Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๘๘

โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ถาม- เมื่อปฏิบัติจนรู้เท่าทันความจริงแล้วว่ากายและจิตไม่ใช่เรา แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปคะ

luangporเฝ้ารู้อยู่อย่างนี้เรื่อยๆ พอมันไม่มีเราขึ้นมาจริงๆ ความทุกข์มันอยู่ที่ไหน
ความทุกข์มีอยู่ เพราะขันธ์ยังมีอยู่ ตัวขันธ์นั่นแหละคือตัวทุกข์
ขันธ์เป็นตัวทุกข์นะ ไม่ใช่ขันธ์เป็นตัวสุข
ไม่ใช่ว่าภาวนาแล้ววันหนึ่งขันธ์กลายเป็นตัวสุขขึ้นมาได้ ยังไงก็เป็นตัวทุกข์
เพราะขันธ์มันไม่เที่ยง มันถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
มันบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ ยังไงก็เป็นทุกข์
แต่ว่าเมื่อใจยอมรับความจริง ว่าขันธ์มันเป็นทุกข์นะ
ทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นที่ขันธ์ก็อยู่ชั่วคราว ตัวขันธ์เองก็อยู่ชั่วคราว
การที่เห็นว่าทุกอย่างเป็นของชั่วคราวเนี่ย เรียกว่าเรารู้ทันความจริงละ
เมื่อจิตรู้ทันความจริง เวลาความจริงมาปรากฏให้จิตยอมรับความจริงได้
จิตก็ไม่ทุกข์
ที่จิตทุกข์เพราะจิตยอมรับความจริงไม่ได้
เช่น ร่างกายมันจะแก่ จิตยอมรับความจริงได้ ของธรรมดา มันของชั่วคราว
พอใจยอมรับความจริงได้ ใจมันก็ไม่ทุกข์
มันจะเจ็บมันจะตาย จิตใจเราจะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เจอสิ่งที่ไม่รัก
เรายอมรับความจริงได้ ว่าทุกอย่างชั่วคราว สุขทุกข์ดีชั่ว ของชั่วคราวทั้งหมด
เมื่อใจยอมรับความจริงได้ อะไรเกิดขึ้นนะ ใจไม่ดิ้น
ใจหมดความปรุงแต่ง ไม่ดิ้นต่อ รู้แล้วจบลงที่รู้อย่างแท้จริง

พอใจรู้ทุกอย่าง อย่างที่เค้าเป็นนะ แล้วใจไม่ปรุงแต่งต่อเนี่ย
ถึงจุดหนึ่งสติปัญญาแก่กล้าพอ มันจะเกิดอริยมรรคขึ้นมา
ตอนเกิดอริยมรรคขึ้นมา จิตมันจะไปเห็น
สภาวธรรมชนิดหนึ่งซึ่งพ้นจากความปรุงแต่ง
ตอนนี้พวกเรายังเห็นสภาวะที่พ้นความปรุงแต่งไม่ได้ เพราะจิตเรายังปรุงแต่งอยู่
ที่จิตปรุงแต่งอยู่เพราะยังไม่รู้ความจริงของขันธ์
ยังไม่เห็นหรอกว่า ขันธ์ห้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ยังยอมรับไม่ได้
เวลาเห็นก็เห็นนิดๆ หน่อยๆ แต่ยังยอมรับความจริงไม่ได้
ใจลึกๆ มันก็ยังอยากให้ร่างกายนี้แข็งแรงตลอดกาล เป็นหนุ่มเป็นสาวตลอดกาล
ยอมรับไม่ได้ที่จะไม่สมหวัง อยากให้มันสมหวัง อยากให้มันมีความสุข
อยากให้มันบรรลุมรรคผล นิพพาน มันอดอยากไม่ได้
งั้นใจที่เรายังมีความอยากอยู่เนี่ย มันดิ้นรนไม่เลิก
ความอยากก็คือตัณหา มาผลักดันให้ใจนี้ดิ้นรน
การดิ้นรนของจิตเรียกว่าภพ มีตัณหาเป็นผู้สร้างภพ
จิตทำงานอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่สามารถเห็นนิพพานที่มันอยู่เหนือภพได้
ต่อเมื่อเราเจริญสติเจริญปัญญาเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตัวเองมากเข้า มากเข้า
วันหนึ่ง มันไม่ยึดถือในกายในใจนะ มันก็พ้นความปรุงแต่งไป
ใจก็ไปสัมผัสพระนิพพาน

นิพพานมีจริงๆ นิพพานเป็นความสุข
นิพพานไม่มีกิเลสนะ นิพพานไม่มีขันธ์ แต่นิพพานมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มีอะไรเลย
หลังจากนั้นพอเราภาวนามาถึงตรงนี้เนี่ย เรายังเห็นนะขันธ์ก็ยังเป็นทุกข์อยู่
ความทุกข์มีอยู่แต่ไม่มีเจ้าของ ความทุกข์มีอยู่แต่ไม่มีผู้เป็นทุกข์
ค่อยๆ ฝึก เราจะเห็นสภาวธรรมทั้งหลายค่อยๆเคลื่อนไหว
เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีเจ้าของหรอกนะ
พอไม่มีตัวเราซะอย่างเดียว โลกทั้งโลกไม่มีเจ้าของ
แล้วเราค่อยฝึกเอา ไม่ได้ยากเท่าที่คิดหรอก


ถาม - อยากให้หลวงพ่อช่วยอธิบายเรื่องสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิด้วยค่ะ

สมถะมีมาก่อนพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าท่านก็ยอมรับสมถะ เอามาใช้ประโยชน์
สมถะเป็นการฝึกจิตฝึกใจให้สงบ
ให้ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมา
ต้องรู้นะ วัตถุประสงค์ของสมถะ ไม่ใช่แค่สงบ
ถ้าทำสมถะมุ่งเอาแค่ความสงบของจิตใจอย่างเดียว
แค่เอาความสุขของจิตใจอย่างเดียวเนี่ย
ไม่เอื้อต่อการก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนา
ที่จะไปเห็นความจริงของกายของใจได้

สมถะมันมีอยู่สองพวก พวกหนึ่งทำสมถะแล้วเป็นมิจฉาสมาธิ
จิตสงบเหมือนกันนะ แต่ว่าประกอบด้วยโมหะ ประกอบด้วยความหลง

ประกอบด้วยโลภะ ประกอบด้วยราคะ
มีความเพลิดเพลินยินดีพอใจในความสุขสงบที่เกิดขึ้น
ความสงบชนิดนี้ สมถะชนิดนี้ไม่เป็นไปเพื่อวิปัสสนา

เป็นสมาธิที่มันมีอยู่ทั่วๆ ไป เช่น เราไปหัดนั่งสมาธิ
นั่งแล้วก็เคลิ้มๆ สงบนะ หมดเวลาแล้วก็มีความสุข
คล้ายๆ หลับมาเต็มอิ่ม ตื่นขึ้นมามีความสุข
ใจก็ยังเยิ้มๆเคลิ้มๆ ติดความสุขของสมาธิออกมา
สมาธิชนิดนี้ใช้ไม่ได้

มันมีสมาธิอีกชนิดหนึ่งคือ สมาธิที่ประกอบด้วยสติ
อย่างเราหายใจไปนะ หายใจออก หายใจเข้านะ รู้สึกตัวไป
เห็นร่างกายมันหายใจไปเรื่อย หายใจไปรู้สึกตัวไป หายใจไปรู้สึกตัวไป
ไม่ให้ขาดสติ ไม่ให้เคลิ้มนะ ไม่ให้ขาดสติ
หายใจแล้วรู้สึก หายใจแล้วรู้สึก ค่อยๆดู ค่อยๆสังเกตไป
ตัวที่หายใจอยู่นี้ ร่างกายมันหายใจ มันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
ค่อยๆฝึกไปเรื่อยๆนะ หายใจไปนาน สังเกตร่างกายเป็นของถูกรู้
ร่างกายมันหายใจเป็นของถูกรู้ จิตเป็นคนรู้ร่างกายที่หายใจ
เนี่ยฝึกไป ฝึกไป จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ดู
พอจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ผู้ดู
มันไม่ใช่ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง ผู้หลง แต่เป็นผู้ดูจริงๆ
มันเป็นผู้ดูแล้วเนี่ย ต่อไปนี้เราไม่ได้ประคองจิตให้นิ่งอยู่กับผู้รู้ผู้ดู
มีสติตามรู้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของกายของใจเรื่อยไป
เราก็เจริญปัญญา เห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อันนี้เจริญปัญญาได้

พวกเราต้องระมัดระวังนะ ในการทำสมาธิ
ต้องเป็นสมาธิที่ประกอบไปด้วยสติ อย่าขาดสติ
สมาธิที่เป็นอกุศลมีอยู่ สมาธิไม่ใช่ไปเกิดกับจิตที่เป็นกุศลเสมอไป
ไม่เหมือนสตินะ สติจะเกิดร่วม กับจิตที่เป็นกุศลเท่านั้น
แต่สมาธินี่เกิดกับจิตอกุศลก็ได้
เพราะฉะนั้นเวลาที่ใจสงบแล้วประกอบไปด้วยโมหะ ลืมเนื้อลืมตัว
เป็นไปได้มั้ยที่จะสงบแล้วลืมตัว เป็นได้มากเลย
นั่งสมาธิแล้วก็เคลิ้มลืมตัวไปแบบนี้เนี่ย นั่งแล้วใจออกนอกเนี่ย
เห็นแสงสว่าง เห็นเทวดา เห็นผีนี่ออกนอกไป
สมาธิชนิดนี้ไม่สามารถทำให้เรากลับมารู้จิต ที่เป็นผู้รู้ผู้ดูได้