Print

ธรรมะจากพระผู้รู้ - ฉบับที่ ๘๓

พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช

?

?

ถาม : กว่าคนคนหนึ่งจะเรียนรู้และภาวนาเอาตัวรอดได้นี่ยากไหมครับ

เรียนนะ เรียนให้ได้ ให้เข้าใจ มันไม่ได้ยากเท่าที่เราคิด
พวกเราชอบไปวาดภาพการปฏิบัติให้มันยาก ทั้งยุ่ง ทั้งยาก ทั้งๆที่เป็นของง่ายๆ
ชอบทำนะ ทำโน่นทำนี่ คิดอยู่ตลอดเวลาเลยว่าทำยังไงแล้วจะดี
ทำยังไงแล้วจะถูก ทำยังไงจะได้ผลเร็ว
มีแต่ความอยาก พอมีความอยาก ก็ลงมือทำ
แทนที่จะรู้กายตามความเป็นจริง รู้ใจตามความเป็นจริง ก็อยากไปเรื่อย
อยากแล้วก็ดิ้นไปเรื่อย อย่านึกนะว่าดิ้นแล้วมันจะบรรลุธรรม ไม่มีวันเลย

ตรงที่ได้ธรรมะมานะ ตอนนั้นหยุดดิ้น แต่ก่อนจะหยุดดิ้น ก็ต้องดิ้นก่อน
ดิ้นจนหมดแรงดิ้นน่ะ โดยธรรมชาติของจิตมันไม่ยอมง่ายๆ หรอก
ถ้าจิตมันเป็นของว่าง่ายเชื่อง่ายนะ มันคงบรรลุกันไปหมดแล้ว
อย่างบางคนมาภาวนา พอเห็นกายไม่ใช่เรา เห็นจิตไม่ใช่เรานะ
พอเห็นความจริงแล้วไม่ยอมตัด จิตใจมัวแต่ตกอกตกใจ
โอ๊ย ตัวเราหายไป บางคนกลัวไปเลย ตัวเราหายไปไหน
มันไม่ได้หายไปจากโลกหรอก มันมีอยู่แต่มันไม่ใช่ตัวเรา
เนี่ยกว่าใจมันจะยอมรับความจริงได้นะ ก็ต้องสู้กันนาน
สู้กับอะไร สู้กับความยึดถือเก่าๆ สู้กับความเห็นผิดเก่าๆที่สะสมมานาน

เราสะสมมาตลอดเวลาเลยว่า กายนี้ใจนี้คือตัวเรา
เป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา ยึดถือเหนียวแน่น
พอมาเจริญสติมาเห็นความจริงก็ทนไม่ไหว
ถ้าคนไหนทนได้นะ บางคนเห็นทีแรกขาดเลยนะ
ผ่านวุบๆเลย ญาณ ๑๖ ขั้น ผ่านทีเดียว
ไม่ใช่ผ่านทีเดียว ๑๖ ขั้น หรอก ได้เบื้องต้นก่อน
ต้องเห็นสภาวธรรมแท้ๆที่มันเกิดดับได้ เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่ตัวเราได้ก่อน
เนี่ยเห็นตรงนี้ไปนะ บางคนก็ข้ามชั้นเลย อย่างรวดเร็ว
เบื่อแวบเดียวนะ จะเบื่อแวบเดียว เห็นความไร้สาระ
เนี่ยเห็นความเบื่อ แล้วก็ขาด ความเบื่อขาดไปเลย เข้าไปสู่ความเป็นกลาง
บางคนเห็นความกลัว ความกลัวขาดไป เข้าไปสู่ความเป็นกลาง
สุดท้ายก็ไปรู้กายรู้ใจด้วยจิตที่เป็นกลาง ตัวนี้สำคัญนะ
ตรงที่รู้จนถึงความเป็นกลางเนี่ย เป็นประตูของมรรคผลนิพพานแล้ว

ถ้ารู้แล้วยังไม่ถึงความเป็นกลางยังใช้ไม่ได้หรอก
ถ้าไม่เป็นกลาง ก็หลงยินดีหลงยินร้าย
อย่างเราเห็นสภาวธรรมในใจเรานะ เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย
พอสุขมันก็ชอบใจนะ พอทุกข์มันก็เกลียด เนี่ยมันยินดียินร้าย
พอเห็นความดี บางคนก็ชอบ บางคนไม่ชอบดี ชอบชั่วๆ มีนะไม่ใช่ไม่มี
บางคนภูมิใจนะ ฉันโมโหเก่ง เวลาฉันโมโหนี่เห็นช้างเท่าหมู
คนดีมันก็รักดีเกลียดชั่ว คนชั่วมันก็รักชั่วเกลียดดี
มันไม่ใช่ทุกคนจะรักดีเสมอกันหรอก
แต่ถ้ารักอันหนึ่ง เกลียดอันหนึ่งเมื่อไหร่ จิตจะต้องดิ้นรน จิตจะต้องทำงานอีก
ถ้ารักก็อยากให้มันเกิดบ่อยๆ เกิดแล้วก็อยากรักษามันไว้
ถ้าเกลียดมันนะก็ไม่อยากให้มันเกิด ถ้ามันเกิดแล้วก็อยากให้มันดับไป
มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น ใจมันจะดิ้น ทำยังไงจะดี ทำยังไงจะสุข ทำยังไงจะสงบ
มีแต่คำว่า "ทำ" เนี่ยมันไม่เป็นกลาง จะต้องดูไปอีก
เห็นสภาวะทั้งหลายเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ซ้ำแล้วซ้ำอีกไป
หรือบางคนก็เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวเราหรอก ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา จิตใจไม่ใช่เรานะ
ดูไปเรื่อยๆ บางคนเห็นมันเกิดดับ คือเห็นอนิจจังนะ
บางคนก็เห็นมันมีแต่ทุกข์ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเลย พวกนี้เห็นทุกข์
บางคนก็เห็นอนัตตา ไม่มีเรา ซ้ำแล้วซ้ำอีก เห็นไปเรื่อยๆ

ถึงจุดหนึ่งมันรู้ความจริง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดมาล้วนแต่ไม่เที่ยง
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดมาล้วนแต่เป็นทุกข์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดมาล้วนแต่บังคับไม่ได้

นี่เรียกว่าเห็น สามัญลักษณะ ลักษณะร่วมของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมา
เห็นลักษณะร่วมนี้แล้วใจยอมรับ ใจจะเป็นกลาง
ความสุขเกิดขึ้นก็ไม่หลงยินดี มันไม่เกิดก็ไม่เสียดาย ไม่ได้อยากให้มันเกิด
เพราะรู้ความจริงว่ามันอยู่ชั่วคราว หาแทบตาย เดี๋ยวเดียวก็หายไป
ความทุกข์เกิดขึ้นก็ไม่เกลียดมัน รู้ว่าถ้ามีเหตุมันก็เกิด ไม่มีเหตุมันก็ไม่เกิด
พอความทุกข์เกิดขึ้นมา ก็ไม่ได้อยากให้มันหายเร็วๆ
เพราะรู้ว่าถ้ามีเหตุ มันก็ยังมีอยู่ หมดเหตุมันก็ดับไปเอง
เนี่ยปัญญามันเกิดขึ้น เห็นไหม รู้ด้วยปัญญา
พอมีปัญญาแจ้งนะ ใจเป็นกลางกับสังขาร
เห็นเลย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาล้วนแต่ไม่เที่ยง
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดมาล้วนแต่ถูกบีบคั้น
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดมาล้วนแต่ไม่ใช่ตัวเรา
เห็นอย่างนี้นะ ใจมันจะหยุดดิ้นหยุดปรุง
ตรงใจที่หยุดดิ้นหยุดปรุง เรียกว่า ใจมีปัญญาเป็นกลางต่อสังขาร
ปัญญาตัวนี้ชื่อว่า "สังขารุเบกขาญาณ"
พวกเราทุกคนที่ภาวนานะ ต้องมุ่งมาสู่ สังขารุเบกขาญาณให้ได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้านี้แหละ
บางคนใช้เวลาไม่นาน ก็ถึงแล้ว บางคนยังอีกนานหน่อยก็ถึง บางคนก็ชาติต่อไปก็จะถึง
บางคนต่อๆๆๆๆๆ ไม่ถึงเลย เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น เราคอยดูใจของเรานะ เวลามันรู้สภาวะขึ้นมา
เช่น มันเห็นความสุขเกิดขึ้นมาเนี่ย มันหลงยินดี ให้รู้ทัน
มันเกิดความทุกข์ขึ้นมา มันหลงยินร้าย ให้รู้ทัน
หรือภาวนาเจริญสตินะ สติเกิดถี่ยิบเลย พอใจ ก็รู้ทัน
ช่วงนี้สติไม่เกิดเลย สติแตก เสื่อมไป กรรมฐานเสื่อม
เสียใจ กลุ้มใจ ทุรนทุราย ก็รู้ทันลงไปว่าไม่พอใจอยู่
ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นนะ รู้ลงไปที่ใจของเรา
เบื้องต้นก็เห็นสภาวะก่อน เช่น ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก
จิตใจเคลื่อนไหว รู้สึก โลภโกรธหลงเกิดขึ้นก็รู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้
ถ้ารู้แล้ว ต่อไปก็ลึกซึ้งขึ้นมาอีก สังเกตเข้ามาถึงจิตถึงใจ
มันจะเข้ามาสังเกตได้เองแหละ อย่าจงใจสังเกตนะ
มันจะเห็นความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เบื้องต้นรู้สภาวะนะ

ถัดมาก็รู้ความยินดียินร้ายต่อสภาวะนั้น
เมื่อเรารู้ความยินดียินร้ายต่อสภาวะนั้น ความยินดียินร้ายจะดับไป
ใจก็เป็นกลางขึ้นชั่วขณะ ก็ไปรู้สภาวะอีก ก็หลงยินดียินร้ายอีก
รู้ทันความยินดียินร้ายอีกนะ ความยินดียินร้ายดับอีกชั่วขณะ เดี๋ยวกระทบอารมณ์ก็เกิดอีก
เกิดไปจนวันหนึ่งปัญญามันแจ้งขึ้นมาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นไตรลักษณ์
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คราวนี้มันจะไม่ยินดียินร้ายของมันเองแล้ว
เบื้องต้นไม่ยินดียินร้ายเพราะไปรู้ทันความยินดียินร้ายเข้า เราจะได้ไม่ปรุงนาน
เราฝึกมากเข้าๆ มันเข้าใจความเป็นจริงของสังขาร
คือความปรุงแต่งทั้งปวง ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกาย ทั้งใจ
เข้าใจแล้วว่ามันไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มันจะหมดความยินดียินร้ายไปเอง
นี่เป็นการที่มันเข้าถึงความไม่ยินดียินร้ายด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยสติ

เบื้องต้นรู้ด้วยสตินะ เห็นจิตมันยินดีก็รู้
อย่างไปเห็นสาวสวย ใจมันชอบนะ เราเห็นลงไป
รู้ทันความชอบนี้ ใจไม่ชอบอีกแล้ว อยากให้หายราคะ
อยากให้หาย รู้ทันลงไปที่ความอยากให้ราคะดับอีก มันยินร้ายอีกแล้ว
เนี่ย รู้อย่างนี้นะ อย่างนี้เรียกว่า รู้ด้วยสติ รู้ไปเรื่อยๆ
ทันทีที่รู้ด้วยสตินะ ความยินดียินร้ายก็ดับไป ดับชั่วคราว
ต่อไปพอซ้ำแล้วซ้ำอีก เห็นสภาวะเกิดดับไปเรื่อยๆ เห็นเป็นไตรลักษณ์ไปเรื่อย
ต่อไปก็รู้ด้วยปัญญา เห็นว่าทุกอย่างมันของชั่วคราว
ไม่รู้จะยินดีไปทำไม ไม่รู้จะยินร้ายไปทำไม อย่างนี้รู้ด้วยปัญญา
การที่เข้าถึงความเป็นกลางด้วยปัญญา ตัวนี้สำคัญที่สุดแล้วนะ
เมื่อจิตดำเนินมาถึงตรงนี้จะมีทางแยกแล้ว พวกหนึ่งมีความกรุณาอยู่ในใจ
มีมหากรุณามาก สงสารสัตว์โลก พวกนี้จะน้อมไปสู่พุทธภูมิ
พุทธภูมิไม่ใช่เป็นง่ายนะ ใจต้องเป็นกลางกับโลกจริงๆ ใจเป็นกลางกับสังขารจริงๆ
เห็นนรกกับสวรรค์เท่าเทียมกันนะ ถึงจะไปพุทธภูมิไหว
ถ้ายังเบื่อๆ อยากๆ รักสุขเกลียดทุกข์ รักดีเกลียดชั่วอะไรอยู่ อย่างนี้ไปพุทธภูมิไม่ไหวหรอก
ต้องไปด้วยมหากรุณาด้วยนะ ไปด้วยความอยากช่วยเหลือคนอื่น
ไม่ใช่ไปด้วยอยากใหญ่อยากโต อยากรอบรู้มากๆ
หลวงพ่อเจอพระโพธิสัตว์เยอะแยะเลยนะ ตั้งแต่ภาวนามา
บางคนอยากเป็นโพธิสัตว์เพื่อจะได้รู้ว่าจักรวาลเกิดมาได้อย่างไร
บางคนก็อยากใหญ่ เป็นพระพุทธเจ้าแล้วใหญ่กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
นี่ทำด้วยกิเลสทั้งนั้น ไปไม่รอดหรอก โพธิสัตว์ต้องไปด้วยมหากรุณาจริงๆเลย
อยากช่วยเหลือ อยากสงเคราะห์เขา เห็นอกเห็นใจคนอื่น
ถ้าใจน้อมมาทางนี้นะ แล้วก็ภาวนามาจนถึงสังขารุเบกขาญาณ
ใจเป็นกลาง เห็นนรกกับสวรรค์เท่ากัน อย่างนี้มีแรงมากแล้ว ไม่กลัวลำบากใช่ไหม
ถ้าเรายังกลัวลำบากอยู่ เราจะไปช่วยใครเขาไม่ได้จริงหรอก

ถ้าคนที่ไม่กลัวลำบาก อินทรีย์แก่กล้าแล้ว
พร้อมที่จะบรรลุพระอรหันต์ในวันนั้นเลย ไปเจอพระพุทธเจ้าเข้า แล้วตั้งความปรารถนา
นี่ไม่เอาแล้วพระอรหันต์ ขอเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
ถ้าคุณธรรมพอขนาดนี้นะ พระพุทธเจ้าพิจารณาแล้ว
ภาวนาก็เก่งแล้วจนเป็นกลางกับสังขารแล้ว มีมหากรุณาที่แท้จริง
ท่านก็จะพยากรณ์ให้ ว่าอีกเท่านั้นเท่านี้นะ จะได้เป็นพระพุทธเจ้าชื่อนั้นชื่อนี้
ถ้าไม่ใช่ภาวนาจนถึงความเป็นกลางกับสังขาร ไม่ได้กินหรอก
ในรุ่นเรานี่หลวงพ่อเห็นอีกคนหนึ่งนะ ตอนนั้นสร้างสะพานพระปิ่นเกล้าใหม่ๆ
วันหนึ่งมันมีรถตู้ รถตู้ของเด็กนักเรียน เด็กเล็กๆ เด็กอนุบาล
เกิดอะไรขึ้นไม่รู้ ไฟไหม้อยู่ที่สี่แยกเลย จราจรคนหนึ่งอยู่ตรงนั้นลุยไฟเข้าไปลากเด็กออกมาได้
ตัวถูกไฟคลอกเยอะเลยนะ ก็ยังลุยเข้าไปเอาเด็กออกมาอีก
จนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงเด็กแล้วนะ ก็คิดว่าเด็กหมดแล้ว พอไฟดับ เจอว่ายังมีเด็กติดอยู่ ๒ คน
ตำรวจนี่เสียใจนะ บอกว่า "ถ้ารู้ว่ายังมีอีก จะลุยเข้าไปอีก"
เนี่ย ต้องใจขนาดนี้นะ พระโพธิสัตว์ บอก "กล้าลุยไฟนรก"
นี่ไม่ใช่ไฟนรกหรอก นี่ไฟรถตู้ ของเราเจอเข้าอย่างนี้เราก็ไม่เอาใช่ไหม
โพธิสัตว์ แต่อย่างนี้ไม่เอาแล้ว เนี่ย ใจต้องขนาดนั้นนะ ถึงจะเป็นโพธิสัตว์ไหว
กรุณา สงสารเขา อยากช่วยเขา แล้วพวกนี้ถ้าหัดภาวนาแล้วจิตใจเป็นแบบนี้อยู่พวกนี้พอจะได้อยู่
แต่ถ้าเหยาะๆแหยะๆนะ ไม่ได้เรื่องหรอก ไม่ได้เป็นโพธิสัตว์จริงหรอก

บางคนไม่ได้มุ่งพุทธภูมิ พอภาวนามาถึงสังขารุเปกขาญาณ
ใจเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว หมดความปรุงแต่ง
พอมันเป็นกลาง มันจะหมดความปรุงแต่ง
จำไว้นะ ที่มันปรุงแต่งเพราะมันไม่เป็นกลาง
มันไปชอบอันนี้ มันไปเกลียดอันนี้
ชอบก็ปรุงแต่งที่จะเอาไว้ หรือจะเอามาให้ได้
เกลียดก็ปรุงแต่งที่จะป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น หรือเกิดแล้วก็หาทางดับมัน
เนี่ยเป็นความปรุงแต่ง แต่ถ้ามีปัญญาแก่รอบ
จะเห็นทุกสิ่งมันเกิดด้วยเหตุ หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้
ทุกสิ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ใจไม่ปรุงแต่ง ถ้าใจไม่ปรุงแต่ง แล้วถึงจุดที่อินทรีย์แก่รอบแล้วนี่ จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ
รวมเองเลย ไม่ได้เจตนาเข้าฌานนะ จะเข้าเอง
ทำไมต้องเข้าฌาน ถ้าไม่ได้เข้าฌานเนี่ย กำลังของสัมมาสมาธิไม่พอ
ฉะนั้น เวลาพระพุทธเจ้าท่านแจกแจงสภาวะ พอถึงสัมมาสมาธิ
ท่านแจกแจงสัมมาสมาธิด้วยอัปปนาสมาธิ ต้องถึงอัปปนาสมาธินะ ตั้งแต่ฌานที่ ๑ ขึ้นไป
อย่างถ้าท่านแจกแจงสัมมาสติ ด้วยสติปัฏฐาน ๔ ท่านแจกแจงสัมมาทิฏฐินะ
ด้วยตัวความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)
แล้วก็รู้แจ้งรูปนามที่เป็นอดีต เป็นอนาคต
รู้แจ้งรูปนามทั้งอดีตและอนาคต
รู้แจ้งความเป็นเหตุเป็นปัจจัยสืบเนื่องกันของรูปของนาม
นี่รู้ ๘ อย่าง นี่ท่านแจกแจงสัมมาทิฏฐิไว้อย่างนี้
นี้ตัวสัมมาสมาธิที่ท่านแจกแจง ท่านแจกแจงด้วยฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ (ตอนแรก)
สวนสันติธรรม


?