Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๘๐

"พาเข้า....ครัวอิ่มบุญ"

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

เคยไหมคะ ตื่นมากลางดึกแล้วหิวจัง เปิดตู้เย็นหน่อย โอ้โห เจอกับข้าวแช่ทิ้งไว้หลายวันแล้ว ถ้าพอกินไหวก็หยิบมาอุ่น ถ้ากินไม่ไหวก็ย้ายไปดู ผลไม้ นม น้ำหวาน ประทังชีวิตกันไป

แต่แหม... อย่างนี้ไม่เรียกประทังหรอกค่ะ :)

นี่เรียกว่า หิวเมื่อไรก็ได้กินเมื่อนั้น เป็นชีวิตประจำวันของฆราวาสที่เราพบเห็นได้ทั่วไป ยกเว้นคนไหนหรือวันไหนถือศีลแปด หิวขนาดไหนเพื่อให้ศีลบารมีบรรลุผล ก็ต้องอดทนงดวิกาลโภชนาไปตามโอกาส

ขณะที่พระสงฆ์องค์เจ้า ท่านมีพระวินัยกำกับ โดยเฉพาะของฉันสำหรับพระที่เกี่ยวกับกาล ที่เรียกว่า “กาลิก” มีทั้งสิ้น ๔ อย่างค่ะ ได้แก่ ยาวกาลิก ยามกาลิก สัตตาหกาลิก และ ยาวชีวิก แต่ละกาลิกนี้มีความแตกต่างกันในแง่ของเวลาที่สามารถเก็บรักษา และชนิดของของฉันเหล่านั้น

แน่นอนค่ะ ก่อนจะเข้าครัวกัน เรามาทำความเข้าใจเรื่องกาลิกกันก่อน พอเป็นพิธีนะคะ :)

ตารางที่ ๑. การเปรียบเทียบกาลิกประเภทต่าง ๆ

ประเภท
ของกาลิก

ระยะเวลาที่เก็บได้
(หลังประเคน)

ตัวอย่างของฉัน
ในประเภทนั้น ๆ

หมายเหตุ
 ๑. ยาวกาลิก  เช้าถึงเที่ยงวัน  ข้าวปลาอาหาร จากการบิณฑบาตของพระ
หรือจากการถวายอาหารของโยม
 ๒. ยามกาลิก ๑ วัน กับ ๑ คืน 
(๒๔ ชั่วโมง)
เครื่องดื่มสำหรับพระ
(น้ำปานะ)
อรรถกถามหาวรรคระบุน้ำผลไม้ไว้ ๘ อย่าง
อาทิ น้ำมะม่วง น้ำผลไม้เล็ก ๆ เช่น น้ำมะขาม
น้ำใบไม้ (เว้นน้ำต้มผัก) น้ำดอกไม้ (เว้นน้ำดอกมะซาง)
น้ำอ้อยสดไม่มีกาก เป็นต้น
 ๓. สัตตาหกาลิก  ๗ วัน  เภสัช ๕ อย่าง ได้แก่ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย
 ๔. ยาวชีวิก  ตลอดไป  ยารักษาโรคทั่วไป สมัยก่อนได้แก่ ราก หัว เหง้า น้ำฝาด ใบ ผล
และยางของต้นไม้ที่นำมาทำยา รวมถึง เกลือ
ซึ่งไม่ได้จัดเป็นอาหารปกติ

และด้วยความที่ข้าวปลาอาหาร เป็นยาวกาลิก ซึ่งตามพระวินัยเก็บไว้ได้ไม่เกินเที่ยงวันนี้เอง ทำให้พระสงฆ์ท่านไม่สามารถเลือกเวลาฉันได้ตามใจชอบเหมือนฆราวาส 

พระวินัยเกี่ยวกับการฉันอาหาร ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ นอกเหนือจากการกำหนดเวลาแล้ว ผัก ผลไม้ ที่พระจะฉันได้ พระวินัยกำหนดให้มีสมณะกัปปะ ๕ อย่าง ได้แก่ ผลไม้ที่จี้ด้วยไฟ ผลไม้ที่กรีดด้วยมีด ผลไม้ที่มีเมล็ดอ่อน (ปลูกไม่ขึ้น) และ ผลไม้ที่ปล้อนเมล็ดออกได้ (วินัยปิฎก จุลวรรค) - - - ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจนะคะ เวลาเห็นผลไม้ที่ถวายพระหลายอย่าง เช่น ผลส้ม จะต้องมีรอยกรีดหรือรอยจิกอยู่บ้าง นั่นก็เป็นไปเพื่อให้ถูกต้องตามพระวินัย และเมื่อมีโอกาสนำผลไม้ไปถวายพระ เราก็จะทำได้ถูกต้องเช่นกัน :)

อ้อ แถมอีกนิด มั่นใจว่าคนอ่านเกินล้านคน(ถึงเหรอนั่น)ต้องอิดออด ว่าเวลาถวายผลไม้จำนวนมาก ต้องมานั่งจิกผลไม้ทุกลูก(ผลไม้)ก็หมดสวยกันพอดี ข้อนี้พระวินัยมีอนุโลมไว้ในอรรถกถามหาวิภังค์ค่ะ ว่าหากถวายผลไม้ที่รวมกันใส่ถ้วยหรือใส่ถุงมาหลายลูก ทำกัปปิยะเพียงลูกเดียวได้นะคะ ^^

ต่อมาเรื่องเนื้อสัตว์ค่ะ เนื้อ ๑๐ อย่างที่พระวินัยห้ามฉัน คือ เนื้อมนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง เสือดาว และหมี โดยมีอรรถกถาระบุเหตุผลที่ห้ามฉันเนื้อ ๑๐ อย่างได้แก่ เนื้อมนุษย์ทรงห้ามเพราะมีชาติเหมือนตน เนื้อช้างและม้าทรงห้ามเพราะเป็นราชพาหนะ เนื้อสุนัขและงูทรงห้ามเพราะเป็นของสกปรก เนื้อสัตว์ ๕ จำพวกมีราชสีห์เป็นต้นทรงห้ามเพื่อความไม่มีอันตรายแก่ภิกษุทั้งหลาย เนื้อ ๑๐ อย่างนี้ไม่ว่าภิกษุรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ฉันแล้วเป็นอาบัติ รู้เมื่อใดพึงแสดงอาบัติเมื่อนั้น ส่วนเนื้ออื่น ๆ ที่โยมทำมาถวาย ก็ต้องไม่ใช่เนื้อที่เนื้อที่เขาฆ่ามาเพื่อให้พระฉัน (คือตายด้วยเหตุอย่างอื่นก่อน จึงนำเนื้อมาถวายพระ เช่น ไปซื้อมาจากตลาด ทำกินเองส่วนหนึ่ง แบ่งมาทำบุญส่วนหนึ่ง อย่างนั้นทำได้ค่ะ :)

อ้อ อาหารดิบ พระก็ฉันไม่ได้นะคะ พระพุทธองค์ดำรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเนื้อดิบ เลือดสด ในเพราะอาพาธเกิดแต่ผีเข้า” (อรรถกถามหาวรรค) ดังนั้น ปลาดิบ เนื้อดิบ พระภิกษุสุขภาพดี ผีไม่เข้า รับประเคนไม่ได้ค่ะ ญาติโยมก็อย่าอุตรินำไปถวายเชียว

โอ้โฮ เกริ่นมาเสียยาว แต่ไม่ยากเกินไปใช่ไหมคะ เรียนทฤษฎีการถวายอาหารแล้ว มั่นใจแล้วว่าทำได้ ไม่ผิดพระวินัย ถ้าอย่างนั้น เรามาเข้าครัวกันเลยดีกว่า

ปิดท้ายกันไปด้วยสองสาวสวยใส พี่ผึ้ง และน้องแอ้น จะมาชวนคุณผู้อ่านทำอาหารไปถวายพระด้วยกันนะคะ งานนี้มีเบื้องหลังเป็นคุณยายกล้อง(ตากล้องเอาไว้เรียกผู้ชาย ผู้หญิงถือกล้องเลยเรียกยายกล้องกันค่ะ) คือน้องของขวัญ ดีไซน์เนอร์หลักของหนังสือไดอารีบุญนั่นเอง


1


ส่วนพิธีกรและแม่ครัวก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นนักเขียนในเล่มอีกเช่นกัน

2


พอต้องมาลงภาคปฏิบัติ ทำอาหารไปถวายพระกันจริง ๆ จะออกมารูปแบบไหนกันนะ

ชมได้ในคลิปด้านล่างเลยค่ะ :)

http://www.youtube.com/watch?v=HW1Rawa6ivc


อนุโมทนาทุกท่านที่ใส่บาตร หรือนำอาหารไปถวายพระอย่างถูกต้องตามพระวินัย ผู้ได้ช่วยกันสืบต่ออายุพระศาสนาร่วมกันนะคะ ^/\^