Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๒๓

wilasineeโดย วิลาศินี



เรื่องราวดำเนินมาถึงตอนที่ ๔ แล้วค่ะ
ในช่วงพุทธศักราช ๒๔๔๕ หากมีการเอ่ยถึง ภาวะปกติ ของบ้านเมือง
แปลว่าช่วงเวลานั้น คือช่วงเวลาของ สงคราม นะคะ

มองอดีตแล้วหันมาดูปัจจุบันกันบ้าง
หากวันหนึ่งได้มีโอกาสเล่าให้ลูกหลานฟัง ว่าในช่วงพุทธศักราช ๒๕๕๔
ภาวะปกติ ของบ้านเมือง คือช่วงเวลาแบบไหน

เตรียมคำตอบไว้อย่างไรกันบ้างคะ
:)

+ + + + +

ชีวิตระหว่างสงคราม (ตอนที่ ๔)

โดยคุณ เจียวต้าย (พ.สมานคุรุกรรม)

ตอนที่

เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติก็คืออยู่ระหว่างสงครามตามเดิม ผมเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๓ ทางราชการเห็นว่าหยุดเรียนกันหลายครั้ง เลยอนุโลมให้สอบไม่ต้องถึง ๕๐ % ก็เลื่อนชั้นได้ ดูเหมือนจะเป็น ๓๕ % จำไม่ได้แน่ ผมจึงเลื่อนขึ้นไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๔ เลิกเป็นลูกเสือ แต่ได้เป็นยุวชนทหาร ปีที่ ๑ เริ่มฝึกแบบนักเรียนรักษาดินแดนเดี๋ยวนี้ เครื่องแต่งกาย เสื้อกางเกงขาสั้นสีกากีแกมเขียวแทนเครื่องแบบลูกเสือ ไม่มีผ้าพันคอ ปกเสื้อติดเครื่องหมายเหล่าทหารราบ คือปืนเล็กยาวไขว้กับตับกระสุน อินทรธนูติดเลข ๑ ตามชั้นปีของตน สวมหมวกแก็ปทรงหม้อตาลเหมือนทหาร มีผ้าพันขอบหมวกสีแดง ตราหน้าหมวกเป็น อุนาโลมประกอบตัวหนังสือ รักชาติยิ่งชีพ เลียนแบบทหารที่มีอักษรว่า สละชีพเพื่อชาติ

ขณะนั้นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๖ เป็นยุวชนปีที่ ๓ แล้ว เราเพิ่งเริ่มฝึกท่ามือเปล่าและท่าอาวุธ ด้วยปืนเล็กยาวโบราณที่ปลดประจำการไปแล้ว ดูเหมือนจะเป็น ปลย.๔๕ คือเริ่มใช้เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๕ เราฝึกกันที่สนามของโรงเรียนโดยมีครูเป็นนายสิบ และผู้ควบคุมการฝึกเป็นร้อยโท ท่านแต่งเครื่องแบบทหารสวมท็อปบู๊ทสง่างามมาก ตัวยุวชนทหารเองก็ดูขึงขังมิใช่น้อย เด็กลูกเสือจะมองเราอย่างนับถือ เพราะยุวชนทหารมีชื่อเสียงมาก เมื่อต่อสู้ต้านทานทหารญี่ปุ่น ที่ยกพลขึ้นบกจังหวัดปัตตานี

และยุวชนทหารก็ต้องทำความเคารพด้วยการวันทยาหัตถ์ ต่อทหารและตำรวจตั้งแต่นายสิบขึ้นไป กระดุมเม็ดบนที่ติดลูกกระเดือกซึ่งเพิ่งโผล่ ห้ามปลดออกแบะอกเป็นอันขาด

เมื่อย่างเข้า พ.ศ.๒๔๘๖ แม่บันทึกเรื่องงานวันของแม่ ซึ่งน่าจะเป็นวันแม่ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๘๖

วันนี้เป็นวันครบรอบปีที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น จึงมีงานฉลอง คือ

๑.เลี้ยงพระและเลี้ยงแพทย์ในกระทรวง และมีงานเล่นเบ็ดเตล็ด

๒.มีงานวันของแม่ที่สวนอัมพร เลี้ยงของว่างแก่แม่และเด็ก แจกของเล่นแก่เด็ก มีการประกวดสุขภาพของแม่ และมีการแสดงเบ็ดเตล็ดอีกหลายอย่าง ไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู แต่ต้องแต่งกายสุภาพตามวัฒนธรรม (ผู้หญิงต้องนุ่งกระโปรงหรือผ้าซิ่น สวมหมวก) ค่าโดยสารรถยนต์เรือยนต์ลดครึ่งราคา แต่ต้องมีบัตรประจำตัว คือไปขอเจ้าหน้าที่ก่อนวันงาน ฉันเองไม่นึกสนุกจึงไม่ไป แต่อยากให้ลูกไปสนุกกับเขาบ้าง จึงสั่งให้ลูกชายไปเที่ยวตอนบ่าย เมื่อกลับจาก ร.ร. แต่เขาไม่ยักไป เขาบอกว่าอายกางเกงก้นปะ

ที่ว่าบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ ก็คืออยู่ในภาวะสงครามเช่นเดิมนั่นเอง ความกลัวภัยทางอากาศก็กลับมาครอบงำจิตใจอีก ชีวิตประจำวันก็คงเหมือนเดิม แม่ไปสอนนักเรียนที่ ร.ร.ปัญญานิธิ น้องก็ไปเรียนหนังสือกับแม่ ผมก็ไปเรียนและฝึกยุวชนทหารที่วัดราชา บางทีก็มีหวอกลางคืน บางทีก็กลางวัน จนเกิดความเคยชินขึ้น แม่จึงบันทึกไว้ครั้งหนึ่งว่า

วันเสาร์ ๑๐ เมษ ๘๖ คืนนี้เวลาประมาณ ๑๑ น.มีหวูดอันตรายเกิดขึ้น ต่อมาสักครู่มีเสียงเครื่องบินและเหมือนเสียงปืนแต่ไกลมาก แล้วก็เงียบ ฉันหลับสบายทั้งสามคนแม่ลูก มารู้สึกตื่นเมื่อเสียงหวูดปลอดอันตราย ที่จริงก็ดีหลับแล้วไม่รู้สึกกลัว ยิ่งตายเมื่อเวลาหลับก็ยิ่งดี จิตใจไม่หวาดกลัว

ชีวิตของแม่ในยามสงคราม คงเศร้าหมองและหดหู่มาตลอดเวลา เพราะการครองชีพที่เพิ่มขึ้น ตามลูกสองคนที่โตขึ้น แต่รายได้น้อยเหลือเกิน แม่เคยบันทึกไว้ว่า เริ่มขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ เป็นครูตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม ๒๔๘๒ สอนนักเรียนชั้น ป.๑ ได้เงินเดือน ๘ บาท ๑๐ บาท ๑๒ บาทตามลำดับ

พ.ศ.๒๔๘๓ ได้เงินเดือน ๑๕ บาท พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เงินเดือน ๑๘ บาท พ.ศ.๒๔๘๕ ได้เงินเดือน ๒๐ บาท พ.ศ.๒๔๘๖ ได้เงินเดือน ๒๕ บาท

แต่เมื่อโรงเรียนปิดเพราะภัยทางอากาศ หรือน้ำท่วม ก็ไม่ได้เงินเดือนตามนั้น ไปขอเลินเดือน แต่ละครั้ง เจ้าของหรือผู้จัดการ ร.ร.ก็ให้มาทีละ ๒ ๕ บาท รวมแล้วก็ไม่เกินครึ่งของเงินเดือน ส่วนผมเองมีค่าเลี้ยงดูจากพ่อ ที่บ้านสวนฝั่งธนบุรี เดือนละ ๔ บาท แม่จึงต้องเที่ยวขอยืมแบบไม่มีโอกาสใช้หนี้คืน จากญาติที่สนิท และผู้มีพระคุณ ที่ร้านขายยาหอมบรรทัดคู่มือ หน้าวัดมหรรณพาราม จนท่านยกให้โดยไม่ต้องใช้หนี้

พอถึงเดือนตุลาคม ๒๔๘๖ กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้โรงเรียนสอบไล่ชั้นประถม ป.๑-ป.๔ ทั้งหมดทุกโรงเรียน แล้วปิดการเรียนตั้งแต่ ๓๑ ตุลาคม ชั้นมัธยมปีที่ ๑-๕ สอบพฤศจิกายน ส่วน ม.๖ คงเรียนต่อไป ผมอยู่ชั้น ม.๔ จึงต้องสอบไล่ก่อน ร.ร.จะปิด ได้เกิน ๕๐ % ไปไม่มาก ถ้าโรงเรียนเปิด ก็จะได้เลื่อนขึ้นไปเรียนชั้น ม.๕ แม่บันทึกเรื่องราวไว้ว่า

พุธ ๑๐ พ.ย.๘๖ วันนี้เจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองมาแนะนำว่าให้อพยพ เขาว่าเด็กและคนแก่ควรไป ให้ผู้ชายเฝ้าบ้าน ไปได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น ฉันถามว่า ถ้าไม่ไปจะเอาผิดไหม เขาว่าก็ไม่เอาผิด ดังนั้นเราตกลงว่ายังไม่อพยพ นอกจากจะมีเหตุร้ายแรงจริง ๆ จึงจะไป

อาทิตย์ ๓ ธันว์ หวอมาอีกแล้วคืนนี้ ๒ ครั้ง รวม ๑๑ เครื่อง ชนิดป้อมบินสี่เครื่องยนต์ เขาเคยขู่มาตั้งแต่เดือนตุลาแล้วว่า เครื่องบินของเขาจะมากลางวัน มาอย่างละลอกคลื่นทีเดียว รัฐบาลของเราเลยฉวยโอกาส ประกาศตักเตือนให้ราษฎรอพยพไปอยู่ที่ปลอดภัย นักเรียนในพระนครธนบุรีให้รีบสอบไล่ให้เสร็จภายในเดือน ตุลาคม ส่วนชั้น ม.๖ ชั้นเดียวให้เรียนต่อไป เพราะเป็นนักเรียนรุ่นโต รู้จักหลบหลีกอันตรายได้เอง ส่วนชั้นอื่น ๆ เป็นนักเรียนเล็ก จะได้อพยพไปกับผู้ปกครอง

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนต่างก็พากันอพยพไป โดยมากไปอย่างไม่มีจุดหมาย หวังแต่จะหลบภัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีหลักแหล่งทำมาหากิน มีแต่ควักเงินออกไปเรื่อย ๆ พอถึงเดือนธันว์ก็ยังเงียบไม่มีหวอ พวกที่ไปจึงพากันกลับบ้านกันหลายราย บ้างมาถึง ๗ วัน ๓ วัน วันเดียว ก็พอดีหวอมา บ้างก็ตาย บ้างก็บ้านพัง น่าอนาถ

มาคราวนี้เขามีของแปลกมาให้เราชม และทำลายขวัญเราด้วย ทุกทีเมื่อหวอมา ฉันเคยนั่งหรือนอนอยู่ในมุ้ง แต่คราวนี้ต้องวิ่งลงหลุมหลบภัย เพราะตกใจขวัญเสีย สิ่งที่แปลกนี้คือพลุสีแดง ส่องแสงสว่างจ้าราวกับเดือนหงาย เห็นหน้ากันถนัด อ่านหนังสือได้ เขาทิ้งลงมาเป็นระยะ ๆ สว่างไปได้ไกล เช่นทิ้งลงที่บางซื่อ แสงสว่างถึงสามเสน บางคนเพลินชม บางคนวิ่งหนี

การกระทำของข้าศึกนี้ พวกเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ทำส่งเดช คือเขาเลือกจุดหมายจะทำลายแต่ที่สำคัญ ๆ เท่านั้น หากแต่พลาดจึงไปถูกบ้านเล็กเรือนน้อย ผู้คนตาย เพราะบินสูงลิบสุดระยะปืน และใช้พลุสีแดงส่องดูจุดหมาย เหมาะที่ไหนก็ลงมาทิ้งบอมบ์ แล้วก็บินขึ้นสูงอีก ก่อนนี้เรากลัวหวอเมื่อตอนเดือนหงาย ใจคอไม่สบายไปตามกัน เดือนมืดเราสบายใจ ต่อไปนี้เดือนหงายหรือเดือนมืด ก็ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๘๖ แม่บันทึกย้ำเรื่องภัยทางอากาศอีกครั้งหนึ่ง

หวอมาอีกเวลา ๒๒.๓๐ น. ประมาณ ๑๐ เครื่อง ครั้งแรกทิ้งพลุแดงส่งทางเป็นระยะ ๆ ไป แล้วก็ทิ้งระเบิดเพลิงตามลงมา เกิดไฟไหม้สว่างจ้าขึ้น ๓ แห่ง แล้วกี่ลำ ๆ ก็วนทิ้งเพิ่มเติมลงอีก ไหม้ต่อ ๆ ไปเกือบสุดถนน เช่นบางรักเป็นต้น นอกจากนี้ที่ถูกระเบิดเพลิงอีกคือ วัดตรี ตรอกวัดสามพระยา สะพานเหลือง ร.ร.การเรือนระเบิดด้าน เวลา ๓.๓๐ น.จึงกลับไป รวมเวลาที่บินวนเวียนอยู่ ๕ ชั่วโมง

หวอมาครั้งที่ ๒ นี้ ทำลายขวัญพลเมืองมาก เพราะไม่ใช่จุดสำคัญก็ถูกเผาถูกทำลาย โดยเขาทิ้งพลาดจากที่หมายไกลมาก เมื่อถูกวิทยุของเรากล่าวติเตียนว่าไม่มีศีลธรรม เขาเลยคุยและขู่ทางวิทยุเดลฮีว่า เขาเตรียมระเบิดประเทศไทยไว้ ๑๕๐๐ ตัน เขาจะทำลายพระนครให้เป็นเมืองร้างให้จงได้

ดังนั้นเมื่อวันศุกร์รุ่งขึ้น ประชาชนไม่มีแก่ใจจะไปเที่ยวดูสถานที่ถูกระเบิดอีกแล้ว รีบขนของอพยพกันทันทีทันใด โดยไม่รีรอ ทางบกทางน้ำเบียดเสียดเยียดยัดกันอัดแอ ขอแต่ให้ได้ไปให้พ้น ๆ พระนครก็แล้วกัน แถวซอยราชวิถีที่เราอยู่ เงียบเชียบเพราะเด็กและหญิงไปกันหมด เหลือชายเฝ้าบ้านละคน เราจะอยู่อย่างไรได้ ถึงคราวจำเป็นแล้ว เราก็ต้องหลบไปบ้าง เวียนปรึกษาหารือนัดแนะกันอยู่ ๑ วันจึงตกลง อพยพไปอยู่ คลอง ๒ อำเภอลาดกระบัง บ้านคุณแม่ของเพื่อนบ้านตรงข้ามซอย เราไปกัน ๔ คน คือฉัน และน้องกับลูกสองคน ออกจากบ้านโดยจักรยานสามล้อ แล้วลงเรือจากประตูน้ำไปคลอง ๒ ถึงบ้านนั้นเวลาบ่าย ๑๓.๓๐ น. วันอาทิตย์ ๒๖ ธันว์

บ้านเขากว้างขวางขนาดบ้านเราแต่ห้องน้อย เขาปล่อยเป็นห้องใหญ่โล่ง แต่มีระเบียงและนอกชาน จึงกว้างขวางกว่าบ้านเรา เวลานี้อยู่รวมกันทั้งเจ้าบ้าน ลูกหลาน และแขกรวม ๒๕ คนแล้ว ก็ยังไม่แออัดนัก เจ้าบ้านอัธยาศัยดี เราก็สบายใจแต่แปลกที่นอนไม่หลับ คอยฟังหวอเสมอ

สุดท้ายเมื่อวันสิ้นปี แม่บันทึกว่า พ.ศ.๒๔๘๕ กำลังจะผ่านพ้นไปวันนี้แล้ว ปีนี้เป็นปีที่เราสามคนแม่ลูกลำบากยากแค้น และเศร้าโศกมาก ได้เสียญาติและคนใกล้ชิดไป ๓ คน (พี่สาว ลูกของน้า ผู้จัดการ ร.ร.ปัญญานิธิ ของแม่ และ พ่อผมที่อยู่สวนธนบุรี) ต้องจากบ้านเรือนระเหเร่ร่อน เมื่อไรจึงเป็นปกติสุขกันที ขอส่งปีเก่าด้วยความเศร้าและว้าเหว่ที่สุด ขอปีเก่าจงเก็บเอาความทุกข์ยากไปให้หมด

วันเสาร์ ๑ มกร ๘๗ วันขึ้นปีใหม่ประชาชนเขาทำบุญใส่บาตรกันทุกจังหวัดทุกหมู่บ้าน แต่เราพลัดบ้านเมืองมา ไม่ได้ทำบุญกับเขา เพราะสงบเสงี่ยมเจียมตัว กลัวจะไม่พอใช้ ที่เคยได้รับจากสวนก็ไม่ได้อีกแล้ว ที่เคยได้รับจาก ร.ร.เดือนนี้ก็ไม่มีหวัง ฉันขอต้อนรับปีใหม่ ด้วยหน้าชื่นอกตรม ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงประทานความสุขสมบูรณ์ให้ฉันบ้าง ถ้าฉันไม่มีวาสนาจะได้รับความสุขอีกแล้ว ขอจงบันดาลให้ตายไปเสียจากโลกนี้

แม่บันทึกต่อไปว่า ระหว่างที่อยู่คลอง ๒ แห่งลาดกระบังนี้ มีอาชีพทางรับจ้างทำใบตองห่อข้าวหมาก ราคา ๑๐๐๐ ต่อ ๑ บาท หรือร้อยละ ๑๐ ส.ต. เราทำได้อย่างมากคนละ ๑๕๐ ราคา ๑๕ ส.ต. พอเป็นค่าขนมประจำวัน ถ้าตั้งใจทำจริง ๆ อาจได้วันละ ๓๐๐ แต่นี่ทำเฉพาะกลางวัน กลางคืนยุงชุมมากทนไม่ไหว ถ้าใครอาบน้ำค่ำ ๆ ต้องเต้นระบำทุกคน เวลา ๑๘ น. ยังไม่ทันมืดพวกเรากางมุ้งกันแล้ว และต่างก็เข้าไปนอนคุยกันในมุ้ง

วันศุกร์ ๗ มกร ๘๗ เรา ๔ คนลงเรือ ดิน กอง ทรายเวลา ๑๑ น. มุ่งไปขึ้นประตูน้ำสระปทุม มีคนเต็มเรือ แต่เข้าไปขึ้นพระโขนงเสีย ๓/๔ ถึงประตูน้ำราวบ่าย ๓ โมง รวมเวลาเรือยนต์แล่น ๔ ชั่วโมง ถ้าเรือแจว ๕ ชั่วโมง เพราะไม่แวะที่ไหน ถ้ารถไฟชั่วโมงครึ่ง เราขึ้นจักรยานสามล้อ ๒ คันจากประตูน้ำราคาคันละ ๕ สลึง เมื่อไปคันละ ๓ บาท นับว่าดีขึ้น

เมื่อถึงบ้านเห็นประตูรั้วไม่มีกุญแจ ประตูเรือนมีกุญแจของบ้านอื่นใส่อยู่ ได้ความว่าเมื่อตอนกลางคืนฝนตกถูกคนงัด เช้าขึ้นเพื่อนบ้านเขาหากุญแจมาใส่ให้ ตกลงกุญแจหายไป ๑ ดอก ถูกงัดเสียทิ้งอยู่ ๑ ดอก ของอื่นไม่มีหาย

วันจันทร์ ๑๐ มกร ๘๗ หวอมาเวลา ๔ ทุ่ม ๑๐ นาที เรามาถึงบ้าน ๔ วัน ก็ได้ยินเสียงหวอเทียวนะ เมื่อเราอยู่ลาดกระบัง ๑๒ วัน มันไม่มาเสียให้พอ คราวนี้มันไม่ต้องทิ้งไฟแดงเพราะเดือนหงาย แต่วนเวียนหาจุดอยู่บนหัวเราตั้งนาน จึงทิ้งระเบิดเพลิงลงที่ ร.พัน.๙ ประมาณตั้ง ๑๐๐ ลูก เขารีบดับเกือบหมด เหลือลูกเดียวที่ติดไฟไหม้ขึ้นที่คลังสัมภาระ ขณะนั้นพอดีเครื่องบินข้าศึกกลับมา มันเห็นแสงสว่างจึงทิ้งระเบิดทำลายลงตั้งแต่ชิงสะพานวชิราวุธ เรื่อยมาถึงโรงรถ ร.พัน.๙ นับไม่ถ้วนว่ากี่ลูก ถูกสถานที่พัง ๓ แห่ง ถนนพัง ๑ แห่ง ก๊อกประปาพัง ๑ แห่ง ระเบิดในที่ว่างอีก ๒ แห่ง แล้วเลยเงียบไปเลย

คราวนี้ชาวราชวิถีหรือชาวสวนอ้อยหอบของวิ่งกันใหญ่ เพราะใกล้เหลือเกิน (สวนอ้อยกับ ร.พัน.๙ มีถนนนครราชสีมาแคบ ๆ คั่นนิดเดียว) แต่เดชะบุญมันไม่ย้อนกลับมาอีก (วิ่งไปหลบอยู่ที่วัดส้มเกลี้ยง วัดราชผาติการาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) เวลา ๒ น.หวูดขึ้นบอกหมดอันตราย ต่างหิ้วของกลับบ้านเดินคออ่อน เหนื่อยเหลือเกิน เมื่อเวลาไปไม่ยักเหนื่อย ความรีบหนีภัยเรี่ยวแรงมาจากไหนไม่รู้

วันพุธ ๑๒ มกร ๘๗ หวอมาอีกเวลา ๒๑ น. เครื่องบินข้าศึกมา ๔ ลำ ของเราขึ้น ๓ ลำ คืนนี้มันไปทิ้งสถานีหัวลำโพง ตลอดจนบางรักไปจรดที่ถูกระเบิดเก่า มันทิ้งระเบิดเพลิงก่อน วกกลับมาอีกเที่ยวจึงทิ้งระเบิดทำลาย เกิดมาพึ่งเคยเห็นรบกันบนอากาศ และบนหัวเราด้วย ปืนกลปืนใหญ่ดังสนั่นหวั่นไหว น่าสนุกและน่าขวัญหาย ฉันใจสั่นเสียงสั่นเหมือนเป็นไข้

เวลา ๒๔ น.หมดอันตราย เครื่องบินของเราตก ๑ เครื่อง เขาว่าเครื่องบินข้าศึกไม่กลับฐานทัพ ๒ เครื่อง แถวหัวลำโพงคนตายมาก เขาว่าเหม็นเขียวศพที่ถูกไฟไหม้คลุ้งไปหมด

+ + + + +

(โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ)