Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๒๐

wilasineeโดย วิลาศินี



ไม่กี่วันมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสได้รับมรดกทางงานประพันธ์
จากนักเขียนรุ่นคุณปู่ท่านหนึ่งค่ะ มรดกชิ้นนี้เป็นบันทึกเมื่อ ๗๐ กว่าปีก่อน
ในช่วงเวลาที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่หาอ่านได้ทั่วไป
แต่นั่นอาจไม่ทำให้เกิดความรู้สึกร่วม ของคนที่อ่านแล้วจะระลึกถึงมรณานุสติได้
เท่ากับการพลิกอ่านจากนิตยสารธรรมะใกล้ตัวตรงหน้าของท่านผู้อ่านเวลานี้

สงครามไทย-เขมรที่มองด้วยปลายสายตาอาจดูไกลออกไป
สารพัดลางบอกเหตุวันโลกสลายแต่ก็ไม่รู้เมื่อไรจะมาถึง
ทั้งหมดนี้เราท่านล้วนแต่ลุ้นตัวโก่งกันอยู่ห่างๆ
ลองมาอ่านบันทึกที่ผู้เขียนนั้นมีสงครามมาจรดคอหอย
ไม่รู้ความตายแบบกะทันหันจะมาถึงตัววันไหนกันดูบ้างดีกว่าค่ะ 

เรื่องนี้มีทั้งหมด ๖ ตอนนะคะ
:)

+ + + + +


ชีวิตระหว่างสงคราม

โดยคุณ เจียวต้าย (พ.สมานคุรุกรรม)

ตอนที่ ๑

สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่
1 กันยายน ค.ศ. 1939 (พ.ศ.๒๔๘๒) เมื่อ เยอรมนีและสโลวาเกียเริ่มการรุกรานโปแลนด์ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และบรรดาประเทศในครือจักรภพแห่งชาติ ประกาศสงครามกับเยอรมนี

ขณะนั้นผมเพิ่งมีอายุได้ ๘ ขวบ และสงครามนั้นได้ลุกลามมาถึงประเทศไทย เมื่อ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ผมก็มีอายุได้ ๑๐ ขวบกว่า ย้ายบ้านจากตรอกโรงเรียนนายร้อย ถนนราชดำเนินนอก มาอยู่ที่ซอยสวนอ้อย หน้าวชิรพยาบาล ถนนสามเสน ได้ไม่กี่เดือน และเข้าเรียนอยู่โรงเรียนมัธยมวัดราชา ธิวาส ชั้นมัธยมปีที่ ๒

เมื่อจะรำลึกถึงอดีตในสมัยนั้น ก็เป็นการยากที่จะจำได้อย่างละเอียดลออ จึงต้องอาศัยบันทึกเหตุการณ์ประจำวันของแม่ ซึ่งเป็นครูโรงเรียนปัญญานิธิ ที่เป็นโรงเรียนราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ถนนพะเนียง นางเลิ้ง เป็นหลักฐานแล้วจึงค่อยทวนความทรงจำ ถึงเรื่องราวที่ได้พบเห็นในสายตาของเด็ก อายุ ๑๐ ๑๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ ๒๔๘๘ เท่าที่พอจะนึกออก แต่ก็จะไม่อาศัยหนังสือที่ผู้อื่นเขียน หรือที่ได้เรียบเรียงไว้หลายเล่มในช่วงหลังสงคราม มาปะปนหรือสอดแทรกให้น่าเชื่อถือ คงไว้แต่เรื่องที่ตนเองรู้เห็น หรือจดจำไว้ได้เท่านั้น

ดังนั้นจึงต้องอาศัยบันทึกของแม่ ตั้งแต่วันแรกเริ่มของสงครามทีเดียว ท่านเขียนไว้ว่า

บัดนี้เหตุการณ์ที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้เกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว คือ ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษ และประเทศอเมริกาแล้ว แต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ และทหารญี่ปุ่นได้มาขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี และจังหวัดพิบูลสงครามของไทย เมื่อเวลา ๖.๐๐ น. ของวันที่ ๘ ธันว์ ทหารไทยได้ต่อต้านปะทะกับทหารญี่ปุ่นอย่างสมเกียรติ ข่าวนี้ประกาศทางวิทยุของไทยในวันนี้ และมีประกาศอื่น ๆ อีกตลอดวัน

๑.ประกาศควบคุมแสงไฟ
๒.ประกาศใช้เสียงหวูดหรือไซเรน
๓.ประกาศงดงานฉลองรัฐธรรมนูญ
๔.ประกาศงดการหยุดในงานฉลองรัฐธรรมนูญของข้าราชการ
๕.ประกาศให้ราษฎรเตรียมน้ำเตรียมไฟไว้ในเวลาฉุกเฉิน อาจจะไม่มีใช้

ตอนบ่ายวันนี้รัฐบาลได้ประกาศว่า การที่ทหารไทยได้ปะทะกับทหารญี่ปุ่นเป็นเวลา ๕ ชั่วโมงเศษนั้น ได้ยุติลงแล้ว โดยทูตญี่ปุ่นได้มาเจรจากับท่านนายกว่า กองทหารญี่ปุ่นขอผ่านทางเดินในดินแดนของไทย แต่มิได้ถือว่าไทยเป็นศัตรูของญี่ปุ่น และญี่ปุ่นจะเคารพต่อความเป็นเอกราชของไทย รัฐบาลได้ตกลงยินยอมให้กองทัพผ่านไป

นั่นคือฉากแรกในวันแรก ที่เงาของสงคราม ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา ได้เริ่มต้นขึ้น ซึ่งนำความลำบากยากแค้นมาให้ประชาชนคนไทย ที่กำลังชื่นชมกับชัยชนะในกรณีพิพาทกับ อินโดจีนของฝรั่งเศส จนได้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงมาอยู่ในอธิปไตยของประเทศไทยเมื่อต้นปี

แต่คราวนี้เป็นสงครามใหญ่ระดับโลก ซึ่งแตกต่างกันราวกับฟ้าดิน ซึ่งคนไทยทุกคนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้เลย

เริ่มแรกก็คือการพรางไฟ ซึ่งไฟฟ้าทุกดวงในบ้านต้องเอาผ้าสีน้ำเงินมาหุ้มโป๊ะไฟโดยรอบ ให้แสงไฟส่องตรงลงมาอย่างเดียว ไม่กระจายออกไปนอกห้องหรือนอกบ้าน ไฟฟ้าที่อยู่นอกบ้านจะต้องเลิกเปิด อย่างเด็ดขาด เวลากลางคืนสายตรวจของตำรวจ ที่ต้องเดินเท้าเพราะยังไม่มีรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ใช้ พบว่ามีบ้านไหนมีแสงไฟลอดออกมา ก็จะตักเตือนทันที เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันภัยทางอากาศ โดยได้เริ่มมีการซ้อมป้องกันภัย หรือที่เรียกย่อว่า ซ.ป.อ.หลายครั้ง ให้ประชาชน ได้รู้จักสัญญาณมีภัยทางอากาศ โดยจะเปิดไซเรนจากโรงงาน หรือหอสัญญาณที่ทางการติดตั้งใหม่ ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในวัด เสียงนั้นดังเป็นห้วง ๆ เหมือนเสียงสัญญาณของรถดับเพลิง และสัญญาณปลอดภัย ที่เป็นเสียงลากยาวท่อนเดียวตั้งแต่เริ่มจนจบ โดยที่รถดับเพลิงสมัยนั้น กลับไปใช้เสียงรัวระฆังแบบโบราณ สมัยที่รถดับเพลิงยังลากด้วยม้านั่นเอง

วันต่อมาก็เป็นการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ซึ่งทำให้รัฐบาลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นทหาร ได้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดต่อไปในยามสงคราม เช่นห้ามไม่ให้เปิดรับวิทยุต่างประเทศ ให้มีเสียงดังได้ยินไปถึงบ้านคนอื่น เมื่อฟังแล้วไม่ให้นำข่าวนั้นไปเผยแพร่แก่คนอื่น ให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ทำมาหากินไปตามปกติ ส่วนคนที่แตกตื่นอพยพออกจากบ้านเรือนไปนั้น ก็ให้กลับมายังถิ่นฐานบ้านเรือนของตนตามเดิมเหตุการณ์ทั่วไปก็ยังเป็นปกติอยู่ต่อมา นอกจากจะมีการส่งกองทหารผ่าน ไปทางทิศใต้ของประเทศไทยเท่านั้น แม้ราคาเครื่องอุปโภคบริโภคในตลาดจะสูงขึ้นบ้าง ก็ยังไม่เป็นที่เดือดร้อนเท่าไร

ถึงวันขึ้นปีใหม่ มกราคม ๒๔๘๕ ซึ่งต้องงดการจัดงานปีใหม่ นอกจากการตักบาตรที่ท้องสนามหลวง แต่มีการปราศรัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย และ พลเอก โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นทางวิทยุกระจายเสียง จากโตเกียวและพระนคร กับเพิ่มรายการภาษามาลายู ภาษาพม่า และภาษอินเดีย ขึ้นจากรายการปกติด้วย

จนกระทั่งถึงวันที่ ๗ มกราคม ๒๔๘๕ ชาวพระนครจึงประสบกับภาวะสงครามเป็นครั้งแรก จากบันทึกของแม่ เขียนไว้ว่า

ประมาณเวลา ๔ นาฬิกา เสียงระเบิดลูกแรกทำให้สะดุ้งตื่น พอลุกขึ้นนั่งก็ได้ยินเสียงหวูดอันตราย พร้อมกับเสียงระเบิด บึ้ม ๆ ๆ ๆ อีก ๖ ครั้ง (คนในบ้านเปิดประตูห้องนอน ออกมาดูที่นอกชาน) ก็เห็นเรือบินข้าศึกเปิดไฟแดง ทุกคนต่างเข้าใจว่าเรือบินของไทยขึ้นต่อสู้ เพราะเห็นยิงปืนกลด้วย เงียบไปสักครู่ก็บินกลับมาอีก เสียง ป.ต.อ. ยิงขับไล่กับเสียงระเบิดปนคละกันไป ไฟฉายส่องจับเห็นเรือบิน แต่ไม่ได้ถูกยิง แล้วเงียบไป เวลา ๕ นาฬิกาครึ่ง หวูดหมดอันตรายจึงดังขึ้น ต่างเข้าครัวหุงข้าวกินโดยไม่ได้นอนอีก นับเป็นประวัติการณ์ครั้งแรก ของกรุงเทพมหานคร

ขณะนั้นทั้งบ้านมีผู้อาศัยอยู่ห้าคน คือ น้าและพี่สาว ลูกของน้าซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน แม่และผมกับน้องสาว เป็นผู้อาศัย มีผู้ชายแต่ผมคนเดียวอายุเพิ่งจะ ๑๑ ขวบ แม่ได้บันทึกเหตุการณ์ในวันรุ่งขึ้นไว้อย่างละเอียดยิบ

ผลเสียหายฝ่ายเรามีดังนี้

๑.ฝั่งธนบุรี บ้านเอกชนหลังหนึ่งถูกทำลาย
๒.เยาวราช ตึกแถวใกล้เจ็ดชั้นทลายและไฟไหม้
๓.หัวลำโพง โรงรับจำนำและโรงแรมทลาย
๔.วัดตะเคียน เพลิงไหม้ไม้กระดาน
๕.บางรัก ไปรษณีย์กลางไม่เป็นอันตราย เพราะลูกระเบิดด้าน แต่ถูกโรงพยาบาล และบ้าน ร้านขายรองเท้า และ โรงเรียนอัสสัมชัญ
๖.ริมคลองหลอด เขื่อนพังเล็กน้อย กระทรวงมหาดไทยเสียหายห้องหนึ่ง

รวมทั้งหมดคนบาดเจ็บ ๑๑๒ คน เสียชีวิต ๓๑ คน โดยมากเป็นจีนและแขก

เช้าวันพฤหัสที่ ๘ นี้ ตามถนนหนทางช่างมีคนเดินไปมามากเหลือเกิน รถรางรถเมล์ ก็เต็มไปด้วยคนโดยสารจนแน่นขนัด รถจักรยาน(สามล้อถีบ)ก็ขึ้นราคาเป็นสองเท่า ทั้งนี้เพราะบ้างก็อพยพ บ้างก็จะไปดูสถานที่ถูกระเบิด บ้างก็จะไปเยี่ยมญาติที่บาดเจ็บ บ้างก็จะไปทำราชการ บ้างก็จะไปโรงเรียน เมื่อขึ้นรถไม่ได้ต่างก็เดินกันไป

เมื่อถึงวันที่ ๑๕ มกราคม๒๔๘๕ แม่ก็บันทึกต่อว่า วันนี้กระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งถึงโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วไป ใจความว่า

ปีนี้ไม่มีการสอบไล่ แต่ให้ตัดสินโดยถือเกณฑ์เวลามาเรียนร้อยละ ๖๐ เป็นสอบได้ และให้ปิดโรงเรียนจนกว่าจะสั่งให้เปิด คือปิดตั้งแต่วันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๕ เป็นต้นไป

วันเสาร์ที่ ๒๔ มกร ๘๕ วันนี้เวลา ๒๐.๓๐ น. ได้มีเสียงระเบิดดังขึ้นแต่ไกล แล้วหวูดอันตรายจึงดังขึ้น เงียบอยู่ประมาณ ๒๐ นาที เครื่องบินก็มาปรากฏในพระนคร เสียงระเบิดอีก ๒ ครั้ง และเสียงปืนยิงหลายนัด แล้วมีเสียงไชโยทั่วไปทุกถนน เพราะยินดีที่เห็นเครื่องข้าศึกถูกปืน เงียบไปสักสิบนาที เครื่องบินก็ผ่านมาอีก เสียงปืนยิงอีก แล้วก็เงียบไปอีก ๒๐ นาที เครื่องบินก็ผ่านมาอีกเป็นครั้งที่สาม แล้วเงียบเลย เวลา ๒๒ น.จึงเปิดหวูดหมดอันตราย

วันอาทิตย์ ๒๕ มกร ๘๕ เช้าวันนี้ได้ความว่า เมื่อคืนนี้มีเครื่องบินข้าศึกมารบกวนพระนคร ๒ เครื่อง ถูกยิงตก ๑ เครื่อง ที่ตำบลตลาดพลูฝั่งธน อีก ๑ เครื่องก็เสียหาย อาจไม่ได้กลับถึงฐานทัพ ฝ่ายเราเสียหายคือ

๑.ตลาดชูชีพที่เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถูกระเบิดทำลาย ตลาดนี้เป็นของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ พอเสาร์ก็ถูกระเบิดตลาดพัง
๒.ตึกแถวของเจ้าพระยาธรรมาฯ ซึ่งอยู่หน้าบ้านของท่าน ริมสะพานกษัตริย์ศึก
๓.วัดเลียบ ไม่เป็นอันตราย

ส่วนเครื่องบินข้าศึกที่ตกนั้น นักบินตายหมด เพราะเครื่องบินระเบิด ร่างกายไม่มีชิ้นดี เรื่องนี้ผมได้อ่านหนังสือสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ของ ป.อินทรปาลิต แต่งขยายความอย่างสนุกสนาน.

+ + + + +

จบตอนนี้ที่เพียงเริ่มต้นสงครามเท่านั้น
ผู้อยู่ในเหตุการณ์ซึ่งเป็นเด็กน้อยอายุสิบกว่าขวบยังถือว่าเป็นเรื่องน่าโล่งใจ
ข้อหนึ่งคือไทยไม่ได้รบกับญี่ปุ่น เขาเพียงมาอาศัยเป็นทางผ่านเท่านั้น
ข้อสองคือนายกรัฐมนตรียังเป็นคนไทย (แม้จะมีนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นมาคอยกำกับ)
ข้อสามได้สอบผ่านเลื่อนชั้นง่ายได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
และพอคนไทยได้รู้ข่าวเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามตกยังดูเป็นเรื่องชวนหัวร่อ
โดยไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า หายนะที่ตามมานั้นหนักหนา
จนรอยยิ้มของตนและคนรอบตัวจางหายไปอีกนานแสนนาน

(โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ)