Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๒๕

wilasineeโดย วิลาศินี




ชีวิตระหว่างสงคราม ดำเนินมาถึงตอนสุดท้ายแล้วค่ะ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ยารักษาใจมีบทความชุดนี้มาลงครั้งแรก
เราเปรียบเปรยกันถึงสงครามไทย-เขมรที่ยังเข้มข้นอยู่ในเวลานั้น
มาจนถึงเวลานี้ ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา
ก็มีคำวินิจฉัยจากศาลโลกในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
ตัดสินให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาถอนกำลังทหารทั้งหมด
ออกจากพื้นที่ขัดแย้งในแนวเขตเขาพระวิหาร พร้อมทั้งกำหนดให้เป็น
"เขตปลอดทหารชั่วคราว" หรือ Provisional Demilitarized Zone (DMZ)
ซึ่งเปรียบเหมือนการผ่อนเชือกที่กำลังขมึงเกลียวให้เบาแรงลง
และเหตุการณ์คงจะคลี่คลายในเวลาอีกไม่นานนัก

เมื่อทุกอย่างสงบแล้ว ก็คงจะเป็นดังที่ผู้เขียนบทความได้กล่าวเอาไว้ในตอนท้ายว่า
"ชีวิตระหว่างสงครามของครอบครัวของเรา ก็สิ้นสุดลง แต่ก็ต้องใช้ชีวิตตามกรรมต่อไป"

ก็เป็นอีกหนึ่งพยานยืนยันว่า สงครามที่ยาวนานที่สุดมิใช่การต่อสู้กับศัตรูภายนอกแต่อย่างใด
กรรมที่ยังให้เกิดมาใช้ชีวิตต่างหาก ที่เป็นสงครามหนักหนา และติดตามไปทุกภพทุกชาติ

จึงขอฝากคำถามทิ้งไว้ให้คุณผู้อ่านตอบในใจเหมือนเคยว่า
พร้อมจะก้าวข้ามสงครามชนิดหลังกันหรือยังคะ ^____^


+  +  +  +  +

 

ชีวิตระหว่างสงคราม (ตอนจบ)

โดยคุณ เจียวต้าย (พ.สมานคุรุกรรม)

หลังจากนั้นกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยก็ไม่ไว้ใจ กองทัพไทยว่าจะร่วมมือในการต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อฝ่ายนั้นบุกทางพลร่มเข้ามาในกรุงเทพ จึงทำป้อมค่ายด้วยดินหรือกระสอบทราย ตามค่ายทหารของเขาทุกแห่ง ทหารไทยก็สร้างแบบเดียวกัน ทุกกรมกองทหารในพระนคร ที่สวนอ้อยบ้านผมมีป้อมที่สร้างกว้างใหญ่เต็มซอยกลาง มีช่องให้พลยิงหลายช่องทางด้านที่หันลงแม่น้ำ และทำทั้งถนนราชวิถี กับถนนสุโขทัยด้วย ทั้งสองป้อมนั้น มีปืนใหญ่ของทหารราบประจำอยู่แห่งละหนึ่งกระบอก เป้าหมายคือครอบคลุมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี แยกซังฮี้ และแยกสุโขทัย มีเสาต้นใหญ่ทำเป็น งาแซงขวางทางที่จะเลี้ยวเข้าถนนทั้งสอง ปล่อยให้มีการจราจรแต่ถนนสามเสนเท่านั้น

ในเวลานั้นชาวบ้านธรรมดาไม่ทราบหรอก ว่าทหารไทยจะรบกับใคร สัมพันธมิตรหรือญี่ปุ่น

แต่เหตุการณ์น่าหวาดเสียวที่คิดว่าจะเกิดขึ้น เมื่อสัมพันธมิตรจะเข้าโจมตีด้วยกำลังทหารพลร่มนั้น ก็มิได้เกิดขึ้น เพราะสงครามได้ยุติลงอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘

มีข่าวที่น่ายินดีว่า ญี่ปุ่นยอมจำนนต่อสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข หลังจากที่อเมริกาได้นำเครื่องบินไปทิ้งระเบิดปรมาณู ที่เมือง ฮิโรชิมา และนางาซากิ ราบไปทั้งสองเมืองด้วยอานุภาพของระเบิดที่คิดขึ้นใหม่ ประชาชนเสียชีวิตหลายแสนคน บาดเจ็บอีกมากมายมหาศาล สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์จึงประกาศให้กองทัพญี่ปุ่นหยุดรบ ทุกแนว แล้ววางอาวุธทั้งสิ้นโดยทันที ทหารญี่ปุ่นเป็นทหารที่มีวินัยเยี่ยม เมื่อยามรบก็ยอมตายเพื่อพระมหาจักรพรรดิ เมื่อได้รับคำสั่งให้หยุดรบก็ไม่มีการขัดขืน นายทหารที่เสียใจ ในการพ่ายแพ้ ก็ฆ่าตัวได้ด้วยวิธีฮาราคีรี คว้านท้องตนเองหลายราย สงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงสงบลงโดยสิ้นเชิง เพราะประเทศเยอรมันนี ได้ยอมแพ้แก่สัมพันธมิตรไปก่อนหน้านั้นแล้ว

ในกรุงเทพมหานคร มีการประกาศสันติภาพของรัฐบาลไทย ว่าการประกาศสงครามเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่เจตนารมณ์ของประชาชน และได้เปิดเผยว่า คนไทยในประเทศอังกฤษ ก็ตั้งคณะเสรีไทย ช่วยประเทศอังกฤษ เสรีไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยเป็นหัวหน้า เสรีไทยในประเทศมี นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ ๘ เป็นหัวหน้า

ถึงเดือนกันยายน ๒๔๘๘ โรงเรียนก็เปิดสอนตามปกติ โรงเรียนเด็กเล็กใต้ถุนบ้าน ก็ต้องปิดไปเพราะไม่ได้ขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ แม่กลับไปเป็นครูสอนที่โรงเรียนเดิม น้องก็เรียนต่อชั้นมัธยม ผมเข้าไปรายงานตัวที่โรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาสแล้ว เขาให้นักเรียนทุกคนสมัครสอบเข้าชั้นเรียนได้ ตามความสามารถ ผู้ที่เรียนต่อโรงเรียนอื่นมาแล้ว ก็สอบเข้าชั้นที่ตนจะต่อ ถ้าสอบไม่ผ่านก็เรียนชั้นเดิมก่อนโรงเรียนปิด ผมไม่ได้เรียนต่อที่ไหนเลย มีความรู้ชั้น ม.๕ เพียงเทอมเดียว ก็เสี่ยงสอบเข้าชั้นมัธยม ปีที่ ๖ บังเอิญผ่าน จึงได้เรียนที่ห้องเรียนชั่วคราว ใต้ศาลาการเปรียญ วัดราชาธิวาสริมแม่น้ำ จนถึงปลายปี มีการสอบไล่ ผลการสอบของผมได้ ๔๖ % จึงต้องเรียนซ้ำชั้น ม.๖ ใน พ.ศ.๒๔๘๙

และเคราะห์ร้ายส่งท้ายครอบครัวของเราคือ แม่ไม่สบายเป็นวัณโรค ค่อยมีอาการเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถสอนนักเรียนได้ ต้องลาออกมาอยู่บ้าน และไม่มีเงินค่าเล่าเรียนให้ผมเรียนต่อไปได้ ส่วนน้องให้ท่านผู้มีพระคุณรับไปอุปการะแล้ว ผมจึงต้องออกจากโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส กลับมาขายขนมถ้วยตะไล ตามที่ได้เคยขายเมื่อปลาย พ.ศ.๒๔๘๗ ต่อ ๒๔๘๘ เพื่อเลี้ยงแม่และตนเอง โดยได้ใบสุทธิเพียงสำเร็จชั้น ม.๔ เท่านั้น

แต่อีกไม่นานก็มีเคราะห์ดี เข้ามาช่วยฉุดชีวิตเราสองแม่ลูก คือมีญาติที่เป็นนายทหารยศร้อยโท ท่านเรียกแม่ว่าน้า มาเยี่ยมและเห็นความจนกรอบของเรา จึงเอาผมไปเข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ใช้แรงงานที่กรมพาหนะทหารบก ในแผนกที่ ๓ ตั้งอยู่ที่เลยแยกเกียกกายลงไปท่าน้ำ ตรงข้ามวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ซึ่งแม่ได้บันทึกไว้ว่า

จันทร์ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๙ ลูกชายเข้าทำงานที่ กรมพาหนะทหารบก ได้เดือนละ ๑๕๐ บาท เงินเดือนที่แท้ ๒๓ บาทเพิ่มอีก ๑๓๐ บาทต้องจาก ร.ร.ชั่วคราวเพื่อช่วยแม่หาเงิน ฉันได้ ๗๕ บาทเคยพอใช้เดี๋ยวนี้ไม่พอใช้แล้ว ของกินแพงขึ้นทุกวัน ข้าวสารถังละ ๑๖ บาท

ศุกร์ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๘๙ เขา(ผู้อุปการะ) ให้เงินมาใช้ ๒๐ บาท โดยไม่ได้ขอร้อง แกบอกให้ไปตัดผมแต่งตัวให้ดี จะให้มาทำงานบนตึก คงจะเป็นเพราะความกรุณา ถ้าจะใช้งานหนักก็จะป่วยอีก เพราะเป็นเด็กบอบบาง เออ...ขอให้เจริญยิ่ง ๆ เถิด ช่วยให้เข้าทำงานแล้ว ยังช่วยเหลือด้วยเงินอีก

อังคาร ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๘๙ เงินเดือนลูกออก เขาเอาไว้ใช้ส่วนตัว ๓๐ บาท ให้แม่ ๑๒๐ บาท ฉันซื้อกางเกงใหม่ให้เขาหนึ่งตัว ๒๘ บาท คงเหลือไว้ใช้ ๙๐ บาท

ชีวิตระหว่างสงครามของครอบครัวของเรา ก็สิ้นสุดลง แต่ก็ต้องใช้ชีวิตตามกรรมต่อไป หลังจากสงครามสงบ บ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลง ผ่านทุกข์สุขร้อนหนาว ไปโดยไม่รู้อนาคต แต่ก็เป็นไปในทางที่เจริญขึ้น แม่เสียชีวิตด้วยวัณโรค เมื่อ ๕ ธันวาคม ๒๔๙๕ อายุ ๕๘ ปี ผมไปเป็นพลทหารกองประจำการ ๑ เมษายน ๒๔๙๗ น้องสำเร็จการศึกษาฝึกหัดครูมัธยม บรรจุเป็นครู ร.ร.มกุฎกษัตริย์ พ.ศ.๒๕๐๐ น้าถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๕ อายุ ๘๕ ปี

ผมผู้เรียบเรียงเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ยศพันเอก และอยู่มาถึงวันนี้ อายุเข้า ๘๐ ปี ยังไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร.

+  +  +  +  +

(จบบริบูรณ์)