Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๘๒

กรณีศึกษาของกิจการสร้างภาพ

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

kodak

ขณะนี้พวกเราอยู่ในศตวรรษที่ 21 ช่วงเวลาที่ข้อมูลข่าวสารพรั่งพรูและเลือกรับชมรับฟังได้ไม่ขาดสาย ว่ากันว่า ใน 1 วัน เราอาจได้รับข้อมูลข่าวสารมากกว่าที่คนในสมัยอยุธยาได้รับทั้งหมดในรอบ 3 เดือนเสียอีก

ข่าวหนึ่งซึ่งอาจเป็นเพียงข่าวเล็ก ๆ ในสายตาคนทั่วไป แต่ในความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้อง มันคือการข้ามพ้นวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ นั่นคือ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท Eastman Kodak ได้พ้นจากภาวะล้มละลายที่เริ่มมีผลมาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2012

ภาวะล้มละลายของกิจการสร้างภาพแห่งนี้ ต้องนับย้อนหลังไปตั้งแต่ 121 ปีก่อน ผู้ก่อตั้งคือ จอร์จ อีสต์แมน (George Eastman) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองโรเชสเตอร์ ในรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ. 1892 ซึ่งในสมัยนั้นการถ่ายภาพเป็นงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีผู้คนเพียงเล็กน้อยที่คลั่งไคล้ สิ่งที่จอร์จ อีสต์แมนทำก็คือการซื้อสิทธิบัตรการประดิษฐ์ม้วนฟิล์มจากเดวิด ฮูสตัน (David Houston) แล้วนำมันมาบรรจุในกล้องสำหรับใส่ม้วนฟิล์มซึ่งมีขนาดเล็กจนพกพาได้ และสร้างจุดขายว่า “PUT A KODAK IN YOUR POCKET” แล้วให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพว่ามันคือการเก็บประสบการณ์ตรงหน้าไว้เป็นสมบัติจนชั่วลูกชั่วหลาน การถ่ายภาพจึงกลายเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย

กระทั่งปี ค.ศ. 1976 Kodak ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดการถ่ายภาพถึง 90% ของยอดขายกล้อง และ 85% ของยอดขายฟิล์มในสหรัฐอเมริกา และ Kodak เอง ก็เป็นผู้ริเริ่มสร้างกล้องดิจิตอลตัวแรกของโลกในปี 1975 แต่ด้วยความติดกับดักความสำเร็จอย่างเหนือความคาดหมาย ทำให้ผู้บริหารของ Kodak ในเวลานั้นหยุดการพัฒนากล้องดิจิตอล เนื่องจากไม่ต้องการให้ระบบดิจิตอลเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดของกล้องฟิล์ม แต่กลับกลายเป็นว่า ในเวลาต่อมาไม่ถึง 40 ปีเท่านั้น ตลาดกล้องฟิล์มค่อย ๆ หดหายและตกต่ำอย่างรวดเร็วจนตายสนิท กล้องดิจิตอลได้เข้ามาแทนที่กล้องฟิล์มในทุกครัวเรือน ผลกำไรของบริษัท Kodak ค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นติดลบ Kodak ค่อย ๆ ฝืนตัวและผันตัวเข้าสู่ตลาดกล้องถ่ายรูปดิจิตอลในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งนับว่าสายเกินไปสำหรับการฟื้นคืนสู่อภิมหาอาณาจักรแห่งการสร้างภาพ

การตั้งต้นใหม่ Kodak ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะก้าวตามความเปลี่ยนแปลงให้ทันเวลา ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2004 Kodak ทำการประกาศหยุดการขายกล้องฟิล์มแบบดั้งเดิมในยุโรปและอเมริกาเหนือและลอยแพพนักงานออกไปถึง 15,000 ตำแหน่งงาน (ประมาณหนึ่งในห้าของแรงงานรวมในเวลานั้น) จากนั้นพยายามส่งกล้องดิจิตอลแบบ wifi ออกสู่ท้องตลาดแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังแบกรับภาระหนี้สินจำนวนมาก Kodak ยักษ์ใหญ่แห่งวงการกล้องจึงล้มลงอย่างหมดสภาพ ด้วยการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ล้มละลาย ตามมาตรา 11 ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2012

ปัจจุบัน พนักงานของ Kodak เหลือเพียง 8,500 คน (จาก 120,000 คนในอดีต) และปลดหนี้ด้วยการขายธุรกิจภาพถ่ายบุคคล และรูปเอกสารให้กับกองทุนบำนาญโกดักอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุดของบริษัทในวงเงิน 695 ล้านดอลลาร์ และไกล่เกลี่ยหนี้มูลค่า 2,800 ล้านดอลลาร์ลงได้สำเร็จ การทำธุรกิจของบริษัทก็ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เน้นให้บริการภาพถ่ายแก่ตลาดธุรกิจ (Business to Business) แทนการทำธุรกิจแบบเดิมที่ทำตลาดกับลูกค้า (Business to Customer) ประกอบด้วยการทำบรรจุภัณฑ์ การพิมพ์เพื่อการใช้งาน การสื่อสารกราฟฟิก และบริการวิชาชีพต่าง ๆ และเริ่มดำเนินการด้วยความรอบคอบ แข็งแกร่ง และมั่นคงขึ้น

กรณีศึกษาดังกล่าวสนับสนุนวรรคทองของฟิลิป คอตเลอร์ ซึ่งจัดว่าเป็น “กูรู” ด้านการตลาดระดับโลก ที่กล่าวว่า

"Within 5 years, if you run your business in the same way as you do now, you're going to be out of business." (Philip kotler)
(ภายใน 5 ปี หากคุณยังทำธุรกิจด้วยรูปแบบเดิมที่เคยทำ นั่นเท่ากับคุณออกจากธุรกิจนั้นไปแล้ว (ฟิลิป คอตเลอร์))

บ้างก็อ้างอิงถึงทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน

"It is not the strongest of the species that survives, nor the most intelligent, but the one most responsive to change." (Charles Darwin)
(สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอด ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้มากที่สุด (ชาร์ลส์ ดาร์วิน))

ทั้งกรณีศึกษาและทฤษฎีที่นำมาประกอบ อาจทำให้หลายคนมองว่า ความสำเร็จทางโลกกว่าจะได้มาช่างยากเย็นและไม่ยั่งยืน การติดกับความสำเร็จแล้วไม่พัฒนา ยิ่งน่ากลัวเข้าไปใหญ่

แต่ไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์หรือนักปราชญ์ทั้งหลายหรอกนะคะที่เห็นว่า การไม่พัฒนาตนเองเป็นเรื่องไม่ควรสรรเสริญ แม้ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสคาถาบทหนึ่งใจความว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญ แม้ซึ่งความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย
ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมจากกุศลธรรมทั้งหลาย เราสรรเสริญเพียงอย่างเดียว
คือ ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย

(ฐิติสูตร)

การสร้างกุศลกรรมและการปฏิบัติภาวนาในพระพุทธศาสนานั้น พระศาสดาสอนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปโดยไม่ประมาท มิใช่ว่าเคยทำดีแล้ว เคยภาวนาดีแล้วจะหยุดนิ่ง จะพอใจอยู่ในความสำเร็จเพียงเท่านั้น ก็มิใช่แนวทางที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

กรณีศึกษาของบริษัท Kodak เป็นกรณีศึกษาที่ใช้เวลาถึง 2 ชั่วอายุคนในการเรียนรู้ที่จะ ก่อตั้ง เติบโต เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด แล้วล้ม แล้วลุกขึ้นมาใหม่ คงเป็นบทเรียนสอนใจให้คนรุ่นหลังไม่ประมาทในการทำกิจการใด ๆ ไม่มากก็น้อย

ในแง่มุมของนักปฏิบัติยิ่งมีธุรกิจสำคัญ คือธุรกิจทางธรรมอันมีเป้าหมายคือการทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ซึ่งการดำเนินธุรกิจนี้ไม่ถึงกับยากเย็นเข็ญใจนัก เรายังมีคำสอนของพระศาสดาที่คงอยู่มานานกว่า 2500 ปี เป็นตำราที่ดีที่สุด

สุดท้ายนี้ ลองหันมาถามตัวเองกันดีไหมคะ ว่าในสังสารวัฏนี้เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง ขณะนี้กำลังถอยหลัง หยุดอยู่กับที่ หรือเดินหน้า และอากัปกิริยาใด ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ

ได้คำตอบแล้ว รวบรวมกำลัง เดินหน้าต่อไปด้วยกันนะคะ :)

เจริญในธรรมค่ะ ^/\^


ที่มา :
http://topics.nytimes.com/top/news/business/companies/eastman_kodak_company/index.html
http://www.no-poor.com/SAandNetwork/sa_CaseStudyKodak1.htm
http://www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd24.htm
http://www.dhammahome.com/front/webboard/show.php?id=3382