Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๘๕

The Black and the White

wilasinee2
โดย Nat Wimuttisuk
 

 

heal 185

 

บางคนว่าไว้
โลกเราทุกวันนี้ไม่ใช่สีขาว ไม่ใช่สีดำ
แต่เป็นสีเทา
ทุกวันนี้เราใช้อะไรตัดสินถูกผิด
ความรู้สึกหรือเหตุผล

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

เคยไหมครับ …ที่เราจะลำบากใจ เวลาที่เพื่อนของเราถามว่า งานแต่งงานคราวนี้ แต่งชุดไหนดี
เวลาที่เพื่อนถามแบบนี้ เพื่อนๆก็มักจะส่งรูปตนเองแต่งชุดหลากสีสัน
ส่งมาให้ดูประกอบด้วย ซึ่งแต่ละชุดก็ต่างสวยด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ต่างแบบ ต่างแนวกัน

สวยที่สุดของคนคนหนึ่ง อาจไม่ใช่ชุดสวยที่สุดในสายตาของคนอีกคนหนึ่ง
และยิ่งไม่มีทางเป็นชุดสวยที่สุดในสายตาของคนทุกคน

ถูกใจเราที่สุด ...อาจไม่ใช่ถูกใจคนทุกคน
ดีที่สุดสำหรับเรา...อาจไม่ใช่ดีที่สุดสำหรับคนทุกคน

ตัดสินใจตามความรู้สึก
หลายครั้งถูก...หลายครั้งผิด
ความรู้สึกของคนเรา เชื่อได้จริงหรือ
แล้วถ้าไม่เชื่อความรู้สึก เราจะเชื่ออะไร

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *


ถ้าความรู้สึกเชื่อไม่ได้ ประสาทสัมผัสเล่า เชื่อได้บ้างไหม
คนไทยมีคำพูดที่ว่า “สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น”
เพื่อเตือนสติให้พึงระลึกไว้ว่า อย่าเชื่อ อย่าหลงคารมคำพูดของคนง่ายจนเกินไป
ถ้าไม่ได้เห็นมากับตา ไม่ได้ยินมากับหู ก็อย่าเพิ่งเชื่อ

แล้วสายตาของเราเชื่อได้จริงไหม

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

ผมอยากชวนเพื่อนๆดูวีดิทัศน์ชิ้นนี้ครับ
เป็นวีดิทัศน์ง่ายๆที่โปรเฟสเซอร์จิตวิทยา 2 คนคือ Christopher Chabris กับ Daniel Simons
ให้ผู้คนช่วยกันนับว่า ในวีดิทัศน์นี้ ในกลุ่มนักศึกษาชุดขาวนั้น มีการส่งต่อบอลทั้งหมดกี่ครั้ง
ช่วยกันนับให้หมดทุกครั้ง แล้วเก็บคำตอบเอาไว้ในใจก่อนนะครับ

http://youtu.be/IGQmdoK_ZfY

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

หลังจากดูวีดิทัศน์แล้วพวกเราคงทราบว่า
“สายตา” ของเรานั้น ไม่ได้มองเห็นทุกอย่างที่ปรากฏอยู่เสมอไป
ตอนที่ คือ Christopher Chabris กับ Daniel Simons ทำการทดลองนี้
ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมทดลองประมาณ 50% ไม่เห็นกอริลลา
และเชื่อว่าถ้ามีกอริลลาจริง ตัวเองต้องมองเห็นแน่นอน
จนต้องเอาวีดีโอมาฉายให้ดูซ้ำนั่นแหละครับถึงจะยอมรับว่ามีกอริลลาจริง
และประหลาดใจว่าตัวเองมองไม่เห็นได้อย่างไร

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

ตัวแปรในเรื่องนี้อยู่ตรงที่คนราวครึ่งหนึ่งที่ร่วมการทดลอง “อิน” กับการนับเกินไป
การทดลองนี้เหมือนจะบอกเราว่า
การ “อิน” ดังกล่าว ทำให้เรามองข้ามความจริงบางอย่างไปได้ง่ายๆ
จริงไหมครับ

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

ครูบาอาจารย์ของผมท่านหนึ่ง ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า
ครั้งหนึ่งมีพระบวชใหม่มาถามท่าน
ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้ง 84000 พระธรรมขันธ์
หากจะสรุปลงเป็นข้อความสั้นๆ ควรสรุปอย่างไร

ครั้งนั้นท่านอาจารย์ตอบโดยบอกว่า
ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เคยสรุปธรรมะของพระศาสดาไว้ ความว่า
“สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ - สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เข้าใจไหม
พระองค์นั้นรับว่าเข้าใจ แล้วกลับกุฏิไป

ต่อมาไม่นาน ฝนตกหนัก
ท่านอาจารย์พบว่าว่าหลังคากุฏิของพระรูปนั้นรั่ว แต่เธอก็มิได้สนใจจะซ่อมแซมแต่อย่างใด
ด้วยตั้งใจว่าจะ “ไม่ยึดมั่นถือมั่น”
ท่านอาจารย์เล่าเรื่องนี้ให้พวกเราฟังเพื่อจะบอกเราว่า
ชาวพุทธนั้นเมื่อมีเหตุการณ์หรือปัญหา ทางออกที่ควรทำไม่ใช่การ “แกล้งนิ่ง”
แต่เป็นทำเหตุปัจจัยเพื่อแก้ปัญหานั้นอย่างเต็มกำลังโดยมีสติ

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

ในโลกสีเทา
หากเรายึด “ความถูกต้อง” ไม่ใช่ “ความถูกใจ” ในการแสดงออก
อะไรสมควรสร้างเหตุเพิ่มเพื่อความถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ
และควรเร่งทำด้วยครับ

ขออย่างเดียวอย่าแสดงออกอย่างอินจนเกินไป
จนลืมมองเห็น “กอริล่า” ซึ่งก็คือ “กิเลสในใจตนเอง” เป็นพอครับ

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *