Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๙๘

คนกอดต้นไม้

wilasineeโดย วิลาศินี




เนื้อหาของยารักษาใจในวันนี้ เป็นนิทานปรัมปราของประเทศอินเดียค่ะ
นิทานเรื่องนี้ถูกเล่าสืบต่อกันมาในหลากหลายเวอร์ชั่น ส่วนหนึ่งของนิทาน
ได้กลายเป็น motto หรือคำขวัญสำหรับการเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นั่นคือคำว่า Chipko ที่เป็นภาษาฮินดูและแปลว่า "กอดต้นไม้"
ถูกนำมาใช้อย่าง เข้มแข็งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970* เป็นต้นมา
มาดูกันว่าต้นตอของคำนี้ ในนิทานว่าไว้อย่างไรค่ะ

heal098
ภาพจาก http://www.stumbleupon.com/stumbler/Alo ... aura-devi/

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในเมือง Bishnoi ประเทศอินเดีย
ผู้คนอาศัยอยู่ในป่าและอยู่ร่วมกับต้นไม้และสัตว์ป่าอย่างพึ่งพาอาศัย
ผู้ใหญ่สอนให้เด็กๆรู้ว่า ป่าจะช่วยรักษาดิน น้ำ และอากาศอันบริสุทธิ์
"อมริตาเทวี" เป็นเด็กหญิงคนหนึ่งที่รักต้นไม้มากกว่าใครๆ
ทุกๆเช้า เธอจะเดินเข้าไปในป่าเพื่อร้องเพลง และพักผ่อนใต้ต้นไม้ใหญ่
ที่เป็นต้นประจำและหมายมั่นปั้นมือไว้ว่าจะเป็น "เพื่อนสนิท" ของเธอไปจนตลอดชีวิต

เช้าวันที่สดใส อมริตาเทวีและเพื่อนๆห้อมล้อมคุณแม่ของเธออยู่ในป่า
แม่้ร้องเพลงเป็นทำนองขึ้นว่า "ป่านี้มีไว้เพื่ออะไร"
เด็กๆร้องเป็นทำนองขานรับ "ป่านี้ไซร้ รักษาดิน น้ำ และอากาศบริสุทธิ์"
เด็กคนหนึ่งยกมือขึ้นถามว่า "ถ้าพายุมาจะทำอย่างไร"
อมริตาเทวีรีบตอบว่า "กอดต้นไม้ไว้ เขาจะช่วยป้องกันเธอจากพายุ"
พวกเขาร้องเพลงอย่างสนุกสนาน โดยไม่รู้ว่าเวลาเดียวกันนั้น
พระเจ้าอภัยสิงห์ผู้เป็นราชาได้ส่งไำพร่พลเข้ามาในป่า
เพื่อตัดต้นไม้ไปสร้างพระราชวังใหม่

"พวกเธอจงถอยออกไป เรามาประกอบกิจการของพระราชา!!!"
ผู้นำคนตัดไม้ตะโกนก้อง เด็กๆตกใจแต่ไม่ยอมถอยหนี
"อย่าตัดต้นไม้ของหนูนะ!"
อมริตาเทวีออกไปยืนขวาง คนตัดต้นไม้ส่ายหน้ารำคาญใจ
"ถ้าลุงจะฟันต้นไม้ ลุงก็ฟันหนูเสียก่อน"
ไม่พูดเปล่า อมริตาเข้าไปยืนโอบกอดต้นไม้เอาไว้
เด็กผู้หญิงคนอื่นๆพากันเดินไปหาต้นไม้ที่เหลือ
และโอบกอดต้นไม้เอาไว้เช่นกัน
คนตัดต้นไม้ไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ จึีงล่าถอยไปทูลพระราชา
ว่าไม่อาจตัดต้นไม้ได้เพราะถูกขัดขวางจากเด็กผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง

"แค่เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ พวกเจ้ากลัวอะไร?"
พระราชาถามอย่างขุ่นข้องพระทัย ว่าแล้วก็ดำรัสให้ดำเนินการตัดไม้ต่อ
และเสด็จไปยังป่าแห่งนั้นด้วยพระองค์เอง เมื่อพระราชาและไพร่พลไปถึง
เด็กๆก็พากันมายืนกอดต้นไม้เอาไว้ดังเดิม ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดนั้น
พายุใต้ฝุ่นก่อตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ไพร่พลทั้งที่เดินเท้าและอยู่บนม้า
ต่างถูกพายุใต้ฝุ่นพัดปลิวไปคนละทิศละทาง ขณะที่พวกเด็กๆที่กอดต้นไม้เอาไว้
ได้ต้นไม้บังพายุและไม่ถูกพัดพาไปไหน มีบ้างที่เอนลู่ลมระยะหนึ่ง
แต่ก็ไม่เกิดอันตรายใดๆ ทั้งต้นไม้และเด็กๆ

พระราชาทรงประทับในที่ปลอดภัยและเสด็จออกมาดูเหตุการณ์หลังพายุสงบ
ราชรถถูกพายุทำลายยับ ผู้คนและม้ากระเด็นกระดอนไปคนละทิศทาง
ตรงกันข้ามกับต้นไม้ในป่าที่ยังคงยืนต้นและรักษาชีวิตของพวกเด็กๆเอาไว้

ทรงเข้าพระทัยด้วยพระองค์ถึงความสำคัญของต้นไม้ในป่า
ทรงประจักษ์ในความกล้าหาญของวีรสตรีตัวน้อยที่ยังคงยืนหยัดกอดต้นไม้ของตน
และทรงทอดพระเนตรเห็นสายสัมพันธ์อันดีงามของป่าและผู้คนที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า

แทบไม่ต้องบอกว่านิทานเรื่องนี้จบอย่างไร
พระราชาทรงให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะไม่มารุกล้ำพื้นที่ในป่าแห่งนี้อีก
อมริตาเทวีกลับมาร้องเพลงกับเพื่อนๆอย่างมีความสุขตราบนานเท่านาน.

หมายเหตุที่ ๑

*ในปี 1970 ที่กล่าวไว้ตอนต้นเรื่องเป็นการประท้วงที่เกิดขึ้นในอินเดียตอนเหนือ
รัฐบาลประกาศนโยบายตัดต้นไม้ที่ขึ้นมาขัดขวางพื้นที่ประกอบกิจการต่างๆ
ที่จะมารองรับการท่องเที่ยวและผู้จาริกแสวงบุญจากแดนไกล
มีบริษัทสัมปทานป่าไม้เข้ามาขับไล่ผู้ชายในหมู่บ้านออกไปหญิงชาวบ้านคนหนึ่ง
ชื่อกอร่าเทวี (Gaura Devi) ได้รวบรวมเพื่อนๆมาช่วยกันขัดขวางโดยใช้ Chipko
คือเอาตัวเข้าไปกอดต้นไม้ไว้ มีผลให้รัฐบาลต้องกลับไปทบทวนนโยบาย
และพักการสัมปทานป่าบริเวณนั้นออกไป ขบวนการ Chipko ขยายตัวไปทั่วอินเดีย
เพื่อคัดค้านการทำลายป่าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

หมายเหตุที่ ๒

**บางครั้งนิทานกลายมาเป็นเรื่องจริงก็มีอยู่บ้าง
ไม้ใหญ่ใช่จะอยู่ยั้งยืนยงฉันใด
คนเคยพักพิงอยู่ใต้ร่มเงาไม้ เมื่อเห็นใครจะมาโค่นไม้ให้ล้ม
แม้ไม่แกร่งดังพญาช้างสาร แต่หากหลายแรงช่วยกันคนละไม้คนละมือ
ก็อาจยื้อเวลาให้ต้นไม้ใหญ่ยังยืนหยัดเป็นที่พักพิงอาศัย
ของผู้คนและสัตว์น้อยใหญ่ไปได้อีกสักระยะเวลาหนึ่ง

แม้จะขยับเป็นสเกลของสังสารวัฏ
เวลาประคองไม้นี้อาจจะแค่น้อยนิด
แต่รากลึกที่จะสืบสานความร่มเย็นไปในวันข้างหน้า
ย่อมฝากความชื่นฉ่ำไว้ในผืนดินไม่น้อยแน่ค่ะ : )