Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๗๙

"ในร่มกาสายะ"

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

ในร่มกาสายะ

ตอนที่ ๖ เกิดเป็นฆราวาสอีกครั้งกับโลกใบเดิม

phpHV8UG6AM

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เวลาในการเป็นพระของผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน

บางคนเชื่อว่า การบวชคือการเกิดใหม่เป็นพระ

ผู้เขียนก็อยากจะบอกว่า การลาสิกขาก็เป็นการเกิดใหม่ ในฐานะการเป็นฆราวาสของผู้เขียนเช่นกัน

 

และเมื่อพูดถึงการเกิดในแต่ละครั้ง ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมเห็นตรงกันว่า

ผู้ที่ทำให้เรามีโอกาสเกิดใหม่ เป็นผู้มีพระคุณยิ่งต่อเรา

 

ในทางโลก พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณให้เราได้เกิดเป็นมนุษย์

คือเป็นผู้ทำให้เรา ได้“กายใจ” แบบมนุษย์มา

และกายแบบมนุษย์นี่เอง เป็นฐานสำคัญที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ธรรมะได้โดยง่าย

ด้วยเหตุนี้ พระศาสดาจึงบอกว่า แม้จะแบกพ่อแม่ไว้บนบ่า ดูแลปรนนิบัติท่านทุกอย่างโดยบริบูรณ์ตั้งร้อยปี

ก็ไม่ชื่อว่าแทนคุณพ่อแม่ได้เท่ากับการชักจูง พ่อแม่ที่ยังไม่ตั้งมั่นในทานให้ตั้งมั่นในทาน

พ่อแม่ที่ยังไม่ตั้งมั่นในการรักษาศีลให้ตั้งมั่นในการรักษาศีล

พ่อแม่ที่ยังไม่ตั้งมั่นในการภาวนาให้ตั้งมั่นในการภาวนาอย่างถูกวิธี

 

เพราะการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเท่านั้น

ที่จะเป็นเหตุให้พ่อแม่ได้กายใจในสุคติภพเป็นผลอย่างต่ำ

และมีการพ้นจากกายใจอันเป็นตัวทุกข์เป็นผลสูงสุด

ชื่อว่าได้ให้กายใจตอบแทนกายใจ

เช่นนี้จึงชื่อว่าทดแทนบุญคุณได้

 

การเกิดเป็นพระของผู้เขียนจะสำเร็จบริสุทธิ์บริบูรณ์ไม่ได้

หากขาดพระอุปัชฌาย์...คือท่านพระครูโพธิธรรมประภาส (พระอาจารย์เชือน ปภัสสโร)

ผู้ให้กำเนิดผู้เขียนในฐานะพระเป็นเบื้องต้น

สั่งสอนแสดงตัวอย่างเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติเป็นเบื้องกลาง

และชี้ทางปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทางใจอย่างไม่กำเริบกลับเป็นที่สุด

ผู้เขียนขอกราบรำลึกคุณท่านยิ่งแล้วด้วยเศียรเกล้า  _/\_ _/\_ _/\_

 

จะขอโอกาสเล่าเรื่องราวระหว่างผู้เขียนกับท่านอาจารย์ไว้เป็นบันทึกกันลืม และเอาไว้เตือนใจตนเองด้วย หากท่านผู้อ่านจะได้รับประโยชน์หรือกุศลใดใด ผู้เขียนขอยกกุศลเหล่านั้นเป็นอาจาริยบูชาครับ

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

แรกทีเดียวเมื่อผู้เขียนไปอยู่วัดช่วงแรก ผู้เขียนยังไม่เคยชินกับสิ่งแวดล้อมใหม่

รู้สึกว่าความเงียบของวันในช่วงนี้จะทำให้ใจว้าวุ่นฟุ้งซ่าน เสียยิ่งกว่าจะทำให้ใจสงบ

(ต่างกับเมื่อลางานไปภาวนาแบบมีเวลาไม่มากลิบลับ)

ท่ามกลางความเงียบสงัดของวัดป่า ผู้เขียนรู้สึกจริงๆว่าความคิดของตัวเองนั่นแหละ “เสียงดัง”ยิ่งกว่าสิ่งอื่น

 

ผู้เขียนพยายามลุกขึ้นมาเดินบ้างกวาดลานวัดบ้างก็ยังไม่อาจสงบลงได้

จนมีโอกาสได้เรียนถามท่านอาจารย์ ทั้งที่ในใจก็นึกเดาไปว่า

ท่านอาจารย์เป็นครูบาอาจารย์สายวัดป่า ท่านคงสอนให้ภาวนาพุทโธกระมัง”

 

เหมือนท่านรู้ท้นความคิดอันผู้เขียนนึกเดาได้ ท่านตอบผู้เขียนไปในทางตรงกันข้ามว่า

จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะให้รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะให้รู้ว่าจิตมีโมหะนะ”

ผู้เขียนมิได้เพิ่งได้ยินคำสอนในลักษณะนี้เป็นครั้งแรก แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกประหลาดใจยิ่งนัก

เพราะท่านอาจารย์มีปกติสอนดูกาย

ท่านมักสอนญาติโยมให้หายใจและบริกรรมพุทโธเสมอๆ

แต่ท่านกลับเมตตาสอนให้ผู้เขียนหัดดูนามธรรมในจิตใจ

ทำให้ผู้เขียนภาวนาต่อได้อย่างง่าย

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

แม้ในวันสุดท้ายของความเป็นพระ

กระทั่งเมื่อกลายเป็นทิดไปแล้ว ท่านอาจารย์ก็ยังเมตตาสอนพวกเราที่กำลังจะออกไปใช้ชีวิตฆราวาสว่า

ความคุ้นเคยเป็นที่สุดของญาติ

ความพอเพียงเป็นที่สุดของทรัพย์

นิพพานเป็นที่สุดของความสุข

ซึ่งผู้เขียนได้จดบันทึกไว้ด้วยความทรงจำของตน

หลังจากกลับมาจากวัดแล้ว ในลักษณะบันทึกเตือนความจำ

หากมีส่วนใดขาดตกบกพร่อง ก็ให้ถือเป็นความบกพร่องของผู้บันทึกครับ

 

ความคุ้นเคยเป็นที่สุดของญาติ

ท่านอาจารย์สอนให้พวกเรามีเมตตาต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความจริงใจ

เมื่อมีเมตตาต่อผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แม้อยู่ต่างถิ่นก็มีผู้ที่เมตตาต่อกันนั้นเองที่จะดูแลกันและกันเหมือนหรือยิ่งกว่าญาติจริงๆเสียอีก

 

ความพอเพียงเป็นที่สุดของทรัพย์

ท่านอาจารย์อธิบายให้เราเข้าใจว่าความพอเพียงนี้คือความพอใจในสิ่งตามมีตามได้

หลังจากที่เราได้กระทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว

หากเราทำเหตุเต็มที่ และพอใจในผล

เราย่อมไม่รู้สึกขาดแต่อย่างใด

เมื่อใจไม่รู้สึกขาดก็เท่ากับว่า

เราไม่จำเป็นต้องขวนขวายหา”ทรัพย์ส่วนเกิน”

มาเติมเต็มความอยากอีก โดยนัยนี้ ความพอเพียงจึงเป็นที่สุดแห่งทรัพย์

 

นิพพานเป็นที่สุดของความสุข

ตรงนี้ผู้เขียนเข้าใจว่า

แม้ความเมตตาช่วยเหลือที่ได้รับก็ดี

ความพอใจในสิ่งที่พึงมีพึงได้ก็ดี

จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขได้

แต่ความสุขเหล่านั้นยังเป็นความสุขที่อิงอาศัยจากสิ่งภายนอก

ซึ่งยังอาจแปรปรวนได้ บังคับให้เป็นไปตามใจไม่ได้

ต่างกับนิพพาน อันเป็นภาวะที่ใจปราศจากเครื่องเสียดแทงเพราะเข้าใจเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว

ภาวะเช่นนี้ผู้ปฏิบัติถูกตรงตามคำสอนของพระศาสดา อาจเข้าใจได้ด้วยตนเอง

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

แต่แรกบวช ฟังคำครู เหมือนรู้แจ้ง

คิดว่าแทง ตลอดแล้ว ซึ่งคำสอน

ปฏิบัติ เดินตาม เป็นขั้นตอน

จึงได้ย้อน ดูกายใจ เปลี่ยนไปมา

 

ยิ่งเป็นพระ ยิ่งเห็นชัด มากกิเลส

เห็นความอยาก น่าทุเรศ อยู่ต่อหน้า

โยมใส่บาตร ไม่ได้ฉัน มีโกรธา

ผุดขึ้นมา ดูชัดเด่น กว่าเป็นโยม

 

ตอนนี้กลับ เป็นโยม นับหนึ่งใหม่

เดินตั้งใจ ไม่แกล้งพัก ไม่หักโหม

กิเลสจร ดูใจไหว ไม่รันโรม

เอาศีลกั้น กันทุกข์โถม เข้ารัดตรึง

 

บนเส้นทาง ทอดยาว ของกรรมใส

ไม่มีวัน วันไหน ไม่นับหนึ่ง

แต่นับหนึ่ง เรื่อยไป จนใจซึ้ง

ใจเขาจึง นับสอง ของเขาเอง.

 

...

...

...

 

สาธุ สาธุ สาธุ -/\-

 

ปิดท้ายด้วยคำสาธุการยาว ๆ และอนุโมทนากับนักเขียนรับเชิญ

ในยารักษาใจ ๖ ตอนที่ผ่านมา บางท่านอาจจะคลิกเข้ามาแว้บ ๆ

เห็นไอคอนผู้หญิงแต่เนื้อหาและสรรพนามเป็นผู้ชายก็ไม่ต้องตกใจนะคะ

คลิกย้อนไปอ่านเริ่มต้นได้ตั้งแต่ ๖ ตอนก่อนหน้า

ทุกบททุกบรรทัดคือประสบการณ์ในร่มกาสายะ

ที่คุณจีรณัทย์ วิมุตติสุข เรียบเรียงให้อ่านอย่างตั้งอกตั้งใจ

 

แล้วคุณจะเต็มอิ่มกับเรื่องราวครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชาย
และนำความสว่างมาเปิดเผยให้ประจักษ์แก่ตาอย่างน่าอนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ
:)

 

(วิลาศินี)