Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๗๔

"ในร่มกาสายะ"

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

ในร่มกาสายะ

ตอนที่ การบวชคือการเกิดใหม่

นอกจากการฝึกตนเองให้ชินกับกิจวัตรต่างๆในวัดป่า ดังที่เล่าให้ฟังไปในครั้งก่อนแล้ว การเตรียมตัว “เป็นพระ” ยังต้องฝึกอะไรอีกหลายอย่างเชียวครับ

เตรียมตัวบวช
ภารกิจอย่างหนึ่งของนาคทุกคนคือ การท่องคำขอบวชให้ได้
ดังที่ท่านอาจารย์บอกพวกผ้าขาวเราเสมอว่า การขอบวชนั้นจะต้องกล่าวคำขอบวชให้ได้ด้วยตนเองก่อน จึงจะบวชให้

การท่องคำข้อบวชจึงเป็นการบ้านข้อแรก สำหรับผ้าขาวอย่างผม

นิสัยในการท่องจำอย่างหนึ่งของผมคือ ถ้าไม่รู้ความหมายของสิ่งที่ท่องจำ ท่องนานแค่ไหนก็จำไม่ได้
ดังนั้นสิ่งแรกที่ผมทำ คือ ค้นคำแปลของคำขานนาคครับ

หลังจากหาคำแปลอยู่หลายวัน ในที่สุดก็พบคำแปลของคำขานนาคแบบเอสาหังที่ลิงค์นี้ เลยขออนุญาตแบ่งปันเอาไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่จะบวชต่อไปครับ

http://www.watbowon.com/schedual/bun/upasom_nak2.htm

ผ้าขาวที่กำลังจะบวชจะต้องซ้อมขานนาคในโบสถ์ทุกคืน เพื่อฝึกออกเสียงให้ถูกต้องตามสำเนียงมคธ ภาษา
ซึ่งออกเสียงพยัญชนะบางตัวต่างจากภาษาไทย เช่น พุทธัง อ่านเป็น บุดดัง เป็นต้น

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *
คืนก่อนบวช

สงัดจากเสียงของเมืองใหญ่ แว่วแต่เสียงหรีดหริ่งเรไรระงมอยู่ลิบๆ
จันทร์สีเหลืองนวล ค่อยลอยตัวสูงขึ้นช้าๆ

ยิ่งดึกสงัด ยิ่งเงียบสงัด

ผมตัดขาดจากเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดมาสองสัปดาห์แล้ว
ไม่มีโทรทัศน์
ไม่มีหนังสือพิมพ์
ไม่มีเสียงโทรศัพท์เคลื่อนที่
ไม่มีเสียงเตือนของเฟซบุ๊ก วอทแอ๊ป ไลน์
ไม่มีข่าวสาร
สำหรับมนุษย์ยุคเสพติดข่าวสาร การตัดสิ่งเหล่านี้ไปจากชีวิต เหมือนทำอะไรในชีวิตขาดหายไปอย่างหนึ่ง

ในโลกแสนวุ่นวายสับสน พวกเราส่วนใหญ่เอาแต่ฟังคนอื่นพูด ฟังเพื่อผลประโยชน์แห่งตน
ร้ายกว่านั้น คือเอาแต่เรียกร้องจะเป็นฝ่ายพูด
มีหูก็เหมือนไร้หู

กี่คนจะยอมวางความต้องการแห่งตนลง แล้วฟัง เพื่อจะ “ได้ยิน”เสียงของคนอื่นบ้าง
กี่คนจะ “ได้ยิน” เสียงของคนอื่นจริง
กี่คนจะ “ได้ยิน” เสียงจากหัวใจตนเอง

ณ เรือนว่างหลังน้อย...ผู้ชายคนหนึ่งได้เรียนรู้ว่า
สงัดจากเสียงนอกกายเท่าใด ยิ่งยินเสียงภายในกึกก้อง แจ่มชัดเท่านั้น

การบวช...ใยมิใช่การหัดฟังเสียงหัวใจตนเอง

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *
วันบวช : วันเกิดใหม่


วันนี้ผมตื่นตีสี่เหมือนเคย ขึ้นไปเปิดประตู และหน้าต่างโบสถ์ให้เรียบร้อย แล้วจึงลงมารอไหว้พระที่โรงฉัน เพื่อเตรียมตัวบวช

ya1-1

เมื่อพระกลับมาจากบิณฑบาตแล้ว ท่านจึงนำให้นาคกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ญาติโยมเตรียมใบบัวสำหรับใส่ผมที่ตัดแล้ว โดยจะนำใบบัวห่อผมไปลอยน้ำ

ya2-1

พระกรรมวาจาจารย์ ตัดผมให้ก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคลครับ

ya3-1

ถัดจากนั้น จึงเปิดโอกาสญาติผู้ใหญ่ทั้งหลายมีโอกาสได้ตัดผมนาคโดยทั่วถึงกัน
ตรงนี้มีเกร็ดเล็กๆน้อยๆครับว่า เวลาตัดผมให้นาคนั้น ควรตัดเยอะๆ ลึกๆถึงโคนผมเลยนะครับ
เวลาที่พระท่านโกนผมให้นาคในตอนท้ายจะได้โกนได้ง่ายหน่อย นาคจะได้ไม่เจ็บครับ

หลังจากนั้นพระก็จะปลงผมต่อจนเสร็จ สิ่งที่รู้สึกตอนนั้นคือหัวโล่ง เย็นสบายไปหมดเลยล่ะครับ

ya4-1

ya5-1

เมื่อแต่งตัวในชุดนาคเรียบร้อยแล้ว ก็กลับไปให้พระกรรมวาจาจารย์สวมมงคลให้อีกครั้ง

หลังจากเปลี่ยนเป็นชุดนาคเต็มยศแล้ว จึงเตรียมเข้าสู่การเดินทำประทักษิณ
(หรือการเดินเวียนขวาเพื่อแสดงความเคารพอย่างสูง) รอบพระอุโบสถ
โดยช่วงการทำประทักษิณก่อนเข้าสู่พิธีอุปสมบทนี้ เป็นช่วงเวลาที่เปิดโอกาสให้นาคได้มีโอกาสทำสมาธิ ก่อนที่จะเข้าไปทำพิธีบรรพชาอุปสมบทในบริเวณพระอุโบสถ ถึงแม้อย่างนั้นผมก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเมื่อทำพิธีจริง แอบคิดในใจบอกตัวเองดังๆว่า “ตื่นเต้นรู้ว่าตื่นเต้น” แต่ดูหน้านาคในรูปแล้วดูไม่ตื่นเต้นใช่ไหมครับ (ฮา)

ya6-1

วันนั้น คนที่เป็นนาคต้องเดินประนมมือ มีดอกไม้ที่เตรียมไว้อยู่ในมือเดินทำประทักษิณเวียนขวารอบอุโบสถ ๓ รอบ โดยมีบิดาซึ่งจะสะพายบาตร ส่วนมารดาจะถือพานแว่นฟ้าสำหรับใส่ผ้าไตรครองเดินตามหลังนาค แถวถัดมาเป็นธูปเทียนแพ เครื่องไทยทานสำหรับพระอุปัชฌายะและพระคู่สวด และเครื่องบริขารอย่างอื่นครับ

ya7-1

เมื่อเดินครบ ๓ รอบแล้ว นาคต้องวันทาสีมาหน้าอุโบสถก่อนเข้าไปในเขตสีมา จากนั้นจึงกราบสีมา ๓ ครั้ง แล้วยืนขึ้นกล่าวคำวันทาสีมา นั่งคุกเข่ากราบอีก ๓ ครั้ง แล้วจึงขึ้นยังพระอุโบสถ

ya8-1

ya9-1

จากนั้นเป็นการโปรยทานของนาค โดยถือเคล็ดว่าให้หันหลังคือเป็นการทำบุญโดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าใครจะเป็นผู้รับ ถ้าคิดดีๆแล้วอันนี้ก็น่าจะเป็นกุศโลบายให้ผู้ที่จะบวชหัดให้ทานโดยไม่เจาะจง อันเป็นพื้นฐานของการแผ่เมตตาจิต ซึ่งจะทำให้ใจเกิดสมาธิได้ง่ายด้วยครับ

ya10-1

หลังจากโปรยทานเสร็จแล้ว จึงเข้าไปในโบสถ์เพื่อกล่าวคำขอบวช จากนั้นพระอุปัชฌายะ จะรับผ้าไตรจีวรจากนาคมาวางไว้ตรงหน้าตัก แล้วให้รู้จักประโยชน์แห่งการบวช รวมทั้งบอกตจปัญจกรรมัฏฐาน คือการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไล่ขึ้นไล่ลงในกาย
ท่านเมตตาสอนให้ว่า ว่าถ้าพิจารณาเป็นปฏิกูล อสุภะ ก็เป็นสมถะ ข่มราคะได้
ถ้าพิจารณาจนเห็นไตรลักษณ์ของกาย ก็เป็นการทำวิปัสสนา เกิดปัญญาได้

เมื่อรับกรรมฐานจากท่านแล้ว พระอุปัชฌายะจึงสวมอังสะให้ และให้ไปครองผ้าไตรจีวร เป็นสามเณรรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ตรงนี้น่าสังเกตว่า ผู้ที่บวชนั้น จะบวชเป็นสามเณรก็ดี หรือบวชเป็นภิกษุก็ดี หากยังไม่รู้กรรมฐาน จะครองผ้าจีวรไม่ได้

เมื่อเป็นสามเณรแล้ว พระกรรมวาจาจารย์จึงบอกศีล ๑๐ ให้แก่สามเณร
ถัดจากนั้น สามเณรพึงรับบาตรเข้าไปหาพระอุปัชฌายะในสงฆสันนิบาต วางไว้ข้างตัวด้านซ้าย รับเครื่องสักการะถวายท่านแล้วกราบลง ๓ หน นั่งคุกเข่าประณมมือ กล่าวคำขอนิสัยจากพระอุปัชฌายะ

ในคำขอบวชนั้นมีอยู่วรรคหนึ่งที่นาคต้องกล่าวต่อจากคำขอนิสสัยจากพระอุปัชฌายะที่ว่า
อัชชะตัคฺเคทานิ เถโร มัยหัง ภาโร, อหัมปิ เถรัสสะ ภาโร
(ตั้งแต่วันนี้ไป พระเถระย่อมเป็นภาระของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าย่อมเป็นภาระของพระเถระ)

ตอนนั้นใจก็ตระหนักขึ้นมาอีกครั้งว่า

‘นี่เป็นการฝากเป็นฝากตาย ฝากชีวิตไว้กับท่านอาจารย์อย่างแท้จริง’

ถัดจากการบรรพชาเป็นสามเณร ก็เป็นขั้นตอนที่สงฆ์ทำอุปสมบทกรรม ยกสามเณรให้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และในกรรมวาจาจารย์ ที่จะสวดประกาศในสงฆสันนิบาต จะต้องออกชื่อผู้ขอบวชและชื่อพระอุปัชฌายะ ในมคธภาษาด้วย

เวลาบวชจะต้องมีพระอุปัชฌายะทำหน้าที่เป็นประธานในการบวชมีพระนั่งเป็นพยานตั้งแต่สิบรูปขึ้นไป มีพระอีกสองรูป ทำหน้าที่ซักถามคุณสมบัติและสวด "ญัตติ" (ข้อเสนอ) ขออนุญาตให้นาค ให้สงฆ์ทำหน้าที่บวชให้ เพราะได้สอบคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านพระสองรูปนั้นก็จะสวด "กรรมวาจา" (คำสวดสำหรับทำพิธีบวช) สวดกรรมวาจาจบก็ถือว่าเสร็จพิธี การบวชนี้เรียกว่า "ญัตติจตุตถกรรมวาจาอุปสัมปทา" (การอุปสมบทด้วยกรรมวาจาสามครั้ง รวมกับญัตติหนึ่งครั้งเป็นสี่)
พระที่สวดทำพิธีอุปสมบทนั้นแหละครับเรียกว่า กรรมวาจาจารย์หรือพระ "คู่สวด" ในกรณีมีสองรูปเมื่อบวชเสร็จแล้ว อีกรูปหนึ่งจะมาทำหน้าที่สอนพระบวชใหม่ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง รูปนี้เรียกว่า "อนุสาวนาจารย์”

ya11-1
ในลำดับนั้น พระอาจารย์ผู้จะสวดกรรมวาจา พึงเอาบาตรมีสายโยคคล้องตัวอุปสัมปทาเปกขะ สะพาแล่งทางบ่าซ้าย ยังตัวบาตรให้อยู่ตรงหลัง แล้วบอกบาตร จีวร บริขารต่างๆ ให้จำชื่อในภาษาบาลีไว้

ya12-1

จากนั้น เมื่อเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ถึงพิธีฉลองพระใหม่ ด้วยการตักบาตรอาหารคาวหวานครับ นัยว่าพระใหม่ได้บิณฑบาตแล้ว จึงสามารถฉันอาหารได้ (ธรรมเนียมพระที่นี่ หากไม่ได้อาพาธ แล้วไม่บิณฑบาต แสดงว่าไม่ต้องการฉันอาหารในวันนั้นครับ)

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *


หลังจากทุกคนกลับไปหมดแล้ว
“ใจ” รู้สึกขึ้นมาจริงๆว่า

‘ต่อจากนี้เราจะเป็นผู้ไม่มีเรือน’
‘ต่อจากนี้เราจะอยู่ในกรอบของพระวินัย’
‘ต่อจากนี้ไป เราจะมีงานหลักคือ การภาวนา’

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *