Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๗๓

"ในร่มกาสายะ"

wilasinee2
โดย วิลาศินี
 

 

ห่างหายไป 1 ตอน ยารักษาใจกลับมาพร้อมกับบทความจากบก.ของผู้เขียนเองค่ะ เจ้าตัวหายหน้าหายตาไปนานพอสมควร แต่เป็นการห่างหายที่น่าอนุโมทนา เพราะหายไปบวชที่วัดในบ้านเกิด ดังนั้นผู้เขียนจึงเรียนเชิญบก. ให้จับปากกามาเขียนเรื่องเล่าเองบ้าง

เรื่องราวอีก 6 ตอนต่อไปนี้ จึงเป็นเรื่องเล่าตั้งยังเป็นผ้าขาว จนถึงบวชเป็นพระของคุณจีรณัทย์ วิมุตติสุข ซึ่งหวังว่าจะสร้างกุศลให้เกิดกับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อยค่ะ :-)

...
...
...

ในร่มกาสายะ

ตอนที่ เรื่องเล่าของผ้าขาว

“ไปบวชมาเป็นยังไงบ้างทิด”

“ไหนบวชมาแล้ว ได้อะไรบ้าง เล่าให้ฟังหน่อย”

“ผอมลงไปนี่ น้ำหนักลดลงไปเท่าไหร่ละ”

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามยอดนิยมที่ผมมักจะได้รับอยู่เสมอจากหมู่เพื่อน แต่สารภาพกันตรงๆครับว่าตอบอย่างไรก็คงถ่ายทอดความรู้สึกได้ไม่เท่ากับที่รู้สึกแน่ๆ

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

วัดประชาสันติ ที่ผมมีโอกาสไปบวชเป็นวัดเล็กๆ ใจกลางเมืองพังงา แต่คิดอีกที การกล่าวว่าเป็นวัดกลางเมืองนั้น แม้ไม่ผิดเสียทีเดียวก็อาจไม่ถูกต้องนักในความรู้สึกของผม ทำไมนะหรือครับ ก็วัดประชาสันติแห่งนี้ แม้จะตั้งอยู่ใจกลางเมืองก็จริงแต่ก็ล้อมรอบไปด้วยป่า เรียกว่าเป็นวัดป่าใจกลางเมืองคงเหมาะที่สุด

 heal-173 

วัดแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในครั้งที่พระกรรมฐานในสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตนำโดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้เดินทางมาอบรมศีลธรรมให้ญาติโยมทางภาคใต้แถบจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่  หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ได้เดินธุดงค์มาทางอำเภอเมือง จากนั้นจึงได้รับศรัทธาญาติโยมนิมนต์มารับบิณฑบาตในตลาดพังงา และในครั้งนั้น ญาติโยมก็ได้สร้างกุฏิที่พักชั่วคราวให้บริเวณถ้ำหลักเมืองพังงาให้ท่านได้พัก และก็ได้แสดงธรรมแก่ญาติโยมเรื่อยมา ท่านอยู่บริเวณนั้นได้ระยะหนึ่งจึงพิจารณาเห็นว่าที่ตรงนี้ไม่เหมาะสมกับการตั้งวัด ทางญาติโยมมีความเห็นว่าที่ดินบริเวณวิทยาลัยเทคนิคพังงาเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การสร้างวัด เจ้าของที่ดินก็ยินดีที่จะยกที่ดินให้สร้างวัด หลวงปู่เหรียญจึงได้นำพระเณรมาช่วยกันสร้างเสนาสนะในวัด ได้ลงความเห็นกันตั้งชื่อวัดว่า วัดประชาสันติ

ที่วัดแห่งนี้มีระเบียบแบบแผนตามอย่างวัดป่าพระกรรมฐาน คือผู้ที่จะบวชต้องมาเป็น “ผ้าขาว”เรามาทำความรู้จักไปพร้อมๆกันดีไหมครับว่า ผู้ที่เป็นผ้าขาวนั้นคืออะไร เขาต้องเป็นกันนานแค่ไหน และในแต่ละวันผ้าขาวต้องทำอะไรบ้าง

ผ้าขาว” นั้น ถ้าจะอธิบายง่ายๆก็คือ คนที่ตั้งใจจะมาฝึกกายฝึกใจเพื่อเตรียมพร้อมที่จะเป็นพระที่ดีนั่นเองครับ ท่านอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อน กุลบุตรที่จะเข้ามาบวชจะต้องนุ่งขาวห่มขาว และปลงผมก่อนทุกคน

การปลงผมนี้ทางฝ่ายพระกรรมฐานท่านถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อปลงผมแล้วก็เป็นการเตือนตนเองว่าตนเป็นผู้เตรียมตัวที่จะประพฤติอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย ทั้งยังได้ทบทวนตนเองว่า เราเข้ามาอยู่ตรงนี้ เพื่ออะไร การประพฤติปฏิบัติของพวกเรานี่ เพื่อเลิกลดละอะไร เป็นโอกาสที่จะได้มาทำความรู้จักตัวเองให้มากยิ่งขึ้น

ทำไมจึงกล่าวว่าการปลงผมช่วยให้ทบทวนตัวเองได้ง่ายขึ้น เหตุผลหนึ่งก็เพราะบุคคลผู้ที่ปลงผมจะบวชนี่ได้ชื่อว่าเปลี่ยนสถานะจากฆราวาสเป็นตาปะขาว คำนำหน้าชื่อก็เปลี่ยนจากนายเป็นผ้าขาว ชุดที่เราสวมใส่ก็เปลี่ยนจากชุดที่มีสีสันสดใสมาเป็นชุดขาว อันเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาดบริสุทธิ์ บางครั้งเราก็เรียกคนเหล่านี้ว่า นาค

เรื่องชื่อเรียกผู้ที่เตรียมตัวจะบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนานี้ปรากฏใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ความว่า

สมัยหนึ่ง นาคตนหนึ่งเกิดระอิดระอาในกำเนิดนาค จึงคิดจะมาบวชในพระธรรมวินัยเพราะคิดว่าจะช่วยให้ได้เกิดเป็นมนุษย์เร็วขึ้น นาคจึงได้แปลงกายเป็นมาณพหนุ่ม เข้าไปขอบรรพชาอุปสมบทกับภิกษุ เป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา

มาเกิดเรื่องขึ้นตอนที่พระนาคจำวัดนี่แหละครับ ธรรมดานาคจะคืนร่างเป็นงูใหญ่ในสองโอกาส คือขณะเสพเมถุนและนอนหลับ เมื่อพระนาคจำวัดนั้น มีภิกษุมาเห็นในสภาพงูใหญ่จึงตกใจ นำเรื่องขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าจึงประทานโอวาทว่า นาคนั้นมีความไม่งอกงามในพระธรรมวินัยเป็นธรรมดา ให้รักษาศีลอุโบสถนั่นแหละ จะเป็นทางไปสู่กำเนิดมนุษย์ได้เร็วขึ้น

จากนั้นจึงทรงห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์มาบรรพชาอุปสมบทเป้นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา อันเป็นที่มาของการถามกุลบุตรที่จะบรรพชาอุปสมบทว่า “มนุสโสสิ”(เจ้าเป็นมนุษย์หรือไม่)

เห็นไหมครับว่าการเป็นมนุษย์ที่พบพระพุทธศาสนา มีค่าขนาดไหน ขนาดนาคมีฤทธิ์ยังไม่อาจเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยได้เหมือนมนุษย์เลยนะครับ

อีกนัยหนึ่งคำว่านาคนี้ ท่านว่ามาจากคำว่า อนาคาริยะ คือผู้ไม่มีเรือน หมายถึงบุคคลที่ออกจากบ้านมาเป็นคนไม่มีบ้าน ที่ว่าไม่มีบ้านนั้นเพราะตั้งใจจะทำความดีละความชั่วทุกอย่าง ทิ้งความเคยชินแบบเดิมๆเพื่อให้เป็นพระที่ดี

ที่วัดแห่งนี้มีกติกาว่าผู้ที่จะบวชจะต้องมาเป็นผ้าขาวเพื่อฝึกตนอยู่ที่วัดก่อน 7วันบ้าง 15 วันบ้าง หากบางคนกิริยามารยาทยังไม่เรียบร้อย เช่น ยังนั่งแกว่งขา ห้อยขา เดินทำมือคว้าอากาศ เอามือรูดไปไม้ก็จะต้องฝึกฝนตนเองต่อไป ครูบาอาจารย์ถึงจะยอมให้บวชได้ นับว่าการเป็นผ้าขาวนี้เป็นวิธีการกลั่นกรองผู้ที่จะมาบวชเป็นพระ ให้พร้อมที่จะเป็นพระทั้งกายและใจนั่นเอง

 

แม้ในสมัยนี้การเป็นผ้าขาวจะไม่ต้องปลงผมเหมือนในสมัยก่อนแล้ว แต่ก็ยังต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดจนต้องปฏิบัติครูบาอาจารย์ผู้ที่เราจะมาพักพิงด้วย เพื่อสร้างความคุ้นเคย อันจะทำให้ผ้าขาวได้รับการถ่ายเทอุปนิสัยตลอดจนกิริยามารยาทจากครูบาอาจารย์ จนกว่าจะพร้อมจริงๆถึงจะบวชเป็นพระได้

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *

 

อ่านมาถึงตรงนี้พวกเราหลายคนคงเริ่มสงสัยว่า ข้อวัตรปฏิบัติของคนที่เป็นผ้าขาว เขาทำอะไรกันบ้าง

เริ่มตั้งแต่เช้า ราวตีสี่ ผ้าขาวจะต้องตื่นมาปัดกวาดเช็ดถูโรงฉัน เช่นเดียวกับพระ (นั่นหมายความว่าตีสามนิดๆต้องตื่นนอนแล้ว ตอนแรกผมก็กังวลว่าจะตื่นไม่ทัน เพราะตอนเป็นนอนอยู่ที่บ้าน ตีสามนี่กำลังหลับสบายอยู่ทีเดียว)แต่เอาเข้าจริงก็ตื่นทันครับ เพราะตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ กลายเป็นว่าแทบไม่ได้นอนทั้งคืน

ถัดจากนั้นก็เตรียมน้ำสบู่สำหรับล้างเท้าและผ้าเช็ดเท้าท่านอาจารย์ ไว้รอท่านอาจารย์เมื่อกลับจากการบิณฑบาต ราวหกโมงเช้า ท่านอาจารย์ก็กลับถึงวัด ผมยังยังจำได้ดีว่าครั้งแรกที่ล้างเท้าท่านอาจารย์นั้นตื่นเต้นและทำได้ไม่ดีนัก คือผสมน้ำสบู่ไว้จางเกินไป แต่ท่านอาจารย์ก็เพียงแค่ยิ้มน้อยๆเท่านั้น

จากนั้นเจ็ดโมงเช้าผ้าขาวจะต้องขึ้นไปเปิดประตูหน้าต่างพระอุโบสถให้เรียบร้อย รอพระขึ้นมาทำวัตรเช้าเจ็ดโมงครึ่ง เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้ว จึงจะลงไปที่หอฉันราวเก้าโมงครึ่ง

สำหรับผมการหัดฉันข้าวตอนเป็นผ้าขาวเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อย เพราะผ้าขาวไม่ได้กินข้าวในจานเหมือนฆราวาสทั่วไป แต่ต้องหัดฉันข้าวในกะละมัง โดยตักกับข้าวลงไปในกะละมังประหนึ่งว่ากะละมังคือบาตร กล่าวได้ว่าถ้าพระมีบาตรไว้ใส่อาหาร ผ้าขาวก็มีกะละมังกับถาดเป็นภาชนะใส่อาหารเช่นกัน

และเนื่องจากที่วัดฉันข้าวแค่มื้อเดียวผมจึงลองกะปริมาณอาหารที่ตักลงกะละมังให้มากหน่อยในวันแรก เพราะกลัวหิว ผลปรากฏว่าพอตกเที่ยง หนังตาก็หย่อนอย่างมีนัยสำคัญ จนลุกขึ้นมาเดินจงกรมไม่ทันทีเดียว

 heal173

บ่ายสามเป็นเวลากวาดลานวัด เป็นเวลาทำความสะอาดกุฏิและวัด ทั้งยังเป็นโอกาสในการภาวนาแบบขยับตัวเคลื่อนไหวด้วย

จากนั้นก็ไปทำธุระส่วนตัว ราวหนึ่งทุ่มก็ขึ้นไปเปิดประตูหน้าต่างพระอุโบสถให้เรียบร้อย รอพระขึ้นมาทำวัตรเย็น จากนั้นก็เป็นเวลาแยกกันไปภาวนาก่อนจะจำวัด

นับว่าเป็นการเตรียมตัวเป็นพระที่ได้อะไรเยอะทีเดียว ตอนต่อไปลองติดตามกันนะครับว่า เมื่อเป็นพระแล้วเจออะไรมากกว่าเป็นผ้าขาวขนาดไหน

 

* •..,..,..• * * •..,..,..• * * •..,..,..• ** •..,..,..• *