Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๔๐

นิทานคั่นเวลา ตอน "ราชสีห์กับเสือโคร่ง"

wilasinee2โดย วิลาศินี




heal-140
ขอบคุณภาพจาก http://mesosyn.com/animal-A.html
...
...
...

หมายเหตุผู้เขียน:
Tear’s series หลายๆ ตอนที่ผ่านมา สร้างภาวะตึงเครียดให้กับผู้เขียนพอสมควร เพราะแต่ละเรื่องเต็มไปด้วยความหนักหน่วงและกดดัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องทำการคลี่คลายปมปัญหาทั้งหลายให้จบได้ภายในตอนเดียว พร้อมกันนั้น เสียงตัดพ้อต่อว่า ชนิดที่ไม่กล้าเข้ามาอ่านก็ดังเข้ามาเป็นระยะ วันนี้จึงขอนำนิทานชาดกมาเล่าคั่นเวลานะคะ ผ่อนจังหวะหนักหน่วงให้คนเขียนหนึ่งทาง และอีกหนึ่งทางคือหันมาเอาใจคนอ่านที่ชอบเรื่องน่ารักๆด้วย

แล้วฉบับหน้า เรื่องชุดนองน้ำตาค่อยกลับมาฉายต่อค่ะ ^___^

...
...
...



กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในป่าแห่งหนึ่ง ที่ร่มรื่นและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ และสรรพสัตว์ได้เข้ามาพึ่งพิงอาศัย ป่าแห่งนี้มีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล และถูกปกครองด้วยราชสีห์กับเสือโคร่งผู้เป็นเจ้าป่า ทั้งสองพักอยู่ร่วมกันในถ้ำอันไกลโพ้นของป่านั้น ว่ากันว่า เจ้าป่าทั้งสองไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันเลย ต่างก็สนิทสนมรักใคร่เป็นมิตรที่ดีต่อกันมาเป็นเวลานาน

แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมพลัดหลงเข้ามาในป่า มันคือสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่ง ร่างกายของมันผ่ายผอมและหิวโซ ซมซานเข้าไปขออาสาคอยรับใช้ราชสีห์และเสือโคร่ง เสือโคร่งมองดูเจ้าสุนัขจิ้งจอกแล้วไม่เอ่ยคำใด ส่วนพญาราชสีห์โยนซากสัตว์ให้ เจ้าสุนัขจิ้งจอกรีบตะครุบแล้วกัดกินด้วยความตะกละตะกราม

แล้ววันต่อมา มันก็ได้กินซากสัตว์จากพญาเสือโคร่งบ้าง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเช่นนี้ เจ้าสุนัขจิ้งจอกได้กินซากสัตว์จากพญาราชสีห์และเสือโคร่งทั้งสองเสมอมา จนกระทั่งสุนัขจิ้งจอกมีร่างกายสมบูรณ์ใหญ่โต เพราะได้กินเนื้อสัตว์นานาชนิดมากมาย แต่แล้ววันหนึ่ง มันก็เกิดความโลภ คิดจะรับประทานเนื้อของราชสีห์กับเสือโคร่งขึ้นมา

‘ไม่น่า... อย่าคิดบ้าๆ’
มันบอกตัวเองด้วยรู้ดีว่าพละกำลังของตนไม่มีทางจะเอาชนะเจ้าป่าทั้งสองตัวนี้ได้แน่

‘เออ... แต่ถ้ามันทะเลาะกันเองล่ะ’
ความคิดเจ้าเล่ห์เพทุบายแต่เต็มไปด้วยความชั่วร้ายผุดขึ้นมาแล้ว ทั้งยังไม่มีทางจะสลัดออกได้ สุนัขจิ้งจอกจึงออกอุบายเพื่อจะให้เจ้าป่าสองตัวฆ่ากันเอง เริ่มต้นก็เข้าไปหาราชสีห์ เอ่ยยั่วยุว่า

"นายท่านไปมีเวรเกลียดชังอะไรกับพญาเสือโคร่งหรือขอรับ"
มันเอ่ยด้วยเสียงแหลมเล็กและขลาดกลัว

“ทำไมหรือ”
ราชสีห์ตั้งคำถามด้วยกิริยาอาการสงบนิ่ง
"ปัดโธ๊ นายท่าน ไม่สังเกตเลยเหรอขอรับ ว่าพญาเสือโคร่งน่ะ เขม่นท่านมาตลอดเวลา ข้าน่ะได้ยินมาเต็มสองหูเลยว่าราชสีห์น่ะนะ ตัวเล็กกว่าเรา ผิวหยาบกว่าเรา แล้วยังเป็นสัตว์ที่ด้อยกว่า อะไรอย่างนี้แหละขอรับ"
เจ้าสุนัขจิ้งจอกเริ่มกรีดเสียงแหลมยืดยาวเพื่อเป่าหู แต่ราชสีห์กลับตอบมาคำเดียวว่า

“อืม...”
"ว่าอย่างไรขอรับ โกรธไหมขอรับ ไปกัดกันเลยไหมขอรับ"
มันเริ่มเขม่นตาถามอย่างอดรนทนไม่ได้
“ไปซะ เจ้าหมาจิ้งจอก เพื่อนเราไม่กล่าวอย่างนี้แน่นอน”
ราชสีห์ยืดอกขึ้นแล้วผละออกไปด้วยอาการสงบนิ่งเช่นเดิม ขณะที่ฝ่ายร้อนรนกลับกลายเป็นสุนัขจิ้งจองผู้ชั่วร้าย มันหันไปล่อลวงพญาเสือโคร่งบ้างด้วยประโยคเดียวกัน
ฝ่ายพญาเสือโคร่งได้ฟังดังนั้น ใคร่ตรวจสอบที่มาที่ไปให้แน่ชัดจึงเข้าไปถามพญาราชสีห์แล้วสอบถามว่า

"เพื่อนเอ๋ย จริงหรือที่ท่านกล่าวว่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ด้อยกว่าราชสีห์ เพราะราชสีห์นั้นเหนือกว่าทั้งแผงขนอันงดงามและเสียงคำรามที่ยิ่งใหญ่ เสือโคร่งแม้จะมีความว่องไวปราดเปรียวแต่ก็มิอาจเทียบทานได้ วันหนึ่งท่านจึงคิดใคร่จะต่อสู้กับข้าพเจ้าดู”

ราชสีห์ฟังแล้ว ก็กล่าวตอบด้วยอาการสงบแต่หนักแน่นจริงจังว่า

"เพื่อนเอ๋ย คำกล่าวนั้นไม่เคยออกจากปากเราเป็นแน่ ส่วนท่านได้ยินมาจากผู้ใดนั้น จงพิจารณาเอาเถิด บุคคลใดที่มองหาช่องทางให้มิตรแตกคอกัน บุคคลนั้นไม่ใช่มิตร แต่บุคคลใดแม้มีผู้มายุให้แตกแยกกันไม่ได้ และเป็นผู้ไม่รังเกียจสงสัยในมิตร ย่อมนอนเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย บุคคลผู้นั้นเป็นมิตรแท้”

เมื่อราชสีห์กล่าวคุณของมิตร และโทษของการหูเบาเชื่อง่ายแล้ว เสือโคร่งก็ได้สติรู้ตัว หายระแวงแคลงใจ จึงทำอาการคารวะแก่ราชสีห์เพื่อขอขมา ราชสีห์ก็มิได้ถือโทษเสือโคร่งแต่อย่างใด มิพักต้องสงสัย สัตว์ทั้งสองอยู่กันอย่างเป็นสุขต่อมาอีกจนชั่วอายุขัย ส่วนสุนัขจิ้งจอกเมื่อเห็นว่าอุบายของตนไม่ได้ผล ก็แอบหนีไปที่อื่นและไม่กล้ากลับไปยังป่านั้นอีกเลย

พญาเสือโคร่งในครั้งนั้น เมื่อถึงครั้งพุทธกาล ก็ได้เกิดเป็นพระโมคคัลลานะ ส่วนพญาราชสีห์ ก็ได้เกิดเป็นพระสารีบุตร ส่วนสุนัขจิ้งจอกเกิดเป็นภิกษุนิสัยเสีย

นิทานเรื่องนี้สอนให้เห็นโทษของการพูดส่อเสียดและการพูดยุยงให้คนแตกแยกกัน ซึ่งผลสุดท้ายทำให้ตนเองเดือดร้อนเพราะถูกรังเกียจและไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วยเลยทีเดียว ส่วนพุทธบริษัททั้งหลายอันมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนั้น ย่อมจะต้องมีจิตใจมั่นคงเด็ดเดี่ยว ไม่หวั่นไหวเพราะคำยุแยงหรือติฉินนินทานั่นเอง.