไรจิตยอมรับความจริงได้ว่า ทั้งขันธ์ห้าไม่มีตัวเรา
ไม่มีตัวเราในขันธ์ห้า ไม่มีตัวเรานอกขันธ์ห้า ก็เป็นพระโสดาบัน
พระโสดาบันไม่ใช่นั่งสมาธิวูบๆ วาบๆ แล้วเป็นพระโสดาบัน
ต้องมีปัญญาเห็นเลย ตัวเราไม่มี
รู้สึกว่าเป็นพระโสดาบันแล้ว วันหลังยังรู้สึกว่ามีเราอีกเนี่ย พระโสดาบันปลอมนะ ใช้ไม่ได้
ไม่มีแล้วก็ต้องไม่มีเลย ไม่ใช่ผลุบๆ โผล่ๆ เดี๋ยวก็มี เดี๋ยวก็ไม่มี ใช้ไม่ได้
นี่พวกเราค่อยฝึกเอา