Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๗๗

"ในร่มกาสายะ"

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

ในร่มกาสายะ

ตอนที่ ๕ บิณฑบาต สร้างวัด ภาวนา เป็นพระใครว่าสบาย

heal-177

เล่าชีวิตพระมาก็หลายตอน ยังไม่ได้เล่าเลยครับ ว่าอาชีพพระเขาทำอะไรกันบ้าง

อย่างที่หลายๆคนทราบครับว่า

พระพุทธเจ้าท่านไม่อนุญาตให้พระรับทองและเงิน

สิ่งที่ท่านอนุญาตให้สาวกของท่านใช้เป็นเครื่องมือในการเลี้ยงชีพ คือ “บาตร”นี่แหละครับ

ที่วัดประชาสันตินั้น ถ้าพระไม่อาพาธ อย่างไรเสียก็ต้องออกบิณฑบาตครับ

 

 

พระต้องตื่นแต่เช้ามาภาวนา

จากนั้นก็ออกมาช่วยกันจัดโรงฉัน และเตรียมตัวบิณฑบาต

การตื่นแต่เช้ามาจัดโรงฉันและเตรียมตัวบิณฑบาตนี้ ทำให้คนเป็นพระต้องตื่นตัวอยู่เสมอ

เป็นที่รู้กันในหมู่พระ...วันไหนไม่บิณฑบาต แปลว่าอาพาธ

 

ถ้าสบายดี แต่ไม่บิณฑบาต แสดงว่าวันนั้นไม่(มี)ฉัน

 

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

พูดถึงเรื่องบิณฑบาต ก็อดเล่าให้ฟังเรื่องบาตรไม่ได้

บาตรของพระนี่ท่านอนุญาตไว้ชัดเจนนะครับ ว่าให้ใช้บาตรที่ทำจากวัสดุอะไรได้บ้าง

 

พระศาสดาทรงห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรใช้บาตรที่ทำจากโลหะมีค่า

เนื่องจากอาจทำให้พระได้รับอันตรายจากโจรผู้ร้ายที่มาแย่งชิงบาตร

เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น นอกจากพระจะออกบิณฑบาตเพื่อนำอาหารมาขบฉันแล้ว

ก็ยังต้องออกธุดงค์ไปตามเมืองต่างๆ เพื่อเผยแผ่ธรรมะอีกด้วย

การใช้บาตรที่ทำจากวัสดุที่มีค่ามากๆอย่างเงินหรือทองคำ

อาจทำให้พระเกิดความโลภได้ง่าย ทั้งยังไม่เหมาะแก่ฐานะด้วย

จึงทรงอนุญาตให้ใช้เพียงบาตรเหล็กหรือบาตรดิน

 

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

นอกจากเรื่องวัสดุที่ทรงห้ามใช้ของมีค่ามาทำบาตรแล้ว

พระพุทธองค์ยังให้ความสำคัญกับขนาดของบาตรด้วยครับ

คือทรงไม่อนุญาตให้พระภิกษุใช้บาตรที่มีขนาดเกิน ๑๑ นิ้ว

เนื่องจากในสมัยพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่งใช้บาตรลูกใหญ่ในการบิณฑบาต

หากบิณฑบาตได้อาหารดีๆ ก็จะนำไปซ่อนไว้ใต้บาตร เพื่อที่จะได้ฉันคนเดียว

ในขณะที่พระบางรูปไม่มีอาหารจะฉัน

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ใช้บาตรที่มีขนาดใหญ่เกินไป

ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความโลภที่อาจเกิดจากการสะสมอาหารนั่นเอง

 

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระธรรมวินัย

เกี่ยวกับการใช้บาตรไว้อีกหลายประการ 

 

 

เช่น ในการบิณฑบาตให้พระภิกษุรับบาตรได้ไม่เกิน ๓ บาตร

เวลาบิณฑบาต ห้ามสะพายบาตรไว้ด้านหลัง เพื่อป้องกันบาตรกระทบแตกหักเสียหาย

ห้ามเปิดประตูขณะที่มือถือบาตรอยู่

เพราะอาจทำให้บาตรหล่นและแตกหักได้

ขณะที่ถือบาตรอยู่ห้ามห่มจีวร

ต้องวางบาตรให้เรียบร้อยก่อนจึงจะทำการขยับหรือนุ่งห่มจีวร

ห้ามวางบาตรชิดขอบโต๊ะ

ต้องวางให้ห่างจากขอบโต๊ะอย่างน้อย ๑ ศอก เพื่อป้องกันบาตรตกแตกเสียหาย เป็นต้น 

 

ดูเผินๆ เหมือนข้อบังคับจุกจิกไร้เหตุผลนะครับ

แต่ถ้าพิจารณาดีๆจะเห็นว่า เครื่องบริขารทั้งหลายที่ใช้ขณะเป็นพระ เราถือกันว่าเป็นของสงฆ์

ไม่ใช่ของพระรูปใดรูปหนึ่ง  

เราเพียงแค่ยืมใช้ชั่วคราวเท่านั้น

เมื่อบริขารเป็นของส่วนรวมเช่นนี้ จึงต้องช่วยกันรักษา

แต่จริงๆแล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ผู้เขียนว่า ท่านกำลังสอนให้เรามีสติ ในทุกอิริยาบถเลยนั่นแหละครับ

 

ขณะบิณฑบาตก็ต้องลุยทีเดียว เดินอย่างมีสติ และควรรอหมู่คณะ

พระเก่าจะช่วยดูแลพระใหม่ทุกย่างก้าวก็เรื่องออกบิณฑบาตนี่แหละครับ

เพราะท่านรู้ว่าพระใหม่ห่มจีวรไม่ชำนาญ และมักจะหลุดก็ตอนเดินบิณฑบาตนี่แหละครับ ^^”

(ผู้เขียนก็หลุดครับ พระรุ่นพี่ท่านต้องเหลือบมาดูเป็นระยะๆ ระวังทั้งจีวรหลวม สายบาตรหลุด

แต่ตรงนี้เป็นความน่ารักของหมู่สงฆ์ครับ เมื่อเป็นลูกของพระศาสดาด้วยกัน

ก็ดูแลกันอย่างดี เหมือนพี่ดูแลน้อง)

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

เมื่อบิณฑบาตมาเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเอาอาหารมาเทรวมกันครับ

เวลาฉัน พระท่านจะให้พระที่มีพรรษาสูงกว่าเป็นผู้รับอาหารก่อน

ซึ่งตรงนี้ ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้พระพรรษาสูงเอื้อเฟื้อพระที่พรรษาน้อยกว่า

 

โดยเฉพาะท่านอาจารย์นั้น ท่านมีปกติทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

พวกเราก็ต้องใช้วิธีการสังเกตและทำตามเยี่ยงเอา

ถ้ามีจุดที่สงสัยก็ค่อยไต่ถามท่าน

 

ฉันอาหารเรียบร้อยแล้ว ท่านอาจารย์มักจะให้พระในวัดออกไปภาวนาตามจุดต่างๆในวัดครับ

บางท่านก็เดินจงกรม บางท่านก็นั่งภาวนา

บ้างก็ภาวนาโดยการทำความสะอาดวัด

ครูบาอาจารย์ท่านเปิดโอกาสให้ภาวนาได้ตามจริตนิสัย

เพียงแต่จะมีช่วงทำวัตรเช้า และทำวัตรเย็นเท่านั้นที่พระทุกรูปจะมาประชุมพร้อมกัน

เพื่อสวดมนต์และนั่งภาวนา

ดูๆไปข้อวัตรเช่นนี้ ก็เพื่อให้หมู่คณะมีความพร้อมเพรียงกันนั่นเองครับ

 

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

ตกเย็น พระท่านจะทำความสะอาดวัดด้วยการกวาดลานวัดครับ

เริ่มแรกก็การกวาดลานวัดบริเวณกุฏิที่ตนพักอยู่ก่อน

แล้วช่วยกันโกยใบไม้และขยะอื่นๆไปทิ้งในที่อันควร

 

นอกจากการกวาดลานวัดแล้ว

พระท่านยังช่วยกันขนหิน มาเกลี่ยเป็นถนนหนทางในวัดด้วย

ทั้งนี้เพราะเวลากวาดและโกยใบไม้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่หินก้อนเล็กๆจะถูกโกยไปด้วย

ทำให้หินที่ถนนนั้นไม่เรียบเสมอกันเท่าไรนัก

เมื่อโยมศรัทธาถวายหินมาให้เกลี่ยถนน พระท่านจึงออกแรงช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ

 

เวลาขนหินเกลี่ยถนนนั้น ไม่มีการแยกพรรษาครับ

พระเก่า พระใหม่ช่วยกันอย่างพร้อมเพรียง เป็นภาพที่น่ารักมากทีเดียว

นอกจากนี้ การช่วยกันทำงาน ยังช่วยให้พระท่านรักใคร่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วยนะครับ

 

อ้อ ใครที่สงสัยว่าพระขุดแผ่นดินไม่ผิดพระวินัยหรือ

ต้องบอกไว้ตรงนี้ครับว่า

พระท่านไม่ได้ขุดดินลงไปในแผ่นดินนะครับ ท่านเพียงแต่เอาดินมามาเกลี่ยทำถนน

ดินที่เอามาเป็นแค่กองหิน กองทราย ซึ่งไม่จัดเป็นแผ่นดินครับ

ตอนหน้าเป็นตอนสุดท้ายแล้ว  ผู้เขียนจะเล่าเกี่ยวกับวีรกรรมของผู้เขียนและจริยวัตรของท่านอาจารย์

อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ

 

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *