Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๘๖

โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ถาม ? เราจะขอพรปีใหม่อย่างไรดีคะ

luangporปีใหม่เราก็มีความหวัง หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น จะมีความสุข
ใครๆ ก็หวังนะ ให้มีกำลังใจ อย่าหวังเลย เดี๋ยวมันคงไม่ดีขึ้น
เราชาวพุทธเราไม่ได้ขอพร แบบเรื่องรามเกียรติ์
พวกยักษ์จะขอพรต้องไปนั่งอดข้าว บำเพ็ญตบะ ท่องคาถา
บังคับให้พระพรหมบ้าง พระอิศวรบ้าง มาให้พร
อันนั้นพรแบบขอคนอื่นเขา พอเขาให้พรตัวเองมานะ
เขาก็ต้องรีบไปให้พรคนอื่น ไว้ข่มกัน ไว้แก้กัน
นั้นในโลกเป็นของคู่ๆ
ให้คนนี้มีฤทธิ์เยอะ ก็ให้คนนี้มีไว้คอยปราบคนนี้ ไม่ได้ให้ฟรี
พวกเราชาวพุทธ เราไม่เชื่อเรื่องการขอ
อย่ามาขอเลยพร ?เป็นไปไม่ได้
เราเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ตัวนี้สำคัญมาก
ถ้าเราอยากมีความสุข อยากให้ชีวิตดีขึ้น
เราต้องทำกรรมที่สมควรแก่ผล ทำเหตุให้สมควรแก่ผล
ถ้าทำเหตุที่จะมีความสุข เราก็มีความสุข
ทำเหตุให้มีความทุกข์ มันก็มีความทุกข์
ทำกรรมชั่วนะแล้วมาขอพร ขอหลวงพ่อบ้าง พระพุทธรูปบ้าง
ขอคนโน้น คนนี้ ขอกระทั่งต้นไม้ อะไรอย่างเนี่ย ขอภูเขา ขอไปหมด
ปั้นรูปเทวดาขึ้นมา แล้วก็ไปขอ โธ่ เทวดานั้น เรายังปั้นขึ้นมาเองเลย
เราต้องเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม
อยากมีความสุขก็ไม่ต้องไปขอใคร แต่ต้องทำเอาเอง

การทำคุณงามความดีทั้งหลายนั้น
กุศลนะ ทำดี สิ่งที่ตามคือความสุข
อกุศลนั้น สิ่งที่ตามมาคือความทุกข์
ถ้าทำอกุศล ยังไงก็ต้องมีความทุกข์รออยู่ข้างหน้า
ง่ายๆ นะแค่เมื่อคืนกินเหล้ามากไปหน่อย
เช้าขึ้นมาก็ปวดหัว อย่างไรก็รับวิบาก
ใครเคยกินเหล้า มีไหม ไหน เคยกินจนเมามีไหม
ไม่ว่าทำอกุศลใดใด เล็กๆน้อยๆ มันก็มีผลในทางไม่ดีเกิดขึ้นเสมอแหละ
อย่างน้อยก็สะสมสันดานที่ไม่ดี
อย่างเด็กๆ มีหนังสติ๊ก ใครเคยเล่นหนังสติ๊ก มีไหม
ทีแรกก็ยิงสัตว์ตัวเล็กๆ ก่อน ต่อไปก็ยิงตัวใหญ่ๆ ขึ้น
ทำอกุศลก็สะสมความเคยชิน อย่างน้อยก็มีผลเป็นความเคยชิน
ถ้าเดินหัวชนกำแพง ยังไงก็เจ็บ
เมื่อทำเหตุก็ต้องมีผล
เราอยากได้ความสุข ก็ทำเหตุให้ได้รับความสุข ทำกุศลไว้
ถ้ากุศลถึงพร้อม เราจะมีความสุขเยอะมากเลย มีความสุข
กุศล แปลว่า ฉลาด
ไม่ใช่แค่ทำดีเฉยๆ นะ ต้องทำด้วยความฉลาด
ทำด้วยสติ ทำด้วยปัญญา ถึงจะเป็นกุศลอันใหญ่
ถ้าทำบุญไม่ประกอบด้วยสติปัญญา ก็เป็นบุญเล็กน้อย
ถ้าประกอบด้วยสติปัญญาขึ้นมา เป็นบุญใหญ่

อย่างตื่นเช้าเราไปใส่บาตร ใจอยากทำบุญ
ถ้าไม่ประกอบด้วยสติปัญญา
ไม่เห็นว่าเราต้องต่อสู้กับกิเลสหลายตัว กว่าจะใส่บาตรได้
อันแรกเลย ขี้เกียจตื่น
ใส่บาตรไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนกรุงเทพฯ
คนกรุงเทพฯ นอนดึกขึ้นทุกทีแล้ว
กลางคืนไม่นอน เอาเวลากลางคืนไปทำชั่วบ้าง กลุ้มใจบ้าง
เช้าตื่นไม่ไหว คนไหนใส่บาตรได้
โอ๋ แทบจะเป็นวีรสตรี ไม่พูดถึงวีรบุรุษหรอก ผู้ชายไม่ค่อยใส่หรอก
ส่วนมากคนใส่บาตรผู้หญิง ตื่นเช้าขึ้นมาคิดจะใส่บาตร
ถ้ามีปัญญาขึ้นมา เห็นความขี้เกียจของตัวเองนะ
นี่เจริญปัญญาตั้งแต่เช้า

พระธรรมเทศนา ณ สวนสันติธรรม
๑ มกราคม ๒๕๕๓


ถาม - อยากให้หลวงพ่อช่วยอธิบายหลักของการภาวนาครับ

ธรรมะเป็นของร่มเย็น ถ้าเราภาวนา เราก็ร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมา
หลักการภาวนานั้นมีอันเดียว แต่รูปแบบหรือวิธีการนี่ มีนับไม่ถ้วน
หลักของการภาวนาจริงๆ มีไม่มากนะ
ให้มีสติรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง หลักมีเท่านี้เอง
จะรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริงได้
ต้องรู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลาง
จิตที่ตั้งมั่น และเป็นกลางคือ จิตที่มีสัมมาสมาธิ
ตั้งมั่น ไม่ไหลไป ไม่หลงไป
ไม่ลืมเนื้อลืมตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
มีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้ใจไป ด้วยจิตที่ตั้งมั่น
ไม่ลืมตัว ไม่ไหลตามสิ่งที่จิตไปรู้ จิตตั้งมั่น
รู้แล้วรู้ด้วยความเป็นกลาง
ถ้าไม่เป็นกลาง ก็จะเข้าไปแทรกแซง
เช่นเห็นกิเลสเกิดขึ้น อยากละ อยากละ เรียกว่าไม่เป็นกลาง
เห็นกุศลเกิดขึ้น อยากรักษา อยากรักษา เรียกว่าไม่เป็นกลาง
เมื่อไหร่มีความอยากเกิดขึ้น เมื่อนั้นจะมีความดิ้นรนทางใจเกิดขึ้น
แทนที่จะหยุดดิ้นรน กลับดิ้นรนต่อไปอีก

นั้นถ้าเราภาวนาถูกหลัก
เรามีสติรู้กาย รู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
มันสุขก็รู้ มันดีใจที่สุข มันไม่เป็นกลาง มันยินดี ก็รู้ทัน
มีความทุกข์เกิดขึ้น ก็มีสติไประลึกรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้น
เวลารู้ รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง
จะเห็นความทุกข์อยู่ต่างหาก จิตก็อยู่ต่างหากนะ
ความทุกข์กับจิต คนละอันกัน
ความสุขเกิดขึ้น สติระลึกรู้ จิตตั้งมั่นอยู่
ก็จะเห็นว่าความสุขก็อยู่ต่างหาก
ความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้น
ถ้าจิตตั้งมั่น ก็จะเห็นว่าความโลภ ความโกรธ ความหลง
มันอยู่ต่างหาก มันจะแยกออกไป
ร่างกายเคลื่อนไหว มีสติระลึกรู้
จิตตั้งมั่น ก็จะเห็นร่างกายอยู่ห่างๆ
ร่างกาย กับ จิต ไม่ใช่อันเดียวกัน
มันมีปัญญาขึ้นมา
การจะทำวิปัสสนา การเจริญปัญญา
ปัญญาตัวที่หนึ่งเลย ชื่อนามรูปปริจเฉทญาณ
การแยกรูป แยกนาม ออกจากกัน
แยกรูปกับนาม ออกจากกัน
จะเห็นเลยว่าร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า
ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นเป็นสิ่งหนึ่ง
จิตเป็นคนไปรู้มันเข้า

ตัวนามเองก็แยกไปได้อีก ตัวรูปก็แยกไปได้อีก
ตัวรูปก็แยกไปเป็นธาตุต่างๆ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
ส่วนใดที่แข็ง ที่อ่อน ก็เป็นธาตุดิน
ส่วนใดที่ตึง ที่ไหว ก็เป็นธาตุลม
ส่วนใดที่เย็น ที่ร้อน ก็เป็นธาตุไฟ
ส่วนธาตุน้ำ เป็นตัวดึงดูดให้ธาตุต่างๆ มาประสานกัน รวมกันอยู่
ดูธาตุดูยาก ถ้าจิตไม่ทรงฌานดูยาก
แต่ถ้าเราดูจิต เราแยกจิตออกไป ดูง่าย
เราจะเห็นความสุข ความทุกข์ เป็นสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต
ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่จิต
กุศลทั้งหลาย ไม่ใช่จิต
ความจำได้ ความหมายรู้ทั้งหลาย ไม่ใช่จิต
ตัวจิตเอง ก็เกิด แล้วก็ดับ
เกิดที่ ตา ดับที่ ตา
เกิดที่ หู ดับที่ หู
เกิดที่ ใจ ดับที่ ใจ
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ แยกสภาวะออกไป

คล้ายๆ มีรถยนต์อยู่หนึ่งคัน เราอยากดูตัวจริงของรถยนต์
เราถอดออกเป็นชิ้นๆ พอถอดออกเป็นชิ้นๆ
พบว่ารถยนต์ตัวจริงไม่มีหรอก
รถยนต์ตัวจริงเป็นแค่การประกอบกันของอะไหล่จำนวนมาก
เราอยากรู้ตัวจริงของเรา
เรามาถอดออกมาเป็นชิ้นเหมือนกัน
แต่ไม่ต้องจับมันเฉือนออก
รู้มันด้วยสติ รู้ด้วยใจที่ตั้งมั่น มีสัมมาสมาธิ
สิ่งที่เรียกว่า ?ตัวเรา? จะกระจายออกมาเป็นส่วนๆ
ร่างกายก็อยู่ส่วนหนึ่งนะ
ไม่ใช่ว่านึกนิมิตเอานะว่ากายอยู่ตรงนั้น จิตอยู่ตรงนี้
ถ้าภาวนาเป็น จิตตั้งมั่นขึ้นมา
พอสติระลึกรู้กาย จะเห็นว่าร่างกายอยู่ต่างหาก
จิตอยู่ต่างหาก มีช่องว่างมาคั่น
ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ไม่ใช่เนื้อเดียวกัน ระหว่างกายกับจิต
แยกออกไปอีก ความรู้สึกทางใจเรา
ความสุข ความทุกข์ ก็เป็นสิ่งหนึ่ง
กุศล อกุศล ก็เป็นสิ่งหนึ่ง
ความโกรธ ความโลภ ความหลง ก็เป็น คนละสิ่งๆ กัน
แต่ละอย่างเป็นคนละสิ่งหมดเลย
คล้ายเราถอดรถยนต์ เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
ดูสิ ถอดออกมาเป็นความโกรธ ดูไป ความโกรธไม่ใช่เรา
ความโกรธเป็นสิ่งที่แปลกปลอม
ผ่านเข้ามา ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็สลายไป
เมื่อถอดออกมา เป็นความโกรธ ไม่เห็นมีเราเลย
ถอดออกมาเป็นความสุข บางทีเรารู้สึกเรามีความสุข
ถอดออกมา เห็นความสุขอยู่ต่างหากนะ
ความสุขไม่ใช่เรา ความสุขเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เขา
ความสุขเป็นสิ่งที่ผ่านมาชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็หายไป
ร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา
ร่างกายก็ถอดไป อยู่ส่วนหนึ่ง
เห็นร่างกาย ยืน เดิน นั่ง นอน
เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ที่เคลื่อนไหวไปมา
จิตเป็นคนรู้ คนดู ก็เห็นว่าร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา
นี่ถอดออกไป เหมือนถอดรถยนต์เป็นชิ้นๆ เหมือนกันเลยวิธีการ

วิธีการในศาสนาพุทธ
ที่เรียนเรื่องการแยก สิ่งที่เป็นตัวตนออกเป็นส่วนย่อยๆ
แล้วพบว่าส่วนย่อยทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน วิธีนี้เรียกว่า วิภัชชวิธี
วิภัช แปลว่า แยกออกไป พอแยกออกไปแล้ว พบว่าตัวเราไม่มี
เวลามันมารวมกัน เราก็มีความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวเรามีอยู่จริงๆ
เมื่อมันมีตัวเรา มันก็มีตัวเขา
เมื่อมีตัวเราก็มีของเรา มีของเขาขึ้นมา
มีตัวเรา มีตัวเขา ก็แบ่งแยกกัน
มีของเรา ของเขา ก็ช่วงชิงกัน วุ่นวายขึ้นมากมาย
มีความทุกข์เกิดขึ้นเยอะแยะ เพราะมีตัวเรา

พระธรรมเทศนา ณ สวนสันติธรรม
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒