Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๑๐๐

wilasineeโดย วิลาศินี



ธรรมะจากต้นตะแบก

(เบื้องหลังการเขียนบทความตะวันพรรณไม้)

heal_100

 

เหมือนข้าวคอยเคียว

คำร้อง / ทำนอง กานท์ การุณวงศ์
ขับร้อง เพลินพิศ พูนชนะ

*
ได้ยินไหมพี่ เสียงนี้คือสาวบ้านนา
พร่ำเพรียกเรียกหาตั้งตานับเวลารอคอย
คอยเช้าคอยเย็นไม่เห็นสักหน่อย
ปีเคลื่อนเดือนคล้อย
รักเอ๋ยมาลอยรักเอ๋ยมาลอยแรมไกล
อีกเมื่อไรรักจะคืนรื่นรมย์

ตะแบก บานแล้วร่วง สีม่วงที่พี่ชื่นชม
หรีดหริ่งระงมพี่ปล่อยน้องให้ตรมคนเดียว
รวงเอ๋ยรวงทองต้องร้างคนเกี่ยว
รวงข้าวคอยเคียวน้องนี้คอยเหลียวคอยนับวันรอพี่มา
กลับเถิดหนาสาวบ้านนายังคอย


(
ซ้ำ)*
ฟังเพลง http://www.youtube.com/watch?v=zmCmKZoLtao

. . . . . . . . . . . . . . . .

ฉันเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับต้นไม้มาเกือบร้อยต้น บางต้นปีนป่ายไปถึงบนภูให้ได้มา
บางต้นอาศัยค้นหาเอาตามเว็บไซต์ (เพราะหาต้นจริงที่ดอกบานในช่วงเวลานั้นไม่ได้)
แต่บางต้นก็หาได้ง่ายดายแค่จอดรถแวะริมทาง เอ่ยปากถามคนปลูกคนเลี้ยง
ว่านี่ต้นอะไร แล้วค่อยมาค้นหาคุณสมบัติเพื่อนำมาเขียนเป็นบทความทีละต้น

ตะแบก เป็นอีกต้นที่ฉันใช้วิธีสุดท้าย คือจอดรถ
แล้วลงไปถามคุณลุงที่ร้านก๋วยเตี๋ยวเอาดื้อๆ ว่านี่ต้นอะไร
(
ในใจนึกถึง 2 ต้น ตะแบกกับอินทนิล แต่ดูลายบนต้นแล้วน่าจะเป็นตะแบกมากกว่า)
คุณลุงตอบด้วยน้ำเสียงสดใสว่า ต้นตะแบก เคยได้ยินไหม ...ตะแบกบานแล้วร่วงงง...
ฉันฟังแล้วก็ยิ้มๆ ขอบคุณและถ่ายรูป ลุงคอยดูรถราให้แล้วเราก็จากกันโดยต่างฝ่ายไม่รู้ชื่อ : )


ฉันมะงุมมะงาหราอยู่นาน ก่อนจะได้ข้อมูลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเพลงและชื่อผู้แต่ง
เพลงลูกทุ่งเก่าแก่สมัยคุณย่าคุณยาย ที่ฟังใหม่ ก็กลับมาทันสมัยขึ้นมาใหม่
(
นี่ล่ะ ที่เรียกว่าเพลงอมตะอย่างไรเล่า) หรือข้อมูลทางวิชาการทั้งหลายที่ฉันเองก็ต้องรื้อใหม่ทั้งหมด

ตะแบกมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lagerstroemia floribunda Jack อยู่ในวงศ์ LYTHRACEAE
เช่นเดียวกับอินทนิลบก อินทนิลน้ำ และเสลา (อีก 3 ชนิดหลัง ก็มีชื่อวิทยาศาสตร์
ขึ้นต้นด้วย Lagerstroemia เช่นกัน แต่ชื่อตัวจะต่างกันไป ได้แก่
อินทนิลน้ำ คือ Lagerstroemia speciosa (Linn.) Pers.
อินทนิลบกคือ L. macrocarpa Wall. ex Kurz และเสลา คือ L. loudonii Teysm. et Binn.
แต่ละต้นจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่ต่างกันที่ลักษณะเรือนยอด ลำต้น ดอก ใบ
ที่เห็นจะนำมาสาธยายไม่หมด ฉันเลยขอพูดถึงตะแบกเพียงต้นเดียว : )

ตะแบกเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลจังหวัดสระบุรีเลยเชียวล่ะ
มีชื่ออื่นเรียกต่างกันไปอีกตามภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ตะแบกนา
ตะแบก(ภาคกลาง, นครราชสีมา), กระแบก(สงขลา), ตราแบกปรี้(เขมร),
ตะแบกไข่(ราชบุรี, ตราด), บางอตะมะกอ (มลายู-ยะลา, ปัตตานี),
บางอยะมู(มลายู-นราธิวาส), เปื๋อยนา(ลำปาง), เปื๋อยหางค่าง(แพร่) เป็นต้น

ลักษณะเด่นของตะแบกเป็นไม้ต้นผลัดใบ ลำต้น สูงประมาณ 15 - 30 เมตร
แตกกิ่งก้านสาขามา เปลือกเรียบเกลี้ยงคล้ายกับต้นฝรั่ง สีเทาอมขาว
และมีจุดด่างขาวๆอยู่ตามลำต้น โคนต้นมีรากเว้าลึกจากดิน
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย
ใบอ่อนสีแดงมีขนสั้นอ่อนนุ่มปกคลุม ใบแก่ขนจะหลุดหายไป
แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 5 - 7 เซนติเมตร
ยาว 12 - 20 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนสอบ
ดอก สีม่วงอมชมพูต่อมาเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือเกือบขาว
ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกหนึ่งมี 6 กลีบ
ผล รูปรี ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 6 ซีก
เมล็ดเล็ก มีปีกโค้งทางด้านบน 1 ปีก

เปลือกของต้นตะแบกมีคุณค่าทางสมุนไพรคือใช้ปรุงเป็นยาแก้บิด ลงแดง และมูกเลือด
ทั้งยังเป็นไม้มงคลที่คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นตะแบกไว้ประจำบ้าน
จะทำให้มีฐานะสูงขึ้นและมีความมั่นคงแข็งแรง
(
น่าจะมาจากชื่อต้นที่มีคำว่า แบก คือ การยกขึ้นไว้ให้สูงไม่ให้ตกต่ำ
จะว่าเป็นการเล่นคำของคนโบราณก็ไม่ผิดนัก)

ฉันเขียนมาถึงตรงนี้แล้วนึกถึงน้ำเสียงสดชื่นของคุณลุงที่บอกอย่างอารมณ์ดีว่า
"
เคยได้ยินไหม ตะแบกบานแล้วร่วง" แล้วเคาะแป้นพิมพ์ปิดจบบทความว่า...

. . . . . . . . . . . . . . . .

แต่ตัวต้นตะแบกนั้นแสดงสัจธรรมให้เห็นอย่างหนึ่งชัด
คือดอกเขาบานแล้วร่วง แท้จริงควรปลูกไว้สอนใจว่า
ชีวิตคนเรา ย่อมมีทั้งได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ
มีถูกสรรเสริญ และมีถูกนินทาว่าร้าย
เหมือนช่วงเวลาดอกตะแบกบานให้ชื่นตาชื่นใจแล้วร่วงโรยไป
และไม่ช้าก็บานให้เห็นอีก (และร่วงลงไปอีกเช่นกัน)

เมื่อเข้าใจในสัจธรรมข้อนี้ ย่อมไม่กระเพื่อมหวั่นไหว
ในลาภ ยศ สรรเสริญ ที่จรมาและจรไปให้เห็นอยู่เสมอ

ต้นไม้เขาแสดงธรรมให้เห็นอยู่ซ้ำๆ หรือเรามัวแต่
ชื่นชมความงามของดอกไม้เสียเพลิน จนลืมความจริงข้อนี้

. . . . . . . . . . . . . . . .

นั่นอย่างไรเล่า คุณอาบก.ที่รักคงกำลังส่ายหน้า
เจ้าคนเขียนบทความบทนี้ อย่าให้มีจังหวะทีเดียว
มันแทรกธรรมะเข้ามาจนได้สิน่า ...

ขอบคุณค่ะคุณลุง .... : )