Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๗๖

"ในร่มกาสายะ"

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

ในร่มกาสายะ

ตอนที่ ๔ ปาฏิโมกข์ วันพระใหญ่ และความในใจของพระฝึกหัด

heal-176

ขอบคุณรูปจาก www.ndsu.edu 

พระพี่เลี้ยง : พรุ่งนี้วันโกน มะรืนนี้วันพระใหญ่ ครูบาเตรียมตัวให้พร้อมนะ
ผู้เขียน : ต้องเตรียมตัวยังไงบ้างครับ
พระพี่เลี้ยง : ไม่ต้องกังวล ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ครูบา

จริงๆแล้วที่พระท่านบอกว่าไม่มีอะไรนั่น มีอะไรเยอะเชียวครับ

 

 

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• * 

๑ ก่อนวันโกน

เคยได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังตั้งแต่ตอนเป็นฆราวาสว่า
วันโกนนี่ คงเป็นวันที่พระเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมสำหรับวันพระใหญ่ ที่จะต้องลงอุโบสถ
พอได้เป็นพระถึงรู้ครับว่า...พระท่านเตรียมตัวก่อนถึงวันโกนอีก

ผู้เขียนมีโอกาสตามพระลงไปที่โรงไฟก่อนวันโกนทนี่แหละครับ
พระท่านลงไปก่อฟืน เพื่อต้มแก่นขนุน โดยจะต้องติดฟืนและต้มเคี่ยวแก่นขนุนทิ้งไว้ข้ามคืน
เพื่อให้น้ำแก่นขนุนที่ได้ เข้มข้นพอที่จะย้อมจีวรได้ติดทนนาน 

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

๒ วันโกน

ถ้าใครเดินเข้าวัดในวันโกนละก็...ไม่ต้องแปลกใจนะครับ
ถ้าเห็นพระท่านซักผ้ากันทั้งวัด หลังฉันเช้าเรียบร้อยแล้ว
 

เพราะในวันพระใหญ่นั้น พระท่านจะต้องลงอุโบสถ
เพื่อฟังการสวดปาฏิโมกข์

 

พระศาสดากำหนดไว้ว่าผู้ที่จะฟังปาฏิโมกข์ได้นั้น จะต้องเป็นผู้บริสุทธิ์..คือเป็นผู้ปราศจากอาบัติ
ด้วยหลักคิดเดียวกันนี้เอง พระท่านจึงถือว่าวันโกนนั้น
เป็นวันทำความสะอาดจีวรและเสนาสนะครั้งใหญ่ด้วย
คือเป็นผู้สะอาดทั้งกายและใจ ก่อนจะลงอุโบสถ 

ฉันเช้าเสร็จแล้ว ผู้เขียนก็ตามพระท่านลงไปซักผ้าด้วยน้ำแก่นขนุนครับ
สถานที่ซักจีวรวันนั้นคือโรงไฟ
ใช่ครับ ท่านให้ตักน้ำเคี่ยวแก่นขนุนที่กำลังเดือดอยู่ในหม้อเทลงไปที่กะละมัง
ก่อนจะเอาไตรจีวรหย่อนลงไปในน้ำแก่นขนุนที่กำลังเดือด
 

ผู้เขียนต้องค่อยๆเก็บจีวรที่เป็นผ้าผืนใหญ่ โดยเอานิ้วโป้งหนีบผ้าไว้ในมือ
ใช้นิ้วอีกสี่นิ้วที่เหลือซึ่งเหยียดตรงเป็นแกน ในการพับจีวรทบกลับไปกลับมา
รวบปลายผ้าเข้าหากัน แล้วหย่อนส่วนที่เป็นตรงกลางผืนจีวรลงไปในน้ำแก่นขนุน
เพื่อให้สีติดตรงกลางผ้าก่อน
จากนั้นก็ถือโอกาสขยี้ส่วนที่เป็นปลายขอบๆ ริมๆ ของจีวรที่มักจะสกปรกมากเพราะเป็นส่วนที่แนบตัวพระเกือบตลอดเวลา
เสร็จแล้วก็บิดผ้าจีวรพอหมาด และนำไปผึ่งแดด เป็นอันจบกระบวนการ
 

กล่าวได้ว่าขณะซักนั้นต้องระวังความร้อนไปด้วย
นับเป็นการฝึกสติตลอดสายจริงๆ

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

ถัดจากการตากจีวรก็มาถึงจุดสำคัญของวันโกนแล้วล่ะครับ
อ๊ะ ท่านผู้อ่านบางคนสงสัย จุดสำคัญของวันโกนคืออะไร
ก็การโกนผมนั่นแหละครับ...จุดสำคัญของวันโกน

วันโกนคราวนั้น ผู้เขียนเพิ่งบวชเป้นพระได้ไม่ถึง ๓ วัน
เรียกได้ว่าเป็นพระใหม่ถอดด้าม
และที่สำคัญ ผมยังไม่ยาว :D
 

 

ด้วยเหตุที่ผมยังไม่ทันจะยาวนี่เอง
พระอัคควังโส (ฉายาขณะบวชของผู้เขียน) จึงคิดเอาเองว่า
ไม่ต้องโกนก็ได้ล่ะมังนะ  ^^”

.

โชคดีมากที่เย็นวันนั้น ครูบาซึ่งทำหน้าที่เป็นพระอุปปัฏฐากท่านอาจารย์เห็นเข้า
และท่านกรุณาบอกผู้เขียนว่า
“ครูบาต้องปลงผมด้วยนะ”
 

ได้ยินแค่นั้น ใจของผู้เขียนก็น้อมรับทันที่
บอกตัวเองว่า ถ้าครูบาอาจารย์บอกให้ทำในสิ่งที่ควร เราจะทำโดยไม่รีรอเลย

ผู้เขียนกลับไปที่ห้องน้ำในกุฏิ
หยิบมีดโกนหนวดขึ้นมา

เอาสบู่ชโลมผม (ซึ่งไม่ค่อยจะมี) ก่อนจะเหลียวหากระจก

 

ตายละ ห้องน้ำพระในกุฏินี้ไม่มีกระจกนี่นา :O
เอาวะ ว่าแล้วผู้เขียนก็หลับตาลง
มือนึ่งคลำศีรษะ อีกมือจรดปลายมีด

 

ด้วยอาการใจจดจอเช่นนั้น
ใจค่อยแยกออกมาดูมือที่จับมีดโกน ปลายนิ้ว และหนังศีรษะที่ขยับเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน
เห็นผมอันเคยเป็นส่วนหนึ่งของกาย อันเคยสำคัญว่าเป็นเรา...ค่อยหลุดออกไปช้าๆ 

มือขยับ มีดจรด ใจจดจ่อ
เห็นใจไหว เคยยึดก่อ ผมของฉันฃ
ผมหลุดออก ทีละเส้น เห็นเท่าทัน
ยึดแค่ไหน ดูใจพลัน เห็นเปลี่ยนแปร

 

•..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

เมื่อปลงผมเรียบร้อยแล้วผู้เขียนก็ออกไปนอกกุฏิ
(สารภาพนิดๆ ว่าตอนนั้นมีดีใจที่เราได้ปลงผมเหมือนหมู่คณะเขาเสียที)
 

“ครูบา ที่ท้ายทอยยังปลงผมไม่หมดนะนั่น ครูบาองไหนโกนให้ครับ”
เสียงพระอุปปัฏฐากรูปเดิมแว่วมาแต่ไกล
“โกนเองครับ” (แหะๆ โกนไม่เกลี้ยงหรือนี่ ^^”)
“อ้าว โกนเองเหรอครับ ทำไมไม่บอกผม” :O
พระอุปปัฏฐากท่านดูแปลกใจไม่แพ้กัน
 

เพิ่งมารู้ทีหลังครับว่า ไม่มีปลงผมเองเลยครับวันนั้น ยิ่งพระใหม่นี่แทบจะไม่มีใครโกนเองเลย
มาคิดดูตอนนี้ ดีแค่ไหนที่มีดไม่บาดเอานะนั่น

 

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

๓ วันพระใหญ่

วันนี้เป็นวันแรกที่จะต้องลงอุโบสถ
และเป็นวันแรกของชีวิตการเป็นพระ ที่จะได้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ โดยพาดสังฆาฏิร่วมทำสังฆกรรม
(สำหรับทางใต้ที่อาการค่อนข้างร้อนชื้น
ครูบาอาจารย์ท่านให้พาดสังฆาฏิเมื่อมีการทำสังฆกรรมท่านั้นครับ)

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสฟังปาฏิโมกข์เป็นครั้งแรกในชีวิตในวันนั้นเองครับ
ก่อนขึ้นทำอุโบสถ พระทุกรูปจะต้องแสดงอาบัติเสียก่อน
คือการแสดงความผิดของตน และตั้งใจจะสำรวมระวังในข้อผิดพลาดนั้นๆ
ทั้งยังเป็นโอกาสในการตักเตือนกันไม่ให้ทำผิดซ้ำๆในเรื่องเดิมอีก 

เมื่อแสดงอาบัติแล้ว
ก็ได้เวลาขึ้นฟังพระท่านสวดปาฏิโมกข์
โดยจะมีพระที่ทรงจำพระปาฏิโมกข์เป็นผู้สวด (ท่านสวดเร็วมาก ประมาณแร็พเลยครับ ^^”)
และมีอีกรูปที่สวดได้เช่นกัน เป็นผู้ฟังและตรวจสอบความถูกต้องจากคัมภีร์
เพื่อให้การสวดดังกล่าวเป็นไปเพื่อความถูกต้องทั้งด้านอรรถ และพยัญชนะ
 

การสวดปาฏิโมกข์นั้น เป็นการสวดข้อศีล ๒๒๗ ข้อนั่นเอง
โดยนัยหนึ่ง การปลงอาบัติก่อนลงอุโบสถถือเป็นการทบทวนตนเองของพระท่าน
คือมาทบทวนกันว่า ตนเองมีข้อบกพร่องผิดพลาดอันใดที่จะต้องสำรวมระวังหรือไม่
ส่วนการสวดปาฏิโมกข์เป็นการทบทวนว่าพระพุทธเจ้าอนุญาตสิ่งใดบ้าง และห้ามสิ่งใดบ้าง
 

อดคิดไม่ได้ว่า...
พระศาสดาเห็นความสำคัญของการทบทวนตนเองเช่นนี้
จึงกำหนดให้สาวกของพระองค์ฟังปาฏิโมกข์ทุกกึ่งเดือน
คุณผู้อ่านละครับ ทบทวนตัวเองครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ J
 

ปล. ช่วงหลังบวช จะไม่ค่อยมีรูปผู้เขียนนะครับ ตอนเป็นพระไม่ได้เอาโทรศัพท์มือถือไปใช้ แทบไม่มีรูปเลยครับ

         

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *