Print

ยารักษาใจ - ฉบับที่ ๘๕

This is Not a Pipe
- วิลาศินี ?



ชื่อภาพ : This is Not a Pipe. -- Ceci n'est pas une pipe (1926)
ศิลปิน : Rene Magritte

ภาพกับชื่อของงานชิ้นนี้
อาจสร้างความฉงนปนระคายใจแก่ผู้พบเห็นอยู่บ้าง
(บางคนมาก ถึงขั้นแต่งตำราได้เป็นเล่มๆ)
ก็ในเมื่อจิตรกรชื่อดังชาวเบลเยียม เรอเน่ มากริตต์
วาดรูปไปป์เอาไว้เสียเหมือนจริง จัดแสงเงาจนคิดว่ามีไปป์วางอยู่ข้างหน้าแล้วแท้ๆ
กลับตั้งชื่อภาพว่า ?นี่ไม่ใช่ไปป์' แถมสลักประโยคนั้นไว้ใต้ภาพเสียด้วย

บางคนบอกว่าศิลปินคนนี้เป็นคนตลกร้าย บางคนมองใต้ภาพแล้วยักไหล่
?ก็แหงสิ แค่ภาพเหมือนนี่นา ไม่ใช่ของจริงสักหน่อย'

ฉันเห็นภาพนี้แล้วกลับนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าภาพนี้นับพันปี
พระภิกษุชาวญี่ปุ่นรูปหนึ่ง คว้าเอาคัมภีร์มาฉีกทิ้งเสียกระจุยกระจาย
เหตุการณ์นั้นบรรยายด้วยภาพลายเส้นลวกๆ
ไม่มีความสวยงามแต่ประการใด แต่สองภาพนี้มีความเกี่ยวข้องชนิดหนึ่ง
ที่เรียกว่าเป็นความสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นวงการของใครของมัน
สองภาพนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไรแน่ ลองคิดเล่นๆ

?

This is Not a Pipe ของเรอเน่เป็นการกระโดดข้ามความเคยชินของคนเดินดิน
เขาบรรยายที่มาของภาพซึ่งกลายเป็นวรรคทองของวงการจิตรกรรมไว้อย่างนี้ค่ะ

"Sometimes the name of an object takes the place of an image.
A word can take the place of an object in reality.
An image can take the place of a word in a proposition.
- Rene Magritte"

วรรคทองของเรอเน่ทำให้เกิดการฉุกคิดว่า บางครั้งเรามองวัตถุสิ่งของด้วยพื้นฐาน
และความทรงจำเดิมๆ คือถูกปลูกฝังมาอย่างไร ก็ตีความไปอย่างนั้น
เคยท่องจำมาอย่างไร ก็ให้คำจำกัดความของสิ่งนั้นไปอย่างนั้น

ส่วนภาพของพระภิกษุชาวญี่ปุ่นผู้ฉีกคัมภีร์ด้วยท่าทางขึงขัง
แท้จริงเป็นถึงสังฆปริณายกคนที่หกของนิกายเซ็น การฉีกคัมภีร์ของท่าน
เป็นการสอนลูกศิษย์ให้กระโดดข้ามความเป็นปุถุชนที่ยึดติดตำรา
ซึ่งแม้ว่าในตำราเหล่านั้นจะบรรยายสภาวะของนิพพานอย่างละเอียดลออเพียงใด
นิพพานนั้นก็เป็นเพียงตัวหนังสือบนกระดาษหน้าหนึ่ง
ซึ่งอาจจินตนาการได้แต่ไม่อาจจับต้อง และไม่มีทางเข้าถึง หากผู้อ่านมิได้ลงมือปฏิบัติเอง

ภาพ This is Not a Pipe ของเรอเน่กลายเป็นต้นแบบของงาน Surrealism ที่ถูกกล่าวขาน
พระภิกษุรูปนั้นกลายเป็นตำนานของพุทธศาสนานิกายเซ็น ที่การบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน
ไม่ใช่ด้วยการอ่านตำราแล้วท่องจำ แต่เป็นด้วยวิถีจิตที่ตัดตรงเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริง

ฉันชอบภาพนี้ เป็นภาพที่ดีภาพหนึ่ง
และเมื่อนึกถึงพระภิกษุรูปนั้น ก็ก้มลงกราบได้หมดหัวใจ.