Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๓๑

ความดีใต้ต้นละหุ่ง

wilasinee โดย วิลาศินี



ธรรมดาถิ่นใดไร้นักปราชญ์
ณ ถิ่นนั้นผู้มีปัญญาแต่เล็กน้อยมักยอตัวว่าเลิศ
เปรียบเหมือนในดินแดนอันไร้รุกขชาติ
ชั้นแต่ต้น ละหุ่ง ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นไม้ใหญ่

หิโตปเทศ (เสฐียรโกเศศ นาคะประทีป)

heal-131

ด้วยสำนวนที่เฉียบคมและตรงไปตรงมาของ หิโตปเทศ ละหุ่งกลายเป็นพืชที่นำมาใช้เปรียบเทียบกับความเย่อหยิ่งและยกยอตนเองอย่างสำคัญผิด เนื่องด้วยตั้งแต่ครั้งโบราณ ต้นละหุ่งก็พบได้ทั่วไปโดยปกติวิสัย และลักษณะสัณฐานของเจ้าไม้ต้นนี้ ก็เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อย่างไรก็ไม่สามารถเติบโตแข่งกับไม้ใหญ่ได้ เว้นแต่ว่าบริเวณนั้นจะไม่มีรุกขชาติหรือต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์เลย ละหุ่งก็อาจกลายเป็นไม้ใหญ่ เช่นเดียวกับสังคมใดที่ไร้นักปราชญ์ คนที่มีความรู้งูๆ ปลาๆ บ้าง ก็สามารถยกยอตนเองว่าเป็นเลิศได้ นับว่าเป็นต้นไม้ที่ไม่ค่อยเข้าตากรรมการมาตั้งแต่แรกเห็นเลยทีเดียว

สำทับด้วยตำราชั้นเก่ากว่านั้น อันตชาดก ยังมีอรรถกถาอธิบายสิ่งเลวร้ายที่สุด 3 หมวดเอาไว้ว่า บรรดามฤคชาติ(สัตว์ป่า)ทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกเป็นสัตว์เลวที่สุด บรรดาปักษี(นก)ทั้งหลาย กาเป็นสัตว์ที่เลวที่สุด และบรรดารุกขชาติ(พืช) ทั้งหลาย ต้นละหุ่ง ก็เป็นต้นไม้ที่เลวที่สุด

หมดกัน... ไม่มีอะไรดีเอาเสียเลย คุณผู้อ่านบางท่านอาจกำลังนิ่งนึกอยู่ในใจ หากแต่นิทานในวันนี้ ไม่ใช่เนื้อความของหิโตปเทศหรืออันตชาดกแต่อย่างใดค่ะ ผู้เขียนกำลังจะนำเรื่องกุณฑกปูวชาดก มาเล่าสู่กันฟังต่างหาก

ชาดกเรื่องนี้ มีที่มาจากการที่ชายยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง ได้เห็นผู้คนนำภัตตาหารเข้าไปถวายแด่พระพุทธเจ้าแล้วเกิดความศรัทธา และปรารถนาที่จะถวายทานอันเลิศ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าบ้าง แต่เขาไม่มีอาหารอันประณีตเพียงพอที่จะนำไปถวาย ได้แต่นำรำข้าวมาผสมน้ำ ห่อด้วยใบรัก เผาในกองเถ้า แล้วนำไปใส่บาตรถวายพระพุทธเจ้าด้วยความศรัทธา พระพุทธองค์ทรงรับรำข้าวในห่อใบรักนั้นมาเสวยโดยไม่ได้ทรงทำความรังเกียจในอาหารชั้นเลวเลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม กลับทรงเสวยราวกับเป็นของอมฤตชนิดหนึ่ง

ประชาชนทั่วไปได้ทราบดังนั้น ต่างก็พากันไปขอแบ่งส่วนบุญจากชายยากจนด้วยการมอบเงินให้เพื่อแลกกับส่วนบุญที่ชายยากจนได้รับจากการถวายทานอันเลิศ แม้แต่พระราชา ก็พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้กับชายยากจนคนนั้น

วันหนึ่ง เหล่าภิกษุทั้งหลาย ได้ตั้งวงสนทนากันว่า

ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงรังเกียจขนมรำที่ชายมหาทุคตะ (คนยากจน) ถวายเลย แต่กลับทรงเสวยเหมือนเสวยของอมฤต ฝ่ายมหาทุคตบุรุษเล่าก็ได้ทรัพย์ไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งตำแหน่งเศรษฐีอีกด้วย

ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมาถึง เมื่อทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตไม่รังเกียจอาหารของคนยาก แม้ในอดีต เคยมีรุกขเทวดาบริโภคอาหารของคนยากจนและทำให้เขาร่ำรวยมาแล้ว

จากนั้น จึงตรัสแสดง กุณฑกปูวชาดก อันมีเนื้อความดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล มนุษย์ทั้งหลาย ต่างพากันเคารพนับถือและบวงสรวงรุกขเทวดา หรือเทวดาประจำต้นไม้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว บรรดาเศรษฐีทั้งหลายต่างก็มีต้นไม้ใหญ่ และบูชารุกขเทวดาของตนกันอยู่

ในกาลครั้งนั้น ชายเข็ญใจคนหนึ่ง ก็ได้ยึดถือเอาต้นละหุ่งต้นหนึ่งเป็นที่บวงสรวงรุกขเทวดา ต่อมา เมื่อมีงานมหรสพ บรรดาผู้คนทั้งหลายก็นำของบูชาทั้งหลายอันประณีตบรรจงไปบวงสรวงแก่รุกขเทวดาประจำต้นไม้ต่างๆ ส่วนชายเข็ญใจผู้นี้มีเพียงขนมรำกับกระบวยใส่น้ำ เขาถือมาหยุดยืนอยู่ไม่ไกลต้นละหุ่งแล้วคิดว่า ธรรมดาว่าเทวดาย่อมเสวยแต่อาหารทิพย์ ท่านคงไม่เสวยขนมรำของเราเป็นแน่ คิดดังนั้นแล้วจึงได้บ่ายหน้ากลับบ้านของตน

ทันใดนั้น รุกเทวดาตนหนึ่งก็ได้ปรากฏกายออกมาจากต้นละหุ่งและกล่าวว่า

บุรุษผู้เจริญ หากตัวท่านเป็นคนใหญ่โต ก็สมควรที่จะต้องให้ของขบเคี้ยวที่อร่อยแก่เรา แต่ตัวท่านเป็นคนทุคตะเข็ญใจ หากเราไม่กินขนมของท่านแล้วจักไปกินขนมของคนอื่นได้อย่างไรกัน คนเขากินกันอย่างไร เทวดาของคนก็กินอย่างนั้น ท่านจงเอาขนมรำนั้นมาเถิด อย่าให้ส่วนของเราต้องเสียหายไปเลย

ชายเข็ญใจตกตะลึงพรึงเพริด ด้วยเพิ่งเคยเห็นเทวดาตัวเป็นๆ ทั้งยังมาอ้อนวอนขอขนมรำกับกระบวยน้ำจากเขาโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ จึงรีบทำพลีกรรมบูชาต่อเทวดาในทันที รุกขเทวดาได้บริโภคขนมรำนั้นแล้ว ก็ได้สอบถามว่า

ดูก่อนบุรุษ ท่านปฏิบัติเราเพื่อต้องการอะไร?”

ชายเข็ญใจกล่าวตอบว่า

ข้าแต่ท่านผู้เป็นใหญ่ ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ มาปรนนิบัติ ก็ด้วยหมายใจว่าจะอาศัยท่าน แล้วพ้นจากความเป็นทุคคตะ

ได้ฟังดังนั้น รุกขเทวดาก็กล่าวต่อไปว่า

ดูก่อนบุรุษผู้เจริญ ท่านอย่าคิดเสียใจไปเลย ท่านทำการบูชาเราผู้มีกตัญญูกตเวที รอบต้นละหุ่งนี้ มีหม้อใส่ขุมทรัพย์ตั้งไว้เรียงราย จวบจนจรดถึงคอ ท่านจงกราบทูลพระราชา เอาเกวียนมาขนทรัพย์ ไปกองไว้ ณ ท้องพระลานหลวง พระราชาก็จักโปรดปรานประทานตำแหน่งเศรษฐีแก่ท่าน

ครั้นบอกแล้วรุกขเทวดาก็อันตรธานไป ชายเข็ญใจได้กระทำตามนั้นแล้วได้รับการพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีจากพระราชา

จบนิทานเรื่องนี้แล้ว พระศาสดา ได้ตรัสประชุมชาดกว่า

บุรุษยากจนคือทุคตบุรุษ รุกขเทวดาผู้สิงอยู่ ณ ต้นละหุ่ง คือเราตถาคตนั่นเอง

เป็นอันว่าต้นละหุ่งก็ได้กลายเป็นพระเอกของเรื่องด้วยประการฉะนี้

เพื่อเป็นการสรรเสริญคุณงามความดี(ที่เพิ่งปรากฏ)ของพระเอกเรื่องนี้ คงต้องอ้างถึงคำโบราณที่ว่า ต้นร้ายปลายดี ซึ่งยังมีอยู่มาก ละหุ่งก็จัดอยู่ในจำพวกนั้น คืออาจไม่ใช่พันธุ์ไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาใครต่อใคร แต่ก็เป็นต้นไม้ที่ได้ปรากฏในนิทานชาดกเพื่อจะสอนว่า คุณงามความดีนั้น ไม่ว่าผู้ทำหรือผู้รับจะยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่สำคัญเท่า จิตใจที่พร้อมจะให้และพร้อมจะรับ โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ความดีนั้นย่อมไม่สูญหาย แม้จะเป็นเพียงความดีใต้ต้นละหุ่งก็ตาม

ทำเลยค่ะ อย่าลังเล :)