Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๘๔

ถาม ? คนที่ทำสมาธิไม่เป็น
จะถือว่าขาดสัมมาสมาธิในการภาวนาหรือเปล่าครับ

luangporสัมมาสมาธิ ทำหน้าที่อะไร
เบื้องต้นที่หลวงพ่อบอก ต้องมีสัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่น

อันนี้เรียกสัมมาสมาธิแบบอนุโลมเอาหรอกนะ ยังไม่ใช่ของจริงหรอก
ใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู นี้เรียกสัมมาสมาธิปลอมๆไปก่อน
เพื่อให้แยกให้ออก ระหว่างจิตใจที่ตั้งมั่น กับจิตใจที่ไหลไปแช่ในอารมณ์เท่านั้น

ส่วนสัมมาสมาธิแท้ๆ จะเกิดในขณะที่จะเกิดอริยมรรค
จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเลย สัมมาสมาธิจะทำหน้าที่เป็นที่ประชุม
หรือเป็นภาชนะที่รองรับองค์มรรคทั้ง ๗ ตัวที่เหลือ

รวมความแล้วก็คือเป็นตัวที่รวมพลังขององค์มรรคที่เหลือทั้งหมดเข้ามาเป็นหนึ่ง
รวมพลังเข้าด้วยกัน คล้ายๆหนังจีนนะ ใครเคยดูเรื่องโป๊ยเซียนบ้าง
โป๊ยเซียนมี ๘ ท่าน องค์เดียว สององค์เนี่ย สู้ปีศาจไม่ไหวใช่ไหม
ถ้ารวม ๘ องค์ แล้วถึงจะมีพลังมาก สู้ปีศาจได้ มรรคนี่ก็เหมือนกันนะ
ถ้ามีเป็นตัวๆนะ ไม่ประชุมเข้าด้วยกัน รวมพลังเป็นอันเดียวกันนะ
ไม่มีพลังที่จะทำลายล้างสังโยชน์ได้

เพราะฉะนั้น สังโยชน์มันคือปีศาจตัวฉกาจฉกรรจ์นะ สู้ยาก สู้ยาก
พวกเราส่วนใหญ่ยังมองไม่เคยเห็นสังโยชน์ด้วยซ้ำไปนะ
บางคนเริ่มเห็น เห็นเงานิดๆหน่อยๆ
เช่น บางทีก็มีความรู้สึกมีตัวเราผุดขึ้นมา เริ่มเห็น

นี่เห็นเงาของสังโยชน์แล้วนะ สังโยชน์ตัวแรกเลย สักกายทิฏฐิ เริ่มเห็นเงาของมัน
พอสัมมาสมาธิเกิดขึ้น มันจะประชุม จะรวมพลังของธรรมะฝ่ายดีทั้งหลายเข้าด้วยกัน
ความจริงไม่เฉพาะมรรค ๗ ตัว ที่เหลือหรอก จะรวมพลังของโพธิปักขิยธรรม
ธรรมะฝ่ายที่เป็นกุศลสามสิบกว่าตัวเข้าด้วยกัน
คราวนี้รวมพลังมาแล้ว ก็จะชนะมารได้แล้ว
ถ้าเดี่ยวๆ สู้ไม่ได้หรอก ตัว สองตัว สู้ไม่ได้หรอก

อย่างใครบอกถือศีลจะสู้มารได้ไหม สู้ไม่ได้
มีแต่สมาธิจะสู้มารไหวไหม สู้ไม่ได้

มีแต่ปัญญาอย่างเดียวจะสู้มารได้ไหม สู้ไม่ได้ สู้ไม่ได้หรอก
ต้องประชุมลงในขณะจิตเดียว ในที่เดียวกันเลย
คือในที่ใด ในที่จิตนั้นเอง ไม่ได้ไปประชุมที่อื่น

ไม่ได้ไปประชุมที่ศูนย์สิริกิติ์นะ ไม่ได้ประชุมที่โน่นที่นี่ หอประชุมโน้นประชุมนี้
แต่ประชุมลงที่จิตนี่แหละ พลังของมรรคก็จะรวมตัวกันขึ้นมา
ก่อนที่พลังของมรรคจะเกิดเต็มบริบูรณ์ มันจะทบทวน เดินปัญญาขั้นสุดท้ายก่อน
มันจะเห็นสภาวธรรมเกิดดับขึ้นมา ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง

บางคนเห็น ๒ ครั้งก็ตัด บางคนต้องเห็น ๓ ครั้ง พวกนี้พวกล่าช้า
พวกช้าต้องเห็น ๓ ขณะ พวกรวดเร็วก็เห็น ๒ ขณะ
ถามว่ามีนัยยะแตกต่างไหม ไม่มีนะ
เทียบกับเวลาแล้ว แวบเดียวเหมือนๆกันนั่นแหละ
แทบไม่ต่างกันเลย จิตมันไหวขึ้นมา ๓ ขณะ เท่านั้น

พอเห็นนะ องค์ธรรมสำคัญในขณะนั้นเรียกว่า "ขันติ"
นี่ตัวนี้สำคัญนะ ต้องฝึกนะ มีขันติ
องค์ธรรมในอนุโลมญาณเนี่ยคือขันติ
ขันติจะเป็นกลาง มันอดทนต่อสิ่งเร้า
มีสภาวะบางสิ่งเกิดขึ้น มันไม่รู้ว่าอะไรนะ
มีสภาวะเกิดขึ้นแต่ไม่รู้ว่าคืออะไรใช่ไหม
เพราะอะไร เพราะไม่มีสมมติบัญญัติ

เห็นสภาวะเกิด ใจเป็นกลาง ใจมีขันติ อดทนต่อสิ่งยั่ว
ถ้าเป็นอย่างครูบาป๋องนะ พอไปเห็นปุ๊บ
เอ๊ะ มันคืออะไรนะ
? ต้องสงสัยไว้ก่อน
เพราะชอบสงสัยนะ สะสมนิสัยสงสัย

ต้องเพิ่มขันติ อดทนต่อความสงสัย
ถ้าทนได้นะ ใจไม่ดีดดิ้นออกไปอีก
มันจะวางสภาวะ แล้วก็ทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้

พวกเราเคยเห็นจิตที่วิ่งไปวิ่งมาหรือยัง เคยเห็นแล้วใช่ไหม
คนเรียนสักพักหนึ่งก็เห็นหรอก จิตวิ่งไปวิ่งมา
มันทิ้งสภาวะแล้วมันจะทวนเข้าหาธาตุรู้ พอมันทวนเข้าถึงธาตุรู้
เนี่ย ตรงนี้แหละอริยมรรคจะรวมพลังกันแล้วตัดสังโยชน์ขาดเลย
ตัดอาสวะลงไปชั่วขณะนะ สังโยชน์ถูกทำลายล้างลงเป็นลำดับๆ ไป
เสร็จแล้วอริยผลจะเกิดขึ้น ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ตรงนี้เห็นนิพพาน
จะเห็นนิพพานแจ่มแจ้ง ตรงที่เกิดอริยมรรคนี่ก็เข้าไปเห็นนิพพานแล้ว
แต่ยังไม่ได้แจ่มแจ้ง เพราะยังมีงานต้องทำอยู่
ฉะนั้นในขณะที่อริยมรรคเกิด เรียกว่า "โลกุตตรกุศล"
ตรงที่อริยผลเกิด เรียกว่า "โลกุตตรวิบาก" เป็นวิบาก
ไม่ทำงานแล้ว เลิกทำงานแล้ว หมดงานแล้ว เข้าไปเสวยผล ได้รับผล
แต่รับผลแล้วจะนิ่งนอนใจอยู่นานๆไหม ไม่นิ่งนอนใจนะ

เข้าไปสัมผัสนิพพาน ๒ ขณะบ้าง ๓ ขณะบ้าง ก็เลิกแล้ว พอแล้ว
ถอยออกมานะ จิตจะถอนจากอัปปนาสมาธิ
หมดกระบวนการของอริยมรรคตรงนี้แหละ
พอถอนออกมา กลับมาสู่กามาวจรภูมินี่ จิตจะทวนกลับเข้าไปเลย
ทวนกลับเข้าไปพิจารณาใหม่ว่าเมื่อกี้เกิดอะไรขึ้น
บางคนก็ทวนเข้าไป เอ อะไรหว่า

รู้สึกแต่ว่ากิเลสหายไปแล้ว ดูไม่ทัน ดูแต่ละขณะๆไม่ทัน
คนไหนที่เล่นฌานจนชำนิชำนาญนะ จะเห็นสภาวะได้ประณีต
จะเห็นเป็น ช็อต ช็อต ช็อต ช็อต เนี่ย ๗ ขณะ เนี่ยเห็นอย่างนี้
ถ้าคนไหนศึกษามาในทางวิปัสสนายานิก ไม่ได้ทรงฌานเลยนะ
ดูๆๆๆเอาอย่างนี้ ส่วนมากขาดไปปุ๊บ ถอยออกมา รู้แต่ว่ากิเลสมันหายไปแล้วนะ
แต่ไม่เห็นกระบวนหรอก ไม่เห็นกระบวนท่า มี ๗ กระบวนท่านะ
ท่าที่ ๑ นี่ พึ่บ ท่าที่ ๒ อย่างนี้นะ ๑ ๒ ๓ นะ
ท่าที่ ๒ อย่างนี้นะ ท่าที่ ๓ เนี่ยต้องแหวกออกนะ
ถ้าจิตไม่ได้ทรงฌานนะ ไม่ชำนาญ จะไม่เห็นสภาวะละเอียด
คล้ายๆคนตกต้นไม้ พอหลุดจากยอดไม้ก็ถึงพื้นตุ้บเลย
ดูไม่ออก แต่กิเลสเนี่ยหายไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ถ้าคนไหนภาวนาแล้ววูบๆวาบๆไปแล้วก็คิดว่าใช่นะ อย่าเพิ่งเชื่อ
ให้มาทดสอบตัวเองด้วยกิเลสก่อน ค่อยๆสังเกตไป
กิเลสอะไรยังเหลืออยู่ กิเลสอะไรหมดไปแล้ว ค่อยดูไปเรื่อยๆนะ

ถ้าไม่เข้าข้างตัวเอง มีสติ มีปัญญา ช่างสังเกตไปเรื่อย วันหนึ่งก็ต้องจับได้
อย่างหลวงพ่อนะ ฆาตกรรมพระโสดาบันไปเยอะแยะนะ แต่ละปีๆนี่เยอะแยะมากเลย
พระโซดานั่นแหละ ไม่ใช่โสดาฯ (โสดาบัน)จริงหรอกนะ ยังมึนๆเมาๆอยู่
วิธีจัดการก็คือ ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งไปบอกเขาว่าไม่ใช่
คนไหนเขาคิดว่าเขาใช่ เราอย่าไปบอกเขาว่าไม่ใช่นะ เดี๋ยวเขาโมโห
อีกพวกหนึ่งไม่โมโหนะ เสียใจ เสียใจล้มพังพาบเลย
ภาวนาไม่ไหวอีก ต้องใจเย็นๆ เวลาเจอ
เพราะฉะนั้น ใครมาถามหลวงพ่อว่า ผมเป็นพระโสดาฯ (โสดาบัน)

หรือยังอะไรอย่างนี้ ยังไม่ตอบง่ายหรอกนะ
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า "อย่าเพิ่งอนุโมทนา แล้วก็อย่าเพิ่งคัดค้าน"
ค่อยๆสังเกตไป มันมีกิเลสอะไรอีกค่อยพาเจ้าตัวเขาดูนั่นแหละ
บางคนบอกเป็นพระโสดาฯ (โสดาบัน)แล้ว เราก็ชวนคุยโน่นคุยนี่สักพัก
เห็นไหม มันมีความเป็นเราขึ้นมาอีกแล้ว ถ้าเจ้าตัวเห็นนะ ก็รู้แล้วว่าเจ้าตัวไม่ใช่
ถ้าอย่างนี้เขาไปต่อได้ ถ้าอยู่ๆ เราไปตราหน้าเลย "ไม่ใช่หรอก"
เดี๋ยวมันโมโหเอา หรือว่าเสียใจไปเลย ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร
เพราะฉะนั้น ภาวนานะ วันหนึ่งเราจะได้ธรรมะ เอาแค่โสดาฯ (โสดาบัน)ก่อนนะ
สูงกว่านั้นแล้วค่อยว่ากันใหม่ แค่นี้ก็ปางตายแล้ว

มันยากตรงไหนล่ะ มันยากตรงที่มันฝืน มันฝืนความรู้สึกนะ
เราตั้งแต่เกิดมาเนี่ย เราคุ้นเคยที่จะส่งจิตออกนอก
คุ้นเคยที่จะไปดูคนอื่น ไม่คุ้นเคยที่จะดูตัวเอง
คุ้นเคยที่จะหลงอยู่ในโลกของความคิด ไม่เคยคุ้นเคยที่จะรู้สึกตัว

คุ้นเคยที่จะออกนอกตลอดเวลา
แล้วพอลงมือปฏิบัติก็คุ้นเคยที่จะบังคับ เพ่งกายเพ่งใจ
เรียกว่าคุ้นกับ
"อัตตกิลมถานุโยค"
ไม่คุ้นกับการรู้ ไม่คุ้นกับการรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
พอไปรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง มันก็ฝืนใจอีกนะ

ฝืนใจอีกเพราะว่า มันเสียดาย มันเคยมีตัวเรา ตัวเราหายไป
นี่ ไปๆมาๆ ไม่ได้สู้กับคนอื่นเลย สู้กับตัวเองทั้งสิ้นเลย
เพราะฉะนั้น การภาวนาไม่ต้องแข่งกับคนอื่น
มีเพื่อนภาวนาแล้วทำให้คึกคักนะ แต่อย่าแข่งกับเพื่อนเลย
คนไหนคิดจะแข่งกับคนอื่น ไปไม่รอดหรอก เพราะว่ามันกิเลสทั้งนั้นเลย
ภาวนาเราก็สู้กับความหลงผิดของตัวเอง มันหลงผิดนะ
มันต้องค่อยๆศึกษาไป จนจิตมันทวนกระแส
ทวนกระแสของโลกนะ โลกมันมีแต่ไหลออกไปข้างนอก

เราทวนกระแส เราย้อนกลับเข้ามารู้กายรู้ใจตัวเอง
โลกมันชอบพาไปดูอย่างอื่น เราก็จะมาดูกายดูใจตัวเอง
โลกมันชอบลากไปอดีต ลากไปอนาคต เราจะอยู่กับปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน
นี่มันฝืนทั้งสิ้นเลย ถ้าฝืนใจ จงใจฝืน ก็ไม่ใช่อีกแล้ว ใช่ไหม ไม่ใช่การรู้
มันคล้ายๆเป็นช่องทางเล็กๆ ที่เราต้องค่อยๆคลำ
หลวงพ่อเทียนท่านบอก เหมือนอยู่ในห้องมืด
ค่อยคลำไปนะ คลำๆ ถ้าอยู่ในห้องมืดแล้วอยากพ้นจากห้อง
แล้วก็นั่งเข้าสมาธิ วันหนึ่งคงหลุดออกจากห้อง
หลุดนั่นแหละ นั่งนานๆ ตาย เขาก็มาหามเอาไปเผานะ
แต่ถ้าเราไม่นิ่งนอนใจ ใจมันจะสำรวจไปเรื่อย จะลองผิดลองถูก
ลองผิดลองถูก วิธีลองผิดลองถูก ก็ต้องลองให้ถูกหลัก ไม่ใช่ไปลองมั่วซั่วนะ
ลองผิดลองถูกก็คือหัดเจริญสติไปเรื่อยเลย
เดี๋ยวมันก็มากไป เดี๋ยวมันก็น้อยไป เดี๋ยวก็หนักไป เดี๋ยวก็เบาไป
เดี๋ยวก็ขยันเกินไป เดี๋ยวก็ขี้เกียจเกินไป เนี่ยคอยสังเกตใจเราไปเรื่อย
จนมันพอดีๆ มันพอดีตรงไหน เหมือนเราคลำๆไปเจอลูกบิด

หรือเจอกลอนประตูเข้าแล้ว
ไขแกร๊กเดียวเอง ก็เปิดออกมาสู่ความสว่างได้แล้ว

ตอนนี้เราอยู่ในที่มืดนะ ยังมืดอยู่
แต่ว่าบางคนก็เข้าใกล้ประตูแล้วนะจะบอกให้ เหลืออีกไม่กี่ก้าวหรอก
แต่บางคนก็ยังคลำ โน่น แทนที่จะคลำหาประตูนะ
มันคลำหาห้องใต้ดินอยู่ มีนะพวกคลำหาห้องใต้ดิน
เวลาภาวนารู้สึกไหม ส่งจิตไปข้างล่างลึกลงไป ไหนนะ
บางคนมันคลำเพดาน ส่งจิตขึ้นไป มันไม่ได้อยู่กับปัจจุบันนะ
อยู่กลางๆ ประตูมันอยู่ตรงกลางๆนี่แหละ

แล้วมันอยู่ตรงไหน อยู่ต่อหน้า

ไม่ใช่อยู่ข้างซ้าย อยู่ข้างขวาหรอก อยู่ต่อหน้า
เซ่อไปหาข้างซ้ายข้างขวาเองนะ อยู่ต่อหน้า
ข้างซ้ายคือหลงไปทาง ตามโลกไป

อยู่ข้างขวาคือ อัตตกิลมถานุโยค ข้างซ้ายเป็น กามสุขัลลิกานุโยค
ถ้าใครชอบฝ่ายขวา เราก็บอกพวกฝ่ายซ้ายนั่นเป็นกามสุขัลลิกานุโยค
อะไรไม่ดีก็โทษคนอื่นไว้ก่อน

ในความเป็นจริงก็คือ อย่าหลงไปสู่ความสุดโต่ง ๒ ด้าน
รู้อยู่กับปัจจุบัน ประตูอยู่ต่อหน้านะ
ไม่เพียงประตูหรอก ประตูนี้เป็นภาพลวงตา จะบอกให้
ในความเป็นจริงนะ นิพพานอยู่ต่อหน้า
ไม่ใช่ว่าต้องเปิดประตูเข้าไปเห็นหรอก แต่ว่าเซ่อเอง ไม่เห็นเองนะ
นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตานี่เอง แต่อะไรปิดบังไว้

อาสวกิเลส หรืออวิชชานั่นแหละ ปิดบังไว้ ความไม่รู้ของเราเอง
เพราะฉะนั้น เราต้องพัฒนาความรู้ขึ้นมา
รู้อะไร รู้อริยสัจ อริยสัจข้อแรกเรียกว่าทุกข์

ทุกข์คืออะไร ทุกข์คือกายกับใจ
เพราะฉะนั้น ให้เราคอยรู้กายคอยรู้ใจตัวเองเนืองๆ
รู้ไปอย่างที่เขาเป็น รู้ซื่อๆนะ

ไม่ใช่บังคับกายบังคับใจ นี่สุดโต่งข้างบังคับ

ไม่ใช่ลืมกายลืมใจ นี่สุดโต่งข้างตามใจกิเลส
รู้กายรู้ใจ รู้ซื่อๆ กายเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น
จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น รู้ไปอย่างนี้นะ

ในที่สุด เรารู้ทุกสิ่งด้วยจิตที่เป็นกลาง
เมื่อใดรู้ทุกสิ่งด้วยจิตที่เป็นกลาง รู้แล้วไม่ปรุงต่อ
อีกนิดเดียวเองนะ อีกนิดเดียวเอง
ก็จะพบมรรคผลแล้ว ไม่ยากเท่าที่คิดหรอก
ง่ายกว่าที่คิดนะ เพราะคิดแล้วยาก ไม่ต้องคิดมาก
มีสติรู้กายรู้ใจลงปัจจุบันไปด้วยจิตที่เป็นกลาง
ถ้าจิตไม่เป็นกลาง รู้ทันไป

ฝึกอยู่อย่างนี้นะ ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ต้องได้ผลบ้างแหละ
อาจจะไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระอนาคามี เหมือนคนพุทธกาล

รุ่นเราฝึกไป ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปีได้พระโสดาบัน ก็บุญแล้วแหละ
อินทรีย์เราอ่อนนะ

วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ (ตอนสอง)
สวนสันติธรรม