Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๗๕

"ในร่มกาสายะ"

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

ในร่มกาสายะ

ตอนที่ บันทึกพระฝึกหัด

คนเป็นหมอ ยังมีช่วง หมอฝึกหัด
คนเป็นครู สารพัด หัดฝึกสอน
เป็นดารา หัดท่องหมด บทละคร
คนเป็นพระ ไม่ฝึกก่อน ได้อย่างไร

เพื่อนๆเคยคิดไหมครับว่า
กว่าที่ลูกผู้ชายคนหนึ่งจะกลายเป็นพระที่ดีได้นั้น ต้องผ่านการฝึกฝนอะไรบ้าง
ครูบาอาจารย์ท่านสอนเคยผมไว้ว่า
เพศของพระนั้นเป็นเพศที่สูงมาก สูงขนาดที่ว่าแม้แต่พ่อแม่ก็ยังต้องยกมือไหว้

เขาไหว้อะไรในตัวเราเล่า เขาไหว้ศีลของเรานั่นแหละ
เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่เพิ่งจะบวชเข้ามาเป็นพระนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสมมติสงฆ์ทั้งสิ้น
คือเป็นผู้ที่เขาสมมติขึ้นว่าเป็นสงฆ์ ยังไม่ใช่สาวกแท้ๆของพระศาสดา
ด้วยเหตุว่าตัวคุณธรรมของพระแท้นั้น ยังไม่มีอยู่ในตน
จำจะต้องฝึกตนตามแนวทางของไตรสิกขา คือศีลสมาธิปัญญา
เรื่อยไปจนกว่าจะเป็นพระแท้ๆ
อาศัยศีลแท้ๆ คือความตั้งใจ ที่จะรักษาพระวินัยให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์
คือตั้งใจไว้ว่า จะรักษาพระวินัย
จะไม่ทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าห้าม จะทำเฉพาะสิ่งที่พระพุทธเจ้าอนุญาต

แต่ละคนที่เข้ามาบวชในพระศาสนานี้ ล้วนมีชาติต่างกัน
บ้างมาจากตระกูลสูง บ้างมาจากตระกูลต่ำ
บางได้ศึกษามามาก บ้างได้ศึกษามาน้อย


เหมือนดอกไม้ต่างชนิดกัน
ต่างกันโดยสีบ้าง ต่างกันโดยพันธุ์บ้าง
เมื่อมากองอยู่รวมกัน ได้อาศัยนายมาลากรผู้ฉลาด
ร้อยดอกไม้ต่างชนิดเข้าด้วยกันเป็นมาลัยงามน่าชมได้ฉันใด

กุลบุตรที่ต่างกันโดยชาติบ้าง ต่างกันโดยตระกูลบ้าง ต่างกันโดยการศึกษาบ้าง
ย่อมอยู่รวมกันได้เป็นระเบียบงดงามดี
ด้วยอาศัยพระธรรมวินัยศาสดาฉันนั้น
พระวินัยเป็นสิ่งสำคัญเช่นนี้เอง

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *


“ครูบา เห็นศึกษาพระวินัยอยู่ ครูบาท่องคำแสดงอาบัติ ได้หรือยังครับ” พระพี่เลี้ยงถามผมหลังจากงานบวชผ่านพ้นไปไม่นานนัก
เอาละซิครับ สมัยเป็นโยมผู้เขียนไม่เคยทราบเสียด้วยว่าพระท่านแสดงอาบัติกันอย่างไร

พระวินัยกับอาบัติ เป็นของคู่กัน
พระวินัยนั้น หากจะกล่าวให้เห็นภาพง่ายๆ ก็ต้องกล่าวว่าเหมือนกฎหมายนั่นเองครับ ผู้ที่ทำผิดกฎหมายย่อมได้รับโทษฉันใด ผู้ที่ทำผิดพระวินัยก็ต้องถูกปรับอาบัติฉันนั้น

อาบัติที่ผมระวังมาก เมื่อตอนเป็นพระนั้น คืออาบัติปาราชิก กับอาบัติสังฆาทิเสสครับ
อาบัติปาราชิกนั้น ทำให้ผู้ต้องอาบัติ ขาดจากความเป็นพระทันที เรียกว่าเหมือนโทษประหารชีวิต
ส่วนอาบัติสังฆาทิเสสนั้น ผู้ต้องอาบัติ ต้องอยู่ปริวาสกรรม เทียบได้กับเหมือนกับถูกจำคุก
อาบัติทั้งสองนี้จัดเป็นอาบัติหนัก ไม่อาจแก้ได้ด้วยการแสดงอาบัติ

ในที่นี้จะขอเล่าถึงอาบัติเล็กๆน้อยๆ ที่ฆราวาสน่าจะรู้ไว้ครับ
การศึกษาวินัยของพระจึงน่าจะเป็นเรื่องของชาวพุทธทุกคน ไม่ใช่เฉพาะพระ
คนที่เป็นพระแล้วทำผิดวินัย ก็เพราะตอนเป็นโยมไม่ศึกษา นี่แหละครับ

ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยมาก คือเวลาที่พระบิณฑบาต
เวลาตักบาตรเสร็จแล้วโยมมักจะนั่งลง รอให้พระ “ให้พร”
อันที่จริงบทที่เราคิดว่าท่านให้พรนั้น ท่านกำลังสอนนะครับ ท่านสอนว่า

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
(ธรรมสี่ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้ มีปกติอ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ เป็นนิตย์ฯ)

มีพระวินัยเขียนไว้เป็นทำนองว่า ห้ามภิกษุแสดงธรรมแก่คนไม่ป่วย นั่งอยู่
วัดที่ผู้เขียนบวช ครูบาอาจารย์ท่านใช้วิธีการไม่ให้พรอะไรทั้งสิ้น
โยมตักบาตรเสร็จ ท่านก็ปิดฝาบาตร เดินไปเลย
เป็นอันปลอดภัยจากอาบัติข้อนี้

ตอนเป็นพระ ผู้เขียนมีนิสัยประหลาดอย่างหนึ่งครับ
คือถ้าผ่านหมาแมว จะต้องเพ่งมองทุกครั้งว่าตัวผู้ หรือตัวเมีย

นั่นเป็นเพราะ มีพระวินัยข้อหนึ่งบอกว่า พระห้ามแตะต้องสัตว์ตัวเมีย
แต่โยมชอบเอาหมาแมวมาปล่อยที่วัด ^^”
พระหลายรูปท่านจึงจำเป็นต้องหลบหมาแมว บ้างก็จำใจตะเพิดไล่ตั้งแต่แรกเห็น
เพราะบางทีกว่าจะดูออกว่าหมาหรือแมว เจ้าตัวน้อยก็จู่ถึงตัวเสียแล้ว
เห็นหรือยังครับว่า
เรื่องวินัยพระนั้น ถ้าโยมได้ศึกษา ก็จะไม่พาพระผิดวินัย


* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

“เววัณณิยัมหิ อัชฌูปะคะโตติ, ปัพพะชิเตน อะภินหัง ปัจจะเวกขิตัพพัง”
(บรรพชิตควรพิจารณาเนื่อง ๆว่า บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะเราต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ)
เสียงสวดมนต์กังวานก้อง
ผมค่อยเปล่งเสียงบทสวดช้าๆ ทีละถ้อย ทีละถ้อย กระชับชัด
เสียงสวดมนต์จากพระเถรานุเถระราวยี่สิบรูป ประสานกับเสียงที่เปล่งผ่านลำคอของพระฝึกหัดรูปหนึ่งกังวานก้องไปทั่วทั้งพระอุโบสถ
เสียงแห่งคำก้องกระทบหูมากเท่าไร...ความตระหนักในเพศบรรพชิตยิ่งกระทบใจมากเท่านั้น


* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *